พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๓ (พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕) เรื่องที่ ๗๖. สันทกสูตร เรื่องศาสดาที่ไม่ควรไปอยู่ร่วมสำนัก ไม่ควรไปพักอาศัยเล่าเรียนธรรม


๗๖. สันทกสูตร  เรื่องศาสดาที่ไม่ควรไปอยู่ร่วมสำนัก

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี ครั้งนั้น ปริพาชกชื่อสันทกะกับหมู่ปริพาชกประมาณ ๕๐๐ คน พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่อาศัยอยู่ ณ ถ้ำปิลักขะหรือถ้ำไม้มะเดื่อ  ครั้นเวลาเย็น พระอานนท์ออกจากฌาน แล้วเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายจะเข้าไปยังบ่อน้ำฝนเซาะเพื่อจะดูถ้ำ

ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ลำดับนั้น พระอานนท์พร้อมด้วยภิกษุจำนวนมาก ได้เข้าไปยังบ่อน้ำฝนเซาะ

ดิรัจฉานกถา

ครั้งนั้น สันทกปริพาชกกำลังนั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ กำลังสนทนาถึงดิรัจฉานกถาต่างๆ ด้วยเสียงดังอื้ออึง คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องพวงดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องเมืองหลวง เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมอย่างนั้นๆ สันทกปริพาชกได้เห็นพระอานนท์กำลังเดินมาแต่ไกล จึงห้ามบริษัทของตนว่า

ท่านทั้งหลาย โปรดเงียบหน่อย อย่าส่งเสียงอื้ออึง นี้คือสาวกของพระสมณโคดมชื่อว่าอานนท์กำลังเดินมา ท่านเป็นสาวกรูปหนึ่งบรรดาสาวกของพระสมณโคดมผู้อาศัยอยู่ ณ กรุงโกสัมพี ท่านเหล่านั้นชอบเสียงเบา แนะนำให้พูดกันเบาๆ กล่าวสรรเสริญเสียงเบา บางทีท่านอานนท์ทราบว่าพวกเรามีเสียงเบา ท่านอาจจะเข้ามาก็ได้

ลำดับนั้น ปริพาชกเหล่านั้นจึงได้พากันนิ่ง

พระอานนท์กล่าวธรรมกถา

ครั้งนั้น พระอานนท์ได้เข้าไปหาสันทกปริพาชกถึงที่อยู่ สันทกปริพาชกจึงกล่าวเชื้อเชิญว่า ท่านพระอานนท์ ขอเชิญท่านพระอานนท์เข้ามาเถิด ขอต้อนรับ นานๆ ท่านพระอานนท์จะมีเวลามาที่นี้ ขอเชิญท่านพระอานนท์จงนั่งเถิด อาสนะนี้ที่ปูลาดไว้แล้ว

พระอานนท์จึงนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว แม้สันทกปริพาชกก็เลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า พระอานนท์ได้ถามสันทกปริพาชกว่า สันทกะ บัดนี้ ท่านทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เรื่องอะไรที่ท่านทั้งหลายสนทนากันค้างไว้

ท่านพระอานนท์ เรื่องที่ข้าพเจ้าทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันในเวลานี้ของดไว้ก่อนเถิด เรื่องนั้นท่านพระอานนท์จักฟังได้ในภายหลังโดยไม่ยาก ดีละ ขอท่านพระอานนท์จงแสดงธรรมกถาในลัทธิอาจารย์ของตนให้แจ่มแจ้งเถิด

ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

สันทกปริพาชกรับคำแล้ว พระอานนท์ได้กล่าวว่า สันทกะ ลัทธิอันไม่ใช่การประพฤติพรหมจรรย์ ๔ ลัทธินี้ และพรหมจรรย์ที่ไม่น่าไว้วางใจ ๔ ประการ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติเลย ถึงเมื่ออยู่ประพฤติก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จไม่ได้ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว

สันทกปริพาชกถามว่า ท่านพระอานนท์ ลัทธิอันไม่ใช่การประพฤติพรหมจรรย์ ๔ ลัทธิ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติเลย ถึงเมื่ออยู่ประพฤติก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จไม่ได้ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้แล้วนั้น เป็นอย่างไร

ลัทธิอันไม่ใช่การประพฤติพรหมจรรย์

พระอานนท์ตอบว่า สันทกะ ศาสดาบางท่านในโลกนี้ ผู้มีวาทะคือทิฏฐิอย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงก็ไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วก็ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ โอปปาติกสัตว์ก็ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็ไม่มีในโลก มนุษย์คือที่ประชุมแห่งมหาภูตรูป ๔ เมื่อสิ้นชีวิต ธาตุดินไปตามธาตุดิน ธาตุน้ำไปตามธาตุน้ำ ธาตุไฟไปตามธาตุไฟ ธาตุลมไปตามธาตุลมอินทรีย์ทั้งหลายย่อมแปรผันไปเป็นอากาสธาตุ มนุษย์มีเตียงนอนเป็นที่ ๕ นำศพไป ร่างกายปรากฏอยู่แค่ป่าช้า กลายเป็นกระดูกขาวโพลนดุจสีนกพิราบ การเซ่นสรวงสิ้นสุดลงแค่เถ้าถ่าน คนเขลาบัญญัติทานนี้ไว้ คำที่คนบางพวกย้ำว่ามีผลนั้น ว่างเปล่า เท็จ ไร้สาระ เมื่อสิ้นชีวิตไม่ว่าคนเขลาหรือคนฉลาดย่อมขาดสูญไม่เกิดอีก

ในลัทธิของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดว่า ถ้าคำของท่านศาสดานี้เป็นจริง ในลัทธินี้ กรรมที่เราไม่ได้ทำเลยชื่อว่าเป็นอันทำแล้ว พรหมจรรย์ที่เราไม่ได้อยู่ประพฤติเลย ชื่อว่าเป็นอันอยู่ประพฤติแล้ว แม้เราทั้งสองชื่อว่าเป็นผู้เสมอๆ กัน และถึงความเท่าเทียมกันในลัทธินี้ การที่ท่านศาสดานี้เป็นผู้ประพฤติเปลือยกาย เป็นคนศีรษะโล้น ทำความเพียรในการเดินกระโหย่ง ถอนผมและหนวด เป็นการปฏิบัติเกินไป เราเมื่ออยู่ครองเรือน นอนเบียดเสียดกับบุตรภรรยา ประพรมผงแก่นจันทน์เมืองกาสี ทัดทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่ จึงเป็นผู้มีคติเสมอๆ กันกับท่านศาสดานี้  (๑)

สันทกะ อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ ผู้มีวาทะคือทิฏฐิอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำให้เศร้าโศกเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้เศร้าโศก ทำให้ลำบากเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ตัดช่องย่องเบา ปล้นเรือนหลังเดียว ดักจี้ในทางเปลี่ยว เป็นชู้ พูดเท็จ ผู้ทำเช่นนั้นก็ไม่จัดว่าทำบาป แม้หากบุคคลใช้จักรมีคมดุจมีดโกนสังหารเหล่าสัตว์ในปฐพีนี้ให้เป็นดุจกองเนื้อเดียวกัน เขาย่อมไม่มีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบาปมาถึงเขา  แม้หากบุคคลไปฝั่งขวาแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน เขาย่อมไม่มีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบาปมาถึงเขา  แม้หากบุคคลไปฝั่งซ้ายแม่น้ำคงคา ให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา เขาย่อมไม่มีบุญที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบุญมาถึงเขา ไม่มีบุญที่เกิดจากการให้ทาน จากการฝึกอินทรีย์ จากการสำรวม และจากการพูดคำสัตย์ ไม่มีบุญมาถึงเขา

ในลัทธิของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้  ถ้าคำของท่านศาสดานี้เป็นจริง ในลัทธินี้กรรมที่เราไม่ได้ทำเลย ชื่อว่าเป็นอันทำแล้ว พรหมจรรย์ที่เราไม่ได้อยู่ประพฤติเลย ชื่อว่าเป็นอันอยู่ประพฤติแล้ว แม้เราทั้งสองชื่อว่าเป็นผู้เสมอๆ กัน และถึงความเท่าเทียมกันในลัทธินี้  (๒)

สันทกะ อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ ผู้มีวาทะคือทิฏฐิอย่างนี้ว่า ความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองเอง ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์เอง ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ไม่มีความสามารถของมนุษย์ ไม่มีความพยายามของมนุษย์ สัตว์ ปาณะ ภูตะ ชีวะทั้งปวง ล้วนไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ผันแปรไปตามโชคชะตา ตามสถานภาพทางสังคมและตามลักษณะเฉพาะตน ย่อมเสวยสุขและทุกข์ในอภิชาติทั้ง ๖

ในลัทธิของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้  ถ้าคำของท่านศาสดานี้เป็นจริง ในลัทธินี้กรรมที่เราไม่ได้ทำเลยชื่อว่าเป็นอันทำแล้ว พรหมจรรย์ที่เราไม่ได้อยู่ประพฤติเลย ชื่อว่าเป็นอันอยู่ประพฤติแล้ว แม้เราทั้งสองชื่อว่าเป็นผู้เสมอๆ กัน และถึงความเท่าเทียมกันในลัทธินี้  (๓)

สันทกะ อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ ผู้มีวาทะคือทิฏฐิอย่างนี้ว่า สภาวะ ๗ กอง คือ ๑. กองแห่งธาตุดิน  ๒. กองแห่งธาตุน้ำ  ๓. กองแห่งธาตุไฟ  ๔. กองแห่งธาตุลม  ๕. กองสุข ๖. กองทุกข์  ๗. กองชีวะ นี้ ไม่มีผู้สร้าง ไม่มีผู้บันดาล ไม่มีผู้เนรมิต ไม่มีผู้ให้เนรมิต ยั่งยืนมั่นคงดุจยอดภูเขา ดุจเสาระเนียด ไม่หวั่นไหว ไม่ผันแปร ไม่กระทบกระทั่งกัน ไม่ก่อให้เกิดสุขหรือทุกข์ หรือทั้งสุขและทุกข์แก่กันและกัน  ในสภาวะ ๗ กองนั้น ไม่มีผู้ฆ่า ไม่มีผู้ใช้ให้คนอื่นฆ่า ไม่มีผู้ฟัง ไม่มีผู้ใช้ให้คนอื่นฟัง ไม่มีผู้รู้ ไม่มีผู้ทำให้คนอื่นรู้ ใครก็ตามแม้จะเอาศัสตราอันคมตัดศีรษะใคร ก็ไม่ชื่อว่าปลงชีวิตใครได้ เพราะเป็นเพียงศัสตราแทรกผ่านไประหว่างสภาวะ ๗ กองเท่านั้นเอง อนึ่ง กำเนิดที่เป็นประธาน ๑,๔๐๖,๖๐๐ กรรม ๕๐๐ กรรม ๕ กรรม ๓ กรรมกึ่งปฏิปทา ๖๒ อันตรกัป ๖๒ อภิชาติ ๖ ปุริสภูมิ ๘ อาชีวก ๔,๙๐๐ ปริพาชก ๔,๙๐๐ นาควาส ๔,๙๐๐ อินทรีย์ ๒,๐๐๐ นรก ๓,๐๐๐ รโชธาตุ ๓๖ สัญญีครรภ์ ๗ อสัญญีครรภ์ ๗ นิคัณฐีครรภ์ ๗ เทวดา ๗ มนุษย์ ๗ ปีศาจ ๗ สระ ๗ ตาไม้ไผ่ ๗ ตาไม้ไผ่ ๗๐๐ เหวใหญ่ ๗ เหวน้อย ๗๐๐ มหาสุบิน ๗ สุบิน ๗๐๐ และมหากัป ๘,๔๐๐,๐๐๐ เหล่านี้ที่คนพาลและบัณฑิตพากันเที่ยวเวียนว่ายไปแล้ว จักทำที่สุดทุกข์ได้เอง ไม่มีความสมหวังในความปรารถนาว่า เราจักอบรมกรรมที่ยังไม่ให้ผลให้อำนวยผล หรือสัมผัสกรรมที่ให้ผลแล้ว จักทำให้หมดสิ้นไปด้วยศีล พรต ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ ไม่มีสุขทุกข์ที่ทำให้สิ้นสุดลงได้ เหมือนตวงด้วยทะนาน สังสารวัฏที่จะทำให้สิ้นสุดไม่มีเลย ด้วยอาการอย่างนี้ ไม่มีความเสื่อมและความเจริญ ไม่มีการเลื่อนขึ้นสูงหรือเลื่อนลงต่ำ พวกคนพาลและบัณฑิตพากันเที่ยวเวียนว่ายไปแล้ว จักทำที่สุดทุกข์ได้เองเหมือนกลุ่มด้ายที่ถูกขว้างไปย่อมคลี่หมดไปได้เอง ฉะนั้น

ในลัทธิของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ดังนี้ว่า ถ้าคำของท่านศาสดานี้เป็นจริง ในลัทธินี้กรรมที่เราไม่ได้ทำเลยชื่อว่าเป็นอันทำแล้ว พรหมจรรย์ที่เราไม่ได้อยู่ประพฤติเลย ชื่อว่าเป็นอันอยู่ประพฤติแล้ว แม้เราทั้งสองชื่อว่าเป็นผู้เสมอๆ กัน และถึงความเท่าเทียมกันในลัทธินี้ แต่เราไม่กล่าวว่า หลังจากตายแล้ว แม้เราทั้งสองก็จักขาดสูญ ไม่เกิดอีก การที่ท่านศาสดานี้เป็นผู้ประพฤติเปลือยกาย เป็นคนศีรษะโล้น ทำความเพียรในการเดินกระโหย่ง ถอนผม และหนวด เป็นการปฏิบัติเกินไป เราเมื่ออยู่ครองเรือน นอนเบียดเสียดกับบุตรภรรยา ประพรมผงแก่นจันทน์เมืองกาสี ทัดทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่ จึงเป็นผู้มีคติเสมอๆ กันกับท่านศาสดานี้ในภพหน้าได้  (๔)

สันทกะ ลัทธิอันไม่ใช่การประพฤติพรหมจรรย์ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติเลย ถึงเมื่ออยู่ประพฤติก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จไม่ได้ ๔ ลัทธินี้ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้แล้ว

ท่านพระอานนท์ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสลัทธิอันไม่ใช่การประพฤติพรหมจรรย์ ๔ ลัทธิ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติเลย ถึงเมื่ออยู่ก็ทำกุศล ธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จไม่ได้ว่า เป็นลัทธิอันไม่ใช่การประพฤติพรหมจรรย์

ท่านพระอานนท์ พรหมจรรย์ที่ไม่น่าวางใจ ๔ ประการ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติเลย ถึงเมื่ออยู่ก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จไม่ได้ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้แล้วนั้นเป็นอย่างไร

พรหมจรรย์ที่ไม่น่าวางใจ

สันทกะ ศาสดาบางคนในโลกนี้ตั้งตนเป็นสัพพัญญู รู้เห็นธรรมทั้งปวง ปฏิญญาญาณทัสสนะอย่างเบ็ดเสร็จว่า เมื่อเราเดินอยู่ หยุดอยู่ หลับอยู่ และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะย่อมปรากฏต่อเนื่องตลอดไป ศาสดานั้นเข้าไปยังเรือนว่างบ้าง ไม่ได้ก้อนข้าวบ้าง ถูกสุนัขกัดบ้าง พบช้างดุบ้าง พบม้าดุบ้าง พบโคดุบ้าง ถามถึงชื่อและโคตรของหญิงบ้าง ของชายบ้าง ถามถึงชื่อและหนทางแห่งบ้านบ้างแห่งนิคมบ้าง เมื่อถูกถามว่า นี่อะไร ก็ตอบว่า เราเข้าไปยังเรือนว่างด้วยกิจที่เราจำเป็นต้องเข้าไป เราไม่ได้ก้อนข้าวด้วยเหตุที่เราไม่ควรได้ เรายังเป็นผู้ถูกสุนัขกัด ด้วยเหตุที่ควรถูกกัด เราพบช้างดุด้วยเหตุที่ควรพบ เราพบม้าดุด้วยเหตุที่ควรพบ เราพบโคดุด้วยเหตุที่ควรพบ เราถามถึงชื่อและโคตรของหญิงบ้าง ของชายบ้าง ด้วยเหตุที่ควรถาม เราถามถึงชื่อและหนทางแห่งบ้านบ้าง แห่งนิคมบ้างด้วยเหตุที่ควรถาม ในพรหมจรรย์ของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ลัทธินี้เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ที่ไม่น่าวางใจ ย่อมเบื่อหน่ายหลีกไปจากพรหมจรรย์นั้น (๑)

สันทกะ อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เชื่อถือการฟังตามกันมา เป็นผู้เชื่อถือว่าจริงด้วยการฟังตามกันมา ศาสดานั้นจึงแสดงธรรมด้วยการฟังตามกันมา ด้วยการถือสืบๆ กันมาว่าอย่างนั้นๆ และด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ ศาสดาผู้เชื่อถือด้วยการฟังตามกันมา ผู้เชื่อถือว่าจริงด้วยการฟังตามกันมา ย่อมมีการฟังถูกบ้าง ฟังผิดบ้าง เป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง

ในพรหมจรรย์ของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ลัทธินี้เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ ที่ไม่น่าวางใจ ย่อมเบื่อหน่ายหลีกไปจากพรหมจรรย์นั้น (๒)

สันทกะ อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นนักตรรกะ เป็นนักอภิปรัชญา ศาสดานั้นจึงแสดงธรรมตามปฏิภาณของตน ตามหลักเหตุผล และการคาดคะเนความจริง ศาสดาผู้เป็นนักตรรกะ เป็นนักอภิปรัชญา ก็ย่อมมีการใช้เหตุผลถูกบ้าง การใช้เหตุผลผิดบ้าง เป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง

ในพรหมจรรย์ของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ลัทธินี้เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ ที่ไม่น่าวางใจ ย่อมเบื่อหน่ายหลีกไปจากพรหมจรรย์นั้น (๓)

สันทกะ อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้เป็นคนเขลา งมงาย เพราะเป็นคนเขลา งมงาย ศาสดานั้นเมื่อถูกถามปัญหาอย่างนั้นๆ ย่อมพูดแบ่งรับ แบ่งสู้ คือตอบดิ้นได้ไม่ตายตัวว่า ความเห็นของเราว่าอย่างนี้ก็ไม่ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ใช่อย่างอื่นก็ไม่ใช่ มิใช่ก็ไม่ใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็ไม่ใช่

ในพรหมจรรย์ของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ท่านศาสดานี้ เป็นคนเขลา งมงาย เพราะเป็นคนเขลางมงาย ศาสดานั้นเมื่อถูกถามปัญหาอย่างนั้นๆ ย่อมพูดแบ่งรับแบ่งสู้ คือตอบดิ้นได้ไม่ตายตัวว่า ความเห็นของเราว่าอย่างนี้ก็ไม่ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ใช่ อย่างอื่นก็ไม่ใช่ มิใช่ก็ไม่ใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็ไม่ใช่ วิญญูชนนั้นรู้ดังนี้ว่า ลัทธินี้เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ที่ไม่น่าวางใจ ย่อมเบื่อหน่ายหลีกไปจากพรหมจรรย์นั้น (๔)

สันทกะ พรหมจรรย์ที่ไม่น่าวางใจที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติเลย ถึงเมื่ออยู่ ก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จไม่ได้ ๔ ประการนี้ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้แล้ว

สันทกปริพาชกถามว่า ท่านพระอานนท์ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพรหมจรรย์ที่ไม่น่าวางใจ ๔ ประการ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติเลย ถึงเมื่ออยู่ก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จไม่ได้ว่า เป็นพรหมจรรย์ที่ไม่น่าวางใจ

ท่านพระอานนท์ ศาสดานั้นมักกล่าวกันอย่างไร บอกกันอย่างไร ในพรหมจรรย์ที่วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติจริงจัง และเมื่ออยู่ก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จได้

พรหมจรรย์ที่ควรประพฤติ

พระอานนท์ตอบว่า สันทกะ พระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค เป็นต้น ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ เป็นเครื่องทอนกำลังปัญญาแล้ว สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ที่มีวิตกวิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอันยิ่งเห็นปานนี้ในศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นอย่างจริงจัง และเมื่ออยู่ก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จได้

อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน โดยลำดับ สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอย่างยิ่งเห็นปานนี้ในศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นอย่างจริงจัง และเมื่ออยู่ ก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จได้

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการอย่างนี้

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป

สันทกะ สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอย่างยิ่งเห็นปานนี้ในศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นอย่างจริงจัง และเมื่ออยู่ก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จได้

พระอรหันตขีณาสพไม่ละเมิดฐานะ ๕

สันทกปริพาชกถามว่า ท่านพระอานนท์ ภิกษุใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้น จะยังบริโภคกามอยู่อีกหรือ

พระอานนท์ตอบว่า สันทกะ ภิกษุใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่สามารถละเมิดฐานะ ๕ ประการ คือ

๑. เป็นผู้ไม่สามารถแกล้งปลงสัตว์จากชีวิต

๒. เป็นผู้ไม่สามารถถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ อันเป็นส่วนแห่งความเป็นขโมย

๓. เป็นผู้ไม่สามารถเสพเมถุนธรรม

๔. เป็นผู้ไม่สามารถกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่

๕. เป็นผู้ไม่สั่งสมบริโภคกามทั้งหลายเหมือนเมื่อเป็นคฤหัสถ์ในกาลก่อน

ญาณทัสสนะของพระอรหันตขีณาสพ

ท่านพระอานนท์ ภิกษุใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระแล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นเดินไปอยู่ หยุดอยู่ หลับอยู่และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะว่า อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปแล้ว จะปรากฏต่อเนื่องตลอดไปไหม

สันทกะ ถ้าเช่นนั้น เราจักอุปมาให้ท่านฟัง วิญญูชนบางพวกในโลกนี้ย่อมรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตได้ด้วยอุปมา เปรียบเหมือนคนที่มีมือและเท้าขาดไป เมื่อคนนั้นเดินไปอยู่ หยุดอยู่ หลับอยู่ และตื่นอยู่ ก็รู้เสมอต่อเนื่องว่า มือและเท้าของเราขาดแล้ว หรือเมื่อเขาพิจารณาเหตุนั้นอยู่ก็รู้ว่า มือและเท้าของเราขาดแล้ว หรือ

ท่านพระอานนท์ คนนั้นย่อมไม่รู้เสมอต่อเนื่องว่า มือและเท้าของเราขาดแล้ว แต่เขาพิจารณาเหตุนั้นแล้วจึงรู้ว่า มือและเท้าของเราขาดแล้ว

สันทกะ ภิกษุนั้นก็อย่างนั้นเหมือนกัน เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตน โดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เมื่อเธอเดินไปอยู่ หยุดอยู่ หลับอยู่ และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะว่า อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปแล้ว ก็ไม่ปรากฏต่อเนื่องตลอดไป แต่เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาเหตุนั้นอยู่จึงรู้ว่า อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปแล้ว

สันทกปริพาชกถามว่า ท่านพระอานนท์ ในพระธรรมวินัยนี้ ภิกษุกำจัดกิเลสและกองทุกข์ให้ออกไปได้มีจำนวนมากเพียงไร

พระอานนท์ตอบว่า สันทกะ ในพระธรรมวินัยนี้ ภิกษุผู้กำจัดกิเลสและกองทุกข์ให้ออกไปได้ มิใช่มีเพียง ๑๐๐ รูป ๒๐๐ รูป ๓๐๐ รูป ๔๐๐ รูป ๕๐๐ รูป ความจริงแล้วมีอยู่จำนวนมากทีเดียว

สันทกปริพาชกกล่าวว่า ท่านพระอานนท์ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏในพระธรรมวินัยนี้ ไม่ได้มีการยกย่องธรรมของตน และไม่มีการติเตียนธรรมของผู้อื่น มีแต่การแสดงธรรมตามเหตุผลเท่านั้น แต่ก็ปรากฏว่า มีผู้กำจัดกิเลสและกองทุกข์ได้มากมายถึงเพียงนั้น ส่วนอาชีวกเหล่านี้ชื่อว่าเป็นบุตรของมารดาผู้มีบุตรตายแล้ว ยกย่องแต่ตนและติเตียนคนอื่นเท่านั้น กลับปรากฏว่ามีผู้กำจัดกิเลสและกองทุกข์ได้เพียง ๓ คน คือ (๑) นันทะ วัจฉะ (๒) กิสะ สังกิจจะ (๓) มักขลิ โคสาล

ลำดับนั้น สันทกปริพาชกเรียกบริษัทของตนมากล่าวว่า พ่อผู้เจริญทั้งหลาย จงประพฤติพรหมจรรย์กันเถิด การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมย่อมมีผล แต่บัดนี้ เราทั้งหลายจะสละลาภสักการะและความสรรเสริญนั้นไม่ใช่เป็นของทำได้ง่าย

สันทกปริพาชกได้ส่งบริษัทของตนไปประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระผู้มีพระภาค ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้


เรียบเรียงใหม่โดย ดร.ศักดิ์ ประสานดี 
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕  ๓ ปริพาชิกวรรค เรื่องที่  ๖  สันทกสูตร 

หมายเลขบันทึก: 679352เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2020 23:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2020 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท