วิถีคิดการสื่อสาร


"วิถีคิด" ถือว่า มีความสำคัญต่องการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างมาก เนื่องจากการติดต่อสื่อสารในยุคดิจิทัล โยงใยเครือข่ายผ่านระบบอินเทอร์เน็ตไปทั่วทุกมุมโลก วิถีคิดหนึ่งที่ควรจะต้องเริ่มคือ การสื่อสาร มีความจำเป็นที่จะต้องหมั่นฝึกให้ลูก เด็กๆ นักเรียน ลูกคิด ได้ฝึกคิดไตร่ตรองคำพูดออกไปให้ถ้วนถี่ก่อน ทั้งในลักษณะของความครบถ้วนสมบูรณ์ของความหมาย สาระสำคัญของเนื้อหาที่จะสื่อออกไป รวมถึง ระดับการใช้ภาษาที่เหมาะสม ซึ่งมักพบจากแหล่งสื่อสารข้อมูลออนไลน์มากมาย เช่น Line , Facebook, Instagram เป็นต้น ที่เด็กๆ ใช้ถ้อยคำที่สื่อสารไม่ครบถ้อยความ สื่อสารออกไปแล้วผู้รับสารไม่เข้าใจ หรือแม้กระทั่งสื่อสารออกไปแล้วทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ขุ่นข้องหมองใจกัน ทั้งนี้ เนื่องจาก การสื่อสารด้วยอักขระเป็นการสื่อสารที่ไร้น้ำเสียง ผู้รับสารมิอาจทราบระดับน้ำเสียงซึ่งสะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้สื่อสารได้ทั้งหมด มีหลายเหตุการณ์ที่เห็นจากข่าวว่า มีการโพสต์ด่าทอ ต่อว่า ประชดประชันกัน ผ่านแหล่งสื่อสารข้อมูลออนไลน์ดังกล่าว เหตุผลหนึ่งคือ ความอ่อนแอทางการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ซ้ำร้าย ยังเห็นการสื่อสารด้วยการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้อง เช่น "ไหม" เป็น "มั้ย" "ครับ" เป็น "คร๊าฟ" "ค่ะ" เป็น "คร่ะ" หรือ "ค่" จากสภาพเหตุการณ์เช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการผุกร่อนหลักการภาษาไทยอย่างรุนแรง เนื่องจากเด็กๆ จะซึมซับการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้องไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาสู่ในห้องเรียนหรือการเขียนข้อความเชิงวิชาการในการเรียน ทำให้ไม่สามารถแยกแยะได้ออกว่า การสื่อสารภาษาไทยที่ถูกต้องจะต้องพูด ต้องเขียนอย่างไรให้ผู้รับสารเข้าใจ ดังนั้น "วิถีคิดทางการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร" จึงสมควรที่จะต้องได้รับการเอาใจใส่ ร่วมแรงร่วมใจกันจากผู้ใหญ่ ครู ผู้ปกครอง ช่วยกันให้เหตุผลทางภาษา สอดแทรกการเสนอคำที่ถูกต้องให้กับเด็กๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทยอันเป็นภาษาประจำชาติไทย ความสำคัญของการสื่อสารให้ผู้รับสารเข้าใจ มิใช่ว่า จะพูดอะไรออกไปก็พูดทันทีโดยที่ยังไม่ได้เรียบเรียบ ไตร่ตรอง ทบทวนคำที่จะพูดหรือเขียนให้ถ้วนถี่เสียก่อน ผู้เขียนมองเห็นว่า การใช้คำพูด ข้อความ ถ้อยคำที่ผ่านการคัดกรอง ขัดเกลามาเป็นอย่างดีแล้ว นอกจากจะช่วยให้เด็กๆ สื่อสารให้ได้สาระสำคัญเข้าใจชัดเจนระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารแล้ว ยังช่วยให้เป็นคนที่ไม่ด่วนพูด ไม่ด่วนเขียนจนเกินไป สมองจะได้รับการกลั่นกรองภาษามาเป็นอย่างดีก่อนที่จะพูดหรือเขียน เด็กๆจะค่อยๆใจเย็นลง มีความน่ารักมากขึ้น มีสัมมาคารวะทางการสื่อสารมากขึ้นได้หากผู้ใหญ่ทุกคนช่วยกัน ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขอยกเรื่อง "วิถีคิด" ในลักษณะของการคิดเพื่อนำไปสู่การสื่อสาร ดังกล่าวข้างต้น นั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 679064เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2020 07:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2020 07:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท