ชีวิตที่พอเพียง 3740. นิทานผีสอนใจคน



หนังสือแปล นิทานผีสอนคน   จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์คนบ้าหนังสือ  เป็นเรื่องผีที่ไม่น่ากลัว    แต่กลับเป็นครูสอน Transformative Learning … เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงตัวตน    คนบ้าการเรียนรู้อย่างผมตีความสาระในหนังสือเข้าสู่การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงตัวตน    และการเสนอชุดความคิด Growth Mindset ที่เป็นทฤษฎีที่เกิดหลังนิยายสองเรื่องนี้เกือบสองร้อยปี    

ข้อน่าชื่นชมสำหรับหนังสือแปลของสำนักพิมพ์คนบ้าหนังสือ คือ นอกจากเรื่องแปลแล้ว    ยังมีบทกล่าวนำของ นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์    และคำนำของผู้แปล คุณวิภาดา กิตติโกวิท ช่วยให้ความกระจ่างด้านบริบทของเรื่อง     ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องได้ง่ายขึ้น

ยิ่งกว่านั้น สำหรับหนังสือเล่มนี้ ผู้แปลยังจัดทำคำอธิบายประกอบ (footnote) ช่วยให้เข้าใจบริบทตามท้องเรื่องในหนังสือได้ดียิ่งขึ้น    รวมทั้งยังค้นภาพประกอบมาลงไว้อย่างสวยงาม   

นิทานเรื่องแรก บทเพลงแห่งคริสต์มาส (A Christmas Carol) ตีพิมพ์ครั้งแรกปี ค.ศ. 1843   เขียนโดย ชาร์ลสฺ ดิ๊กเก็นสฺ    เป็นหนังสือที่ขายดีมาก  ถึงสิ้นปี 1844 มีการพิมพ์ซ้ำ ๑๓ ครั้ง    ต่อมามีผู้นำไปทำเป็นละคร  ภาพยนตร์  และหนังสือการ์ตูน อย่างกว้างขวาง   

โอ้โฮ! เมื่อค้นใน อินเทอร์เน็ต มีหนังเรื่องนี้ให้ดูฟรีหลายเวอร์ชั่น หลายยุค ใน YouTube    เก่าที่สุดปี 1984 (1)    คนไม่ดูหนังอย่างผมดูแล้วได้เห็นการแต่งกายของคนอังกฤษสมัยสองศตวรรษก่อน    และได้ฟัง British Accent เต็มสองหู   

 เรื่องราวของนิทานอยู่ในเวลาเพียง ๒ วันหนึ่งคืนเท่านั้น    หากอ่านโดยไม่ได้อ่านบทกล่าวนำและคำนำของผู้แปล และไม่มีคำอธิบายเชิงอรรถ ก็จะไม่เข้าใจความหมายที่ซ่อนอยู่ลึกๆ    เพราะเราไม่เข้าใจบริบทสังคมของอังกฤษในขณะนั้น    รวมทั้งผู้เขียนที่เก่งฉกาจจะไม่บอกอะไรตรงๆ    แต่จะให้เราเข้าใจเอาเองจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในนิทาน    ที่เป็นนิทานผีพาคนไปพบอดีต ปัจจุบัน  และอนาคต ของตนเอง   

ซึ่งหากมองผ่านแว่นการตีความของผม  ผีคือเครื่องมือ critical reflection (สะท้อนคิดอย่างลึก) ที่มนุษย์เราทำกับตนเองอยู่เสมอ    คนที่ฝึกมาดี ก็จะรู้จักสะท้อนคิดบ่อยๆ  ในเรื่องที่มีความสำคัญ     แว่นการตีความของผม ตีความผ่านหลักการในหนังสืออีกเล่มหนึ่ง คือ เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง    ว่า “ผี” คือ สำนึกผิดชอบชั่วดีภายในตน ของตาเฒ่า เอเบนีเซอร์ สครู้จ    ตีความว่า ตาเฒ่าผู้ร่ำรวยและตระหนี่ คงจะรู้สึกอัดอั้นตันใจในพฤติกรรมของตนมานานมาก    จนมาฝันเป็นตุเป็นตะในคืนก่อนวันคริสต์มาส     เป็นฝันที่ยาวมาก    และก่อการเปลี่ยนแปลงด้านจิตวิญญาณของตาเฒ่าเมื่อตื่นขึ้น    นี่คือการตีความของคนไม่เชื่อว่าผีมีจริง  

หลักการของการเปลี่ยนแปลงแบบเปลี่ยนทั้งเนื้อทั้งตัว  หรือเปลี่ยนใจ ที่เรียกว่า transformation นั้น     เริ่มจากความอัดอั้นตันใจ หรือความขัดแย้งในใจตนเองมาเป็นเวลานาน    ที่การปฏิบัติกับความเชื่อลึกๆ ในใจมันขัดแย้งกัน    ตาเฒ่า สครู้จ ทำเพื่อเงิน พยายามเอาเปรียบคนอื่นให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มพูนโภคทรัพย์ของตนเอง    แต่ยากจนสินทรัพย์ทางสังคม (social capital)    ที่ความเป็นคนฉลาด ทำให้ตาเฒ่าเห็นด้วยตนเอง    สั่งสมความขัดแย้งลึกๆ ในใจที่รุนแรง     เกิด critical reflection ขึ้นในความฝัน (ที่เกือบเหมือนจริง)    ตื่นขึ้นมาจึงกลายเป็นอีกคนหนึ่ง  

คนอังกฤษสมัยเกือบสองร้อยปีก่อน อ่านนิทานนี้แล้ว    ได้คิดเรื่องความอยุติธรรมในสังคมอังกฤษ    นิทานก่อผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (social transformation)    อีก ๑๗๗ ปีต่อมา  มีการแปลนิทานนี้ออกสู่นักอ่านเมืองไทย    นักอ่านคนหนึ่ง (คือผม) ตีความสู่กลไก personal transformation   ในระดับ spiritual transformation    นี่คือลักษณะของวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่    คือนำไปสู่การตีความได้หลากหลายมุม  

นิทานเรื่องที่สอง  ผีแคนเตอร์ วิลลฺ (The Canterville Ghost)  เขียนโดย Oscar Wilde    เป็นผีมีตัวตน  แถมยังมีทรัพย์สมบัติ    เป็นผีชอบแกล้งคน    แต่แพ้ความรักความเมตตา

เมื่อสาวน้อยลูกสาวเจ้าของบ้านคนใหม่ไปพบผีอังกฤษในสภาพห่อเหี่ยวใจ เพราะหลอกเจ้าของบ้านใหม่ที่เป็นคนอเมริกันเท่าไรเขาก็ไม่กลัว    แถมยังโดนเด็กชายฝาแฝดวางแผนหลอกผีเสียอีก    สาวน้อย เวอร์จิเนีย เข้าไปปลอบโยนและแสดงน้ำใจ   แถมยังชวนไปจัดแสดงผีที่อเมริกาเสียอีก  

น้ำตาแห่งความสงสารของสาวน้อย เวอร์จิเนีย ชนะใจผี   และช่วยให้ผีพ้นคำสาปที่ทำให้เขานอนตายอย่างสงบไม่ได้มาสามร้อยปี    ผีมอบหีบเครื่องเพชรแก่เวอร์จิเนีย   

เป็นที่มาของบทโต้ตอบของคนดีสองคน   คือท่านทูตอเมริกัน ผู้ซื้อคฤหาสน์ผีสิงจากท่านลอร์ดแคนเตอร์วิลลฺ เจ้าของคฤหาสน์คนเก่า ที่เตือนแล้วว่าบ้านนี้มีผีสิง    คำสนทนาระหว่างท่านทูตกับท่านลอร์ด เรื่องสมบัติผีที่เวอร์จิเนียได้รับมาจากผี ว่าควรตกเป็นของใคร    กินใจผมมาก    ในด้านจิตใจที่ดีงาม    

นั่นเป็นเรื่องสมบัติผี   และเป็นเรื่องในนิทาน

ทำให้ผมหวนนึกถึงเรื่องจริงของมนุษย์ สมัยสี่สิบปีก่อน    ที่ลูกชายคนโตของพ่อผมบอกพ่อว่า สมบัติของพ่อ (ซึ่งเป็นที่ดินราวๆ สองร้อยไร่) นั้น ขอให้ยกให้น้องๆ ที่เป็นเกษตรกร (สามคน) สำหรับเป็นเครื่องมือหากิน    ส่วนลูกๆ ที่เป็นหมอ (สามคน) ไม่ต้องให้อะไร    เพราะมีอาชีพที่มั่นคงแล้ว    ผมเข้าใจว่า พฤติกรรมนี้ มีส่วนช่วยให้ครอบครัวของเรากลมเกลียวรักใคร่กัน    น้องๆ เกรงใจพี่คนโต   เป็นครอบครัวที่มีความสุข   

ที่จริง นิทานผีเรื่องหลัง ผีแคนเตอร์ วิลลฺ  อาจมองว่าเป็นเรื่องคนสอนผี  หรือคนช่วยผี ก็ได้    ความรักความเมตตาชนะใจได้    ทั้งใจคนและใจผี

วิจารณ์ พานิช

๑๔ มิ.ย. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 678936เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2020 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2020 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท