พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๓ (พระสูตร เล่มที่ ๕) เรื่องที่ ๖๑. จูฬราหุโลวาทสูตร เรื่องความเป็นสมณะกับภาชนะใส่น้ำ


๖๑. จูฬราหุโลวาทสูตร  เรื่องความเป็นสมณะกับภาชนะใส่น้ำ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระราหุลพักอยู่ ณ ปราสาทชื่ออัมพลัฏฐิกา ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคทรงออกจากที่หลีกเร้น แล้วเสด็จเข้าไปหาท่านพระราหุลจนถึงปราสาทชื่ออัมพลัฏฐิกา ท่านพระราหุลได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล จึงปูลาดอาสนะและตั้งน้ำสำหรับล้างพระบาทไว้ พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วทรงล้างพระบาท ท่านพระราหุลถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเหลือน้ำหน่อยหนึ่งไว้ในภาชนะน้ำ แล้วรับสั่งเรียกท่านพระราหุลมาตรัสว่า “ราหุล เธอเห็นน้ำที่เหลืออยู่หน่อยหนึ่งในภาชนะนี้ไหม”

ท่านพระราหุลกราบทูลว่า “เห็น พระพุทธเจ้าข้า”

“ราหุล ความเป็นสมณะของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จ ทั้งที่รู้อยู่ก็มีอยู่หน่อยหนึ่งเหมือนน้ำที่เหลืออยู่หน่อยหนึ่งอย่างนี้”

จากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเทน้ำที่เหลือหน่อยหนึ่งทิ้ง แล้วตรัสกับท่านพระราหุลว่า “ราหุล เธอเห็นน้ำหน่อยหนึ่งที่เราเททิ้งไหม”

“เห็น พระพุทธเจ้าข้า”

“ราหุล ความเป็นสมณะของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ ก็มีอยู่หน่อยหนึ่งเหมือนน้ำที่เททิ้งแล้วอย่างนี้”

จากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงคว่ำภาชนะน้ำนั้น แล้วตรัสกับท่านพระราหุลว่า “ราหุล เธอเห็นภาชนะน้ำที่คว่ำนี้ไหม”

“เห็น พระพุทธเจ้าข้า”

“ราหุล ความเป็นสมณะของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ ก็เหมือนภาชนะน้ำที่คว่ำแล้วอย่างนี้”

จากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหงายภาชนะน้ำนั้น แล้วตรัสกับท่านพระราหุลว่า “เธอเห็นภาชนะน้ำอันว่างเปล่านี้ไหม”

“เห็น พระพุทธเจ้าข้า”

“ราหุล ความเป็นสมณะของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ ก็เหมือนภาชนะน้ำที่ว่างเปล่าอย่างนี้ เปรียบเหมือนช้างต้นมีงางอนงาม เป็นช้างทรงที่มีชาติกำเนิดดี เคยฝ่าศึกสงครามมาแล้ว บุกบั่นสงครามมาแล้ว ทำการงานด้วยเท้าหน้าทั้ง ๒ บ้าง ด้วยเท้าหลังทั้ง ๒ บ้าง ด้วยกายท่อนหน้าบ้าง ด้วยกายท่อนหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหูทั้ง ๒ บ้าง ด้วยงาทั้ง ๒ บ้าง ด้วยหางบ้างสงวนไว้แต่งวงเท่านั้น เพราะการที่ช้างสงวนงวงไว้นั้น ควาญช้างมีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘ช้างต้น เชือกนี้มีงางอนงาม เป็นช้างทรงที่มีชาติกำเนิดดี เคยฝ่าศึกสงครามมาแล้ว บุกบั่นสงครามมาแล้ว ทำการงานด้วยเท้าหน้าทั้ง ๒ บ้างด้วยเท้าหลังทั้ง ๒ บ้าง ด้วยกายท่อนหน้าบ้าง ด้วยกายท่อนหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้างด้วยหูทั้ง ๒ บ้าง ด้วยงาทั้ง ๒ บ้าง ด้วยหางบ้าง สงวนไว้แต่งวงเท่านั้น ชื่อว่าช้างต้นยังสละไม่ได้กระทั่งชีวิต’

ควาญช้างจึงมีความเห็นอย่างนี้ว่า ไม่มีอะไรที่ช้างต้นจะทำไม่ได้’ แม้ฉันใด ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่กล่าวว่า ‘บุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ จะไม่ทำบาปกรรมอะไรเลย’

ราหุล เพราะเหตุนั้น  เธอพึงสำเหนียกในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่กล่าวเท็จ แม้เพื่อให้หัวเราะกันเล่น’ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล ราหุล”

ทรงสอนให้พิจารณากายกรรม

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ราหุล กระจกมีประโยชน์อย่างไร”

ท่านพระราหุลทูลตอบว่า “มีประโยชน์สำหรับส่องดู พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน ราหุล บุคคลควรพิจารณาให้ดีแล้วจึงทำกรรมทางกาย พิจารณาให้ดีแล้วจึงทำกรรมทางวาจา พิจารณาให้ดีแล้วจึงทำกรรมทางใจ

ถ้าเธอปรารถนาจะทำกรรมใดทางกาย เธอพึงพิจารณากายกรรมนั้นเสียก่อนว่า ‘กายกรรมที่เราปรารถนาจะทำนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก’ กรรมทางกายเห็นปานนี้เธออย่าทำเด็ดขาด

แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘กายกรรมที่เราปรารถนาจะทำนี้ ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง กายกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก’ กรรมทางกายเห็นปานนี้ เธอควรทำ

ราหุล เธอแม้เมื่อกำลังทำกรรมทางกาย ก็พึงพิจารณากายกรรมนั้น ว่า ‘กายกรรมที่เราจะทำนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก’ เธอพึงละกายกรรมเห็นปานนี้เสีย

แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘กายกรรมที่เราจะทำนี้ ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง กายกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก’ เธอพึงเพิ่มพูนกายกรรมเห็นปานนี้

ราหุล แม้เธอทำกรรมทางกายแล้ว ก็พึงพิจารณากายกรรมนั้น ว่า ‘กายกรรมที่เราทำแล้วนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก’ กายกรรมเห็นปานนี้เธอพึงแสดง เปิดเผย ทำให้ง่าย ในศาสดา หรือในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายแล้วสำรวมต่อไป

แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘กายกรรมที่เราทำแล้วนี้ ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง กายกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก’ เธอพึงมีปีติและปราโมทย์ สำเหนียกในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยกายกรรมนั้น

ทรงสอนให้พิจารณาวจีกรรม

ราหุล ถ้าเธอปรารถนาจะทำกรรมใดทางวาจา เธอพึงพิจารณาวจีกรรมนั้นเสียก่อนว่า ‘วจีกรรมที่เราปรารถนาจะทำนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้างเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก’ กรรมทางวาจาเห็นปานนี้ เธออย่าทำเด็ดขาด

แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘วจีกรรมที่เราปรารถนาจะทำนี้ ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง วจีกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก’ กรรมทางวาจาเห็นปานนี้เธอควรทำ

ราหุล เธอแม้เมื่อกำลังทำกรรมทางวาจา ก็พึงพิจารณาวจีกรรมนั้น ว่า ‘วจีกรรมที่เราจะทำนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้างเป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก’ เธอพึงละวจีกรรมเห็นปานนี้

แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘วจีกรรมที่เราจะทำนี้ ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้างวจีกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก’ เธอพึงเพิ่มพูนวจีกรรมเห็นปานนี้

ราหุล แม้เธอทำกรรมทางวาจาแล้ว ก็พึงพิจารณาวจีกรรมนั้น ว่า ‘วจีกรรมที่เราทำแล้วนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก’ วจีกรรมเห็นปานนี้ เธอพึงแสดง เปิดเผย ทำให้ง่าย ในศาสดา หรือในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลาย แล้วสำรวมต่อไป

แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘วจีกรรมที่เราทำแล้วนี้ ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง วจีกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก’ เธอพึงมีปีติและปราโมทย์ สำเหนียกในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยวจีกรรมนั้น

ทรงสอนให้พิจารณามโนกรรม

ราหุล ถ้าเธอปรารถนาจะทำกรรมใดทางใจ เธอพึงพิจารณามโนกรรมนั้นเสียก่อนว่า ‘มโนกรรมที่เราปรารถนาจะทำนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้างเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก’  กรรมทางใจเห็นปานนี้ เธออย่าทำเด็ดขาด

แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘มโนกรรมที่เราปรารถนาจะทำนี้ ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง มโนกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก’ กรรมทางใจเห็นปานนี้เธอควรทำ

ราหุล เธอแม้เมื่อกำลังทำกรรมทางใจ ก็พึงพิจารณามโนกรรมนั้น ว่า ‘มโนกรรมที่เราจะทำนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้างเป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก’  เธอพึงละมโนกรรมเห็นปานนี้

แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘มโนกรรมที่เราจะทำนี้ ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง มโนกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก’ เธอพึงเพิ่มพูนมโนกรรมเห็นปานนี้

ราหุล แม้เธอทำกรรมทางใจแล้ว ก็พึงพิจารณามโนกรรมนั้น ว่า ‘มโนกรรมที่เราทำแล้วนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้างเป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก’ เธอพึงอึดอัด ระอารังเกียจมโนกรรมเห็นปานนี้ แล้วสำรวมต่อไป

แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘มโนกรรมที่เราทำแล้วนี้ ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง มโนกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก’ เธอพึงมีปีติและปราโมทย์ สำเหนียกในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยมโนกรรมนั้น

ราหุล สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล ได้ชำระกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดพิจารณาดีแล้วจึงได้ชำระกายกรรม พิจารณาดีแล้วจึงได้ชำระวจีกรรม พิจารณาดีแล้วจึงได้ชำระมโนกรรม อย่างนี้แล

แม้สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาล จักชำระกายกรรมวจีกรรม และมโนกรรม สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ก็พิจารณาดีแล้วจักชำระกายกรรม พิจารณาดีแล้วจักชำระวจีกรรม พิจารณาดีแล้วจักชำระมโนกรรมอย่างนี้

ถึงสมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันกาลกำลัง ชำระกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรมอยู่ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ก็พิจารณาดีแล้วจึงชำระกายกรรม พิจารณาดีแล้วจึงชำระวจีกรรม พิจารณาดีแล้วจึงชำระมโนกรรม อย่างนี้

ราหุล เพราะเหตุนั้น  เธอพึงสำเหนียกในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า ‘เราพิจารณาดีแล้วจักชำระกายกรรม พิจารณาดีแล้วจักชำระวจีกรรม พิจารณาดีแล้วจักชำระมโนกรรม’ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระราหุลมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้


เรียบเรียงใหม่โดย ดร.ศักดิ์ ประสานดี 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสูตร เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๒ ภิกขุวรรค เรื่องที่ ๑ จูฬราหุโลวาทสูตร

หมายเลขบันทึก: 678044เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2020 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2020 23:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท