พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๒ (พระสูตร เล่มที่ ๔) เรื่องที่ ๔๗ วีมังสกสูตร เรื่องการตรวจสอบความเป็นศาสดา (เป็นศาสดาที่กล้าให้สาวกตรวจสอบได้)


๔๗. วีมังสกสูตร  เรื่องการตรวจสอบความเป็นศาสดา

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น  พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อไม่รู้วาระจิตของผู้อื่น พึงทำการพิจารณาตรวจสอบตถาคตเพื่อทราบว่า ‘ตถาคตเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดอธิบายเนื้อความแห่งพระภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับแล้วจักทรงจำไว้”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟังจงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”

การตรวจสอบธรรมของพระตถาคต

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อไม่รู้วาระจิตของผู้อื่น พึงพิจารณาตรวจสอบตถาคตในธรรม ๒ ประการ คือ (๑) ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตา (๒) ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางหูว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเศร้าหมองหรือไม่’ เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเศร้าหมอง’

จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘ตถาคต มีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเจือกันหรือไม่’ เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเจือกัน’

จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้ทางตาและทางหูอันผ่องแผ้วหรือไม่’ เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันผ่องแผ้ว’

จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘ท่านผู้นี้มีกุศลธรรมนี้สิ้นกาลช้านาน หรือมีชั่วกาลนิดหน่อย’ เมื่อตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้มีกุศลธรรมนี้สิ้นกาลช้านาน มิใช่ว่ามีชั่วกาลนิดหน่อย’

จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า‘ท่านภิกษุนี้มีชื่อเสียง มียศ ท่านมีโทษบางอย่างในโลกนี้บ้างหรือไม่’ เพราะภิกษุยังไม่มีโทษบางอย่างในโลกนี้ ชั่วเวลาที่ตนยังไม่มีชื่อเสียง ยังไม่มียศ แต่เมื่อมีชื่อเสียง มียศแล้ว ก็จะมีโทษบางอย่างในโลกนี้ ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านภิกษุนี้มีชื่อเสียง มียศแล้ว แต่มิได้มีโทษบางอย่างในโลกนี้’

จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นว่า‘ท่านผู้นี้ไม่มีภัย มิใช่ผู้มีภัย ไม่เสพกามเพราะปราศจากราคะแล้ว เนื่องจากสิ้นราคะ’ เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่มีภัย มิใช่ผู้มีภัย ไม่เสพกาม เพราะปราศจากราคะแล้ว เนื่องจากสิ้นราคะ’

หากชนเหล่าอื่นจะพึงถามภิกษุนั้นว่า ‘ท่านมีอะไรเป็นเครื่องบ่งชี้ที่เป็นเหตุให้ท่านกล่าวว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่มีภัย มิใช่ผู้มีภัย ไม่เสพกามเพราะปราศจากราคะแล้ว เนื่องจากสิ้นราคะ’

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องควรตอบอย่างนี้ว่า ‘จริงอย่างนั้น ท่านผู้นี้อยู่ในหมู่หรืออยู่ผู้เดียว จะไม่ดูหมิ่นหมู่ชนในที่นั้น ผู้ดำเนินไปดี ดำเนินไปชั่ว สั่งสอนคณะ บางพวกติดอยู่ในอามิสในโลกนี้ และบางพวกไม่ติดอยู่ในอามิสในโลกนี้ เราได้สดับรับความข้อนี้มาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘เราเป็นผู้ไม่มีภัย มิใช่เป็นผู้มีภัย เพราะปราศจากราคะแล้ว ไม่เสพกามเพราะปราศจากราคะแล้ว เนื่องจากสิ้นราคะ’

ทรงเปิดโอกาสให้สอบถามยิ่งขึ้น

ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้พิจารณาเหล่านั้น ภิกษุผู้พิจารณารูปหนึ่ง ควรสอบถามตถาคตต่อไปว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเศร้าหมองหรือไม่’ ตถาคตเมื่อตอบก็จะพึงตอบอย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเศร้าหมอง’

ควรสอบถามตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเจือกันหรือไม่’ ตถาคตเมื่อตอบก็จะพึงตอบอย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเจือกัน’

ควรสอบถามตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันผ่องแผ้วหรือไม่’ ตถาคตเมื่อตอบก็จะพึงตอบอย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันผ่องแผ้ว’ เราเป็นผู้มีธรรมที่ผ่องแผ้วนั้นเป็นทางเป็นที่โคจร เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา’

สาวกควรจะเข้าไปหาศาสดาผู้มีวาทะอย่างนี้ เพื่อฟังธรรม ศาสดาก็จะแสดงธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้น ทั้งที่เป็นส่วนดำและส่วนขาวแก่สาวกนั้น ศาสดาก็แสดงธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้น ทั้งที่เป็นส่วนดำและส่วนขาวแก่ภิกษุ โดยประการใด ภิกษุนั้นรู้ยิ่งซึ่งธรรมบางอย่างในธรรมนั้น โดยประการนั้น ถึงความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย ก็จะเลื่อมใสในศาสดาว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’

หากชนเหล่าอื่นพึงสอบถามภิกษุนั้นอีกอย่างนี้ว่า ‘ท่านมีอะไรเป็นเครื่องบ่งชี้ที่เป็นเหตุให้ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็ควรตอบอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เราเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับเพื่อฟังธรรม พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้น ทั้งที่เป็นส่วนดำ และส่วนขาวแก่เรานั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้น ทั้งที่เป็นส่วนดำและส่วนขาวแก่เราโดยประการใด เราก็รู้ยิ่งซึ่งธรรมบางอย่างในธรรมนั้นโดยประการนั้น ถึงความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย ก็จะเลื่อมใสในพระศาสดาว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีไว้แล้วพระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’

ภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาของบุคคลใดบุคคลหนึ่งตั้งมั่นแล้วในตถาคตมีมูล มีที่อาศัย ด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ ศรัทธานี้เรากล่าวว่ามีเหตุมีทัสสนะเป็นมูล มั่นคง ซึ่งสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆในโลกไม่พึงให้หวั่นไหวได้

ภิกษุทั้งหลาย การตรวจสอบธรรมในตถาคต ย่อมมีอย่างนี้ ตถาคตเป็นผู้ที่ภิกษุพิจารณาตรวจสอบดีแล้วโดยธรรม อย่างนี้”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้


เรียบเรียงใหม่โดย ดร.ศักดิ์  ประสานดี 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสูตร เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๕. จูฬยมกวรรค หมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่ หมวดเล็ก

เรื่องที่ ๗. วีมังสกสูตร  ว่าด้วยผู้ตรวจสอบ   ข้อที่ ๔๘๗ - ๔๙๐  

หมายเลขบันทึก: 677929เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2020 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2020 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท