พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๒ (พระสูตร เล่มที่ ๔) เรื่องที่ ๔๖ มหาธัมมสมาทานสูตร เรื่อง ทำไมทุกอย่างไม่ได้ดั่งใจเรา (จะสมหวังได้อย่างไร)


๔๖. มหาธัมมสมาทานสูตร  เหตุที่สิ่งทั้งหลายไม่เป็นไปตามความปรารถนา

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น  พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย โดยมากสัตว์ทั้งหลายมีความปรารถนา มีความพอใจมีความประสงค์อย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ จะพึงเสื่อมไป ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ จะพึงเจริญยิ่งขึ้น’ เมื่อสัตว์เหล่านั้นมีความปรารถนา มีความพอใจ มีความประสงค์อย่างนี้ ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ย่อมเจริญยิ่งขึ้น ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ ย่อมเสื่อมไป ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเหตุในข้อนั้นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดอธิบายเนื้อความแห่งพระภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับแล้วจักทรงจำไว้”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟังจงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”

“ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้พบสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ไม่รู้จักธรรมที่ควรเสพ ไม่รู้จักธรรมที่ไม่ควรเสพ ไม่รู้จักธรรมที่ควรคบ ไม่รู้จักธรรมที่ไม่ควรคบ เมื่อไม่รู้จักธรรมที่ควรเสพ ไม่รู้จักธรรมที่ไม่ควรเสพ ไม่รู้จักธรรมที่ควรคบ ไม่รู้จักธรรมที่ไม่ควรคบ ก็เสพธรรมที่ไม่ควรเสพ ไม่เสพธรรมที่ควรเสพ คบธรรมที่ไม่ควรคบ ไม่คบธรรมที่ควรคบ เมื่อเสพธรรมที่ไม่ควรเสพ ไม่เสพธรรมที่ควรเสพ คบธรรมที่ไม่ควรคบ ไม่คบธรรมที่ควรคบ ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เจริญยิ่งขึ้น ธรรมที่น่าปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจ ก็เสื่อมไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะปุถุชนรู้ไม่ถูกต้อง

ภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยะ พบสัตบุรุษทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษรู้จักธรรมที่ควรเสพ รู้จักธรรมที่ไม่ควรเสพ รู้จักธรรมที่ควรคบ รู้จักธรรมที่ไม่ควรคบ เมื่อรู้จักธรรมที่ควรเสพ รู้จักธรรมที่ไม่ควรเสพ รู้จักธรรมที่ควรคบ รู้จักธรรมที่ไม่ควรคบ ก็ไม่เสพธรรมที่ไม่ควรเสพ เสพธรรมที่ควรเสพ ไม่คบธรรมที่ไม่ควรคบ คบธรรมที่ควรคบ เมื่อไม่เสพธรรมที่ไม่ควรเสพ เสพธรรมที่ควรเสพไม่คบธรรมที่ไม่ควรคบ คบธรรมที่ควรคบ ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ ก็เสื่อมไป ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ก็เจริญยิ่งขึ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอริยสาวกรู้ถูกต้อง

การสมาทานธรรม ๔ ประการ

ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต

๒. การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต

๓. การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต

๔. การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากในอนาคต

ภิกษุทั้งหลาย

๑. บรรดาการสมาทานธรรมเหล่านั้น บุคคลผู้ไม่รู้จักการสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบันและมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต ตกอยู่ในอวิชชาไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘การสมาทานธรรมนี้มีทุกข์ในปัจจุบันและมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อไม่รู้จักการสมาทานธรรมเหล่านั้นตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง จึงเสพการสมาทานธรรมนั้นไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น เมื่อเสพการสมาทานธรรมนั้น ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เจริญยิ่งขึ้น ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมเสื่อมไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นรู้ไม่ถูกต้อง

๒. บุคคลผู้ไม่รู้จักการสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต ตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘การสมาทานธรรมนี้มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อไม่รู้จักการสมาทานธรรมนั้นแล้ว ตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง จึงเสพการสมาทานธรรมนั้น ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น เมื่อเสพการสมาทานธรรมนั้น ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เจริญยิ่งขึ้น ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมเสื่อมไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นรู้ไม่ถูกต้อง

๓. บุคคลผู้ไม่รู้จักการสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต ตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘การสมาทานธรรมนี้ มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อไม่รู้จักการสมาทานธรรมนั้น ตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ไม่เสพการสมาทานธรรมนั้น ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น เมื่อไม่เสพการสมาทานธรรมนั้น ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เจริญยิ่งขึ้น ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมเสื่อมไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นรู้ไม่ถูกต้อง

๔. บุคคลผู้ไม่รู้จักการสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากในอนาคต ตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘การสมาทานธรรมนี้ มีสุขในปัจจุบันและมีสุขเป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อไม่รู้จักการสมาทานธรรมนั้น ตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ไม่เสพการสมาทานธรรมนั้น ละเว้นการสมาทานธรรมนั้นเมื่อไม่เสพการสมาทานธรรมนั้น ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เจริญยิ่งขึ้น ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมเสื่อมไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นรู้ไม่ถูกต้อง

ภิกษุทั้งหลาย

๑. บรรดาการสมาทานธรรมเหล่านั้น บุคคลผู้รู้จักการสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต มีวิชชา รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘การสมาทานธรรมนี้มีทุกข์ในปัจจุบันและมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อรู้จักการสมาทานธรรมนั้น มีวิชชา รู้ชัดตามความเป็นจริง จึงไม่เสพการสมาทานธรรมนั้น ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น เมื่อไม่เสพการสมาทานธรรมนั้น ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เสื่อมไป ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมเจริญยิ่งขึ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นรู้ถูกต้อง

๒. บุคคลผู้รู้จักการสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต มีวิชชา รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘การสมาทานธรรมนี้มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อรู้จักการสมาทานธรรมนั้น มีวิชชา รู้ชัดตามความเป็นจริง จึงไม่เสพการสมาทานธรรมนั้น ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น เมื่อไม่เสพการสมาทานธรรมนั้น ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เสื่อมไป ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมเจริญยิ่งขึ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นรู้ถูกต้อง

๓. บุคคลผู้รู้จักการสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบันแต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต มีวิชชา รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘การสมาทานธรรมนี้ มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อรู้จักการสมาทานธรรมนั้น มีวิชชา รู้ชัดตามความเป็นจริง จึงเสพการสมาทานธรรมนั้น ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น เมื่อเสพการสมาทานธรรมนั้น ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เสื่อมไป ธรรมที่น่าปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมเจริญยิ่งขึ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นรู้ถูกต้อง

๔. บุคคลผู้รู้จักการสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากในอนาคต มีวิชชา รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘การสมาทานธรรมนี้มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อรู้จักการสมาทานธรรมนั้น มีวิชชา รู้ชัดตามความเป็นจริง จึงเสพการสมาทานธรรมนั้น ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น เมื่อเสพการสมาทานธรรมนั้น ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เสื่อมไป ธรรมที่น่าปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมเจริญยิ่งขึ้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะบุคคลนั้นรู้ถูกต้อง

การสมาทานธรรมที่มีทุกข์และมีทุกข์เป็นวิบาก

การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคตเป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนฆ่าสัตว์ เป็นคนลักทรัพย์ เป็นคนประพฤติผิดในกาม เป็นคนพูดเท็จ  เป็นคนพูดส่อเสียด เป็นคนพูดคำหยาบ เป็นคนพูดเพ้อเจ้อ เป็นคนเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่นมาก เป็นคนมีจิตปองร้ายผู้อื่น เป็นคนมีความเห็นผิด เพราะเหตุนี้ เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส และหลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีทุกข์ในปัจจุบันและมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต (๑)

การสมาทานธรรมที่มีสุขแต่มีทุกข์เป็นวิบาก

การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคตเป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนฆ่าสัตว์ เป็นคนลักทรัพย์ เป็นคนประพฤติผิดในกาม เป็นคนพูดเท็จ เป็นคนพูดส่อเสียด เป็นคนพูดคำหยาบ เป็นคนพูดเพ้อเจ้อ เป็นคนเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่นมาก เป็นคนมีจิตปองร้ายผู้อื่น เป็นคนมีความเห็นผิด เพราะเหตุนี้ เขาจึงเสวยสุขโสมนัส แต่หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีสุขในปัจจุบันแต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต (๒)

การสมาทานธรรมที่มีทุกข์แต่มีสุขเป็นวิบาก

การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคตเป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เป็นคนเว้นขาดจากการลักทรัพย์ เป็นคนเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เป็นคนเว้นขาดจากการพูดเท็จ เป็นคนเว้นขาดจากพูดส่อเสียด เป็นคนเว้นขาดจากพูดคำหยาบ เป็นคนเว้น ขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นคนไม่มีความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เป็นคนมีจิตไม่ปองร้ายผู้อื่น เป็นคนมีความเห็นชอบ  และเพราะเหตุนี้เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีทุกข์ในปัจจุบันแต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต (๓)

การสมาทานธรรมที่มีสุขและมีสุขเป็นวิบาก

การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากในอนาคตเป็นอย่างไร  คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เป็นคนเว้นขาดจากการลักทรัพย์ เป็นคนเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เป็นคนเว้นขาดจากการพูดเท็จ เป็นคนเว้นขาดจากพูดส่อเสียด เป็นคนเว้นขาดจากพูดคำหยาบ เป็นคนเว้น ขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นคนไม่มีความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เป็นคนมีจิตไม่ปองร้ายผู้อื่น เป็นคนมีความเห็นชอบ  และเพราะเหตุนี้เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส  หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีสุขในปัจจุบันและมีสุขเป็นวิบากในอนาคต (๔)

อุปมาของการสมาทานธรรม ๔ ประการ

ภิกษุทั้งหลาย

๑. เปรียบเหมือนน้ำเต้าขมผสมด้วยยาพิษ บุรุษที่รักชีวิต ยังไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ มาถึงพวกชาวบ้าน บอกเขาว่า ‘บุรุษผู้เจริญน้ำเต้าขมนี้ผสมด้วยยาพิษ ถ้าท่านหวังจะดื่ม ก็ดื่มเถิด น้ำเต้าขมนั้น จักไม่ทำให้ท่านผู้ดื่มพอใจ ทั้งสี กลิ่น และรส ครั้นท่านดื่มเข้าไปแล้วก็จักถึงตาย หรือได้รับทุกข์ปางตาย’ บุรุษนั้น ไม่พิจารณาน้ำเต้าขมนั้น ดื่มมิได้วาง น้ำเต้าขมนั้น ก็ไม่ทำให้เขาผู้ดื่มพอใจทั้งสีกลิ่น และรส ครั้นดื่มแล้ว พึงถึงตายหรือได้รับทุกข์ปางตาย แม้ฉันใด เรากล่าวว่า การสมาทานธรรมนี้ที่มีทุกข์ในปัจจุบันและมีทุกข์เป็นวิบาก ในอนาคต มีอุปมาฉันนั้น

๒. เปรียบเหมือนน้ำหวาน ๑ ภาชนะ น่าดื่ม ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่นและรส แต่ผสมด้วยยาพิษ บุรุษที่รักชีวิต ยังไม่อยากตาย รักสุขเกลียดทุกข์ มาถึงพวกชาวบ้านก็บอกเขาว่า ‘ท่านผู้เจริญ น้ำหวาน ๑ ภาชนะ น่าดื่ม ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่นและรส แต่ผสมด้วยยาพิษ ถ้าท่านหวังจะดื่ม ก็ดื่มเถิด น้ำหวาน ๑ ภาชนะนั้นจักทำให้ท่านผู้ดื่มพอใจ ทั้งสี กลิ่น และรส ครั้นท่านดื่มเข้าไปแล้ว ก็จักถึงตายหรือจักได้รับทุกข์ปางตาย’ บุรุษนั้นไม่พิจารณาน้ำหวาน ๑ ภาชนะนั้นแล้วดื่มมิได้วาง น้ำหวาน ๑ ภาชนะนั้นก็ทำให้เขาผู้ดื่มพอใจ ทั้งสีกลิ่น และรส ครั้นดื่มแล้ว พึงถึงตาย หรือได้รับทุกข์ปางตาย แม้ฉันใด เรากล่าวว่า การสมาทานธรรมนี้ที่มีสุขในปัจจุบันแต่มีทุกข์เป็นวิบากใน อนาคต มีอุปมาฉันนั้น

๓. เปรียบเหมือนน้ำมูตรเน่าที่ผสมด้วยยาต่างๆ บุรุษที่เป็นโรคผอมเหลือง มาถึงพวกชาวบ้านบอกเขาว่า ‘บุรุษผู้เจริญ น้ำมูตรเน่าผสมด้วยยาต่างๆ นี้ ถ้าท่านหวังจะดื่ม ก็ดื่มเถิด น้ำมูตรเน่านั้นจักไม่ทำให้ท่านผู้ดื่มพอใจ ทั้งสี กลิ่น และรส ครั้นท่านดื่มเข้าไปแล้วก็จักมีสุข’ บุรุษนั้น พิจารณาแล้วดื่มมิได้วาง น้ำมูตรเน่านั้นก็ไม่ทำให้เขาผู้ดื่มพอใจ ทั้งสี กลิ่น และรส ครั้นดื่มแล้วก็มีสุข แม้ฉันใดเรากล่าวว่า การสมาทานธรรมนี้ที่มีทุกข์ในปัจจุบันแต่มีสุขเป็นวิบาก ในอนาคต มีอุปมาฉันนั้น

๔. เปรียบเหมือนนมส้ม น้ำผึ้ง เนยใส และน้ำอ้อย ที่ผสมเข้าด้วยกัน บุรุษผู้เป็นโรคลงแดง มาถึงพวกชาวบ้านบอกเขาว่า ‘บุรุษผู้เจริญ นมส้ม น้ำผึ้ง เนยใส และน้ำอ้อยนี้ เขาผสมเข้าด้วยกัน ถ้าท่านหวังจะดื่ม ก็ดื่มเถิด ยานั้นจักทำให้ท่านผู้ดื่มพอใจ ทั้งสี กลิ่นและรส ครั้นท่านดื่มเข้าไปแล้วจักมีสุข’ บุรุษนั้น พิจารณายานั้นแล้วดื่มมิได้วาง ยานั้นก็ทำให้เขาผู้ดื่มพอใจทั้งสี กลิ่น และรส ครั้นดื่มแล้วก็มีความสุข แม้ฉันใด เรากล่าวว่าการสมาทานธรรมนี้ที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากในอนาคต มีอุปมาฉันนั้น

ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนในสารทกาลซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝนอากาศโปร่งปราศจากเมฆฝน ดวงอาทิตย์ลอยอยู่ในท้องฟ้า กำจัดความมืดในอากาศทั้งสิ้น ย่อมส่องแสงสว่างเจิดจ้า แม้ฉันใด การสมาทานธรรมนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีสุขในปัจจุบันและมีสุขเป็นวิบากในอนาคต กำจัดคำติเตียนของผู้อื่นคือสมณพราหมณ์เป็นอันมากเหล่าอื่น ย่อมส่องแสงสว่างเจิดจ้า”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้

เรียบเรียงใหม่ โดย ดร.ศักดิ์ ประสานดี 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสูตร เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๕. จูฬยมกวรรค หมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่ หมวดเล็ก

เรื่องที่ ๖  มหาธัมมสมาทานสูตรที่ ข้อที่ ๔๗๓ - ๔๘๖

หมายเลขบันทึก: 677918เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2020 20:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2020 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท