พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๒ (พระสูตร เล่มที่ ๔) เรื่องที่ ๓๙. มหาอัสสปุรสูตร เรื่องคุณธรรมใดทำให้เป็นสมณะ


๓๙. มหาอัสสปุรสูตร เรื่องคุณธรรมทำให้เป็นสมณะ

ข้อปฏิบัติของสมณะ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัสสปุรนิคมของพระราชกุมารชาวอังคะในแคว้นอังคะ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย หมู่ชนรู้จักเธอทั้งหลายว่า ‘สมณะ สมณะ’ เธอทั้งหลายเมื่อเขาถามว่า ‘ท่านทั้งหลายเป็นใคร’ ก็ปฏิญญาว่า ‘เราทั้งหลายเป็นสมณะ’ เมื่อเธอทั้งหลายนั้น ผู้มีชื่ออย่างนี้ มีปฏิญญาอย่างนี้ ก็ควรสำเหนียกว่า ‘เราทั้งหลายจักสมาทานประพฤติธรรม ที่ทำให้เป็นสมณะและเป็นพราหมณ์ เมื่อเราทั้งหลายปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ชื่อและปฏิญญานี้ของเราทั้งหลายก็จักเป็นความจริงแท้ใช่แต่เท่านั้น เราทั้งหลายใช้สอยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของทายกเหล่าใด ปัจจัยทั้งหลายของทายกเหล่านั้น ก็จักมีผลมากมีอานิสงส์มากเพราะเราทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง บรรพชานี้ของเราทั้งหลาย ก็จักไม่เป็นหมัน จักมีผล มีความเจริญ’

หิริโอตตัปปะ

ธรรมที่ทำให้เป็นสมณะและเป็นพราหมณ์ เป็นอย่างไร  คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะ เราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไรๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลายขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

กายสมาจารบริสุทธิ์

กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร  คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักมีกายสมาจารบริสุทธิ์ ปรากฏ เปิดเผย ไม่บกพร่องและสำรวมระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยความเป็นผู้มีกายสมาจารอันบริสุทธิ์นั้น’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารบริสุทธิ์แล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไรๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลายขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

วจีสมาจารบริสุทธิ์

กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร  คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักมีวจีสมาจารบริสุทธิ์ปรากฏ เปิดเผย ไม่บกพร่องและสำรวมระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยความเป็นผู้มีวจีสมาจารบริสุทธิ์นั้น’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารและวจีสมาจารบริสุทธิ์แล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ถึงแล้วโดยลำดับ กิจอะไรๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลายขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

มโนสมาจารบริสุทธิ์

กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร   คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักมีมโนสมาจารบริสุทธิ์ ปรากฏ เปิดเผย ไม่บกพร่องและสำรวมระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยความเป็นผู้มีมโนสมาจารบริสุทธิ์นั้น’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจาร วจีสมาจาร และมโนสมาจารบริสุทธิ์แล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ประโยชน์จากความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไรๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

อาชีวะบริสุทธิ์

กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร  คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักมีอาชีวะบริสุทธิ์ปรากฏ เปิดเผย ไม่บกพร่องและสำรวมระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยความเป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์นั้น’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจาร วจีสมาจาร มโนสมาจาร และอาชีวะบริสุทธิ์แล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ประโยชน์จากความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไรๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

สำรวมอินทรีย์

กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร  คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็นผู้คุ้มครองทวารแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ จักปฏิบัติเพื่อความสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จักรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุฟังเสียงทางหู ดมกลิ่นทางจมูก ลิ้มรสทางลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย  รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ จักปฏิบัติเพื่อความสำรวมมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จักรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารบริสุทธิ์วจีสมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์ อาชีวะบริสุทธิ์แล้ว และเป็นผู้คุ้มครองทวารแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับกิจอะไรๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี’ เธอทั้งหลาย ถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้นเราขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

รู้จักประมาณในโภชนะ

กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักรู้จักประมาณในโภชนะ จักพิจารณาโดยแยบคายแล้วกลืนกินอาหาร ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อความมัวเมาไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่เพียงเพื่อกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตินทรีย์เป็นไป เพื่อบำบัดความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ โดยอุบายนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสียได้ และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความดำรงอยู่แห่งชีวิตความไม่มีโทษ และการอยู่โดยผาสุกจักมีแก่เรา‘ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารบริสุทธิ์ วจีสมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์ อาชีวะบริสุทธิ์ เป็นผู้คุ้มครองทวารแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย และจักรู้จักประมาณในโภชนะ พอละ ด้วยกิจเพียงเท่านี้เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไรๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มีอีก’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

ตื่นบำเพ็ญเพียร

กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร  คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็นผู้ประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง จักชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็นเครื่องขัดขวางด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดวัน จักชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเป็นเครื่องขัดขวางด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี สำเร็จการนอนดุจราชสีห์โดยตะแคงข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะหมายใจว่าจะลุกขึ้นตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเป็นเครื่องขัดขวางด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารบริสุทธิ์ วจีสมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์ อาชีวะบริสุทธิ์ เป็นผู้คุ้มครองทวารแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย และรู้จักประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่องแล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะ เราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไรๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มีอีก’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนาอย่าได้เสื่อมไปเลย

เจริญสติสัมปชัญญะ

กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร  คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู การคู้เข้าการเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยวการลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่นการพูด การนิ่ง’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารบริสุทธิ์ วจีสมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์อาชีวะบริสุทธิ์แล้ว เป็นผู้คุ้มครองทวารแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง และมีสติสัมปชัญญะแล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไรๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มีอีก’ เธอทั้งหลายยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

การละนิวรณ์ ๕

กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร  คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขาซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าทึบ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอละอภิชฌาความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่นในโลก มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะความหดหู่และความเซื่องซึม ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะความฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉาความลังเลสงสัย ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้วไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนกู้หนี้มาลงทุนจนประสบผลสำเร็จ ใช้หนี้เก่าที่เป็นต้นทุนจนหมด เก็บกำไรที่เหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยา เพราะความไม่มีหนี้สินเป็นเหตุเขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ

คนไข้ถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง ต่อมาหายป่วยบริโภคอาหารได้กลับมีกำลัง เพราะการหายจากโรคเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ

คนต้องโทษถูกคุมขังในเรือนจำ ต่อมาพ้นโทษออกจากเรือนจำโดยสวัสดิภาพไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะการพ้นจากเรือนจำเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ

คนที่ตกเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไปไหนตามใจชอบก็ไม่ได้ต่อมาพ้นจากความเป็นทาส พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัวเอง จะไปไหนก็ได้ตามใจชอบ เพราะความเป็นไทแก่ตนเองเป็นเหตุเขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ

คนมีทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร ต่อมาเขาข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้โดยสวัสดิภาพ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะการพบภูมิสถานอันร่มเย็นเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ แม้ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการนี้ที่ตนยังละไม่ได้เหมือนหนี้ โรค เรือนจำ ความเป็นทาส และทางไกลกันดาร และพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการนี้ที่ตนละได้แล้วเหมือนความไม่มีหนี้ ความไม่มีโรคการพ้นโทษจากเรือนจำ ความเป็นไทแก่ตนเอง และภูมิสถานอันสงบร่มเย็น

อุปมาฌาน ๔

ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเป็นเครื่องทำปัญญาให้ถอยกำลังได้แล้ว สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้วบรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ เต็มเปี่ยมด้วยปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง พนักงานสรงสนาน หรือลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ชำนาญ เทผงถูตัวลงในภาชนะสำริดแล้วเอาน้ำประพรมให้ติดเป็นก้อน พอตกเย็น ก้อนถูตัวที่ยางซึมไปจับก็ติดกันหมดไม่กระจายออกแม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ เต็มเปี่ยมด้วยปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไปภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบเต็มเปี่ยม ซาบซ่านอยู่ด้วยปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกเป็นวังวน ไม่มีทางที่กระแสน้ำจะไหลเข้าได้ ทั้งด้านตะวันออก ด้านตะวันตก ด้านเหนือและด้านใต้ ฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล แต่กระแสน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้วทำห้วงน้ำนั้นให้ชุ่มชื่น เอิบอาบ เต็มเปี่ยม เนืองนองไปด้วยน้ำเย็น ไม่มีส่วนไหนของห้วงน้ำนั้นที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ เต็มเปี่ยมด้วยปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่ถูกต้อง

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบเต็มเปี่ยมด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มีปีติจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบลดอกปทุม หรือดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำและมีน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้นชุ่มชื่น เอิบอาบ บริบูรณ์ ซึมซาบด้วยน้ำเย็นตั้งแต่ยอดจดถึงเหง้า ไม่มีส่วนไหนที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง แม้ฉันใดภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ เต็มเปี่ยมด้วยสุขอันไม่มีปีติรู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มีปีติจะไม่ถูกต้อง

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เธอมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง คนนั่งใช้ผ้าขาวคลุมตัวตลอดศีรษะไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ผ้าขาวจะไม่ปกคลุม แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง

อุปมาวิชชา ๓

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง๒ ชาติบ้าง ฯลฯ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุรุษออกจากบ้านของตนไปสู่บ้านอื่น ออกจากบ้านแม้นั้นไปสู่อีกบ้านหนึ่ง ออกจากบ้านแม้นั้นแล้ว กลับมาสู่บ้านของตนตามเดิมเขาจะพึงระลึกได้ว่า ‘เราออกจากบ้านของตนไปสู่บ้านโน้น ในบ้านนั้น เราได้ยืนอย่างนี้ ได้นั่งอย่างนี้ ได้พูดอย่างนี้ ได้นิ่งอย่างนี้ ออกจากบ้านแม้นั้นไปสู่บ้านโน้นแม้ในบ้านนั้น เราก็ได้ยืนอย่างนี้ ได้นั่งอย่างนี้ ได้พูดอย่างนี้ ได้นิ่งอย่างนี้ ออกจากบ้านแม้นั้นแล้วกลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม’ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูงงามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ฯลฯ เรือน ๒ หลัง มีประตูอยู่ตรงกัน บุรุษผู้มีตาดียืนอยู่ตรงกลางจะพึงเห็นหมู่มนุษย์ กำลังเข้าสู่เรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้างกำลังเดินไปมาบ้าง กำลังเที่ยวไปข้างโน้นข้างนี้บ้าง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งามเกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ย่อมรู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ฯลฯ

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัยนี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ สระน้ำใส สะอาด ไม่ขุ่นมัว บนยอดภูเขา คนตาดียืนที่ขอบสระนั้นจะพึงเห็นหอยโข่ง หอยกาบ ก้อนกรวด และก้อนหิน หรือฝูงปลากำลังแหวกว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้างในสระนั้น ก็คิดอย่างนี้ว่า ‘สระน้ำนี้ใส สะอาด ไม่ขุ่นมัวหอยโข่งและหอยกาบ ก้อนกรวด และก้อนหินหรือฝูงปลาเหล่านี้กำลังแหวกว่ายอยู่ก็มี หยุดอยู่ก็มีในสระนั้น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’

สมัญญาต่างๆ ของภิกษุ

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่า ‘สมณะบ้าง พราหมณ์บ้าง นหาตกะบ้าง เวทคูบ้าง โสตติยะบ้าง อริยะบ้าง อรหันต์บ้าง‘ 

ภิกษุชื่อว่าสมณะ เป็นอย่างไร  คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้นระงับได้แล้ว ภิกษุชื่อว่าสมณะ เป็นอย่างนี้

ภิกษุชื่อว่าพราหมณ์ เป็นอย่างไร  คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้นลอยได้แล้ว ภิกษุชื่อว่าพราหมณ์ เป็นอย่างนี้

ภิกษุชื่อว่านหาตกะ เป็นอย่างไร  คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้นอาบล้างแล้ว ภิกษุชื่อว่านหาตกะ เป็นอย่างนี้

ภิกษุชื่อว่าเวทคู เป็นอย่างไร  คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้นรู้แจ้งแล้วภิกษุชื่อว่าเวทคู เป็นอย่างนี้

ภิกษุชื่อว่าโสตติยะ เป็นอย่างไร  คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้นทำให้หลับหมดแล้ว ภิกษุชื่อว่าโสตติยะ เป็นอย่างนี้

ภิกษุชื่อว่าอริยะ เป็นอย่างไร  คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้นทำลายได้แล้ว ภิกษุชื่อว่าอริยะ เป็นอย่างนี้

ภิกษุชื่อว่าอรหันต์ เป็นอย่างไร  คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ห่างไกลจากภิกษุนั้น ภิกษุชื่อว่าอรหันต์ เป็นอย่างนี้”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสูตร เล่มที่ ๔  มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๔. มหายมกวรรค  หมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่ หมวดใหญ่

๙. มหาอัสสปุรสูตร ข้อที่ ๔๑๕ - ๔๓๔  

หมายเลขบันทึก: 677796เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2020 20:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2020 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท