พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๒ (พระสูตร เล่มที่ ๔) เรื่องที่ ๒๖. ปาสราสิสูตร เรื่องกองบ่วงดักสัตว์


๒๖. ปาสราสิสูตร เรื่องกองบ่วงดักสัตว์

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี

ครั้งนั้น ภิกษุเป็นจำนวนมากเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า “ท่านพระอานนท์ เป็นเวลานานมากแล้วที่พวกกระผมไม่ได้สดับธรรมกถาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ขอโอกาสให้พวกกระผมได้สดับธรรมกถาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเถิด”

ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงไปที่อาศรมของรัมมกพราหมณ์ ก็จักได้สดับธรรมกถาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค”

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เสด็จกลับจากบิณฑบาตภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ได้รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะไปพักกลางวันที่ปราสาทของมิคารมาตาในบุพพาราม”

ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงเสด็จพร้อมกับท่านพระอานนท์ไปพักกลางวันที่ปราสาทของมิคารมาตาในบุพพาราม ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากฌานแล้วตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า เราจักไปสรงน้ำที่ท่าบุพพโกฏฐกะ”

มารยาทในการประชุม

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมกับท่านพระอานนท์ ได้ไปสรงน้ำที่ท่าบุพพโกฏฐกะแล้ว เสด็จขึ้นจากท่าทรงครองจีวรผืนเดียว ประทับยืนผึ่งพระวรกายอยู่ ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาศรมของรัมมกพราหมณ์อยู่ไม่ไกล ทั้งเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ และน่าเลื่อมใสขอพระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังอาศรมของรัมมกพราหมณ์ เพื่อทรงอนุเคราะห์เถิดพระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพแล้วได้เสด็จเข้าไปยังอาศรมของรัมมกพราหมณ์

สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากนั่งสนทนาธรรมกถาอยู่ในอาศรมของรัมมกพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคประทับยืนนอกซุ้มประตู ทรงรอคอยให้ภิกษุสนทนากันจบเสียก่อน พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าการสนทนาจบลงแล้ว จึงทรงกระแอมแล้วเคาะบานประตู

ภิกษุเหล่านั้นเปิดประตูรับพระผู้มีพระภาคแล้ว

พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอาศรมของรัมมกพราหมณ์แล้ว ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้วจึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พูดเรื่องอะไรค้างไว้ อะไรที่เธอทั้งหลายสนทนากันค้างอยู่”

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายปรารภพระผู้มีพระภาคแล้วสนทนาธรรมกถาค้างอยู่ พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีแล้ว ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา ประชุมสนทนาธรรมกถากันนั้นเป็นเรื่องสมควร เธอทั้งหลายผู้มาประชุมกันมีกิจที่ควรทำ ๒ ประการ คือ (๑) การสนทนาธรรม (๒) การเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ

การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ

ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหามี ๒ อย่าง คือ (๑) การแสวงหาที่ประเสริฐ (๒) การแสวงหาที่ไม่ประสริฐ

การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ เป็นอย่างไร คือ คนบางคนในโลกนี้ ตนเองมีความเกิดเป็นธรรมดายังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความแก่เป็นธรรมดายังแสวงหาสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความตายเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่อีก

ภิกษุทั้งหลาย หากเธอทั้งหลายถามว่า อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา  คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาเหล่านั้น เป็นอุปธิผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองมีความเกิดเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่อีก

อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลาทอง เงิน เรียกว่าสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองมีความแก่เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาอยู่อีก

อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงินเรียกว่าสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่อีก

อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลาทอง เงิน เรียกว่าสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองมีความตายเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาอยู่อีก

อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลาทอง เงิน เรียกว่าสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดาอยู่อีก

อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลาทอง เงิน เรียกว่าสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่อีก

การแสวงหาที่ประเสริฐ

การแสวงหาที่ประเสริฐ เป็นอย่างไร คือ คนบางคนในโลกนี้ ตนเองมีความเกิดเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเกิด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

ตนเองมีความแก่เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความแก่ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

ตนเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเจ็บไข้ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

ตนเองมีความตายเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความตาย ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

ตนเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

ตนเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าและเกษมจากโยคะ

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนเราเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ตนเองมีความเกิดเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง ตนเองมีความแก่เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง ตนเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง ตนเองมีความตายเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง ตนเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง ตนเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา  ทางที่ดี เราควรแสวงหานิพพาน ที่ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

พุทธประวัติตอนบำเพ็ญสมาบัติ

ในสำนักอาฬารดาบส

ภิกษุทั้งหลาย ในกาลต่อมา เรายังหนุ่มแน่น แข็งแรง มีเกศาดำสนิท อยู่ในปฐมวัย เมื่อพระราชมารดาและพระราชบิดาไม่ทรงปรารถนาจะให้ผนวช มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตรทรงกันแสงอยู่ จึงโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อผนวชแล้วก็แสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทางอันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้เข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วกล่าวว่า ‘ท่านกาลามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้’

เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงกล่าวกับเราว่า ‘เชิญท่านอยู่ก่อน ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองตามแบบอาจารย์ของตน เข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน’ จากนั้นไม่นาน เราก็เรียนรู้ธรรมนั้นได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัยเท่านั้น ก็กล่าวญาณวาทะ และเถรวาทะ ได้ ทั้งเราและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ เราจึงคิดว่า‘อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงความเชื่ออย่างเดียวว่า‘เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ก็หามิได้ แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรยังรู้ ยังเห็นธรรมนี้อย่างแน่นอน’

จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ‘ท่านกาลามะท่านประกาศธรรมนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร’

เมื่อเราถามอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงประกาศอากิญจัญญายตนสมาบัติแก่เรา เราจึงคิดว่า ‘มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีศรัทธา แม้เราก็มีศรัทธา มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีวิริยะ แม้เราก็มีวิริยะมิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีสติ แม้เราก็มีสติ มิใช่แต่อาฬารดาบสกาลามโคตรเท่านั้นที่มีสมาธิ แม้เราก็มีสมาธิ มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีปัญญา แม้เราก็มีปัญญา ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญเพียร เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ จากนั้นไม่นาน เราก็ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่

จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ‘ท่านกาลามะท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้หรือ’

อาฬารดาบส กาลามโคตรตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าประกาศด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล’

เราจึงกล่าวว่า ‘ท่านกาลามะ แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ด้วยเหตุเพียงเท่านี้’

อาฬารดาบส กาลามโคตรกล่าวว่า ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้าพวกข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้พบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน เพราะข้าพเจ้าประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมใด ท่านก็ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ท่านทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ข้าพเจ้าก็ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ข้าพเจ้าทราบธรรมใด ท่านก็ทราบธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด ข้าพเจ้าก็ทราบธรรมนั้น เป็นอันว่าข้าพเจ้าเป็นเช่นใดท่านก็เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด ข้าพเจ้าก็เป็นเช่นนั้น มาเถิด บัดนี้ เราทั้งสองจะอยู่ร่วมกันบริหารคณะนี้’

ภิกษุทั้งหลาย อาฬารดาบส กาลามโคตร ทั้งที่เป็นอาจารย์ของเรา ก็ยกย่องเราผู้เป็นศิษย์ให้เสมอกับตน และบูชาเราด้วยการบูชาอย่างดี ด้วยประการอย่างนี้แต่เราคิดว่า ‘ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึงอากิญจัญญายตนสมาบัติเท่านั้น’ เราไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงลาจากไป

ในสำนักอุทกดาบส

ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทางอันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้เข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วกล่าวว่า ‘ท่านรามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้’

เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ อุทกดาบส รามบุตรจึงกล่าวกับเราว่า ‘เชิญท่านอยู่ก่อนธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกันกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองตามแบบอาจารย์ของตนเข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน’ จากนั้นไม่นาน เราก็เรียนรู้ธรรมนั้นได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัยเท่านั้น ก็กล่าวญาณวาทะและเถรวาทะได้ ทั้งเราและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ เราจึงคิดว่า‘อุทกดาบส รามบุตรประกาศธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงความเชื่ออย่างเดียวว่า ‘เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ก็หามิได้ แต่อุทกดาบส รามบุตรยังรู้ยังเห็นธรรมนี้ด้วยอย่างแน่นอน’

จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วถามว่า ‘ท่านรามะ ท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร’

เมื่อเราถามอย่างนี้ อุทกดาบส รามบุตรจึงประกาศเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแก่เรา เราจึงคิดว่า ‘มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีศรัทธา แม้เราก็มีศรัทธา มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีวิริยะ แม้เราก็มีวิริยะ มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีสติ แม้เราก็มีสติ มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีสมาธิ แม้เราก็มีสมาธิ มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีปัญญา แม้เราก็มีปัญญา ทางที่ดี เราควรเริ่มบำเพ็ญเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมที่อุทกดาบส รามบุตรประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ จากนั้นไม่นาน เราก็ได้ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่

จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วถามว่า ‘ท่านรามะ ท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้หรือ’

อุทกดาบส รามบุตรตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล’

เราจึงกล่าวว่า ‘แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ด้วยเหตุเพียงเท่านี้’

อุทกดาบส รามบุตรกล่าวว่า ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้าพวกข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้พบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน เพราะรามะประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ท่านก็ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่รามะก็ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนั้น รามะทราบธรรมใด ท่านก็ทราบธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด รามะก็ทราบธรรมนั้น เป็นอันว่ารามะเป็นเช่นใด ท่านก็เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด รามะก็เป็นเช่นนั้น มาเถิด บัดนี้ ท่านจงบริหารคณะนี้’

ภิกษุทั้งหลาย อุทกดาบส รามบุตรทั้งที่เป็นเพื่อนพรหมจารีของเรา ก็ยกย่องเราไว้ในฐานะอาจารย์ และบูชาเราด้วยการบูชาอย่างดี ด้วยประการอย่างนี้ แต่เราคิดว่า ‘ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติเท่านั้น’ เราไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงลาจากไป

ตรัสรู้สัจธรรม

ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทางอันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า เมื่อเที่ยวจาริกไปในแคว้นมคธโดยลำดับ ได้ไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้เห็นภูมิประเทศที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่าน่าเพลิดเพลินใจ มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคามอยู่โดยรอบ เราจึงคิดว่า ‘ภูมิประเทศเป็นที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่าน่าเพลิดเพลินใจมีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคามอยู่โดยรอบเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ปรารถนาจะบำเพ็ญเพียร’ เราจึงนั่ง ณ ที่นั้นด้วยคิดว่า ‘ที่นี้เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร’

ภิกษุทั้งหลาย เราเองมีความเกิดเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเกิด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

เราเองมีความแก่เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความแก่ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

เราเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาแล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเจ็บไข้ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

เราเองมีความตายเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาแล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความตาย ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

เราเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดาแล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

เราเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมองไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

ทั้งญาณทัสสนะได้เกิดแก่เราว่า ‘วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายบัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก’

ทรงมีความขวนขวายน้อย

ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘ธรรม ที่เราได้บรรลุแล้วนี้ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ ละเอียดบัณฑิต(เท่านั้น)จึงจะรู้ได้ ส่วนหมู่ประชาผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย ยินดีในอาลัยเพลิดเพลินในอาลัย ฐานะที่หมู่สัตว์ผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัยนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือหลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสมุปบาทถึงแม้ฐานะอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากนัก กล่าวคือความสงบแห่งสังขารทั้งปวงความสลัดทิ้งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา’

อนึ่งเล่า คาถาอันน่าอัศจรรย์เหล่านี้ที่ไม่เคยสดับมาก่อน ได้ปรากฏแก่เราว่า

                       ‘บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรมที่เราบรรลุด้วยความลำบาก

                          เพราะธรรมนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกราคะและโทสะครอบงำจะรู้ได้ง่าย

                          แต่เป็นสิ่งพาทวนกระแส ละเอียด ลึกซึ้ง รู้เห็นได้ยาก ประณีต

                          ผู้กำหนัดด้วยราคะ ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้’

สหัมบดีพรหมอาราธนาแสดงธรรม

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราพิจารณาดังนี้ จิตก็น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย มิได้น้อมไปเพื่อแสดงธรรม

ครั้งนั้น สหัมบดีพรหมทราบความดำริในใจของเราด้วยใจของตน จึงได้มีความรำพึงว่า ‘ท่านผู้เจริญ โลกจะฉิบหายหนอ โลกจะพินาศหนอ เพราะพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อยมิได้น้อมพระทัยไปเพื่อทรงแสดงธรรม’

ลำดับนั้น สหัมบดีพรหมอันตรธานจากพรหมโลกมาปรากฏ ณ เบื้องหน้าเราเปรียบเหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น แล้วห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือมาทางที่เราอยู่ ได้กล่าวกับเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดแสดงธรรม ขอพระสุคตเจ้าได้โปรดแสดงธรรมเพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาน้อย มีอยู่ สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้สดับธรรม สัตว์เหล่านั้นจักเป็นผู้รู้ทั่วถึงธรรม‘

สหัมบดีพรหมได้ทูลอาราธนาดังนี้ แล้วได้ทูลเป็นคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

พรหมนิคมคาถา

                                       ‘ในกาลก่อน ธรรมที่ไม่บริสุทธิ์

                          อันคนที่มีมลทิน คิดค้นไว้ ปรากฏในแคว้นมคธ

                          พระองค์โปรดเปิดประตูอมตธรรมนั้นเถิด

                          ขอสัตว์ทั้งหลายจงฟังธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

                          ผู้ปราศจากมลทิน ได้ตรัสรู้แล้ว

                                       ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญาดี มีพระสมันตจักษุ

                          บุรุษผู้ยืนอยู่บนยอดเขาศิลาล้วน

                          พึงเห็นหมู่ชนได้โดยรอบ แม้ฉันใด

                                       พระองค์ผู้หมดความเศร้าโศกแล้ว

                          โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรม

                          จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศก

                          และถูกชาติชราครอบงำได้ชัดเจน ฉันนั้น

                                       ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร

                          ผู้ชนะสงคราม ผู้นำหมู่ ผู้ไม่มีหนี้

                          ขอพระองค์โปรดลุกขึ้นเสด็จจาริกไปในโลก

                          ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดแสดงธรรม

                          เพราะสัตว์ทั้งหลายจักเป็นผู้รู้ทั่วถึงธรรม’

เวไนยสัตว์เปรียบด้วยดอกบัว

ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น เรารับคำทูลอาราธนาของพรหม และเพราะความมีกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย จึงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ เมื่อตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาน้อย มีธุลีในดวงตามาก มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยากบางพวกเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งน่ากลัว บางพวกเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งไม่น่ากลัว

ในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริกบางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำ และมีน้ำหล่อเลี้ยงไว้ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่เสมอน้ำดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่พ้นน้ำไม่แตะน้ำ แม้ฉันใด

เราเมื่อตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาน้อยมีธุลีในดวงตามาก มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทรามสอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวกเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งน่ากลัวบางพวกมักเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งไม่น่ากลัว ฉันนั้น

ลำดับนั้น เราจึงได้กล่าวคาถาตอบสหัมบดีพรหมว่า

                               ‘พรหม สัตว์เหล่าใดมีโสตประสาท

                          จงปล่อยศรัทธามาเถิด

                          เรามิได้ปิดประตูอมตธรรมสำหรับสัตว์เหล่านั้น

                          แต่เรารู้สึกว่าเป็นการยากลำบาก

                          จึงไม่คิดจะแสดงธรรมอันประณีต

                          ที่เราคล่องแคล่ว ในหมู่มนุษย์’

ครั้งนั้น สหัมบดีพรหมทราบว่า ‘พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอกาสเพื่อจะแสดงธรรมแล้ว’ จึงถวายอภิวาทเรา กระทำประทักษิณแล้วได้หายไปจากที่นั้น

ทรงรำพึงถึงผู้ควรรับธรรมเทศนา

ภิกษุทั้งหลาย เราดำริว่า ‘เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’ แล้วดำริต่อไปว่า ‘อาฬารดาบส กาลามโคตรนี้ เป็นบัณฑิต ฉลาดเฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในดวงตาน้อยมานาน ทางที่ดี เราควรแสดงธรรมแก่อาฬารดาบส กาลามโคตรก่อน เธอจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’

ครั้งนั้น เทวดาองค์หนึ่งเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญอาฬารดาบส กาลามโคตรทำกาละได้ ๗ วันแล้ว’

อนึ่ง เราก็ได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นว่า ‘อาฬารดาบส กาลามโคตร ทำกาละได้ ๗ วันแล้ว’ จึงดำริว่า ‘อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นผู้มีความเสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่ แล้วหนอ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน’

เราจึงดำริว่า ‘เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน’ จึงดำริต่อไปว่า ‘อุทกดาบส รามบุตรนี้ เป็นบัณฑิต ฉลาดเฉียบแหลมมีปัญญา มีธุลีในดวงตาน้อยมานาน ทางที่ดี เราควรแสดงธรรมแก่อุทกดาบสรามบุตรก่อน เธอจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’

ลำดับนั้น เทวดาองค์หนึ่งเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญอุทกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละเมื่อวานนี้’

อนึ่ง เราก็ได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นว่า ‘อุทกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละเมื่อวานนี้’ จึงดำริว่า ‘อุทกดาบส รามบุตร เป็นผู้มีความเสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่แล้วหนอ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน’

เราจึงดำริว่า ‘เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’จึงดำริว่า ‘ภิกษุปัญจวัคคีย์มีอุปการะแก่เรามาก ที่ได้เฝ้าปรนนิบัติเราผู้มุ่งบำเพ็ญเพียร ทางที่ดี เราควรแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ก่อน’ แล้วดำริต่อไปว่า ‘บัดนี้ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ’ ก็ได้เห็นภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันเขตกรุงพาราณสี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์

ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น เราพักอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาตามความต้องการแล้วจึงหลีกจาริกไปทางกรุงพาราณสี

ทรงพบอุปกาชีวก

ภิกษุทั้งหลาย อาชีวกชื่ออุปกะได้พบเราผู้กำลังเดินทางไกล ณ ระหว่างแม่น้ำคยากับต้นโพธิพฤกษ์ ได้ถามเราว่า ‘อาวุโส อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนักผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่านหรือท่านชอบใจธรรมของใคร’

เมื่ออุปกาชีวกถามอย่างนี้แล้ว เราจึงได้กล่าวคาถาตอบอุปกาชีวกว่า

                                       ‘เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้ธรรมทั้งปวง

                          มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง ละธรรมทั้งปวง ได้สิ้นเชิง

                          หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา ตรัสรู้ยิ่งเอง

                          แล้วจะพึงกล่าวอ้างใครเล่า

                                       เราไม่มีอาจารย์ เราไม่มีผู้เสมอเหมือน

                          เราไม่มีผู้ทัดเทียมในโลกกับทั้งเทวโลก

                          เพราะเราเป็นอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม

                          เราผู้เดียวเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ

                          เป็นผู้เยือกเย็น ดับกิเลสในโลกได้แล้ว

                                       เราจะไปเมืองหลวงของชาวกาสี ประกาศธรรมจักร

                          ตีกลองอมตธรรมไปในโลกอันมีความมืดมน‘

อุปกาชีวกกล่าวว่า ‘อาวุโส ท่านสมควรเป็นพระอนันตชินะตามที่ท่านประกาศ’

เราจึงกล่าวตอบเป็นคาถาว่า

                                       ‘ชนเหล่าใดได้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว

                          ชนเหล่านั้นย่อมเป็นพระชินะเช่นเรา

                          อุปกะ เราชนะความชั่วได้แล้ว

                          เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่าพระชินะ’

เมื่อเรากล่าวอย่างนั้นแล้ว อุปกาชีวกจึงกล่าวว่า ‘อาวุโส ควรจะเป็นอย่างนั้น’โคลงศีรษะแล้วเดินสวนทางหลีกไป

ทรงแสดงธรรมโปรดภิกษุปัญจวัคคีย์

ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น เราจาริกไปโดยลำดับ ถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ได้เข้าไปหาภิกษุปัญจวัคคีย์ถึงที่อยู่ ภิกษุปัญจวัคคีย์เห็นเราเดินมาแต่ไกล จึงนัดหมายกันและกันว่า ‘อาวุโส พระสมณโคดมนี้ เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก กำลังเสด็จมาพวกเราไม่พึงกราบไหว้ ไม่พึงลุกรับ ไม่พึงรับบาตรและจีวรของพระองค์ แต่จะจัดอาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาก็จักประทับนั่ง’

เราเข้าไปหาภิกษุปัญจวัคคีย์ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ลืมข้อนัดหมายของตน บางพวกต้อนรับเราแล้วรับบาตรและจีวร บางพวกปูลาดอาสนะ บางพวกจัดหาน้ำล้างเท้าแต่ภิกษุปัญจวัคคีย์เรียกเราโดยออกนามและใช้คำว่า ‘อาวุโส‘

เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว เราจึงห้ามภิกษุปัญญจวัคคีย์ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าเรียกตถาคตโดยออกชื่อและใช้คำว่า ‘อาวุโส’ ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เธอทั้งหลายจงเงี่ยโสตสดับ เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว จะแสดงธรรม เธอทั้งหลายเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้’

เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กล่าวกับเราว่า ‘อาวุโสโคดมแม้ด้วยจริยานั้น ด้วยปฏิปทานั้น ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังมิได้บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ บัดนี้ พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้เล่า’

เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว เราจึงได้กล่าวกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า‘ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่ได้เป็นคนมักมาก ไม่ได้คลายความเพียร ไม่ได้เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เธอทั้งหลายจงเงี่ยโสตสดับ เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว จะแสดงธรรม เธอทั้งหลายเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้’

แม้ครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓  ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กล่าวกับเราอย่างนั้น และเราก็กล่าวกับปัญจวัคคีย์เช่นเดิม

เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว เราได้กล่าวกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายยังจำได้หรือไม่ว่า ถ้อยคำเช่นนี้เราได้เคยกล่าวในกาลก่อนแต่นี้’

ภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวว่า ‘ถ้อยคำเช่นนี้ไม่เคยได้ฟังมาก่อน พระพุทธเจ้าข้า’

เราจึงกล่าวว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบเธอทั้งหลายจงเงี่ยโสตสดับ เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว จะแสดงธรรมเธอทั้งหลายเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้’

เราสามารถทำให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ยินยอมได้แล้ว เรากล่าวสอนภิกษุ ๒ รูปภิกษุ ๓ รูปก็เที่ยวบิณฑบาต เราทั้ง ๖ ฉันบิณฑบาตที่ภิกษุ ๓ รูปนำมาเรากล่าวสอนภิกษุ ๓ รูป ภิกษุ ๒ รูปก็เที่ยวบิณฑบาต เราทั้ง ๖ ฉันบิณฑบาตที่ภิกษุ ๒ รูปนำมา

ต่อมา ภิกษุปัญจวัคคีย์ที่เราสั่งสอนและพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ เป็นผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาด้วยตนแล้ว จึงแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเกิด อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเกิด อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมแล้ว

อนึ่ง ภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้นได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นมาว่า ‘วิมุตติของพวกเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป’

ภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการนี้  คือ

๑. รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รักชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด

๒. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รักชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด

๓. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รักชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด

๔. รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รักชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด

๕. โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด

สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งใฝ่ฝัน ลุ่มหลง ติดพัน ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเครื่องสลัดออก บริโภคกามคุณ ๕ ประการนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ‘สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ถึงความเสื่อม ความพินาศ ถูกมารใจบาปทำอะไรๆ ได้ตามใจชอบ’

เปรียบเทียบนักบวชกับฝูงเนื้อ

ภิกษุทั้งหลาย เนื้อป่าที่ติดบ่วง นอนทับบ่วง พึงทราบว่า ‘เป็นสัตว์ที่ถึงความเสื่อม ความพินาศ ถูกนายพรานเนื้อทำอะไรๆ ได้ตามใจชอบ’ เมื่อนายพรานเนื้อเดินเข้ามา ก็หนีไปไม่ได้ตามปรารถนา แม้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ใฝ่ฝัน ลุ่มหลง ติดพัน ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเครื่องสลัดออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ ประการนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า‘สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ถึงความเสื่อม ความพินาศ ถูกมารใจบาปทำอะไรๆได้ตามใจชอบ’ แต่สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่ใฝ่ฝัน ไม่ลุ่มหลงไม่ติดพัน เห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ ประการนี้บัณฑิตพึงทราบว่า ‘สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ไม่ถึงความเสื่อม ความพินาศไม่ถูกมารใจบาปทำอะไรๆ ได้ตามใจชอบ’

เนื้อป่าที่ไม่ติดบ่วง นอนทับบ่วง พึงทราบว่า ‘เป็นสัตว์ไม่ถึงความเสื่อมไม่ถึงความพินาศ ไม่ถูกนายพรานเนื้อทำอะไรๆ ได้ตามใจชอบ’ เมื่อนายพรานเนื้อเดินเข้ามา ก็หนีไปได้ตามปรารถนา แม้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ใฝ่ฝัน ไม่ลุ่มหลง ไม่ติดพัน เห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ ประการนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ‘สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ไม่ถึงความเสื่อม ไม่ถึงความพินาศ ไม่ถูกมารใจบาปทำอะไรๆ ได้ตามใจชอบ’

อนึ่ง เนื้อป่าเมื่อเที่ยวไปตามป่าใหญ่ ย่อมวางใจเดิน ยืน นั่ง นอน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่ได้พบกับนายพรานเนื้อ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ผู้ทำให้มารตาบอด คือทำลายดวงตาของมารอย่างไม่มีร่องรอย ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’

เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ ฯลฯ

เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขามีสติ อยู่เป็นสุข’ ฯลฯ

เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ผู้ทำให้มารตาบอด คือ ทำลายดวงตาของมารอย่างไม่มีร่องรอยถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’

เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ผู้ทำให้มารตาบอด คือ ทำลายดวงตาของมารอย่างไม่มีร่องรอย ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’

เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุวิญญาณัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ ฯลฯอีกประการหนึ่ง เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากิญจัญญายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ ฯลฯ

เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่

เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ก็เพราะเห็นด้วยปัญญา เธอย่อมมีอาสวะสิ้นไป เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ผู้ทำให้มารตาบอด คือ เป็นผู้ที่มารใจบาปมองไม่เห็นเพราะทำลายดวงตาของมารอย่างไม่มีร่องรอย’ เป็นผู้ข้ามพ้นตัณหาอันข้องอยู่ในอารมณ์ต่างๆ ในโลกได้ ย่อมวางใจ เดิน ยืน นั่ง นอน

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่ได้ดำเนินอยู่ในทางของมารใจบาป”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้

เรียบเรียงโดย ดร.ศักดิ์ ประสานดี

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๓. โอปัมมวรรค ข้อ ๒๗๒ - ๒๘๗

หมายเลขบันทึก: 677564เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2020 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2020 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท