วันนี้ (29 พ.ค.56) โชคดีที่มีโอกาสจัดตู้หนังสือ ทำให้ได้เจอหนังสือ รัฐปรัชญา เรียบเรียงโดยอาจารย์ประยงค์ สุวรรณบุปผา ที่มีเนื้อหาน่าสนใจเกียวกับปรัชญาตะวันตกนับจากยุคอริสโตเติลมาจนถึงปรัชญาตะวันออก เมื่ออ่านไปถึงนักปรัชญาชาวอิตาเลียนชื่อ Dante ผู้มีแนวคิดเรื่องมนุษย์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะ Dante มีชีวิตในระหว่าง ค.ศ. 1265-1321 ที่อยู่ในยุคของความขัดแย้งระหว่างศาสนจักรกับอาณาจักรโรมัน แต่เขาได้เสนอให้ทั้งสองฝ่ายก้าวมาพบกันครึ่งทางแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงโดนเนรเทศ และเป็นที่มาของหนังสือชื่อ La Commedia ที่มีชื่อเสียงมากจนถึงปัจจุบัน เพราะเขาได้กล่าวอุปมาอุปไมยว่า ภายในตัวมนุษย์เปรียบเสมือนมี สัตว์ป่า 3 ตัวคือ เสือหมายถึงตัณหาราคะ (Lust) ความทะยานอยาก สิงโตคือความเย่อหยิ่งยโส ทะนงตนถือตัว มีทิษฐิมานะยึดความเห็นของตนว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (Pride) และสุนัขป่าคือ โลภะ ความละโมบ โลภมากผิดทำนองคลองธรรม (Avarice) กิเลสทั้ง 3 นี้เป็นรากเหง้าของบาปที่จะต้องกำจัดออกไป แม้ว่าจุดมุ่งหมายของหนังสือเล่มนี้ จะกล่าวถึงอำนาจของพระเจ้าตามความเชื่อของชาวคริสต์ แต่สิ่งหนึ่งที่สอดคล้องกับแนวคิดทางพุทธศาสนาคือ การกำจัด รัก โลภ โกรธ หลง หากปฏิบัติได้ชีวิตก็จะมีความสุข
อย่างที่กล่าวในตอนต้นว่า โชคดีที่ได้เจอหนังสือเล่มนี้ ทั้งนี้เพราะเมื่ออ่านไป คิดตามไป ก็มองเห็นความจริงที่ว่า ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใด เป็นชาติตะวันตก หรือตะวันออก สิ่งที่มนุษย์ต้องการมากที่สุดขณะมีชีวิต คือ ความสุข สงบ ซึ่งการจะได้มาก็ไม่ได้ยากนัก เพราะไม่ต้องซื้อหา ไม่ต้องจ้างเทรนเนอร์ ไม่ต้องมีที่ปรึกษา (และไม่ต้องเรียนมากมาย) ขอเพียงแค่ "ตัด" ให้ได้ ความสุขสงบจะมารออยู่ข้างหน้าเราเอง.
ไม่มีความเห็น