บทคัดย่อรายงานการวิจัยในชั้นเรียน CAR3


บทคัดย่อ

เรื่อง   การจัดการปัญหาในการเรียนปฏิบัติทักษะดนตรีไทยการบรรเลงขลุ่ยเพียงออโดยใช้เทคนิคกระบวนการกลุ่มการร่วมมือแบบ LT (Learning Together) และเทคนิคของเกมส์ผ่านด่าน กรณีศึกษา ผู้เรียนที่มีความถนัดทางดนตรีไทยแต่ไม่สามารถปฏิบัติทักษะให้สอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินได้ และผู้เรียนที่ไม่มีความถนัดทางดนตรีไทย ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 รายวิชา ดนตรี 2 รหัสวิชา ศ22101 ปีการศึกษา 2562

ชื่อผู้วิจัย นางสาวนิจพร นิจพรพงศ์

สถานที่ทำวิจัย   โรงเรียนเมืองกระบี่

ปีการศึกษา       2562

         การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาและวิเคราะห์ผู้เรียนที่มีปัญหาในการเรียนปฏิบัติทักษะดนตรีไทยการบรรเลงขลุ่ยเพียงออ 2) เพื่อวางแนวทางในการพัฒนาทักษะดนตรีไทยของผู้เรียนที่มีปัญหาในการเรียนปฏิบัติทักษะดนตรีไทยการบรรเลงขลุ่ยเพียงออให้มีประสิทธิภาพ    

             วิธีดำเนินการวิจัยใช้การวิเคราะห์เอกสาร การสังเกต การสัมภาษณ์ และการสอบถาม กลุ่มเป้าหมายในการวิจัย ใช้การกำหนดกลุ่มเป้าหมายจากผู้เรียนที่มีปัญหาในการเรียนปฏิบัติทักษะดนตรีไทยการบรรเลงขลุ่ยเพียงออ ในกรณีศึกษา ได้แก่ 1) ผู้เรียนที่มีผลการประเมินว่ามีความถนัดทางดนตรีไทย แต่ไม่สามารถปฏิบัติทักษะให้สอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินได้ 2) ผู้เรียนที่ไม่มีความถนัดทางดนตรีไทย ที่ไม่สามารถปฏิบัติทักษะให้สอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินได้ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเมืองกระบี่ ที่เรียนในรายวิชาดนตรี 2 รหัสวิชา ศ22101 หน่วยการเรียนรู้ เรื่อง เทคนิคการบรรเลงดนตรี ว่าด้วยการบรรเลงขลุ่ยเพียงออ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 62 คน

         ผลการวิจัยพบว่า 1) ผู้เรียนที่มีปัญหาในการเรียนปฏิบัติทักษะดนตรีไทยการบรรเลงขลุ่ยเพียงออ ได้แก่ 1.1) กรณีศึกษา : ผู้เรียนที่มีผลการประเมินว่ามีความถนัดทางดนตรีไทย แต่ไม่สามารถปฏิบัติทักษะให้สอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินได้ จำนวน 50 คน มีปัญหาในการเรียนปฏิบัติทักษะดนตรีไทยการบรรเลงขลุ่ยเพียงออ ดังนี้ ประการที่หนึ่ง มีความสับสนในการจดจำโน้ตเพลง  ประการที่สอง มีปัญหาในการเชื่อมโน้ตเพลงระหว่างห้องเพลงหรือระหว่างวรรคเพลง ประการที่สาม มีข้อจำกัดในการปฏิบัติทักษะทางดนตรีไทยเนื่องจากประสบอุบัติเหตุ ประการที่สี่ การขาดเรียนและไม่ได้มีการติดตามการเรียน 1.2) กรณีศึกษา : ผู้เรียนที่ไม่มีความถนัดทางดนตรีไทย ที่ไม่สามารถปฏิบัติทักษะให้สอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินได้ จำนวน 12 คน มีปัญหาในการเรียนปฏิบัติทักษะดนตรีไทยการบรรเลงขลุ่ยเพียงออ ดังนี้ ประการที่หนึ่ง มีปัญหาในด้านจังหวะส่งผลให้การร้องโน้ต ตบจังหวะรวมถึงทักษะการบรรเลงขลุ่ยเพียงออถูกต้องเพียงบางวรรคของเพลง ประการที่สอง มีปัญหาในการปฏิบัติทักษะขลุ่ยเพียงออในด้านความสัมพันธ์ระหว่างการเป่าและการใช้นิ้วเปิดปิดรูเป่าให้สอดคล้องสัมพันธ์กัน ทำให้ในภาพรวมสามารถเป่าขลุ่ยเพียงออได้ถูกต้องเพียงบางห้องเพลง ประการที่สาม มีปัญหาการเป่าขลุ่ยเพียงออในเสียงต่ำทำให้โน้ตเพลงที่เป่าเป็นเสียงสูง ส่งผลให้ไม่เกิดความไพเราะและไม่ถูกต้องทั้งหมด 2) การวางแนวทางพัฒนาทักษะดนตรีไทยการบรรเลงขลุ่ยเพียงออของผู้เรียนที่มีปัญหาในการเรียนให้มีประสิทธิภาพ 2.1) การจัดการในลักษณะภาพรวม ได้แก่ ประการที่หนึ่ง การใช้กระบวนการกลุ่มการสอนแบบร่วมมือ โดยนำเทคนิคกระบวนการกลุ่ม แบบ LT (Learning Together) มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนการปฏิบัติเครื่องดนตรีไทยการบรรเลงขลุ่ยเพียงออ ประการที่สอง การนำเทคนิคของเกมส์ผ่านด่านมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนการปฏิบัติเครื่องดนตรีไทยการบรรเลงขลุ่ยเพียงออ เพื่อเสริมแรงกระตุ้นและพัฒนาทักษะของผู้เรียน โดยได้ประยุกต์ใช้รูปแบบวิธีการคิดของเทคนิคนี้ใหม่ ใช้ชื่อเรียกว่า “เกมส์ฝ่าด่านลาวเสี่ยงเทียน” 2.2) การจัดการในรายกรณี ได้แก่ ประการที่หนึ่ง ผู้เรียนที่มีข้อจำกัดในการเรียนปฏิบัติการบรรเลงขลุ่ยเพียงออเนื่องจากประสบอุบัติเหตุ ให้เรียนรู้กับกลุ่มเพื่อนตามปกติใช้การร้องโน้ตตบจังหวะในเกมส์ฝ่าด่านลาวเสี่ยงเทียน 1 ต่อมาเมื่อเริ่มหายดีในส่วนที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรมด้านการบรรเลง ได้อนุโลมให้ส่งงานโดยบันทึกคลิปวีดีโอส่งผ่านช่องทาง Facebook Group เมื่อผ่านแล้วให้ร่วมกิจกรรมกับเพื่อนได้ตามปกติ ประการที่สอง ผู้เรียนที่ขาดเรียนและไม่ได้มีการติดตามการเรียน ได้กำหนดให้บันทึกคลิปวีดีโอส่งผ่านช่องทาง Facebook Group ในด่านที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรมในคาบเรียน ประการที่สาม ผู้เรียนที่มีปัญหาในการปฏิบัติทักษะขลุ่ยเพียงออในด้านความสัมพันธ์ระหว่างการเป่าและการใช้นิ้วเปิดปิดรูเป่าให้สอดคล้องสัมพันธ์กันนั้น รวมถึงที่มีปัญหาการเป่าขลุ่ยเพียงออ ในเสียงต่ำเป็นเสียงสูง และผู้เรียนที่มีปัญหาด้านจังหวะ ทุกครั้งที่นำเสนอผู้สอนเน้นให้คำแนะนำเทคนิควิธีการเป็นรายบุคคลและให้กระบวนการของกลุ่มช่วยเหลือ

หมายเลขบันทึก: 677419เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2020 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2020 16:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท