วิถีคนกล้า เปลี่ยน! เกษตรอินทรีย์เบ่งบานที่บ้านคลองมะละกอ


           “เป็นเกษตรกรแต่อดอยาก” ยุทธพงษ์ รัตนวิทย์หรือ “พี่จ่อย” เกษตรกรบ้านคลองมะละกอ ต.สระขวัญ จ.สระแก้ว เอ่ยประโยคที่ดูจะไม่เกินเลยความจริงในการเปรียบสถานภาพเกษตรกรไทยยุคปัจจุบัน เพราะแต่ละคนล้วนมีหนี้สินรุงรังรัดตัว ต้นทุนการผลิตสูงแต่ราคาขายตกต่ำ สวนทางกับค่าครองชีพที่มีแต่แพงขึ้นๆ ได้มาเท่าไหร่ไม่เคยพอ หนำซ้ำของกินใกล้ตัวที่เพาะปลูกอยู่ทุกวันกลับกินไม่ได้ เพราะ “ไม่กล้ากิน” พืชผักที่ตัวเองละเลงเคมีใส่ให้งอกงามเพื่อเอาไปขายเท่านั้น   เงินในกระเป๋าไม่มี พืชผักที่ปลูกก็กินไม่ได้ เพราะเน้นขาย แบบนี้จะไม่ให้เรียกว่าอดอยากได้อย่างไร

        ก่อนจะเริ่มเส้นทางเกษตรกรรมนั้น ยุทธพงษ์ เป็นเพียงพนักงานโรงงานทั่วไป แต่ด้วยหัวใจที่รักการเกษตรและอยากจะทำเป็นอาชีพ จึงลาออกจากงานประจำมาทุ่มให้กับแปลงเกษตรของตัวเอง เขาลงมือครั้งแรกเมื่อ 10 กว่าปีก่อน แต่ก็ไปไม่รอด เพราะโดนเอาเปรียบ ถูกกดราคาช่วงต้นฤดูกาล รายได้จึงไม่คุ้มกับค่าปุ๋ย ค่ายา พอใกล้หมดฤดูราคาก็จะขึ้น กระตุ้นให้เกษตรกรทำต่อ

            “มันเป็นวัฎจักรหลอกล่อเรา พอต้นทุนการผลิตไม่มีก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเกี่ยวพันรัดตัว” พี่จ่อย ว่า แม้ครั้งแรกจะล้มเหลวจนต้องกลับไปทำงานประจำเพื่อดำรงชีพ แต่เขาก็ยังเชื่อมั่นในการอยากทำเกษตรอยู่เสมอ เขาเข้า-ออกจากงานประจำเพื่อมาทำเกษตรแบบนี้ถึง 3 ครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถทำเกษตรได้อย่างที่คาดหวัง ซึ่งความล้มเหลวทุกๆ ครั้ง กลับเป็นแรงบันดาลให้ทบทวนข้อผิดพลาด จนกระทั้งลงมือการทำเกษตรในครั้งที่ 4  ครั้งนี้ไม่เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา

            พี่จ่อยละทิ้งการทำเกษตรแบบเคมีแล้วมาทำเกษตรอินทรีย์ แบบสวนกระแสสังคมรอบข้าง เขาใช้วันหยุดจากงานประจำมาดูแลแปลงเกษตรแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้แรกๆ ผลผลิตจะไม่ค่อยได้อย่างที่คาดหวัง เพราะยังจับจุดไม่ได้

            “ปุ๋ย ยาไม่ใส่ มันทำแบบนี้จะได้กินไหม มีแต่คนมาดูถูกผมแบบนี้”  พี่จ่อย บอกถึงคนรอบข้างที่มองเขาในวันแรกๆ ของการทำเกษตรอินทรีย์ แต่ก็ไม่สน ก้มหน้าก้มตาทำไป หมั่นศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ ไปอบรมการทำปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ ตามที่ต่างๆ จนผลผลิตอย่างพืชผักเริ่มออกผลให้ได้เก็บกิน และแกร่งกล้าจากการลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน จึงมั่นใจและลาออกจากงานประจำมาลุยอย่างเต็มที่ในปี 2556 โดยตั้งใจปลูกเพื่อกิน เพราะอยากมีกินก่อน ส่วนที่ขายได้จะเอาใส่ตะกร้ารถจักรยานไปเร่ขายในชุมชน จนชาวบ้านเห็นจนชินตา และไม่ลังเลที่จะซื้อพืชผักของเขา

            “แปลงของผมใช้น้ำหมักกับปุ๋ยอินทรีย์ หญ้าขึ้นก็ใช้แรงตัด ไม่มีการใช้เคมีร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อดินที่นี่ขุดไม่ได้เลย แข็งกระด้าง พอเรามาใช้วิถีอินทรีย์ดินดีขึ้นมีธาตุอาหาร พืชผักผลไม้ก็งามได้ ต้นทุนก็ต่ำ มีกินและมีเงินเหลือ ถ้าทำเคมีไม่มีอะไรเหลือแน่นอน” พี่จ่อย ยืนยันความแตกต่างของเคมีกับอินทรีย์

            จากที่เริ่มด้วยตัวคนเดียวแบบหัวเดียวกระเทียมลีบ ความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ ทำให้คนเริ่มมองเห็น บ้างก็เข้ามาถามไถ่ วนเวียนเข้ามาปรึกษา พี่จ่อยจึงใช้โอกาสนี้ชักชวนคนที่สนใจมาทำปุ๋ยหมัก มาเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ ค่อยๆ ซึมซับเข้าไปจาก 4-5 คนก็เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 10 คน และ 20 กว่าคน แต่ละคนก็กลับไปทำในพื้นที่ของตัวเอง

            เมื่อเริ่มมีจำนวนคนมากขึ้นจึงได้จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านคลองมะละกอ” เพื่อรวมกลุ่มทำปัจจัยการผลิตเช่นปุ๋ย น้ำหมัก จำหน่ายให้เพื่อนสมาชิกในราคาถูก และต่อยอดการรองรับมาตรฐานการผลิต ไปจนถึงการรวบรวมผลผลิตของสมาชิกออกจำหน่าย โดยมีร้านค้าภายใน รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว เป็นอีกหนึ่งช่องทางการจำหน่าย ร่วมกับการขายให้ผู้สนใจทั้งในชุมชนและและไลน์กลุ่ม

            ปัจจุบันกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านคลองมะละกอมีพืชผักอินทรีย์เกือบทุกชนิด เช่น  ผักสลัด คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ฟักทอง มะกรูด มะนาว ฯลฯ ผลไม้ เช่น มะละกอ ฝรั่ง กล้วย มะขาม เป็นต้น โดยสมาชิกจะทำในแปลงของตัวเอง แต่มีการวางแผนว่าใครจะปลูกอะไรกันบ้าง เพื่อกระจายผลผลิตไม่ให้ออกมากเกินไป แต่อย่างน้อยทุกคนต้องมี 5 ชนิดขึ้นไป ยอดขายของกลุ่มในแต่ละวัน 3,000-4,000 บาท และยังมีรายได้จากการขายปุ๋ยหมักอีกไม่น้อยกว่า 3 แสนบาทต่อปี

            หลายคนที่เข้ามาร่วมเป็นสมาชิก ได้มาเรียนรู้วิถีและทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้คุณภาพชีวิตเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างเช่น วันดี พั่วแพงหรือ พี่อี๊ด เป็นอีกหนึ่งคนที่หันหลังให้กับการทำเกษตรแบบเคมี หันมาพึ่งเกษตรอินทรีย์ทำให้ลืมตาอ้าปากได้ในทุกวันนี้

            “ทำอ้อยเป็นร้อยไร่ แต่เงินซื้อรองเท้านักเรียนให้ลูกยังไม่มีเลย” เป็นคำพูดแรกที่พี่อี้ดเอ่ยออกมาจากความรู้สึกและเล่าถึงความหลังเมื่อครั้งยังอยู่ในวังวนเดิม ว่าการทำไร่อ้อยเป็นร้อยๆ ไร่นั้น เห็นเงินเป็นเพียงตัวเลข แต่ไม่ได้จับ เอาไปใช้หนี้ค่าปุ๋ยค่ายา ค่าเช่าที่ ค่าครองชีพ จนไม่เหลือ ลำบากจนถึงขั้นรองเท้านักเรียนลูกขาดยังไม่มีเงินไปซื้อให้

            ช่วงนั้นพี่อี๊ดเครียดมาก จนได้ “พี่จ่อย” มาแนะนำให้ลองไปดูสิ่งที่เขาทำ เธอเห็นรอบบ้านมีของกินเต็มไปหมด หยิบจับมาทำกับข้าวได้หมด และถูกชักชวนให้ลองปลูกอย่างละเล็กอย่างละน้อย จึงมาปรับพื้นที่รอบบ้านขนาด 3 ไร่ให้เป็นแปลงผัก และยังมีที่นาทำข้าวอินทรีย์อีก 8 ไร่ ส่วนอ้อยเลิกทำไปแล้ว

            “พอผลผลิตออกเราเอาไปขาย ตอนแรกได้เงินมาวันละ 100 บาทก็ดีใจแล้ว พอทุกอย่างเริ่มเข้าที่ทุกวันนี้ได้เงินไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ” พี่อี๊ด เอ่ยทิ้งท้ายด้วยแววตาแห่งความสุข

            เช่นเดียวกับ สมพิศ เพชรพักดี ที่เคยทำกล้วยหอมคาเวนดิช แบบพันธสัญญา แล้วล้มไม่เป็นท่าเพราะขายไม่ได้ นายทุนไม่มารับซื้อ อ้างว่าไม่ได้ขนาด สุดท้ายก็เอาไปให้วัวกิน พร้อมหนี้สินเกือบ 3 แสนบาท เมื่อมารวมกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านคลองมะละกอ ก็ปรับพื้นที่สวนกล้วย ปลูกผักทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก หนี้สินก็ค่อยๆ ลดลง เพราะมีกินไม่ต้องไปซื้อ

            ทั้งพี่จ่อยและสมาชิกอีกหลายคน ต่างมีประสบการณ์ความเจ็บปวดจากการทำเกษตรเคมีมามากมาย การจะหลุดพ้นวัฎจักรนั้นมาได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย และการหันมาพึ่งพาเกษตรอินทรีย์ที่ค่อนข้างถูกค่อนขอดจากสังคมคนรอบข้าง จึงต้องใช้พลังความมุ่งมั่นจึงจะประสบผลสำเร็จ

            “ต้องคิดถึงตัวเองก่อน ไม่ต้องคิดถึงคนอื่น อย่างแรกทำให้มีกินก่อน ค่อยๆ ทำ ช้าๆ ไม่ต้องรีบโหมเหมือนเคมี ผลผลิตอาจจะได้ไม่เยอะ แต่เรากำหนดราคาได้แน่นอนตามที่เราต้องการ ไม่แพงเกินไปให้คนกินอยู่ได้ คนปลูกอยู่ได้ ที่สำคัญไม่ต้องมีพ่อค้าคนกลางมากดราคา” พี่จ่อย บอกก่อนจะแนะนำอีกว่า ต้องทำบัญชีครัวเรือนเป็นกิจวัตร เพื่อดูสภาพการเงินของครอบครัว จะได้เห็นภาพและวางแผนได้

            “อย่างที่เราทำกันอยู่นี่แหละ ทำแบบพอเพียง มันก็เพียงพอแล้ว ชีวิตก็มีความสุข” พี่จ่อย ทิ้งท้าย

         จากคำดูถูกกลับกลายเป็นพลังแห่งความมุ่งมั่น จนเอาชนะใจคนทั้งหมู่บ้าน จนทุกคนมาช่วยกันเป็นหนึ่งใจเดียวกัน ทำเกษตรอินทรีย์ที่บ้านคลองมะละกอกำลังสดใสและเบ่งบานอย่างในวันนี้

หมายเลขบันทึก: 677383เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2020 15:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2020 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท