ทางรอดเกษตรกรหลังแบนสารพิษ วิถีการผลิต “ต้อง” กล้าเปลี่ยน!


            อีกไม่กี่วันที่ประเทศไทยจะปราศจาก 3 สารเคมีทางการเกษตร อันประกอบด้วย พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส อันเป็นผลมาจากมติในที่ประชุมของคณะกรรมกรรมการควบคุมวัตถุอันตราย ให้แบนสารเคมีอันตรายในกลุ่มดังกล่าว และยกเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 เป็นต้นไป

        แน่นอนว่าภายหลังการดีเดย์จะส่งผลให้เกษตรกรไทยไม่สามารถใช้หรือครอบครอง 3 สารเคมีทางการเกษตรนี้ได้อีกต่อไป ซึ่งผู้ที่มีไว้ในครอบครอบจะต้องส่งคืนผู้นำเข้าเพื่อส่งคืนบริษัทผู้ผลิต หรือนำทำลายต่อไป ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดตามกฎหมายและมีโทษหนัก

            ทราบกันดีว่าเกษตรกรมีการใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตรเจ้าปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มาอย่างอย่างแพร่หลายและยาวนาน โดยเฉพาะในกลุ่มพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผล ซึ่งการแบนครั้งนี้หลายฝ่ายเกรงว่าเกษตรกรจะได้รับผลกระทบต้นทุนที่สูงขึ้นจากการที่ต้องใช้สารอื่นทดแทน และจะทำให้วิถีการทำเกษตรนั้นยุ่งยากจนทำให้ผลผลิตตกต่ำ

            อย่างไรก็ตาม มูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร ยืนยันว่ามีทางออกให้กับเกษตรกร ทั้งวิธีการและการนำเทคโนโลยีมาช่วยทดแทนเพื่อไม่ให้กระทบ โดยเฉพาะการสนับสนุนทำเกษตรเกษตรอินทรีย์เป็นแนวทางหลัก ที่จะทำให้สังคมไทยอยู่รอดทั้งคนกินและคนปลูก

            ที่เวทีสัมมนา “เกษตรกรรมไทยหลังมติแบน พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส” จัดขึ้นที่ห้องศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ชั้น 2  กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2562 ที่ผ่านมา มีตัวอย่างการจัดการเกษตรโดยที่ไม่ต้องพึ่งสารเคมีมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพร้อมเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรไทยในยุคไร้ 3 สารเคมี

            ไฮไลท์สำคัญ คือการเปลี่ยนมุมมอง วัชพืชไม่ใช่ศัตรูแต่เป็นตัวช่วยทำเกษตร หากจัดการอย่างถูกวิธี ร่วมด้วยการจัดการระบบนิเวศน์ใช้ธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีทำลาย

            นายชนวน รัตนวราหะ  อดีตรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้บุกเบิกเกษตรกรรมยั่งยืน และขับเคลื่อน “วนเกษตร”  ยืนยันว่า การใช้ยาฆ่าหญ้าไม่จำเป็นอีกต่อไป พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่าในระบบวนเกษตรมุ่งเน้นการปลูกพืชที่หลากหลาย และพยายามรักษาสิ่งมีชีวิตให้เกิดเป็นระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์เอื้อต่อพืชที่ปลูก เช่น การสร้างความชุ่มชื้น และบอกอีกว่าการใช้ยาฆ่าหญ้าอย่างพวก พาราควอต ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง แต่เป็นการสร้างปัญหา และปัญหาเกษตรก็เกิดจากมนุษย์ทั้งสิ้น

            ขณะเดียวกันอดีตรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยังนำได้พระราชนิพนธ์ ร.6 มากล่าวเพื่อให้เห็นความสำคัญของวัชพืช “ดินดีเพราะหญ้าปรก ป่ารกเพราะเสือยัง เสือพีเพราะป่าบัง หญ้ายังเพราะดินดี”

            ขณะที่ โจน จันได เจ้าของสวนพันพรรณ บอกเล่าเรื่องราวจากประสบการณ์การทำเกษตรอินทรีย์มามากกว่า 20 ปี ว่า วัชพืช คือของดีเป็นเพื่อน ช่วยสร้างประโยชน์ควรเอาไว้ แต่ต้องจัดการร่วมกับธรรมชาติผ่านการสังเกตและทดลอง อย่างเช่น หญ้าคอมมิวนิสต์ที่ทุกคนกลัวกัน แต่ตนใช้ในการปรับสภาพดินจากดินที่แห้งแข็ง เป็นลูกรัง จนสามารถปลูกพืชได้มาจนทุกวันนี้ เช่นเดียวกับ มัยลาภ ที่หลายคนบอกว่าแพร่ลุกลามเร็ว กำจัดและตายยาก แต่ถ้าสังเกตจะพบว่า มีอายุการตัดไม่เกิน 4 ครั้ง หลังจากนั้นมันจะตายไปเอง และระหว่างการตัดแต่ละครั้งนั้น เกษตรกรจะได้ปุ๋ยคลุมดินด้วย ดังนั้น อย่าขี้เกียจแล้วจะส่งผลดีต่อแปลงเกษตรของตัวเอง

            ขณะที่วิถีชาวสวนผลไม้ ที่เชื่อกันว่าต้องเก็บกวาดหญ้าหรือวัชพืชบริเวณโคนต้นผลไม้ให้เหี้ยนเตียนด้วยการใช้ยาฆ่าหญ้าจะช่วยทำให้ปุ๋ยลงไปบำรุงต้นผลไม้เร็วๆ ดังนั้นแต่ละปีชาวสวนผลไม้ใช้เงินไปไม่น้อยกับการกำจัดวัชพืช แต่กับสวนบุญทวี จ.จันทบุรี ของ กัลยา สำอาง กลับเปลี่ยนภาพที่เราคุ้นชิน เมื่อสวนผลไม้ของเธอปล่อยให้หญ้าและวัชพืชขึ้นรกไปหมด แต่มีการจัดการโดยตลอด

            กัลยา ซึ่งมองว่าหญ้าไม่ใช่ศัตรู บอกว่า ที่สวนของเธอจะปล่อยให้หญ้าขึ้นรกไปหมด เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้กับดิน ผลไม้ก็อุดมสมบูรณ์ แต่สวนคนที่ใช้ยาฆ่าหญ้า หน้าดินจะเสียเพราะความชื้นในดินหายไป และเมื่อสภาพอากาศแล้งทุกปีก็จะยิ่งส่งผลกระทบ ที่สวนบุญทวีของเธอกำจัดหญ้าด้วยการใช้เครื่องตัดหญ้าปีละ 3 – 4 ครั้ง ค่าจ้างประมาณ 4-5 หมื่นบาท อาจจะมองว่าต้นทุนสูงแต่ความคุ้มทุนต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ และทำให้ผลผลิตมีชีวิต ซึ่ง 8 ปีแล้วที่สวนบุญทวีใช้หลักเกษตรอินทรีย์ในการผลิตผลไม้เนื้อที่ 40 ไร่ ด้วยแนวคิดของการรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค

            เช่นเดียวกับ กิตติวัฒน์ วสุรัฐเดชาพงศ์ ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหนองสามวัง จ.ปทุมธานี ที่ผ่านประสบการณ์ชาวสวนมาหลายรูปแบบ จากพื้นที่การเกษตรที่เคยประกอบอาชีพกว่า 200 ไร่  แต่วันนี้เขาหันหลังให้เคมีมาทำสวนส้มอินทรีย์ด้วยพื้นที่เพียง 27 ไร่เท่านั้น

            ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหนองสามวังรายนี้ ชี้ให้เห็นว่า ในอดีตมีการใช้เคมีในการเกษตรกันแพร่หลาย แต่ไม่มากเหมือนทุกวันนี้ ทั้งนี้เพราะเกษตรกรหลงเชื่อโฆษณาบริษัทปุ๋ย ยา ว่าจะได้ผลดี ทั้งๆ ที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ดินก็สูญเสียความสมบูรณ์ เมื่อดินแข็งไม่มีธาตุอาหาร เกษตรกรก็ต้องเพิ่มปุ๋ยไปเรื่อยๆ ต้นทุนก็ยิ่งมากขึ้นๆ เขาใช้เวลา 4 ปีในการเปลี่ยนความคิดมาทำเกษตรอินทรีย์ ในที่สุดก็รู้ว่า ดินดีเท่านั้นที่ทำให้ส้มอยู่ได้

            ในกลุ่มเกษตรกรเคมียังมีความเชื่อที่ว่าลงทุนมากได้กลับคืนมาก แต่สำหรับอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด ศักดิ์ สมบุญโตไม่เชื่ออย่างนั้น เพราะอดีตต้องหมดเงินไปกับการซื้อสารเคมีมากกว่า 10 ล้านบาทสำหรับใช้ภายในสวนสายศร จ.สระบุรี ของตัวเอง

            ผู้ว่าฯหัวใจเกษตรท่านนี้ เล่าให้ฟังถึงวิถีการผลิตในอดีตของตัวเองว่า เวลาฉีดพ่นยาอยู่ในสวนไม่ได้เลยเหม็นไปหมด แต่ตอนนี้ได้เปลี่ยนมาทำเกษตรแบบอินทรีย์มานานกว่า 25 ปี เปลี่ยนการปลูกพืชมาหลายชนิด สิ่งสำคัญคือเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ แต่ต้องไม่เปลี่ยนหลักการ ซึ่งหลักการคือต้องรู้ว่าอะไรเป็นโทษ อะไรเป็นประโยชน์ ต้องรู้จักวิธีจัดการมากกว่าการทำลาย เรียนรู้ธรรมชาติของพืชและศัตรูพืชแล้วจะช่วยให้การจัดการสวนทำได้ง่ายขึ้น

            การจัดการระบบนิเวศน์ภายในพื้นที่เกษตรกรรม เพียงแค่เรียนรู้และเข้าใจ มีวิธีจัดการที่เหมาะสม ให้ธรรมชาติอาศัยพึ่งพากัน และใช้ธรรมชาติที่ให้เป็นประโยชน์  สารเคมีก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป

            ในส่วนของเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กรนั้น พร้อมให้การช่วยเหลือและให้ความรู้ในการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ เช่นเดียวกับการยื่นข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล คือ 1.มาตรการทางการเงิน จัดตั้งกองทุนชดเชย เยียวยาผู้ได้รับความเสียหายในช่วงปรับเปลี่ยน รวมถึงจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการทำเกษตรกรรมยั่งยืน 2.มาตรการทางภาษี ให้มีการลดภาษีนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่เข้ามาทดแทนการใช้สารเคมี และส่งเสริมการพัฒนาเครื่องและอุปกรณ์เพื่อใช้ในการเกษตร 3.กำหนดมาตรการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เช่น จัดตั้ง พ.ร.บ.ควบคุมสารเคมี โดยให้แยกออกจาก พ.ร.บ.วัตถุอันตราย และจัดตั้ง พ.ร.บ.สนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืน

            ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 21 พ.ย.2562 เป็นหนึ่งในวันประวัติศาสตร์ของเกษตรอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืน เมื่อสภาผู้แทนราษฎรลงมติด้วยเสียงเอกฉันท์ 423 ต่อ 0 เห็นชอบรายงานและข้อเสนอของ "คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมี ในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร" ยืนยันการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชความเสี่ยงสูง 3 ชนิด และเดินหน้าปรับเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนให้ได้ 100% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดภายในปี 2573 ซึ่งเป็นปีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

         การสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรเพื่อเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาครัฐต้องมีแนวทางและนโยบายรองรับ ขณะเดียวกันคงต้องทำงานหนักกันอีกหลายยกจนกว่าภาคเกษตรกรรมจะยั่งยืน

หมายเลขบันทึก: 677380เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2020 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2020 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท