พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๒ (พระสูตร เล่มที่ ๔) เรื่องที่ ๑๖ เจโตขีลสูตร เรื่องตะปูตรึงใจ


๑๖. เจโตขีลสูตร  ว่าด้วยกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งยังละไม่ได้ เธอจักถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ไม่ได้

กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการ ที่ภิกษุนั้นยังละไม่ได้ อะไรบ้าง  คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. เคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในศาสดา

๒. เคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในธรรม

๓. เคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในสงฆ์

๔. เคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในสิกขาข้อที่จะต้องศึกษา

๕. เป็นผู้โกรธ ไม่พอใจ มีจิตถูกโทสะ กระทบมีจิตแข็งกระด้างในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย

กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่ภิกษุนั้นยังตัดไม่ขาด อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ไม่ปราศจากความพอใจไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย ไม่ปราศจากความเร่าร้อน ไม่ปราศจากความทะยานอยากในกาม

๒. เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในกาย

๓. เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในรูป

๔. ฉันอาหารตามความต้องการจนอิ่มเกินไป ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการนอนเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่

๕. ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า ‘ด้วยศีล วัตร ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นเทพหรือเทพตนใดตนหนึ่ง’

ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งละได้แล้ว กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตัดขาดแล้ว เธอจักถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้

กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการ ที่ภิกษุนั้นละได้แล้ว อะไรบ้าง  คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. ไม่เคลือบแคลงสงสัย น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสในศาสดา

๒. ไม่เคลือบแคลงสงสัย น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสในธรรม

๓. ไม่เคลือบแคลงสงสัย น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสในสงฆ์

๔. ไม่เคลือบแคลงสงสัย น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสในสิกขา

๕. เป็นผู้ไม่โกรธ พอใจ มีจิตไม่ถูกโทสะกระทบ มีจิตไม่แข็งกระด้างในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย

กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่ภิกษุนั้นตัดขาดแล้ว อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อนปราศจากความทะยานอยากในกาม

๒. เป็นผู้ปราศจากความกำหนัดในกาย

๓. เป็นผู้ปราศจากความกำหนัดในรูป

๔. ฉันอาหารตามต้องการจนอิ่มแล้ว ไม่ประกอบความสุขในการนอนความสุขในการนอนเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่

๕. ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า ‘ด้วยศีล วัตร ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นเทพหรือเทพตนใดตนหนึ่ง’

ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการนี้ ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งละได้แล้ว กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการนี้ ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตัดขาดแล้ว เธอจักถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้

อุปมาด้วยแม่ไก่ฟักไข่

ภิกษุนั้น เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วย (๑) ฉันทสมาธิปธานสังขาร เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วย (๒) วิริยสมาธิปธานสังขาร เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วย (๓) จิตตสมาธิปธานสังขาร เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วย(๔) วิมังสาสมาธิปธานสังขาร มีความเพียรยิ่งเป็นที่ ๕ ภิกษุผู้มีองค์ ๑๕ รวมทั้งความเพียรอันยิ่งอย่างนี้นั้น ย่อมเป็นผู้ควรแก่ความเบื่อหน่ายยิ่ง ควรแก่การตรัสรู้ และควรแก่การบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม

ไข่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ที่แม่ไก่นอนกกไว้อย่างดี ให้ความอบอุ่นอย่างสม่ำเสมอ ฟักแล้วอย่างดี แม้ว่าแม่ไก่นั้นจะไม่เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ถ้าอย่างไร ขอลูกไก่เหล่านี้พึงใช้ปลายเล็บหรือจะงอยปาก เจาะทำลายเปลือกไข่ออกมาโดยสวัสดิภาพ’ ก็ตาม ถึงอย่างนั้นลูกไก่เหล่านั้น ก็ต้องเจาะทำลายเปลือกไข่ด้วยปลายเล็บหรือจะงอยปากออกมาโดยสวัสดิภาพได้ แม้ฉันใด  ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีองค์ ๑๕ รวมทั้งความเพียรอันยิ่งอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นผู้ควรแก่ความเบื่อหน่ายยิ่ง ควรแก่การตรัสรู้ และควรแก่การบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้

เรียบเรียงโดย ดร.ศักดิ์ ประสานดี

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์  ๖. เจโตขีลสูตร๑-  185 – 189

 

หมายเลขบันทึก: 677345เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2020 21:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2020 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท