พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๒ (พระสูตร เล่มที่ ๔) เรื่องที่ ๑๒ มหาสีหนาทสูตร เรื่องการบันลือเสียงดังอย่างกล้าหาญ (2)


๑๒. มหาสีหนาทสูตร  ว่าด้วยการบันลือสีหนาท เรื่องการบันลือเสียงดังอย่างกล้าหาญ (2)

สุนักขัตตะกล่าวตู่พระพุทธเจ้า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราวป่าด้านตะวันตกภายนอกพระนคร เขตกรุงเวสาลี สมัยนั้นโอรสเจ้าลิจฉวีพระนามว่าสุนักขัตตะ ลาสิกขาจากพระธรรมวินัยนี้ได้ไม่นาน เธอได้กล่าวในชุมชน ณ กรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า

 “สมณโคดมไม่มีญาณทัสสนะที่ประเสริฐ อันสามารถวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ สมณโคดมแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึกที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง ธรรมที่สมณโคดมแสดงเพื่อประโยชน์แก่บุคคล ย่อมนำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบสำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติตามธรรมนั้น”

ครั้นในเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงเวสาลี ท่านได้สดับคำของโอรสเจ้าลิจฉวีพระนามว่าสุนักขัตตะ ผู้กล่าวในชุมชน ณ กรุงเวสาลีอย่างนั้น ครั้นกลับจากบิณฑบาตภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร แล้วได้กราบทูลเรื่องดังกล่าวต่อพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร โอรสเจ้าลิจฉวีพระนามว่าสุนักขัตตะเป็นโมฆบุรุษ มักโกรธ เธอกล่าววาจานั้นเพราะความโกรธ สุนักขัตตะโมฆบุรุษคิดว่า ‘จักกล่าวติเตียน’ แต่กลับกล่าวสรรเสริญคุณของตถาคตอยู่นั่นแลแท้จริงข้อที่บุคคลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ธรรมที่สมณโคดมแสดงเพื่อประโยชน์แก่บุคคล ย่อมนำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบสำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติตามธรรมนั้น’ เป็นการกล่าวสรรเสริญคุณของตถาคต

สุนักขัตตะ โมฆบุรุษจักไม่มีปัญญารู้ธรรมในตถาคตว่า ‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’

‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง และภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้นั่งขัดสมาธิ เหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้’

‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงสดับเสียง ๒ ชนิด คือ (๑) เสียงทิพย์ (๒) เสียงมนุษย์ทั้งที่อยู่ไกลและอยู่ใกล้ ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์’

‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงกำหนดรู้ใจของสัตว์และบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ ก็รู้ว่า ‘จิตมีราคะ’ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่า ‘จิตปราศจากราคะ’ จิตมีโทสะก็รู้ว่า ‘จิตมีโทสะ’ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่า ‘จิตปราศจากโทสะ’ จิตมีโมหะก็รู้ว่า ‘จิตมีโมหะ’ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่า ‘จิตปราศจากโมหะ’ จิตหดหู่ก็รู้ว่า‘จิตหดหู่’ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่า ‘จิตฟุ้งซ่าน’ จิตเป็นมหัคคตะก็รู้ว่า ‘จิตเป็นมหัคคตะ’หรือจิตไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่า ‘จิตไม่เป็นมหัคคตะ’ จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่า ‘จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า’ หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า ‘จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า’ จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่า ‘จิตเป็นสมาธิ’ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่า ‘จิตไม่เป็นสมาธิ’ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่า‘จิตหลุดพ้น’ หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่า ‘จิตไม่หลุดพ้น’

กำลังของพระตถาคต ๑๐ ประการ

สารีบุตร กำลังของตถาคต ๑๐ ประการนี้ที่ตถาคตมีแล้ว เป็นเหตุให้ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักร ในบริษัท กำลังของตถาคต ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตถาคตรู้ชัดฐานะ โดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะในโลกนี้ตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะ ตามความเป็นจริง

๒. ตถาคตรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบันโดยฐานะ โดยเหตุตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบันโดยฐานะ โดยเหตุตามความเป็นจริง

๓. ตถาคตรู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงภูมิทั้งปวง ตามความเป็นจริง

๔. ตถาคตรู้ชัดโลกที่มีธาตุหลายชนิด มีธาตุที่แตกต่างกัน ตามความเป็นจริง

๕. ตถาคตรู้ชัดว่าหมู่สัตว์เป็นผู้มีอัธยาศัยต่างกันตามความเป็นจริง

๖. ตถาคตรู้ชัดว่าสัตว์เหล่าอื่น และบุคคลเหล่าอื่นมีอินทรีย์แก่กล้าและอินทรีย์อ่อนตามความเป็นจริง

๗. ตถาคตรู้ชัดความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว แห่งฌาน วิโมกข์สมาธิ และสมาบัติ และการออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ ตามความเป็นจริง

๘. ตถาคตระลึกถึงชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้างตลอดวิวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูลมีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นแล้วจึงมาเกิดในภพนี้’ ตถาคตระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้

๙. ตถาคตเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติกำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะมีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

๑๐. ตถาคตทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน

ภิกษุทั้งหลาย กำลังของตถาคต ๑๐ ประการนี้ ที่ตถาคตมีแล้วเป็นเหตุให้ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท

สารีบุตร บุคคลใดพึงว่ากล่าวเราผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ‘สมณโคดมไม่มีญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ สมณโคดมแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง’ บุคคลนั้นไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้ อุปมาเหมือนภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยสมาธิ สมบูรณ์ด้วยปัญญา พึงยินดีอรหัตตผลในปัจจุบันนั่นแล แม้ฉันใด เรากล่าวข้ออุปไมยนี้ ฉันนั้น บุคคลนั้นไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้นย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้

เวสารัชชญาณ ๔

สารีบุตร เวสารัชชญาณคือญาณเป็นเหตุให้แกล้วกล้า ๔ ประการนี้ที่ตถาคตมีแล้ว เป็นเหตุให้ยืนยัน ฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท

เวสารัชชญาณของตถาคต ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. เราไม่เห็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุ ในธรรมนั้นว่า ท่านปฏิญญาว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ แต่ธรรมเหล่านี้ท่านก็ยังไม่รู้’

๒. เราไม่เห็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุในธรรมนั้นว่า ท่านปฏิญญาว่า เป็นพระขีณาสพ แต่อาสวะเหล่านี้ของท่านก็ยังไม่สิ้นไป’

๓. เราไม่เห็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุในธรรมนั้นว่า อันตรายิกธรรม ที่ท่านกล่าว ไม่อาจก่ออันตรายแก่ผู้เสพได้จริง’

๔. เราไม่เห็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุในธรรมนั้นว่า ท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อย่างใด ประโยชน์อย่างนั้นไม่สำเร็จเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้ทำตามได้จริง’

สารีบุตร เวสารัชชญาณ ๔ ประการนี้แล ที่ตถาคตมีแล้วเป็นเหตุให้ยืนยันฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท

บริษัท ๘

สารีบุตร บริษัท ๘ จำพวกนี้ คือ

๑. ขัตติยบริษัท    ๒. พราหมณบริษัท

๓. คหบดีบริษัท    ๔. สมณบริษัท

๕. จาตุมหาราชบริษัท ๖. ดาวดึงสบริษัท

๗. มารบริษัท              ๘. พรหมบริษัท

ตถาคตมีเวสารัชชญาณ ๔ ประการนี้จึงเข้าไปคบหาบริษัท ๘ จำพวกนี้เราเข้าไปยังขัตติยบริษัทหลายร้อยบริษัทย่อมรู้ว่า แม้ในบริษัทนั้น เราก็เคยนั่งใกล้ เคยทักทาย เคยปราศรัย เคยสนทนากัน เราไม่เห็นว่า ‘ความกลัวหรือความสะทกสะท้าน จักกล้ำกรายเราในบริษัทนั้นได้เลย’

อนึ่ง เราเข้าไปยังพราหมณบริษัทหลายร้อยบริษัท  คหบดีบริษัท สมณบริษัท จาตุมหาราชบริษัท ดาวดึงสบริษัท มารบริษัท เข้าไปยังพรหมบริษัทหลายร้อยบริษัทย่อมรู้ว่า แม้ในบริษัทนั้นๆ เราก็เคยนั่งใกล้เคยทักทาย เคยปราศรัย เคยสนทนากัน เราไม่เห็น ‘ความกลัวหรือความสะทกสะท้านจักกล้ำกรายเราในบริษัทนั้นได้เลย’

กำเนิด ๔

สารีบุตร กำเนิด ๔ ชนิดนี้  คือ

๑. กำเนิดอัณฑชะ การเกิดในไข่

๒. กำเนิดชลาพุชะ การเกิดในครรภ์

๓. กำเนิดสังเสทชะ การเกิดในเถ้าไคลหรือที่ชื้นแฉะ

๔. กำเนิดโอปปาติกะ การเกิดผุดขึ้น

กำเนิดอัณฑชะ คืออะไร  คือ เหล่าสัตว์ผู้เจาะทำลายเปลือกไข่แล้วเกิด

กำเนิดชลาพุชะ คืออะไร คือ เหล่าสัตว์ผู้เกิดในครรภ์

กำเนิดสังเสทชะ คืออะไร คือ เหล่าสัตว์ผู้เกิดในปลาเน่า ซากศพเน่า ขนมบูด น้ำครำ หรือเถ้าไคล

กำเนิดโอปปาติกะ คืออะไร  คือ เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางจำพวก และเปรตบางจำพวก

คติ ๕

สารีบุตร คติ ๕ ประการนี้  คือ

๑. นรก         ๒. กำเนิดดิรัจฉาน

๓. เปตวิสัย     ๔. มนุษย์

๕. เทวดา

เรารู้ชัดนรก ทางที่นำสัตว์ให้ถึงนรก ข้อปฏิบัติที่นำสัตว์ให้ถึงนรก และรู้ชัดข้อปฏิบัติที่สัตว์ปฏิบัติแล้ว เป็นเหตุให้หลังจากตายแล้วย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติวินิบาต นรก

เรารู้ชัดกำเนิดดิรัจฉาน ทางที่นำสัตว์ให้ถึงกำเนิดดิรัจฉาน ข้อปฏิบัติที่นำสัตว์ให้ถึงกำเนิดดิรัจฉาน และรู้ชัดข้อปฏิบัติที่สัตว์ปฏิบัติแล้ว เป็นเหตุให้หลังจากตายแล้วย่อมไปเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน

เรารู้ชัดเปตวิสัย ทางที่นำสัตว์ให้ถึงเปตวิสัย ข้อปฏิบัติที่นำสัตว์ให้ถึงเปตวิสัยและรู้ชัดข้อปฏิบัติที่สัตว์ปฏิบัติแล้ว เป็นเหตุให้หลังจากตายแล้วย่อมไปเกิดในเปตวิสัย

เรารู้ชัดหมู่มนุษย์ ทางที่นำสัตว์ให้ถึงมนุษยโลก ข้อปฏิบัติที่นำสัตว์ให้ถึงมนุษยโลก และรู้ชัดข้อปฏิบัติที่สัตว์ปฏิบัติแล้ว เป็นเหตุให้หลังจากตายแล้วย่อมไปเกิดในหมู่มนุษย์

เรารู้ชัดเทวดาทั้งหลาย ทางที่นำสัตว์ให้ถึงเทวโลก ข้อปฏิบัติที่นำสัตว์ให้ถึงเทวโลก และรู้ชัดข้อปฏิบัติที่สัตว์ปฏิบัติแล้ว เป็นเหตุให้หลังจากตายแล้วย่อมไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

เรารู้ชัดนิพพาน ทางที่นำสัตว์ให้ถึงนิพพาน ข้อปฏิบัติที่นำสัตว์ให้ถึงนิพพานและรู้ชัดข้อปฏิบัติที่สัตว์ปฏิบัติแล้วเป็นเหตุทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติที่ไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน

รู้เห็นการไปทุคติและสุคติของบุคคล

เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในอบายทุคติ วินิบาต นรก เสวยทุกขเวทนาโดยส่วนเดียวอันแรงกล้า เผ็ดร้อน ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์

หลุมถ่านเพลิงลึกมากกว่าช่วงตัวบุรุษ เต็มไปด้วยถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลวและควัน ลำดับนั้น บุรุษผู้มีร่างกายถูกความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อยสะทกสะท้าน หิวกระหาย เดินมุ่งมายังหลุมถ่านเพลิงนั้นโดยหนทางสายเดียวบุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้น จักมาถึงหลุมถ่านเพลิงนี้นั่นแล’ ต่อมา บุรุษผู้มีตาดีนั้นจะพึงเห็นเขาผู้ตกลงในหลุมถ่านเพลิงนั้น เสวยทุกขเวทนาโดยส่วนเดียวอันแรงกล้า เผ็ดร้อน แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน กำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’ ต่อมาเราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เสวยทุกขเวทนาโดยส่วนเดียวอันแรงกล้า เผ็ดร้อน ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์

เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในกำเนิดดิรัจฉานเสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์

หลุมอุจจาระลึกมากกว่าช่วงตัวบุรุษ เต็มไปด้วยอุจจาระ ลำดับนั้น บุรุษผู้มีร่างกายถูกความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวกระหายเดินมุ่งมายังหลุมอุจจาระนั้นโดยหนทางสายเดียว บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นจักมาถึงหลุมอุจจาระนี้นั่นแล’ ต่อมา บุรุษผู้มีตาดีนั้นจะพึงเห็นเขาผู้ตกลงในหลุมอุจจาระนั้นแล้ว เสวยทุกขเวทนา อันแรงกล้า เผ็ดร้อน แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน กำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในกำเนิดดิรัจฉานเสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์

เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในเปตวิสัย’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในเปตวิสัย เสวยทุกขเวทนาเป็นอันมากด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์

ต้นไม้เกิดบนพื้นที่ไม่เสมอ มีใบอ่อนใบแก่น้อย มีเงาโปร่ง ลำดับนั้น บุรุษผู้มีร่างกายถูกความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวกระหายเดินมุ่งมายังต้นไม้นั้นโดยหนทางสายเดียว บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า‘บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นจักมาถึงต้นไม้นี้นั่นแล’ ต่อมา บุรุษผู้มีตาดีนั้นจะพึงเห็นเขานั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้นั้น แล้วเสวยทุกขเวทนาเป็นอันมาก แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน กำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในเปตวิสัย’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในเปตวิสัย เสวยทุกขเวทนาเป็นอันมาก ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์

เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในหมู่มนุษย์’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในหมู่มนุษย์ เสวยสุขเวทนาเป็นอันมาก ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์

ต้นไม้เกิดบนพื้นที่ราบเรียบ มีใบอ่อนใบแก่มาก มีร่มเงาทึบ ลำดับนั้นบุรุษผู้มีร่างกายถูกความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวกระหาย เดินมุ่งมายังต้นไม้นั้นโดยหนทางสายเดียว บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นจักมาถึงต้นไม้นี้นั่นแล’ ต่อมา บุรุษผู้มีตาดีจะพึงเห็นเขานั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้นั้น แล้วเสวยสุขเวทนาเป็นอันมาก แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน กำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว ฯลฯ เกิดในหมู่มนุษย์ เสวยสุขเวทนาเป็นอันมาก

เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์

ปราสาทซึ่งมีเรือนยอดฉาบทาแล้วทั้งภายในและภายนอก ลมเข้าไม่ได้ มีกลอนแน่น มีประตูและหน้าต่างปิดสนิทดี ในเรือนยอดนั้น มีบัลลังก์ที่ลาดด้วยผ้าพรมขนสัตว์ ลาดด้วยเครื่องลาดทำด้วยขนแกะสีขาว ลาดด้วยขนสัตว์ซึ่งทำเป็นรูปดอกไม้ มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีเพดานกั้นอยู่เบื้องบน มีหมอนแดงวางไว้ ๒ ข้าง ลำดับนั้น บุรุษผู้มีร่างกายถูกความร้อนแผดเผา ครอบงำเหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวกระหาย เดินมุ่งมายังปราสาทนั้นแลโดยหนทางสายเดียว บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บุรุษผู้เจริญนี้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้วจักมายังปราสาทนี้นั่นแล’ ต่อมาบุรุษผู้มีตาดีพึงเห็นเขานั่งหรือนอนบนบัลลังก์นั้น ที่เรือนยอดในปราสาทนั้น เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน กำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นหลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์

เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้วจักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา-วิมุตติ อันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ต่อมา เราเห็นบุคคลนั้นผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว

สระโบกขรณี มีน้ำใส จืดสนิท เย็น สะอาด มีท่าเทียบ น่ารื่นรมย์ และในที่ไม่ไกลสระโบกขรณีนั้น ก็มีแนวป่าทึบ ลำดับนั้น บุรุษผู้มีร่างกายถูกความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวกระหาย เดินมุ่งมายังสระโบกขรณีนั้นแล โดยหนทางสายเดียว บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า‘บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้วจักมาถึงสระโบกขรณีนี้นั่นแล’ ต่อมา บุรุษผู้มีตาดีพึงเห็นเขาลงสู่สระโบกขรณีนั้น แล้วอาบและดื่ม ระงับความกระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อยและความร้อนหมดแล้วขึ้นไปนั่งหรือนอนที่แนวป่านั้น เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกันกำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้นเป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้วจักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ ต่อมา เราเห็นเขาทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว

พรหมจรรย์มีองค์ ๔

สารีบุตร เรารู้ยิ่งความประพฤติพรหมจรรย์ มีองค์ ๔ คือ

๑. เราเป็นผู้บำเพ็ญตบะ และเป็นผู้บำเพ็ญตบะอย่างยอดเยี่ยม

๒. เราเป็นผู้ประพฤติถือสิ่งเศร้าหมอง และเป็นผู้ประพฤติถือสิ่งเศร้าหมองอย่างยอดเยี่ยม

๓. เราเป็นผู้ประพฤติรังเกียจ(บาป) และเป็นผู้ประพฤติรังเกียจบาปอย่างยอดเยี่ยม

๔. เราเป็นผู้ประพฤติสงัด และเป็นผู้ประพฤติสงัดอย่างยอดเยี่ยม

การบำเพ็ญตบะ

บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ ๔ นั้น พรหมจรรย์ในการบำเพ็ญตบะของเรา คือเราเคยเป็นอเจลก(ประพฤติเปลือยกาย) ไม่มีมารยาท เลียมือ เขาเชิญให้ไปรับอาหารก็ไม่ไป เขาเชิญให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับอาหารที่เขาแบ่งไว้ ไม่รับอาหารที่เขาทำเจาะจง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ เรานั้นไม่รับอาหารจากปากหม้อไม่รับอาหารจากปากภาชนะ ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่รับอาหารคร่อมท่อนไม้ ไม่รับอาหารคร่อมสาก ไม่รับอาหารของคน ๒ คนที่กำลังบริโภคอยู่ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์ ไม่รับอาหารของหญิงผู้กำลังให้บุตรดื่มนม ไม่รับอาหารของหญิงที่คลอเคลียชาย ไม่รับอาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับอาหารในที่เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่มๆ ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง เรานั้นรับอาหารในเรือนหลังเดียว ยังชีพด้วยข้าวคำเดียว รับอาหารในเรือน ๒ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๒ คำ ฯลฯรับอาหารในเรือน ๗ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๗ คำ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย๑ ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๒ ใบ ฯลฯ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย๗ ใบ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๑ วัน กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๒ วัน ฯลฯกินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๗ วัน ถือการบริโภคอาหารตามวาระ ๑๕ วันต่อมื้อเช่นนี้ อยู่ด้วยประการอย่างนี้

เรานั้นกินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร กินลูกเดือยเป็นอาหารกินกากข้าวเป็นอาหาร กินสาหร่ายเป็นอาหาร กินรำเป็นอาหาร กินข้าวตังเป็นอาหาร กินกำยานเป็นอาหาร กินหญ้าเป็นอาหาร กินมูลโคเป็นอาหาร กินเหง้าและผลไม้ป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นยังชีพ

เรานั้นนุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน นุ่งห่มผ้าห่อศพ นุ่งห่มผ้าบังสุกุลนุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ นุ่งห่มหนังเสือ นุ่งห่มหนังเสือมีเล็บ นุ่งห่มผ้าคากรองนุ่งห่มผ้าเปลือกปอกรอง นุ่งห่มผ้าผลไม้กรอง นุ่งห่มผ้ากัมพลผมมนุษย์ นุ่งห่มผ้ากัมพลขนสัตว์ นุ่งห่มผ้าขนปีกนกเค้า เป็นผู้ถอนผมและหนวด คือถือการถอนผมและหนวด ยืนอย่างเดียวไม่ยอมนั่ง เดินกระโหย่ง คือถือการเดินกระโหย่งถือการนอนบนหนาม คือนอนบนที่นอนที่ทำด้วยหนาม ถือการอาบน้ำวันละ ๓ครั้ง ถือการย่างและการอบกายหลายรูปแบบเช่นนี้อยู่ด้วยประการอย่างนี้

นี้เป็นพรหมจรรย์ในการบำเพ็ญตบะของเรา

การประพฤติถือสิ่งเศร้าหมอง

บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ ๔ นั้น พรหมจรรย์ในการประพฤติถือสิ่งเศร้าหมองของเราดังนี้ คือ มลทินคือธุลีที่หมักหมมอยู่ในกาย(ของเรา)นับหลายปีจนเป็นสะเก็ด ตอตะโกที่ตั้งอยู่นับหลายปี มีเปลือกแตกแยกจนเป็นสะเก็ด แม้ฉันใดมลทินคือธุลีที่หมักหมมอยู่ในกายของเรานับหลายปีจนเกิดเป็นสะเก็ด ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เรานั้นมิได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ถ้าอย่างไร เราควรปัดละอองธุลีนี้ด้วยฝ่ามือ หรือคนเหล่าอื่นพึงปัดละอองธุลีนี้ของเราด้วยฝ่ามือ’ ความคิดแม้อย่างนี้มิได้มีแก่เรา

การประพฤติรังเกียจ

บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ ๔ นั้น พรหมจรรย์ในการประพฤติรังเกียจของเราดังนี้ คือ เรานั้นมีสติก้าวไปข้างหน้า มีสติถอยกลับ ความเอ็นดูของเราปรากฏแม้กระทั่งในหยดน้ำว่า ‘เราอย่าได้ล้างผลาญสัตว์เล็กๆ ที่อยู่ในที่ต่างๆ เลย’

ความประพฤติเป็นผู้สงัด

บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ ๔ นั้น พรหมจรรย์ในการประพฤติสงัดของเราดังนี้คือ เรานั้นอาศัยชายป่าแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เมื่อใด เราได้พบคนเลี้ยงโค คนเลี้ยงปศุสัตว์ คนหาบหญ้า คนหาฟืน หรือคนทำงานในป่า เมื่อนั้น เราเดินหนีจากป่าหนึ่งไปยังป่าอีกแห่งหนึ่ง จากป่าทึบแห่งหนึ่งไปยังป่าทึบอีกแห่งหนึ่ง จากที่ลุ่มแห่งหนึ่งไปยังที่ลุ่มอีกแห่งหนึ่ง จากที่ดอนแห่งหนึ่งไปยังที่ดอนอีกแห่งหนึ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราคิดว่า ‘คนเหล่านั้นอย่าได้พบเรา และเราก็อย่าได้พบคนเหล่านั้นเลย’

สัตว์ป่าเห็นพวกมนุษย์แล้วก็เตลิดหนีจากป่าแห่งหนึ่งไปยังป่าอีกแห่งหนึ่งจากป่าทึบแห่งหนึ่งไปยังป่าทึบอีกแห่งหนึ่ง จากที่ลุ่มแห่งหนึ่งไปยังที่ลุ่มอีกแห่งหนึ่งจากที่ดอนแห่งหนึ่งไปยังที่ดอนอีกแห่งหนึ่ง แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อใดเราได้พบคนเลี้ยงโค คนเลี้ยงปศุสัตว์ คนหาบหญ้า คนหาฟืน หรือคนทำงานในป่าเมื่อนั้น เราเดินหนี จากป่าแห่งหนึ่งไปยังป่าอีกแห่งหนึ่ง จากป่าทึบแห่งหนึ่งไปยังป่าทึบอีกแห่งหนึ่ง จากที่ลุ่มแห่งหนึ่งไปยังที่ลุ่มอีกแห่งหนึ่ง จากที่ดอนแห่งหนึ่งไปยังที่ดอนอีกแห่งหนึ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราคิดว่า ‘คนเหล่านั้นอย่าได้พบเราเลย และเราก็อย่าได้พบคนเหล่านั้นเลย’

นี้เป็นพรหมจรรย์ในการประพฤติเป็นผู้สงัดของเรา

เรานั้นคลานเข้าไปในคอกที่ฝูงโคออกไปแล้ว ไม่มีคนเลี้ยงโคอยู่ กินมูลโคของลูกโคตัวอ่อนที่ยังดื่มนม และกินปัสสาวะ อุจจาระของตนเองนั่นแลตลอดเวลาที่ปัสสาวะ และอุจจาระยังไม่สิ้นไป

นี้เป็นพรหมจรรย์ในโภชนมหาวิกัฏ ของเรา

เรานั้นเข้าอาศัยแนวป่าน่ากลัวแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ ที่ว่าน่ากลัวนั้นเพราะเป็นแนวป่าที่น่าสะพรึงกลัว ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งยังมีราคะเข้าไปยังแนวป่านั้นโดยมากย่อมขนพองสยองเกล้า เรานั้นอยู่ที่กลางแจ้งตลอดทั้งคืน ในราตรีที่หนาวเหน็บ ซึ่งอยู่ระหว่างเดือน ๓ ต่อเดือน ๔ เป็นช่วงเวลาที่หิมะตกเห็นปานนั้น(แต่) อยู่ในแนวป่าในเวลากลางวัน ในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน เราอยู่ในที่แจ้งในเวลากลางวัน แต่อยู่ในแนวป่าในเวลากลางคืน คาถาน่าอัศจรรย์นี้เราไม่เคยได้ยินมาก่อน ปรากฏแก่เราว่า

                          ‘มุนีผู้เสาะแสวงหาความหมดจด

                          อาบแดด อาบน้ำค้าง เปลือยกาย

                          ทั้งมิได้ผิงไฟ อยู่คนเดียว ในป่าที่น่ากลัว’

เรานอนแอบอิงกระดูกผีในป่าช้า พวกเด็กเลี้ยงโค เข้าใกล้เราแล้ว ถ่มน้ำลายรดบ้าง ถ่ายปัสสาวะรดบ้าง โปรยฝุ่นลงบ้าง เอาไม้ยอนที่ช่องหูบ้าง แต่เราไม่รู้สึกเลยว่า มีอกุศลจิตเกิดขึ้นในเด็กเหล่านั้น

ลัทธิที่ว่าความบริสุทธิ์มีได้เพราะอาหาร

มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ความบริสุทธิ์มีได้เพราะอาหาร’ พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราดำรงชีวิตอยู่ด้วยผลพุทรา’ พวกเขาเคี้ยวกินพุทราผลหนึ่งบ้าง พุทราป่นบ้าง ดื่มน้ำผลพุทราบ้าง บริโภคผลพุทราที่แปรรูปเป็นอาหารชนิดต่างๆ บ้าง แต่เราก็รู้ตัวว่า ‘กินผลพุทราผลเดียวเท่านั้นเป็นอาหาร’ เธอคงจะคิดอย่างนี้ว่า ‘สมัยนั้น ผลพุทราคงจะใหญ่เป็นแน่’ แต่เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น แม้ในกาลนั้น ผลพุทราก็มีขนาดเท่าในบัดนี้

เมื่อเรากินพุทราผลเดียวเท่านั้นเป็นอาหาร ร่างกายก็ซูบผอมเป็นอย่างมาก อวัยวะน้อยใหญ่ของเราเปรียบเหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมาก หรือมีข้อดำ เพราะมีอาหารน้อยนั่นเอง ตะโพกของเราเปรียบเหมือนรอยเท้าอูฐ กระดูกสันหลังขึ้นเป็นปุ่มๆ เหมือนเถาสะบ้า กระดูกซี่โครงเหลื่อมขึ้นเหลื่อมลง เหมือนกลอนศาลาเก่าเหลื่อมกันฉะนั้นดวงตากลวงลึกเข้าไปในเบ้าตา เหมือนเงาดวงดาวปรากฏในบ่อน้ำที่ลึกฉะนั้น หนังศีรษะซึ่งถูกลมพัดแล้วก็เหี่ยวแห้งไป เปรียบเหมือนผลน้ำเต้าขมที่ถูกตัดแต่ยังอ่อน ถูกลมและแดดแล้ว ย่อมเหี่ยวแห้งไปฉะนั้น เพราะเรามีอาหารน้อยนั่นเอง เรานั้นคิดว่า‘จักลูบหนังท้อง’ แต่คลำถูกกระดูกสันหลัง คิดว่า ‘จักลูบกระดูกสันหลัง’ แต่คลำถูกหนังท้อง หนังท้องของเราติดกระดูกสันหลัง เรานั้นคิดว่า ‘จะถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ’ ก็ซวนเซล้มลง ณ ที่นั้นนั่นเอง เราเมื่อจะทำร่างกายให้สบายก็ลูบตัวด้วยฝ่ามือ เมื่อเราลูบตัวด้วยฝ่ามือ ขนทั้งหลายซึ่งมีรากเน่าก็หลุดร่วงจากกายเพราะเรามีอาหารน้อยนั่นเอง

สารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า‘ความบริสุทธิ์มีได้เพราะอาหาร’ พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราดำรงชีวิตอยู่ด้วยเมล็ดถั่วเขียว ฯลฯ พวกเราดำรงชีวิตอยู่ด้วยเมล็ดงา ฯลฯ พวกเราดำรงชีวิตอยู่ด้วยข้าวสาร’ พวกเขาเคี้ยวกินข้าวสารบ้าง ปลายข้าวบ้าง ดื่มน้ำข้าวบ้าง บริโภคข้าวสารที่แปรรูปเป็นชนิดต่างๆ บ้าง แต่เรารู้ตัวว่า ‘กินข้าวสารเมล็ดเดียวเท่านั้นเป็นอาหาร’ เธอคงจะคิดอย่างนี้ว่า ‘สมัยนั้น เมล็ดข้าวสารคงจะใหญ่เป็นแน่’แต่เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น แม้ในกาลนั้น เมล็ดข้าวสารก็มีขนาดเท่าในบัดนี้ เมื่อเรากินข้าวสารเมล็ดเดียวเท่านั้นเป็นอาหาร ร่างกายก็ซูบผอมเป็นอย่างยิ่ง อวัยวะน้อยใหญ่ของเราเปรียบเหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมากและมีข้อดำ เพราะเรามีอาหารน้อยนั่นเอง ตะโพกของเราเปรียบเหมือนรอยเท้าอูฐ กระดูกสันหลังขึ้นเป็นปุ่มๆเหมือนเถาสะบ้า กระดูกซี่โครงเหลื่อมขึ้นเหลื่อมลงเหมือนกลอนศาลาเก่าเหลื่อมกันฉะนั้น ดวงตากลวงลึกเข้าไปในเบ้าตา ฯลฯ เปรียบเหมือนน้ำเต้าขม ฯลฯ’

เรานั้นคิดว่า ‘จักลูบหนังท้อง ฯลฯ จักถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ฯลฯ เราเมื่อจะทำร่างกายให้สบายก็ลูบตัวด้วยฝ่ามือ เมื่อเราลูบตัวด้วยฝ่ามือ ขนทั้งหลายซึ่งมีรากเน่าก็หลุดร่วงจากกาย เพราะเรามีอาหารน้อยนั่นเอง

เรามิได้บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์แม้ด้วยการปฏิบัติอันประเสริฐนั้น ด้วยปฏิปทานั้น และด้วยการทรมานตนที่ทำได้ยากนั้นเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุยังมิได้บรรลุปัญญาอันประเสริฐนี้ ซึ่งเราบรรลุแล้ว เป็นเครื่องนำออกคือนำสัตว์ออกไปจากทุกข์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบสำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติตามธรรมนั้น

ลัทธิที่ว่าความบริสุทธิ์มีได้เพราะสังสารวัฏเป็นต้น

สารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า‘ความบริสุทธิ์มีได้เพราะสังสารวัฏ‘(การเวียนว่ายตายเกิด) สังสารวัฏที่เราไม่เคยท่องเที่ยวไปโดยกาลช้านานนี้เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ง่าย นอกจากเทวโลกชั้นสุทธาวาสหากเราพึงท่องเที่ยวไปในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก

มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ความบริสุทธิ์มีได้เพราะความเกิด’ ความเกิดที่เราไม่เคยประสบโดยกาลช้านานนี้เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ง่าย นอกจากเทวโลกชั้นสุทธาวาส หากเราพึงเกิดในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก

มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ความบริสุทธิ์มีได้เพราะอาวาส’ ที่ที่เราไม่เคยอยู่อาศัยแล้วโดยกาลช้านานนี้เป็นของหาได้ไม่ง่ายนอกจากเทวโลกชั้นสุทธาวาส หากเราพึงอยู่ในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก

มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ความบริสุทธิ์มีได้เพราะการบูชายัญ’ ยัญที่เราผู้เป็นขัตติยราชซึ่งได้รับมูรธาภิเษกแล้ว หรือเป็นพราหมณมหาศาลไม่เคยบูชาแล้วโดยกาลช้านาน นี้เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ง่าย

มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ความบริสุทธิ์มีได้เพราะการบำเรอไฟ’ ไฟที่เราผู้เป็นขัตติยราชซึ่งได้รับมูรธาภิเษกแล้ว หรือเป็นพราหมณมหาศาล ไม่เคยบำเรอแล้วโดยกาลช้านาน นี้เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ง่าย

สัตว์ผู้ไม่ลุ่มหลง

มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘บุรุษหนุ่มผู้เจริญนี้ มีเกศาดำสนิท มีวัยหนุ่มแน่นเหมาะกับปฐมวัย มีปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง ต่อมา บุรุษหนุ่มผู้เจริญนี้ก็ชรา แก่ เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัยไปโดยลำดับคือมีอายุ ๘๐ ปีบ้าง ๙๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง หลังจากนั้น เขาเสื่อมจากปัญญาความเฉลียวฉลาดนั้น ข้อนี้เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ก็บัดนี้ เราชรา แก่ เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัยไปโดยลำดับ เรามีอายุ ๘๐ ปี สาวกบริษัท ๔ ของเราในธรรมวินัยนี้มีอายุ๑๐๐ ปี เป็นอยู่ได้ ๑๐๐ ปี มีสติ มีคติ มีธิติ อันยอดเยี่ยม และมีปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง

นักแม่นธนูได้รับการฝึกหัด ช่ำชอง ชำนิชำนาญ เคยแสดงฝีมือมาแล้วพึงยิงงวงตาลทางด้านขวางให้ตกลงได้โดยไม่ยากด้วยลูกศรขนาดเบา แม้ฉันใด

สาวกบริษัท ๔ ของเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีสติ มีคติ มีธิติอันยอดเยี่ยมอย่างนี้ มีปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง

เธอทั้งหลายพึงถามปัญหาอิงสติปัฏฐาน ๔ กับเรา เราถูกถามแล้วจะพึงตอบแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทรงจำคำที่เราตอบแล้วโดยแจ่มแจ้ง เธอทั้งหลายไม่ควรถามเราเกินกว่า ๒ ครั้ง นอกจากเรื่องการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้มการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ การหลับ และการบรรเทาความเมื่อยล้า ธรรมบรรยายของตถาคตนั้นไม่มีจบสิ้น บทและพยัญชนะของตถาคตนั้นไม่มีจบสิ้น ความแจ่มแจ้งแห่งปัญหาของตถาคตนั้นไม่มีจบสิ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น สาวกบริษัท ๔ ของเรานั้นมีอายุ ๑๐๐ ปี เป็นอยู่ได้ ๑๐๐ ปี เมื่อล่วง ๑๐๐ ปีไปก็จะพึงตาย แม้ถ้าเธอทั้งหลายจักหามเราด้วยเตียงเล็ก ปัญญาความเฉลียวฉลาดของตถาคตย่อมไม่เป็นอย่างอื่นไปได้ บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยถูกต้องจะพึงกล่าวคำนั้นกับเราเท่านั้นว่า ‘สัตว์ผู้มีความไม่ลุ่มหลงเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วในโลกเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

คำนิคม

ในสมัยนั้น ท่านพระนาคสมาละยืนถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ของพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น ท่านพระนาคสมาละได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ เพราะได้ฟังธรรมบรรยายนี้

ข้าพระองค์จึงเกิดขนลุกชูชันขึ้นแล้ว ธรรมบรรยายนี้ชื่ออะไร”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “นาคสมาละ เพราะเหตุนั้น เธอจงจำไว้ว่า ‘ธรรมบรรยายนี้ชื่อว่าโลมหังสนบรรยาย”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระนาคสมาละมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้

เรียบเรียงโดย ดร.ศักดิ์  ประสานดี

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๒. มหาสีหนาทสูตร ข้อที่๑๔๖ - ๑๖๒   

หมายเลขบันทึก: 677282เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2020 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2020 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท