พระไตรปิฎกอ่านง่ายเล่มที่ ๑๒ (พระสูตร เล่มที่ ๔) เรื่องที่ ๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร การเจริญสติปัฏฐาน (แนะนำให้ศึกษา)


๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร  ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน สูตรใหญ่

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกุรุ ชื่อกัมมาสธัมมะแคว้นกุรุ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรมเพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ

สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง  คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

กายานุปัสสนา การพิจารณากาย

หมวดลมหายใจเข้าออก

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างไร  คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปอยู่ในป่า ไปอยู่ที่โคนไม้ หรือที่เรือนว่าง นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก

   เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’

            เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’

                เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’

                เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’

                สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’

                สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’

                สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจเข้า’

                สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก’

ภิกษุทั้งหลาย ช่างกลึง หรือลูกมือช่างกลึงผู้มีความชำนาญเมื่อชักเชือกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราชักเชือกยาว’เมื่อชักเชือกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราชักเชือกสั้น’ แม้ฉันใด ภิกษุ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

กายานุปัสสนา

หมวดอิริยาบถ

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุ

                เมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่า ‘เราเดิน’

                เมื่อยืน ก็รู้ชัดว่า ‘เรายืน’

                เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่า ‘เรานั่ง’

                เมื่อนอน ก็รู้ชัดว่า ‘เรานอน’

ภิกษุนั้น เมื่อดำรงกายอยู่โดยอาการใดๆ ก็รู้ชัดกายที่ดำรงอยู่โดยอาการนั้นๆ

กายานุปัสสนา

หมวดสัมปชัญญะ

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุ

             ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ

             ทำความรู้สึกตัวในการแลดู การเหลียวดู

             ทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า การเหยียดออก

             ทำความรู้สึกตัวในการครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร

             ทำความรู้สึกตัวในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม

             ทำความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ

             ทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูดการนิ่ง

ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน อยู่ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

กายานุปัสสนา

หมวดสิ่งปฏิกูล

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ ตั้งแต่ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่างๆ ว่า

‘ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูกไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่าดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูกไขข้อ มูตร’

ภิกษุทั้งหลาย ถุงมีปาก ๒ ข้าง เต็มไปด้วยธัญพืชชนิดต่างๆ คือ ข้าวสาลีข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เมล็ดงา ข้าวสาร คนตาดีเปิดถุงยาวนั้นออกพิจารณาเห็นว่า ‘นี้เป็นข้าวสาลี นี้เป็นข้าวเปลือก นี้เป็นถั่วเขียว นี้เป็นถั่วเหลืองนี้เป็นเมล็ดงา นี้เป็นข้าวสาร แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน

กายานุปัสสนา

หมวดธาตุ

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ตามที่ตั้งอยู่ตามที่ดำรงอยู่โดยความเป็นธาตุว่า ‘ในกายนี้มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่’

ภิกษุทั้งหลาย คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้มีความชำนาญ ครั้นฆ่าโคแล้วแบ่งอวัยวะออกเป็นส่วนๆ นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน

กายานุปัสสนา

หมวดป่าช้า ๙ หมวด

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง

๑. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งตายแล้ว ๑ วัน ตายแล้ว ๒ วัน หรือตายแล้ว ๓ วัน เป็นศพขึ้นอืด ศพเขียวคล้ำศพมีน้ำเหลืองเยิ้ม แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นฉันนั้นเหมือนกัน

๒. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้าซึ่งถูกกาจิกกิน แร้งทึ้งกินนกตะกรุมจิกกิน สุนัขกัดกิน สุนัขจิ้งจอกกัดกิน หรือสัตว์เล็กๆหลายชนิดกัดกินอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นฉันนั้นเหมือนกัน

๓. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูก ยังมีเนื้อและเลือด มีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นฉันนั้นเหมือนกัน

๔. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูก ไม่มีเนื้อแต่ยังมีเลือดเปื้อนเปรอะ มีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นฉันนั้นเหมือนกัน

๕. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูก ไม่มีเลือดและเนื้อแต่ยังมีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นฉันนั้นเหมือนกัน

๖. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูก ไม่มีเอ็นรึงรัด กระจุยกระจายไปในทิศใหญ่ ทิศเฉียง คือ กระดูกมืออยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกเท้าอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกแข้งอยู่ทางทิศหนึ่งกระดูกขาอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกสะเอวอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกหลังอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกซี่โครงอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกหน้าอกอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกแขนอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกไหล่อยู่ทางทิศหนึ่งกระดูกคออยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกคางอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกฟันอยู่ทางทิศหนึ่ง กะโหลกศีรษะอยู่ทางทิศหนึ่ง แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นฉันนั้นเหมือนกัน

๗. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นท่อนกระดูกสีขาวเหมือนสีสังข์ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นฉันนั้นเหมือนกัน

๘. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นท่อนกระดูกกองอยู่ด้วยกันเกินกว่า ๑ ปี แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นฉันนั้นเหมือนกัน

๙. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นกระดูกผุป่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นฉันนั้นเหมือนกัน

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ อย่างไร  คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. เมื่อเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนา’

๒. เมื่อเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนา’

๓. เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า‘เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา’

๔. เมื่อเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส’

๕. เมื่อเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส’

๖. เมื่อเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส’

๗. เมื่อเสวยทุกขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนาที่ไม่มีอามิส’

๘. เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยอทุกขม-สุขเวทนาที่มีอามิส’

๙. เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส’

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ อย่างไร  คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. จิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีราคะ’

๒. จิตปราศจากราคะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากราคะ’

๓. จิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีโทสะ’

๔. จิตปราศจากโทสะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโทสะ’

๕. จิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีโมหะ’

๖. จิตปราศจากโมหะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโมหะ’

๗. จิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตหดหู่’

๘. จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่า ‘จิตฟุ้งซ่าน’

๙. จิตเป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นมหัคคตะ’

๑๐. จิตไม่เป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นมหัคคตะ’

๑๑. จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า’

๑๒. จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า’

๑๓. จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นสมาธิ’

๑๔. จิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นสมาธิ’

๑๕. จิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ชัดว่า ‘จิตหลุดพ้นแล้ว’

๑๖. จิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่หลุดพ้น’

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

หมวดนิวรณ์

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ อย่างไร  คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕ประการอยู่

ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕ ประการอยู่ อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. เมื่อกามฉันทะภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘กามฉันทะภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อกามฉันทะภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘กามฉันทะภายในของเราไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่งกามฉันทะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละกามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้นและกามฉันทะที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น

๒. เมื่อพยาบาทภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘พยาบาทภายในของเรามีอยู่’อหรือเมื่อพยาบาทภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘พยาบาทภายในของเราไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่งพยาบาทที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และพยาบาทที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น

๓. เมื่อถีนมิทธะภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘ถีนมิทธะภายในของเรามีอยู่’หรือเมื่อถีนมิทธะภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘ถีนมิทธะภายในของเราไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่งถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และถีนมิทธะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น

๔. เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘อุทธัจจกุกกุจจะภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่ออุทธัจจกุกกุจจะภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘อุทธัจจกุกกุจจะภายในของเราไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และอุทธัจจกุกกุจจะที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น

๕. เมื่อวิจิกิจฉาภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘วิจิกิจฉาภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อวิจิกิจฉาภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘วิจิกิจฉาภายในของเราไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่งวิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้นและวิจิกิจฉาที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น

หมวดขันธ์

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการอยู่

ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการอยู่ อย่างไร  คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์๕ ประการอยู่ว่า

๑. รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูปเป็นอย่างนี้

๒. เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้

๓. สัญญาเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้

๔. สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งสังขารเป็นอย่างนี้

๕. วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้

หมวดอายตนะ

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖ ประการ และอายตนะภายนอก ๖ ประการอยู่

ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖ ประการและอายตนะภายนอก ๖ ประการอยู่ อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. รู้ชัดตา รู้ชัดรูป และสังโยชน์ใดอาศัยตาและรูปทั้ง ๒ นั้นเกิดขึ้นก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น

๒. รู้ชัดหู รู้ชัดเสียง และสังโยชน์ใดอาศัยหูและเสียงทั้ง ๒ นั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น ฯลฯ

๓. รู้ชัดจมูก รู้ชัดกลิ่น และสังโยชน์ใดอาศัยจมูกและกลิ่นทั้ง ๒ นั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น ฯลฯ

๔. รู้ชัดลิ้น รู้ชัดรส และสังโยชน์ใดอาศัยลิ้นแลเรสทั้ง ๒ นั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น ฯลฯ

๕. รู้ชัดกาย รู้ชัดโผฏฐัพพะ และสังโยชน์ใดอาศัยกายและโผฏฐัพพะทั้ง ๒ นั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น ฯลฯ

๖. รู้ชัดใจ รู้ชัดธรรมารมณ์ และสังโยชน์ใดอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้ง ๒ นั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น ฯลฯ

หมวดโพชฌงค์

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ ประการอยู่

ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ ประการอยู่ อย่างไร  คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. เมื่อสติสัมโพชฌงค์ ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘สติสัมโพชฌงค์ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อสติสัมโพชฌงค์ภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘สติสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มี’ ความเกิดขึ้นแห่งสติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่งสติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น

๒. เมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่ามีอยู่ ฯลฯ

๓. เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่ามีอยู่ ฯลฯ

๔. เมื่อปีติสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่ามีอยู่ ฯลฯ

๕. เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่ามีอยู่ ฯลฯ

๖. เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่ามีอยู่ ฯลฯ

๗. เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่ามีอยู่ ฯลฯ

หมวดสัจจะ

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่

ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่ อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์’

๒. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขสมุทัย’

๓. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขนิโรธ’

๔. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’

ทุกขสัจจนิทเทส

ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไร คือ ชาติเป็นทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสอุปายาสเป็นทุกข์ การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

ชาติ เป็นอย่างไร  คือ ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความบังเกิด ความบังเกิดเฉพาะความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆนี้เรียกว่า ชาติ

ชรา เป็นอย่างไร คือ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่า ชรา

มรณะ เป็นอย่างไร คือ ความจุติ ความเคลื่อนไป ความทำลายไป ความหายไป ความตายกล่าวคือมฤตยู การทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งร่างกาย ความขาดสูญแห่งชีวิตินทรีย์ของเหล่าสัตว์นั้นๆ จากหมู่สัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่า มรณะ

โสกะ เป็นอย่างไร  คือ ความเศร้าโศก กิริยาที่เศร้าโศก ภาวะที่เศร้าโศก ความแห้งผากภายในความแห้งกรอบภายในของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ)ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ นี้เรียกว่า โสกะ

ปริเทวะ เป็นอย่างไร  คือ ความร้องไห้ ความคร่ำครวญ กิริยาที่ร้องไห้ กิริยาที่คร่ำครวญ ภาวะที่ร้องไห้ ภาวะที่คร่ำครวญของผู้ที่ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ)ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ นี้เรียกว่า ปริเทวะ

ทุกข์ เป็นอย่างไร  คือ ความทุกข์ทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญ เป็นทุกข์ อันเกิดแต่กายสัมผัส นี้เรียกว่า ทุกข์

โทมนัส เป็นอย่างไร  คือ ความทุกข์ทางใจ ความไม่สำราญทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญเป็นทุกข์ อันเกิดแต่มโนสัมผัส นี้เรียกว่า โทมนัส

อุปายาส เป็นอย่างไร  คือ ความแค้น ความคับแค้น ภาวะที่แค้น ภาวะที่คับแค้นของผู้ที่ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ) ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบนี้เรียกว่า อุปายาส

การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร  คือ การไปร่วม การมาร่วม การประชุมร่วม การอยู่ร่วมกับอารมณ์อันไม่เป็นที่ปรารถนา ไม่เป็นที่รักใคร่ ไม่เป็นที่ชอบใจของเขาในโลกนี้ เช่น รูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรือจากบุคคลผู้ปรารถนาแต่สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่ผาสุก ไม่ปรารถนาความเกษมจากโยคะของเขา นี้เรียกว่า การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์

การพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร คือ การไม่ไปร่วม การไม่มาร่วม การไม่ประชุมร่วม การไม่อยู่ร่วมกับอารมณ์อันเป็นที่ปรารถนา เป็นที่รักใคร่ เป็นที่ชอบใจของเขาในโลกนี้ เช่น รูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรือจากบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาความเกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะของเขา เช่น มารดาบิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว มิตร อำมาตย์หรือญาติสาโลหิต นี้เรียกว่าการพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์

การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร  คือ เหล่าสัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า‘ไฉนหนอ ขอเราอย่าได้มีความเกิดเป็นธรรมดา หรือขอความเกิดอย่าได้มาถึงเราเลย’ ข้อนี้ไม่พึงสำเร็จได้ตามความปรารถนา นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์

เหล่าสัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ‘ไฉนหนอขอเราอย่าได้มีความแก่เป็นธรรมดา หรือขอความแก่อย่าได้มาถึงเราเลย’ ข้อนี้ไม่พึงสำเร็จได้ตามความปรารถนา นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์  เหล่าสัตว์ผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา  เหล่าสัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา เหล่าสัตว์ผู้มีความเศร้าโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์ ความโทมนัสและความคับแค้นเป็นธรรมดา ต่างก็เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ‘ไฉนหนอขอเราอย่าได้เป็นผู้เจ็บไข้ มีความตาย  มีความเศร้าโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์ ความโทมนัสและความคับแค้นเป็นธรรมดาเลย และขอความเศร้าโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์ความโทมนัสและความคับแค้นอย่าได้มาถึงเราเลย’ ข้อนี้ไม่พึงสำเร็จได้ตามความปรารถนา นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์

ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร  คือ รูปูปาทานขันธ์อุปาทานขันธ์คือรูป เวทนูปาทานขันธ์อุปาทานขันธ์คือเวทนา สัญญูปาทานขันธ์อุปาทานขันธ์คือสัญญา สังขารูปาทานขันธ์อุปาทานขันธ์คือสังขาร และวิญญาณูปาทานขันธ์อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ เหล่านี้เรียกว่า ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการเป็นทุกข์

นี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ

สมุทยสัจจนิทเทส

ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นอย่างไร  คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความกำหนัดมีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหาก็ตัณหานี้แหละเมื่อเกิดขึ้น เกิดที่ไหน เมื่อตั้งอยู่ ตั้งอยู่ที่ไหนคือ ปิยรูปสาตรูป (คือสิ่งที่มีสภาวะน่ารักน่าชื่นใจ เป็นที่เกิดและเป็นที่ดับของตัณหา) ใด มีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ปิยรูปสาตรูปนี้เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ปิยรูปสาตรูปนี้

ก็อะไร เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก

คือ จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่จักขุนี้ เมื่อตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ที่จักขุนี้ โสตะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฆานะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  ชิวหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  กายเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก   มโนเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่มโนนี้

รูปเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  เสียงเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก กลิ่นเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก รสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก โผฏฐัพพะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ธรรมารมณ์เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิดก็เกิดที่ธรรมารมณ์นี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธรรมารมณ์นี้

จักขุวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  โสตวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฆานวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ชิวหาวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก กายวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  มโนวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนวิญญาณนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่มโนวิญญาณนี้

จักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฆานสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  ชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก กายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  มโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนสัมผัสนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่มโนสัมผัสนี้

เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก เวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  เวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่เวทนาซึ่งเกิดจากมโนสัมผัสนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่เวทนาซึ่งเกิดจากมโนสัมผัสนี้

รูปสัญญาความหมายรู้รูป เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  สัททสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  คันธสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  รสสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  โผฏฐัพพสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ธัมมสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมสัญญานี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมสัญญานี้

รูปสัญเจตนาความจงใจในรูป เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  สัททสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  คันธสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก รสสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก โผฏฐัพพสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ธัมมสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมสัญเจตนานี้เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมสัญเจตนานี้

รูปตัณหาความทะยานอยากในรูป เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  สัททตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  คันธตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  รสตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  โผฏฐัพพตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  ธัมมตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมตัณหานี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมตัณหานี้

รูปวิตกความตรึกถึงรูป เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  สัททวิตกเป็นปิยรูป-สาตรูปในโลก  คันธวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  รสวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  โผฏฐัพพวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  ธัมมวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมวิตกนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมวิตกนี้

รูปวิจารความตรองถึงรูป เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก สัททวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  คันธวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก รสวิจารเป็นปิยรูป-สาตรูปในโลก  โผฏฐัพพวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  ธัมมวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมวิจารนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมวิจารนี้ 

นี้เรียกว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ

นิโรธสัจจนิทเทส

ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอย่างไร  คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้นความไม่อาลัยในตัณหา

ก็ตัณหานี้เมื่อละ ละที่ไหน เมื่อดับ ดับที่ไหน

คือ ปิยรูปสาตรูปใดมีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่ปิยรูปสาตรูปนี้ เมื่อดับก็ดับที่ปิยรูปสาตรูปนี้

ก็อะไร เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก

คือ จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่จักขุนี้ เมื่อดับก็ดับที่จักขุนี้ โสตะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฆานะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ชิวหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  กายเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  มโนเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่มโนนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่มโนนี้

รูปเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก เสียงเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  กลิ่นเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  รสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  โผฏฐัพพะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  ธรรมารมณ์เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่ธรรมารมณ์นี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธรรมารมณ์นี้

จักขุวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก โสตวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  ฆานวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ชิวหาวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก กายวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก มโนวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่มโนวิญญาณนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่มโนวิญญาณนี้

จักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฆานสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  ชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก กายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก มโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่มโนสัมผัสนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่มโนสัมผัสนี้

เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  เวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก เวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่เวทนาซึ่งเกิดจากมโนสัมผัสนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่เวทนาซึ่งเกิดจากมโนสัมผัสนี้

รูปสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก สัททสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก คันธสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  รสสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก โผฏฐัพพสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  ธัมมสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลกตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่ธัมมสัญญานี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมสัญญานี้

รูปสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก สัททสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก คันธสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก รสสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก โผฏฐัพพสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ธัมมสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่ธัมมสัญเจตนานี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมสัญเจตนานี้

รูปตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก สัททตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก คันธตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก รสตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก โผฏฐัพพตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ธัมมตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลกตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่ธัมมตัณหานี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมตัณหานี้

รูปวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก สัททวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก คันธวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  รสวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก โผฏฐัพพวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  ธัมมวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่ธัมมวิตกนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมวิตกนี้

รูปวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก สัททวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก คันธวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  รสวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  โผฏฐัพพวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  ธัมมวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่ธัมมวิจารนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมวิจารนี้

นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ

มัคคสัจจนิทเทส

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร  คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นั่นแล ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ

๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ

๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ

๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ

๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ

๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ

๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ

สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไร คือ ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ

สัมมาสังกัปปะ เป็นอย่างไร คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริในการไม่เบียดเบียน นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ

สัมมาวาจา เป็นอย่างไร คือ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ นี้เรียกว่า สัมมาวาจา

สัมมากัมมันตะ เป็นอย่างไร คือ เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ

สัมมาอาชีวะ เป็นอย่างไร คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ละมิจฉาอาชีวะแล้ว สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ

สัมมาวายามะ เป็นอย่างไร  คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตมุ่งมั่นเพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น สร้างฉันทะ พยายามปรารภ ความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ

สัมมาสติ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ นี้เรียกว่า สัมมาสติ

สัมมาสมาธิ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขามีสติ อยู่เป็นสุข’ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้วบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ นี้เรียกว่าสัมมาสมาธิ

นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

อานิสงส์แห่งการเจริญสติปัฏฐาน ๔

ภิกษุทั้งหลาย

บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ แม้เพียง ๗ วัน พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี

ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรมเพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ เราอาศัยทางสายเดียวนี้แล้ว จึงกล่าวคำดังพรรณนามาฉะนี้”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้

เรียบเรียงโดย ดร.ศักดิ์ ประสานดี

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร ๑๐๕ - ๑๓๗  

หมายเลขบันทึก: 677265เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2020 19:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2020 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท