พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๒ (พระสูตร เล่มที่ ๔) เรื่องที่ ๔ ภยเภรวสูตร เรื่่องความกลัว


๔. ภยเภรวสูตร   ว่าด้วยความขลาดกลัว

 

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พราหมณ์ชื่อชาณุสโสณิเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

“ข้าแต่ท่านพระโคดม กุลบุตรทั้งหลายมีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เจาะจงท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเป็นหัวหน้าของกุลบุตรเหล่านั้น เป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้แนะนำให้ถือตาม ชุมชนนั้นถือเอาแบบอย่างท่านพระโคดมหรือ”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น กุลบุตรทั้งหลายมีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเจาะจงเรา เราเป็นหัวหน้าของพวกเขา เป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้แนะนำให้ถือตาม ชุมชนนั้นถือเอาแบบอย่างเรา”

ชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ อยู่ลำบาก ทำวิเวก ได้ยาก ในการอยู่โดดเดี่ยวก็อภิรมย์ได้ยาก ป่าทั้งหลายเห็นจะชักนำจิตของภิกษุผู้ยังไม่ได้สมาธิ ให้หวาดหวั่น”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ อยู่ลำบาก ทำวิเวกได้ยากในการอยู่โดดเดี่ยวก็อภิรมย์ได้ยาก ป่าทั้งหลายเห็นจะชักนำจิตของภิกษุผู้ยังไม่ได้สมาธิให้หวาดหวั่น”

เหตุสะดุ้งกลัวการอยู่ในเสนาสนะป่า ๑๖ ประการ

  • (๑) ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายกรรมไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล
  • (๒) ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีวจีกรรมไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล
  • (๓) ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีมโนกรรมไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล
  • (๔) ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีการเลี้ยงชีวิตไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล
  • (๕) ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งมีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีความกำหนัดกล้าในกามคุณทั้งหลาย ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล
  • (๖) ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งมีจิตวิบัติ มีความดำริชั่วร้าย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล
  • (๗) ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งถูกถีนมิทธะความหดหู่และเซื่องซึม กลุ้มรุมแล้ว เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล
  • (๘) ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นผู้ฟุ้งซ่าน มีจิตไม่สงบ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล
  • (๙) ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นผู้เคลือบแคลงสงสัย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล
  • (๑๐) ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นผู้ยกตนข่มผู้อื่น เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล
  • (๑๑) ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นผู้สะดุ้งกลัวและมักขลาด เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล
  • (๑๒) ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารถนาลาภสักการะและความสรรเสริญ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล
  • (๑๓) ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นผู้เกียจคร้าน ปราศจากความเพียร เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล
  • (๑๔) ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งขาดสติสัมปชัญญะ(ความระลึกได้และความรู้ตัว) เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล
  • (๑๕) ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งมีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตดิ้นรนกวัดแกว่ง เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล
  • (๑๖) ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล

พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรอยู่ในเสนาสนะเช่นนี้ คือ อารามเจดีย์ วนเจดีย์ รุกขเจดีย์ อันน่าสะพรึงกลัว น่าขนพองสยองเกล้าในราตรีที่กำหนดรู้กันว่าวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ ด้วยหวังว่า ‘เราจะได้เห็นความน่ากลัวและความขลาด’ ต่อมา เราได้อยู่ในเสนาสนะและราตรีดังกล่าวแล้วนั้น เมื่อเราอยู่ในเสนาสนะนั้น สัตว์ป่ามา นกยูงทำไม้ให้ตกลงมาหรือลมพัดเศษใบไม้ให้ตกลงมา เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘ความกลัวและความขลาดนี้นั้นย่อมเกิดขึ้นแน่นอน’ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘เพราะเหตุไร เราจึงหวังเฉพาะแต่เรื่องความกลัวอยู่อย่างเดียว ทางที่ดี เราควรจะกำจัดความกลัวและความขลาดที่เกิดขึ้นแก่เราในอิริยาบถที่เราเป็นอยู่นั้นๆ เสีย’ เมื่อเรากำลังจงกรมอยู่ ความกลัวและความขลาดเกิดขึ้นแก่เรา เราจะไม่ยืน ไม่นั่ง ไม่นอน จะจงกรมอยู่ จนกว่าจะกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้ เมื่อเรายืนอยู่ ความกลัวและความขลาดเกิดขึ้นแก่เรา เราจะไม่จงกรม ไม่นั่ง ไม่นอน จะยืนอยู่จนกว่าจะกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้ เมื่อเรานั่งอยู่ ความกลัวและความขลาดเกิดขึ้นแก่เรา เราจะไม่นอน ไม่ยืน ไม่จงกรม จะนั่งอยู่ จนกว่าจะกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้เมื่อเรานอนอยู่ ความกลัวและความขลาดเกิดขึ้นแก่เรา เราจะไม่นั่ง ไม่ยืน ไม่จงกรมจะนอนอยู่จนกว่าจะกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้

สัตว์ผู้ไม่ลุ่มหลง

มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งเข้าใจกลางคืนแท้ๆ ว่าเป็นกลางวัน เข้าใจกลางวันแท้ๆ ว่าเป็นกลางคืน เรากล่าวการมีความเข้าใจเช่นนี้ เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นอยู่ด้วยความหลง ส่วนเราเข้าใจกลางคืนแท้ๆ ว่าเป็นกลางคืน เข้าใจกลางวันแท้ๆ ว่าเป็นกลางวัน บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง ควรกล่าวกับเราว่า ‘สัตว์ผู้ไม่มีความหลงได้อุบัติแล้วในโลก เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มากเพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลเพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’

เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน สติก็มั่นคงไม่ฟั่นเฟือนกายสงบระงับไม่กระสับกระส่าย จิตเป็นสมาธิมีอารมณ์แน่วแน่ เรานั้นสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

วิชชา ๓

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน  ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นจึงน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆจุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะมีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้เราระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เราบรรลุวิชชาที่ ๑ นี้ในปฐมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรอุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นจึงน้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูงงามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริตกล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบและชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เราเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งามเกิดดีและไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ คือ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล เราบรรลุวิชชาที่ ๒ นี้ ในมัชฌิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเรานั้นรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป‘ เราบรรลุวิชชาที่ ๓ นี้ ในปัจฉิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น

พราหมณ์ บางคราวท่านอาจมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘แม้วันนี้ พระโคดมยังไม่เป็นผู้ปราศจากราคะ โทสะ และโมหะ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงเข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ’ ท่านไม่ควรเห็นอย่างนั้น เราเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ ประการ คือ (๑) การอยู่เป็นสุขในปัจจุบันของตน (๒) การอนุเคราะห์ชุมชนผู้เกิดในภายหลัง จึงเข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ”

ชาณุสโสณิเป็นพุทธมามกะ

ชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดมได้อนุเคราะห์ชุมชนผู้เกิดในภายหลังนี้แล้ว เหมือนอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุเคราะห์ฉะนั้น ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้

เรียบเรียงโดย ดร.ศักดิ์ ประสานดี

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] เรื่องที่ ๔ ภยเภรวสูตร ข้อ ๓๔ – ๕๖

หมายเลขบันทึก: 677198เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2020 21:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2020 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท