ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม (Existentialism)



ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม (Existentialism) เป็นปรัชญาที่ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบที่ทำให้มนุษย์มีความสมบูรณ์ยิ่ง เพราะเชื่อว่ามนุษย์มิใช่วัตถุแต่มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึก มีความต้องการ องค์ประกอบที่สำคัญของลัทธินี้ก็ คือ “ความมีเสรีภาพ ความรู้สึกรับผิดชอบและการเลือกตัดสินใจ”

ความเป็นมา
สาเหตุที่เกิดปรัชญาลัทธินี้ขึ้นมาก็เนื่องจากความรู้สึกสูญเสียตัวเองไปจากระบบสังคมปัจจุบัน การศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำลายความเป็นมนุษย์ด้วยการสร้างกรอบของสังคมที่จำกัดเสรีภาพของมนุษย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในแต่ละวันเราต้องทำหน้าที่ไปตามกรอบของสังคมที่ วางไว้จนไม่ค่อยจะมี เสรีภาพเป็นของตัวเองเลย

ฟรีด์ริค นิตเซ่ (Friedrich Nietzsche 1844-1900)  
นักปรัชญาชาวเยอรมัน ผู้มีอิทธิพลต่อความคิดของนักอัตถิภาวนิยมมากผู้หนึ่ง จึงได้เสนอให้มนุษย์ออกมาจากกรอบของสังคมอย่างทรนง เขาเห็นว่าการเดินตามประเพณีเป็นวิธีการเลี่ยงความรับผิดชอบของคนขี้ขลาดและอ่อนแอนิตเช่ ได้แบ่งมนุษย์ออกเป็น 2 พวก คือ

  1. พวกยึดถือธรรมะแบบนาย (Master Morality) คือ พวกที่เข้มแข็งมั่นใจตนเอง เป็นตัวของตัวเองทั้งในด้านของความคิดและการปฏิบัติ พวกนี้จะยึดถืออุด  มการณ์ และปฏิบัติการภายหลังได้คิดตรึกตรอง แล้วจะไม่ยอมเชื่อใครง่าย ๆ หากไร้เหตุผล
  2. พวกยึดถือธรรมะแบบทาส (Slave Morality) คือ พวกที่ไม่กล้าเป็นตัวของตัวเองเพราะไม่มั่นใจในการตัดสินใจของตัวเอง จึงมอบตัวเองให้กับหลักการที่คาดว่าจะช่วยคุ้มครองหรือให้ความปลอดภัยแก่ตนได้ พวกนี้จะอ้างหลักการอันเป็นที่ยอมรับของสังคมเพื่อความสบายใจ

นิตเช่ ได้พยายามชักจูงใจให้มนุษย์เดินทางไปสู่การยึดถือธรรมะแบบนาย บุคคลที่มีบทบาทหลายท่านในการเผยแพร่แนวคิดทางลัทธิปรัชญาอัตถิภาวนิยม คือ

โซเรน เคอกกิการ์ด
(Soren Kierkegaard 1813-1855) ซึ่งมีความเห็นในทำนองเดียวกัน และมีความคิดต่อต้านกับศาสนาคริสต์และปรัชญาของเฮเกล เคอกกิการ์ด ที่พยายามสร้างชีวิตใหม่ให้แก่คำสอนของคริสต์

ผู้นำปรัชญาอัตถิภาวนิยมในยุคของเรา คือ
1. มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger)
2. ยังปอล ชาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre)
3. คาร์ล จัสเปอร์ (Karl Jusper)
4. เมอริช เมอเล ปองเต (Maurice Merlear-Ponty)
5. กาเบรียล มาร์เชล (Gabriel Marchel)
6. ปอล ทิลลิช (Paul Tillich)
7. มาร์ติน บูเบอร์ (Martin Buber)

ในด้านการศึกษา ได้มีผู้ประยุกต์แนวคิดนี้ไปใช้กับ การศึกษาโดยนำไปทดลองปฏิบัติในโรงเรียนต่างๆ เช่นโรงเรียนสาธิต โรงเรียน Summer Hill ในอังกฤษของ A.S. Neill

ความหมายของปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม
อัตถิภาวนิยม มาจากภาษามคธ อัต = ความเป็นอยู่ + ภาวะ = สภาพความมีอยู่ (Existense) ซึ่งนักปรัชญาไทยแปลว่า ภาววาท หรืออัตตนิยม ซึ่งหมายถึง เรื่องที่กล่าว ความมีอยู่ของตนเอง ของมนุษย์ทั้งสิ้นอัตถิภาวนิยม มาจากภาษามคธ อัต = ความเป็นอยู่ + ภาวะ = สภาพความมีอยู่ (Existense) ซึ่งนักปรัชญาไทยแปลว่า ภาววาท หรืออัตตนิยม ซึ่งหมายถึง เรื่องที่กล่าว ความมีอยู่ของตนเอง ของมนุษย์ทั้งสิ้น และเมื่อเลือกกระทำหรือตัดสินใจแล้วก็ต้องรับผิดชอบในการเลือกกระทำหรือตัดสินใจนั้น ๆ ด้วย ดังนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่า ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยมนี้ “เป็นแนวทางที่นำไปสู่การหลุดพ้นจากกรอบแห่งวัฒนธรรมของสังคม”

แนวคิดพื้นฐาน
นักปรัชญาอัตถิภาวนิยมที่มีคนรู้จักกันมากและมีอิทธิพลมากที่สุด คือ ฌอง ปอล ชาร์ต (Jean Paul Sartre) ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเขาให้ความเห็นเกี่ยวกับลัทธินี้ไว้พอสรุปได้ดังนี้

  1. มนุษย์ คือ เสรีภาพ สภาพความเป็นมนุษย์และเสรีภาพเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ กฎเกณฑ์ หรือข้อห้ามต่างๆใน สังคมโดยตัวของมันเองไม่มีอำนาจอะไรที่มากีดกันเสรีภาพของมนุษย์ มนุษย์มีสิทธิที่จะเลือกรับหรือปฏิเสธก็ได้
  2. มนุษย์เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ชีวิตของแต่ละคนจึงไม่มีพระเจ้า หรือพระพรหมเป็นผู้กำหนด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ชีวิตจะมีความหมายเช่นไร อยู่ที่การตัดสินใจหรือการตั้งกฎเกณฑ์ของมนุษย์เอง
  3. ไม่มีสิ่งใดไม่ว่าจะเป็นภายในตัวหรือนอกตัวมนุษย์ ที่จะปั้นมนุษย์ได้ เช่น ความดี ชั่ว ถ้าหากขาดการยินยอมของมนุษย์สิ่งดังกล่าวนั้น ได้แก่ อารมณ์ สัญชาตญาณ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
  4. เชื่อว่าทุกคนมีอดีต อดีตเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มนุษย์ไม่เป็นทาสของอดีต ปัจจุบันเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด ดังนั้นมนุษย์จึงไม่ควรทำลายชีวิตปัจจุบัน เพื่ออดีต เพราะถือว่ามนุษย์เป็นผู้เลือกอดีต
  5. มนุษย์จะต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองและมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยบางครั้งความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงทำให้คนไม่ต้องการเสรีภาพ
  6. ความเชื่อพื้นฐานของลัทธิปรัชญาอัตถิภาวนิยมนี้ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของมนุษย์โดยถือว่ามนุษย์เป็นผู้มีสิทธิ์ที่จะเลือกตัดสินใจ พร้อมกันนั้นก็ต้องรับผิดชอบในเสรีภาพที่เลือก จึงจะถือว่าเป็นบุคคลที่มีค่าเนื่องจากสิ่งที่ผ่านมาแล้ว คือ อดีตไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นสิ่งที่เลือกในปัจจุบันย่อมไม่มีค่าในอนาคต

ความหมายของการศึกษา
การศึกษาคือการส่งเสริมให้ผู้เรียนแต่ละคนรู้จักพิจารณา ตัดสินใจตามสภาพและเจตจำนงที่มีความหมายต่อการดำรงชีวิตของตนเองอย่างแท้จริงโดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีอิสระในการเลือกสรรคุณธรรมค่านิยมได้อย่างเสรี พร้อมกันนั้นก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองด้วย หรืออาจกล่าวอย่างสรุปได้ว่าการศึกษาคือกระบวนการที่ส่งเสริมให้มนุษย์เป็นมนุษย์ นั่นคือมีอิสระที่จะเลือกแนวทางในการดำเนินชีวิตของตนเอง ด้วยตนเองและรับผิดชอบต่อการตัดสินใจเลือกนั้น

โรงเรียนหมู่บ้านเด็กตามแนวคิด ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม
การจัดการศึกษาในโรงเรียนหมู่บ้านเด็กมีความมุ่งหมายในการจัดการศึกษาเพื่อมุ่งให้ผู้เรียนมีเสรีภาพอย่างเต็มที่โดยไม่ก้าวก่ายเสรีภาพของผู้อื่นมุ่งให้ผู้เรียนเป็นตัวของตัวเองในการกำหนดความเป็นอยู่ของตนเองให้ได้มากที่สุด มุ่งให้ผู้เรียนเติบโตด้วยความสุข เรียนรู้ชีวิตและสังคมอย่างมีความสุข มุ่งให้เด็กรู้จักตนเองและเข้าใจตนเอง มุ่งให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่
การจัดการสิ่งแวดล้อมจึงมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างยิ่ง เพราะเด็กจะเรียนรู้และดูดซับประสบการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาจากสิ่งแวดล้อม มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น

ผู้สอน

  1. ครูจะต้องให้เสรีภาพแก่นักเรียนอย่างเต็มที่ ครูเป็นเสมือนพ่อแม่มากกว่าเป็นครูผู้มีอำนาจ เป็นผู้ให้ความรัก ความอบอุ่น เลี้ยงดู และปฏิบัติต่อเด็กเสมือนเป็นลูกของตนเอง คอยให้คำปรึกษาหารือ แก้ปัญหาส่วนตัวตามความต้องการของเด็กอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องทั้งในภาวะปกติและเจ็บป่วย
  2. ครูจะต้องเอาใจใส่จัดการเรียนการสอนให้เกิดความสนุกสนาน และคำนึงถึงความแตกต่างของเด็กแต่ละคน ทั้งด้านสติปัญญา และอารมณ์ ครูจะต้องช่วยสร้างความพร้อมด้านอารมณ์ ความรู้สึกของเด็กให้เกิดความพร้อมที่จะเรียนรู้ หรือเกิดความสนใจและต้องการเรียนรู้ด้วยตนเอง และครูต้องพัฒนาการสอนของตนเองให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ
  3. ครูต้องเป็นผู้เข้าใจเด็ก รู้จิตรู้ใจเด็ก และรู้ปัญหาของเด็กแต่ละคนอย่างแท้จริงเพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจปัญหาและรักษาตนเอง โดยครูจะต้องมีพรสวรรค์พอที่จะรู้ว่าควรอยู่ห่างหรือใกล้ชิดในระยะเวลาที่เหมาะสม และใจกว้างพอที่จะให้เด็กมีเสรีภาพเสมอภาคกับตนได้
  4. ครูของโรงเรียนหมู่บ้านเด็กจะต้องมีแนวคิด ความเชื่อในหลักการและความมุ่งหมายของโรงเรียนเป็นอย่างดี และต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเพียงพอ เพราะลักษณะการทำงานจะต้องร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา และยอมรับกันและกันอย่างแท้จริง ครูจะต้องทำงานให้เด็กมีความสุข ดังนั้นครูจึงต้องมีความสุขในการทำงาน
  5. ครูต้องไม่เผด็จการ หรือบังคับให้เด็กทำในสิ่งที่ไม่อยากทำจนกว่าเด็กจะอยากกระทำเองโดยไม่มีการบังคับ 

ผู้เรียน

  1. เด็กทุกคนใช้เสรีภาพได้อย่างเต็มที่โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนตัวของผู้อื่นและส่วนรวม ทุกคนมีเสรีภาพอย่างเต็มที่และทัดเทียมกัน มีการปกครองตนเองในรูปแบบของการประชุมสภาโรงเรียน เด็กได้เรียนรู้ชีวิตจากการดำรงชีวิต ไม่ใช่วิชาเกี่ยวกับชีวิตการปกครองตนเองแบบประชาธิปไตย
  2. เด็กทุกคนมีเสรีภาพที่จะเรียนหรือไม่เรียนก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมหรือความต้องการของเด็กเอง ไม่มีการบังคับ เด็กที่ยังไม่เข้าห้องเรียนจะเลือกเล่นหรือทำกิจกรรมที่เขาสนใจก็ได้ตามความสมัครใจ
  3. เด็กมีโอกาสที่จะเลือกเรียน หรือจะทำกิจกรรมอื่นตามความสนใจ หรือจะเลือกอยู่กับครูที่ตนเองมีความพอใจเป็นพิเศษได้ตามความต้องการ

หลักสูตร

  1. เน้นทั้งด้านวิชาการควบคู่กับวิชาชีพ เพื่อมุ่งให้ผู้เรียนพัฒนาตนเอง คือ เมื่อจบการศึกษาแล้วต้องประกอบอาชีพได้ โดยเฉพาะเกษตรกรรมหรือเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้เช่นกัน
  2. ภาคเช้าเรียนวิชากลุ่มทักษะ และ สปช. ภาคบ่ายเรียนวิชาชีพ หรือกิจกรรมอื่นๆโดยให้โอกาสผู้เรียนเลือกเรียนตามความสนใจ ส่วนวิชาชีพเลือกเรียนได้ไม่เกิน 3 วิชาในแต่ละภาคเรียน
  3. เนื้อหาวิชาภาษาไทยฝึกให้นักเรียนฟัง พูด อ่าน เขียน ไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะการเขียนและจับประเด็นอภิปรายในเรื่องต่างๆ
  4. จัดให้มีกลุ่มประสบการณ์ต่างๆ ไว้ให้นักเรียนเลือกตามความสนใจ เช่น กลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพ ได้แก่ วิชางานประดิษฐ์ งานเกษตร งานบ้าน งานช่าง เป็นต้น และกลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัย ได้แก่ ศิลปศึกษา พลศึกษา ดนตรี การแสดงละคร เป็นต้น

การประเมินผล
จากความเชื่อที่ว่าเด็กมีความแตกต่างกันในด้านการเรียนรู้ ฉะนั้น การวัดผลประเมินผลก็เพื่อ

  1. สำรวจพัฒนาการของเด็กแต่ละคนว่าสามารถเรียนรู้ในเรื่องใดผ่านบ้างและควรเน้นหรือทบทวนเรื่องใดเป็นพิเศษบ้าง
  2. เพื่อหาข้อบกพร่องของครูผู้สอน เพื่อจะได้ปรับปรุงการจัดการสอนให้เหมาะสมและเอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กให้มากที่สุด มิใช่วัดผลประเมินผลเพื่อหาข้อบกพร่องของเด็กฝ่ายเดียว
  3. เพื่อเปลี่ยนกลุ่มหรือเลื่อนกลุ่มการเรียนของเด็ก ซึ่งมีอยู่ตลอดปีเป็นการเลื่อนกลุ่มสำหรับเด็กที่มีความสามารถที่จะเรียนในกลุ่มที่ระดับสูงขึ้น
  4. การวัดผลนั้น ครูจะต้องทำให้เด็กเกิดการยอมรับในความสามารถของตนเองและของผู้อื่น เพราะโดยธรรมชาติแล้วเด็กจะมีความถนัด หรือความสามารถที่แตกต่างกัน การที่จะให้ทุกคนได้ดีในสิ่งเดียวกันจึงเป็นเรื่องที่ขัดกับความเป็นจริง และเป็นการสร้างปมให้เกิดขึ้นกับเด็ก ดังนั้น การเรียนจะต้องไม่เป็นลักษณะการแข่งขันว่าใครเก่งใครอ่อน แต่ควรให้เด็กแข่งขันกับตัวเอง
  5. ครูต้องหาความเด่นหรือความสามารถของเด็กแต่ละคน และทำให้คนอื่นเห็นและเปิดโอกาสให้เด็กเหล่านั้นแนะนำช่วยเหลือกันเองในเรื่องที่แต่ละคนทำไม่ได้
  6. ความสำเร็จของเด็กในโรงเรียนหมู่บ้านเด็กที่มีผู้กล่าวถึง คือ ความกล้าทำ กล้าสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก และรับผิดชอบต่อตนเองได้ดี ช่วยเหลือตนเองในสิ่งที่ทำได้และกล้ายอมรับความผิดที่ตนได้กระทำโดยไม่ปิดบัง
หมายเลขบันทึก: 677147เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2020 17:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2020 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เนื้อหารวมรวมมาได้ดีครับ อ่านง่าย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท