ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม(Perennialism)



ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม (Perennialism)

ผู้นำต้นคิดของปรัชญานี้คือ อริสโตเติล (Aristotle) คำว่า “นิรันตร” หรือ Perennial หมายถึง สิ่งที่คงที่ ถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นนิรันดรปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม เชื่อว่าการศึกษาควรจะได้สอนสิ่งซึ่งเป็นนิรันดรไม่เปลี่ยนแปลง มีคุณค่าไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด ได้แก่ คุณค่าของเหตุผลและคุณค่าของศาสนา อันเป็นหลักสำคัญของปรัชญานิรันตรนิยม

ความเชื่อ
เน้นความสำคัญของความคงที่ ความไม่เปลี่ยนแปลงธรรมชาติของมนุษย์ คือ เป็นผู้ที่มีความสามารถที่จะใช้
ความคิด สามารถให้เหตุผลตัดสินแยกแยะ ทุกคนต้องมีความคิดและเหตุผล และใช้สิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา ยึดถือหลัก
ความจริงและความดีสูงสุดไม่เปลี่ยนแปลง

ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม แบ่งแนวการศึกษาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

  1. ลักษณะของปรัชญาทั่วไปที่เน้นหนักในเรื่องของเหตุผล สติปัญญา ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาโดยตรง
  2. ลักษณะของปรัชญาทั่วไปที่เกี่ยวพันกับศาสนาโดยตรง เป็นแนวคิดของกลุ่มศาสนานิกาย คาธอลิค ที่สัมพันธ์เรื่องศาสนาเข้ากับเหตุผล

ความเป็นมา
ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาพื้นฐานกลุ่มวัตถุนิยมเชิงเหตุผล (Rational Realism) หรือบางที่เรียกกันว่าเป็นพวกโทมัสนิยมใหม่ (Neo – Thomism)

ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม มีจุดมุ่งหมายให้การศึกษาเป็นพาหะนำมนุษย์ไปสู่อดีตที่มีระเบียบ มีความมั่นคง มีจริยธรรม และความยุติธรรม ซึ้งเป็นปรัชญาที่มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ แต่เพิ่งได้รับการรื้อฟื้นจัดระบบใหม่เมื่อประมาณ 40 -50 ปี นิรันตรนิยมมีจุดมุ่งหมายให้การศึกษาเป็นพาหะนำมนุษย์ไปสู่อดีตนั้น เพราะเชื่อมั่นว่าแก่นของความคิดและวัฒนธรรมของสมัยโบราณและสมัยกลางของยุโรป เป็นสิ่งที่ดีงามไม่เสื่อมคลายและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในปัจจุบันและทุกประเทศ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

รากฐานมาจากสมัยกรีกโบราณ 

แนวคิดมาจากนักปรัชญา 2 คนคือ  Plato และ Aristitle
เพลโต กล่าวว่าโลกที่เราอยู่นี้ไม่ใช่โลกที่แท้จริง ดังนั้นความรู้ที่ได้จากโลกนี้จึงเป็นความรู้ที่เป็นจริงสูงสุดไม่ได้ ความรู้อยู่ที่จิตมนุษย์ในการเข้าใจความจริงสูงสุดได้ ความจริงสูงสุด คือ มโนมติ (Ideas) อริสโตเติล เห็นว่าทุกสิ่งอย่างในโลกมี 2 ส่วน คือ รูปและสาระและมีความเป็นนิรันดร์ ทั้งเพลโตและอริสโตเติล เห็นตรงกันว่าจิตหรือปัญญาของมนุษย์เข้าถึงความจริงแท้สูงสุดได้ และความรู้ได้มาจากเหตุผลมากกว่าจากประสาทสัมผัส

รากฐานจากยุโรปสมัยกลาง

ศตวรรษที่ 13 ผู้นำศาสนาสอนให้คนเชื่อตามคัมภีร์ ไบเบิลและให้ปฏิเสธความรู้จากประสบการณ์ นักปรัชญาอีกกลุ่ม เชื่อว่าความรู้มาจากประสบการณ์และการสังเกตและการทดลอง ไม่ใช่มาจากจิตของพระผู้เป็นเจ้า

แนวคิดจากปรัชญาถดถอยนิยม มี 2 กลุ่มแนวคิด คือ

  • กลุ่มนักเหตุผลนิยม (Rationalists) ซึ่งยึดมั่นในปรัชญา เพลโตและอริสโตเติล คือมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีปัญญา ผู้นำกลุ่มนี้ คือ Robert M. Hutchins Mortimer Adler และ Sir Richard Livingstone
  • กลุ่มนักโทมัสนิยม ที่นิยมปรัชญาของ เซนต์โทมัส อาควินัส และนำมาปรับปรุงให้เข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบัน ผู้นำส่วนใหญ่เป็นชาวคาธอลิก เช่น จ้าคส์ มาริตัง (Jagues Maritain) เอเตียน กิลซอง (Etienne Gilson) และคุณพ่อวิลเลี่ยม เอฟ คันนิงแฮม (William F. Cunningham

หลักการสำคัญตามแนวคิดของปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม

  1. แม้ว่าสภาพแวดล้อมจะแตกต่างต่างกันออกไป แต่ธรรมชาติของมนุษย์ย่อมจะเหมือนกันในทุกแห่งหน ดังนั้น การจัดการศึกษาให้แก่มนุษย์ควรจะเป็นแบบเดียวกันหมดทุกคน
  2. ความมีเหตุผลเป็นคุณลักษณะอันสูงสุดของมนุษย์ ดังนั้นมนุษย์จึงต้องใช้ความมีเหตุผลเป็นเครื่องควบคุมสัญชาตญาณตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นอำนาจฝ่ายต่ำของตน เพื่อจะได้บรรลุจุดหมายของชีวิตที่ได้เลือกสรรแล้ว
  3. หน้าที่ของการศึกษา คือ การแสวงหาความรู้ในเรื่องของความเป็นจริงอันเป็นนิรันดร
  4. การศึกษามิใช่เป็นการเลียนแบบอย่างชีวิต แต่เป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิต
  5. นักเรียนควรจะได้เรียนวิชาพื้นฐานบางวิชา เพื่อให้เข้าใจและคุ้นเคยกับสิ่งที่คงทน ถาวรของโลก
  6. นักเรียนควรจะได้ศึกษางานนิพนธ์ที่สำคัญ ๆ ทางวรรณคดี ปรัชญา ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผลงานที่บรรดาปรัชญาและผู้ทรงความรู้ทั้งหลายในยุคที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดความรู้ ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่เอาไว้

จุดมุ่งหมายทางการศึกษา

  • จุดมุ่งหมายของการศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ คือ เพื่อปลดปล่อยมนุษย์จากความไม่รู้
  • ช่วยพัฒนาพลังทางเหตุผล(ปัญญา) ศีลธรรม และจิตใจ คือ ต้องให้ความรู้กว้างพอในการนำไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นความรู้ที่เป็นความเข้าใจแนวคิดรวบยอดและทฤษฎี

การคิดเชิงทฤษฎี และการคิดเชิงการผลิต การคิดเชิงทฤษฎี เป็นการฝึกใช้เหตุผลขั้นสูง เพื่อให้ได้ความรู้ที่แท้จริง การคิดเชิงการผลิต เป็นการคิดที่ช่วยนำการกระทำ (การรู้เพื่อทำ)

หลักสูตร

  • มุ่งให้ความรู้ที่เป็นนิรันดร์แก่ผู้เรียน และช่วยให้นำความรู้อื่นมาเชื่อมโยงประสานเป็นภาพรวม และนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกสถานการณ์
  • เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนได้รู้จักกับผลงานอันล้ำค่าของนักปรัชญา เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดี ซึ่งผู้เรียนต้องใช้ปัญญาระดับสูงในการคิดและวิเคราะห์
  • วิชาชีพต่าง ๆ ไม่นำมารวมไว้ในหลักสูตร เพราะเป็นวิชาที่สอนเทคนิค การกระทำ เป็นการเน้นทักษะมากกว่าทฤษฎี

กระบวนการเรียนการสอน

  • ผู้สอนต้องมีความเป็นเลิศ ต้องมีความรอบรู้ ใฝ่รู้
  • ผู้สอนต้องเน้นความเป็นเลิศในการสอน ต้องบังคับให้เรียนอย่างหนัก
  • ผู้สอนต้องให้ผู้เรียนได้เรียนไปตามความสามารถทางสติปัญญาและเอกัตภาพมนุษย์ มีองค์ประกอบเป็นสาระเหมือนกัน แต่ปริมาณไม่เท่ากัน

ผู้สอน

  • เป็นผู้มีความรู้ และจัดกิจกรรมให้กับนักเรียน
  • เป็นผู้สร้างบรรยากาศในการเรียน
  • เป็นผู้เสนอความรู้ ข้อคิด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ และพัฒนาความคิดและสติปัญญาของผู้เรียน
  • เป็นผู้มีความคิดกว้างไกล มีความสามารถในการอภิปราย ให้เหตุผล แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
  • เป็นผู้มีบทบาทและอำนาจสำคัญ

ผู้เรียน

  • เป็นผู้มีสติปัญญา มีศักยภาพอยู่ในตัวเอง
  • การเรียนรู้หรือสติปัญญาจะเกิดได้จากการฝึกฝน
  • ผู้เรียนมีบทบาทในการเรียนอย่างมากเท่า ๆ กัน หรือมากกว่าครู และเป็นลักษณะอภิปรายแลกเปลี่ยนกับครูภายใต้การแนะนำของครู
  • ผู้เรียนมีความสนใจใคร่เรียนรู้

ผู้บริหาร

  • จะยึดหลักของเหตุผล ตามกฎเกณฑ์หรือระเบียบ
  • ให้การบริการภายใต้บรรยากาศของความเป็นอิสระในสถาบันการศึกษา
  • มีเสรีภาพทางวิชาการ เอื้อต่อการอภิปราย
  • เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้เหตุผลหรือรับฟังเรื่องต่าง ๆ อย่างมีเหตุผลเพียงพอ
  • ใช้เหตุผลในการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง และให้โอกาสที่จะเสนอความเห็น ตัดสินใจในการดำเนินงานของสถาบัน
  • มีการบริหารในรูปแบบของคณะกรรมการ แต่การทำงานของคณะกรรมการเป็นการทำงานเพื่อให้ได้เหตุผลที่ดีและเหมาะสมยิ่ง จะไม่ใช่ลักษณะเสียงข้างมาก แต่จะใช้เหตุผล

หมายเลขบันทึก: 677124เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2020 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2020 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท