พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๐ (พระสูตร เล่มที่ ๒) เรื่องที่ ๑ มหาปทานสูตร ประวัติของพระพุทธเจ้าที่ทรงเล่าเอง


๑. มหาปทานสูตร  ว่าด้วยพระประวัติของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์

เรื่องเกี่ยวกับปุพเพนิวาส

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กเรริกุฎี ณ พระเชตวันมหาวิหาร อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันอาหารเสร็จแล้วนั่งประชุมกันที่หอนั่งใกล้กเรริมณฑป สนทนาธรรมอันเกี่ยวกับการมีอยู่ในบุพเพนิวาสหรือการมีอยู่ในชาติก่อน”

พระผู้มีพระภาคทรงสดับคำสนทนาของภิกษุเหล่านั้นด้วยทิพพโสตธาตุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปที่หอนั่งใกล้กเรริมณฑป ทรงประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถาม จึงทรงเล่าเรื่องราวของพระพุทธเจ้าในอดีต ความว่า

นับจากกัปนี้ถอยหลังไป ๙๑ กัป พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก นับจากกัปนี้ถอยหลังไป ๓๑ กัป ที่เรียกว่า ภัทรกัปหรือกัปที่รุ่งเรืองนี้ มีพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ๕ พระองค์ มีพระนามว่าสิขี เวสสภู  กกุสันธะ โกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ พระองค์ผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้อุบัติขึ้นมาในโลกในภัทรกัปนี้เช่นกัน

พระวิปัสสีพุทธเจ้า พระสิขีพุทธเจ้า พระเวสสภูพุทธเจ้า ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลพราหมณ์ พระองค์ผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้อุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์

พระวิปัสสีพุทธเจ้า มีพระโคตรว่าโกณฑัญญะ พระสิขีพุทธเจ้า มีพระโคตรว่าโกณฑัญญะ พระเวสสภูพุทธเจ้า มีพระโคตรว่าโกณฑัญญะ พระกกุสันธพุทธเจ้า มีพระโคตรว่ากัสสปะ พระโกนาคมนพุทธเจ้า มีพระโคตรว่ากัสสปะ พระกัสสปพุทธเจ้า มีพระโคตรว่ากัสสปะ พระองค์ผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีโคตรว่าโคตมะ

พระวิปัสสีพุทธเจ้า มีพระชนมายุประมาณ ๘๐,๐๐๐ ปี พระสิขีพุทธเจ้ามีพระชนมายุประมาณ ๗๐,๐๐๐ ปี พระเวสสภูพุทธเจ้า มีพระชนมายุประมาณ๖๐,๐๐๐ ปี พระกกุสันธพุทธเจ้า มีพระชนมายุประมาณ ๔๐,๐๐๐ ปี พระโกนาคมนพุทธเจ้า มีพระชนมายุประมาณ ๓๐,๐๐๐ ปี พระกัสสปพุทธเจ้า มีพระชนมายุประมาณ ๒๐,๐๐๐ ปี บัดนี้ เรามีอายุเพียงเล็กน้อย ผู้ที่มีอายุยืนก็เพียง ๑๐๐ ปีหรือเกินไปอีกเล็กน้อย

พระวิปัสสีพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควงต้นแคฝอย พระสิขีพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควงต้นมะม่วง พระเวสสภูพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควงต้นสาละ พระกกุสันธพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควงต้นซึก พระโกนาคมนพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควงต้นมะเดื่อ พระกัสสปพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควงต้นไทรบัดนี้ พระองค์ผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควงต้นอัสสัตถะ

พระวิปัสสีพุทธเจ้า ทรงมีคู่พระอัครสาวก ชื่อว่าพระขัณฑะและพระติสสะ พระสิขีพุทธเจ้า ทรงมีคู่พระอัครสาวก ชื่อว่า พระอภิภูและพระสัมภวะ พระเวสสภูพุทธเจ้า ทรงมีคู่พระอัครสาวก ชื่อว่าพระโสณะและพระอุตตระ พระกกุสันธพุทธเจ้า ทรงมีคู่พระอัครสาวก ชื่อว่า พระวิธูระและพระสัญชีวะ พระโกนาคมนพุทธเจ้า ทรงมีคู่พระอัครสาวก ชื่อว่าพระภิยโยสะและพระอุตตระ พระกัสสปพุทธเจ้า ทรงมีคู่พระอัครสาวก ชื่อว่าพระติสสะและพระภารทวาชะ ส่วนพระองค์มีคู่พระอัครสาวก ได้แก่ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ

พระวิปัสสีพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ มีภิกษุ ๑๖๘,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๒ มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๓ มีภิกษุ ๘๐,๐๐๐ รูปพระสาวกที่เข้าประชุมทั้ง ๓ ครั้งล้วนแต่เป็นพระอรหันต์

พระสิขีพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูปครั้งที่ ๒ มีภิกษุ ๘๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๓ มีภิกษุ ๗๐,๐๐๐ รูป พระสาวกที่เข้าประชุมทั้ง ๓ ครั้งล้วนแต่เป็นพระอรหันต์

พระเวสสภูพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ มีภิกษุ ๘๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๒ มีภิกษุ ๗๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๓ มีภิกษุ ๖๐,๐๐๐ รูป พระสาวกที่เข้าประชุมทั้ง ๓ ครั้งล้วนแต่เป็นพระอรหันต์

พระกกุสันธพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๔๐,๐๐๐ รูปพระสาวกที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระอรหันต์

พระโกนาคมนพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๓๐,๐๐๐ รูปพระสาวกที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระอรหันต์

พระกัสสปพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๒๐,๐๐๐ รูปพระสาวกที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระอรหันต์

ส่วนพระองค์มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป พระสาวกที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระอรหันต์

พระวิปัสสีพุทธเจ้ามีภิกษุอโสกะเป็นอุปัฏฐากคือดูแลใกล้ชิด พระสิขีพุทธเจ้ามีภิกษุเขมังกรเป็นอุปัฏฐาก พระเวสสภูพุทธเจ้ามีภิกษุอุปสันตะเป็นอุปัฏฐาก พระกกุสันธพุทธเจ้ามีภิกษุวุฑฒิชะเป็นอุปัฏฐาก พระโกนาคมนพุทธเจ้ามีภิกษุโสตถิชะเป็นอุปัฏฐาก พระกัสสปพุทธเจ้ามีภิกษุสัพพมิตตะเป็นอุปัฏฐาก พระองค์มีภิกษุอานนท์เป็นอุปัฏฐาก

พระวิปัสสีพุทธเจ้ามีพระเจ้าพันธุมาเป็นพระบิดา พระนางพันธุมดีเทวีเป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงพันธุมดีเป็นราชธานีของพระเจ้าพันธุมา

พระสิขีพุทธเจ้ามีพระเจ้าอรุณะเป็นพระบิดา พระนางปภาวดีเทวีเป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงอรุณวดีเป็นราชธานีของพระเจ้าอรุณะ

พระเวสสภูพุทธเจ้ามีพระเจ้าสุปปติตะเป็นพระบิดา พระนางยสวดีเทวีเป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงอโนมะเป็นราชธานีของพระเจ้าสุปปติตะ

พระกกุสันธพุทธเจ้ามีพราหมณ์อัคคิทัตเป็นพระบิดา นางพราหมณีวิสาขาเป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด สมัยนั้น ได้มีพระราชาทรงพระนามว่าเขมะ กรุงเขมวดีเป็นราชธานีของพระเจ้าเขมะ

พระโกนาคมนพุทธเจ้ามีพราหมณ์ยัญญทัตเป็นพระบิดา นางพราหมณีอุตตราเป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด สมัยนั้น ได้มีพระราชาทรงพระนามว่าโสภะ กรุงโสภวดีเป็นราชธานีของพระเจ้าโสภะ

พระกัสสปพุทธเจ้ามีพราหมณ์พรหมทัตเป็นพระบิดา นางพราหมณีธนวดีเป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด สมัยนั้น ได้มีพระราชาทรงพระนามว่ากิงกี กรุงพาราณสีเป็นราชธานีของพระเจ้ากิงกี

พระองค์มีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระบิดา พระนางมายาเทวีเป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงกบิลพัสดุ์เป็นราชธานี” พระผู้มีพระภาคผู้สุคตได้ตรัสเรื่องนี้แล้วจึงเสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นได้สนทนาเรื่องที่ค้างไว้ต่อไป น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ที่พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีอานุภาพมาก ทรงระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาลผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดกิเลสได้แล้ว ผู้ตัดอกุศลธรรมได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ทั้งโดยพระชาติ พระนาม พระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการประชุมพระสาวก เป็นเพราะเหตุไร พระตถาคตทรงมีปัญญาแทงตลอดธรรมธาตุนี้ จึงเป็นเหตุให้ทรงระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว หรือเพราะเหล่าเทวดาได้กราบทูลความข้อนี้แด่พระตถาคต

ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากการสมาบัติ เข้าไปยังหอนั่งใกล้กเรริมณฑป ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลาย แล้วทรงตรัสว่าเป็นเพราะตถาคตมีปัญญาแทงตลอดธรรมธาตุนี้ จึงเป็นเหตุให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล แม้เหล่าเทวดาก็ได้บอกความข้อนี้แก่ตถาคต จึงเป็นเหตุให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาลได้  แล้วทรงตรัสต่อไปอีก ความว่า

พระประวัติของพระวิปัสสีพุทธเจ้า

การเกิดของพระโพธิสัตว์ ก่อนที่จะบรรลุเป็นพระวิปัสสีพุทธเจ้า มีปรากฎการณ์ ดังนี้    

๑. พระวิปัสสีโพธิสัตว์ ทรงมีสติสัมปชัญญะตลอดตั้งแต่จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต จนถึงเสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา

๒. เวลาที่พระโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตเสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา แสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ปรากฏขึ้นในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ล่วงเทวานุภาพของเหล่าเทพ แม้ในช่องว่างระหว่างโลกซึ่งไม่มีอะไรคั่น มีสภาพมืดมิดหรือที่ที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากส่องแสงไปไม่ถึง ก็มีแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ ปรากฏขึ้นล่วงเทวานุภาพของเหล่าเทพ เพราะแสงสว่างนั้น เหล่าสัตว์ที่เกิดในที่นั้นๆ จึงรู้จักกันและกันว่า ‘ยังมีสัตว์อื่นเกิดในที่นี้เหมือนกัน’และ ๑๐ สหัสสีโลกธาตุนี้สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ก็ปรากฏขึ้นในโลก ล่วงเทวานุภาพของเหล่าเทพ

๓. เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา เทพบุตร ๔ องค์ เข้าไปอารักขาประจำทั้ง ๔ ทิศด้วยตั้งใจว่า ‘มนุษย์หรืออมนุษย์ใดๆ อย่าได้เบียดเบียนพระโพธิสัตว์หรือพระมารดาของพระโพธิสัตว์เลย’

๔. พระมารดามีปกติทรงศีล คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท

๕. พระมารดาของพระองค์ไม่ทรงมีความรู้สึกทางกามารมณ์ เป็นผู้ที่บุรุษผู้มีจิตกำหนัดใดๆ ไม่สามารถล่วงเกินได้

๖. พระมารดาของพระองค์ทรงได้กามคุณ ๕ เอิบอิ่มพรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕

๗. พระมารดาของพระองค์ไม่ทรงมีความเจ็บป่วยใดๆทรงมีความสุข ไม่ลำบากพระวรกาย มองเห็นพระโพธิสัตว์อยู่ภายในพระครรภ์ มีพระอวัยวะสมบูรณ์ มีพระอินทรีย์ไม่บกพร่อง เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไนดีแล้ว สุกใสเป็นประกายได้สัดส่วน มีด้ายสีเขียว เหลือง แดง ขาว หรือสีนวล ร้อยอยู่ข้างใน คนตาถึงหยิบแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณารู้ว่า‘นี้ คือ แก้วไพฑูรย์อันงดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไนดีแล้ว สุกใสเป็นประกายได้สัดส่วน มีด้ายสีเขียว เหลือง แดงขาว หรือสีนวล ร้อยอยู่ข้างใน’

๘. เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๗ วัน พระมารดาของพระองค์สวรรคตไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

๙. พระมารดาของพระโพธิสัตว์ไม่ประสูติพระโอรสเหมือนสตรีทั่วไปที่จะคลอดลูกหลังจากตั้งครรภ์ได้ ๙ เดือนหรือ๑๐ เดือน ส่วนพระมารดาของพระโพธิสัตว์ประสูติพระโอรสเมื่อทรงพระครรภ์ครบ ๑๐ เดือนเท่านั้น

๑๐. พระมารดาของพระโพธิสัตว์ ไม่ประสูติพระโอรสเหมือนสตรีทั่วไปซึ่งจะนั่งคลอดหรือนอนคลอดก็ได้ ส่วนพระมารดาของพระโพธิสัตว์ประทับยืนประสูติเท่านั้น

๑๑. เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา ในตอนแรกเหล่าเทพจะทำพิธีต้อนรับ หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของมนุษย์

๑๒. เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา ยังไม่ทันสัมผัสแผ่นดิน เทพบุตร ๔ องค์ช่วยกันประคองพระโพธิสัตว์ไปไว้เบื้องพระพักตร์ของพระมารดาแล้วกราบทูลว่า ‘โปรดพอพระทัยเถิด พระเทวี พระราชโอรสของพระองค์ที่เสด็จอุบัติขึ้นเป็นผู้มีศักดิ์ใหญ่’

๑๓. พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา จะเสด็จออกโดยง่าย ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำ เมือก เลือดหรือสิ่งไม่สะอาดใดๆ เป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์ ภิกษุทั้งหลาย เหมือนแก้วมณีที่บุคคลวางไว้ในผ้ากาสิกพัสตร์ ย่อมไม่ทำให้ผ้ากาสิกพัสตร์แปดเปื้อน ถึงผ้ากาสิกพัสตร์ก็ไม่ทำให้แก้วมณีแปดเปื้อน เพราะเหตุที่สิ่งทั้งสองเป็นของสะอาดบริสุทธิ์ 

๑๔. เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา มีธารน้ำปรากฏในอากาศ ๒ สาย คือ ธารน้ำเย็นและธารน้ำอุ่น เพื่อชำระล้างพระโพธิสัตว์และพระมารดา

๑๕. เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ครู่หนึ่ง ทรงยืนได้อย่างมั่นคงด้วยพระบาททั้งสองที่เสมอกัน ทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ทรงดำเนินไป ๗ ก้าว ขณะที่หมู่เทวดากั้นเศวตฉัตรตามเสด็จ ทอดพระเนตรไปยังทิศต่างๆ แล้ว ทรงเปล่งพระอาสภิวาจาคือกล่าววาจาอย่างองอาจว่า ‘เราคือผู้เลิศของโลก เราคือผู้เจริญที่สุดของโลก เราคือผู้ประเสริฐที่สุดของโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายบัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก’

๑๖. เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา แสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ปรากฏขึ้นในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ล่วงเทวานุภาพของเหล่าเทพ แม้ในช่องว่างระหว่างโลกซึ่งไม่มีอะไรคั่น มีสภาพมืดมิด หรือที่ที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ส่องแสงไปไม่ถึงก็มีแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ปรากฏขึ้น ล่วงเทวานุภาพของเหล่าเทพ เพราะแสงสว่างนั้น เหล่าสัตว์ที่เกิดในที่นั้นๆ จึงรู้จักกันและกันว่า ‘ยังมีสัตว์อื่นเกิดในที่นี้เหมือนกัน’ และ ๑๐ สหัสสี-โลกธาตุนี้สั่นสะเทือน เลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ ก็ปรากฏขึ้นในโลก ล่วงเทวานุภาพของเหล่าเทพ

ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

เมื่อพระวิปัสสีราชกุมารประสูติแล้ว พวกอำมาตย์ได้กราบทูลพระเจ้าพันธุมาว่า ‘ขอเดชะ พระราชโอรสของพระองค์ประสูติแล้วโปรดทอดพระเนตรเถิด’ พระเจ้าพันธุมาได้ทอดพระเนตรวิปัสสีราชกุมาร แล้วรับสั่งให้เชิญพราหมณ์โหราจารย์มาตรัสว่า ‘พราหมณ์โหราจารย์ จงทำนายวิปัสสีราชกุมาร’

พวกพราหมณ์โหราจารย์เห็นพระวิปัสสีราชกุมารแล้วได้กราบทูลพระเจ้าพันธุมาว่าพระราชโอรสของพระองค์ที่เสด็จอุบัติขึ้นเป็นผู้มีศักดิ์ใหญ่ นับว่าเป็นลาภอันประเสริฐของพระองค์ผู้ได้พระราชโอรสเช่นนี้อยู่ในราชตระกูลเพราะพระราชกุมารนี้สมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ที่เป็นเหตุให้มหาบุรุษมีคติ ๒ อย่าง ไม่เป็นอย่างอื่น คือ

๑. ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขตทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว๗ ประการ คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว(๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ สมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรมไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต

๒. ถ้าเสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลก

พระราชกุมารสมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ คือ

๑. มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน

๒. พื้นฝ่าพระบาททั้งสองของพระราชกุมารนี้ มีจักรซึ่งมีกำข้างละ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง

๓. มีส้นพระบาทยื่นยาวออกไป

๔. มีพระองคุลียาว

๕. มีพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม

๖. ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกันเป็นรูปตาข่าย

๗. มีข้อพระบาทสูง

๘. มีพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย

๙. เมื่อประทับยืน ไม่ต้องน้อมพระองค์ลงก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุด้วยฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้

๑๐. มีพระคุยหฐานเร้นอยู่ในฝักเร้นอยู่ในฝัก

๑๑. มีพระฉวีสีทอง มีพระฉวีเปล่งปลั่งดุจทองคำ

๑๒. มีพระฉวีละเอียดจนละอองธุลีไม่อาจติดพระวรกายได้

๑๓. มีพระโลมชาติเดี่ยว คือ ในแต่ละขุมมีเพียงเส้นเดียว

๑๔. มีพระโลมชาติปลายงอนขึ้น คือ พระโลมชาติขอดเป็นวงเวียนขวาดังกุณฑลสีครามเข้มดังดอกอัญชัน

๑๕. มีพระวรกายตั้งตรงดุจกายพรหม

๑๖. มีพระมังสะในที่ ๗ แห่งเต็มบริบูรณ์ ที่ ๗ แห่ง มี หลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้าง หลังพระบาททั้ง ๒ ข้าง พระอังสะทั้ง ๒ ข้าง และลำพระศอ

๑๗. มีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์

๑๘. มีร่องพระปฤษฎางค์เต็มเสมอกัน

๑๙. มีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลของต้นไทร พระวรกายสูงเท่ากับ ๑ วาของพระองค์ ๑ วาของพระองค์เท่ากับส่วนสูงพระวรกาย ปริมณฑลของต้นไทร

๒๐. มีลำพระศอกลมเท่ากันตลอด

๒๑. มีเส้นประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดี

๒๒. มีพระหนุดุจคางราชสีห์

๒๓. มีพระทนต์ ๔๐ ซี่

๒๔. มีพระทนต์เรียบเสมอกัน

๒๕. มีพระทนต์ไม่ห่างกัน

๒๖. มีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม

๒๗. มีพระชิวหาใหญ่ยาว

๒๘. มีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสดุจเสียงร้องของนกการเวก

๒๙. มีพระเนตรดำสนิท

๓๐. มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด

๓๑. มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือนปุยนุ่น

๓๒. มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์

เหตุที่ทรงได้พระสมญาว่าวิปัสสี

ต่อมา พระเจ้าพันธุมาโปรดให้พวกพราหมณ์โหราจารย์นุ่งห่มผ้าใหม่ ทรงเลี้ยงดูให้อิ่มหนำด้วยสิ่งที่ต้องการทุกอย่าง แล้วรับสั่งให้ตั้งพี่เลี้ยงนางนมแก่พระวิปัสสีราชกุมาร คือ หญิงพวกหนึ่งให้พระราชกุมารเสวยน้ำนม พวกหนึ่งให้ทรงสนาน พวกหนึ่งคอยอภิบาล พวกหนึ่งคอยอุ้ม

ตั้งแต่ประสูติพระวิปัสสีราชกุมาร พวกราชบุรุษก็คอยกั้นเศวตฉัตรถวายทั้งกลางวันและกลางคืนด้วยตั้งใจว่า ‘ความหนาว ความร้อน หญ้า ละออง หรือน้ำค้างอย่าได้เบียดเบียนพระราชกุมาร’ ทรงกลายเป็นที่รัก เป็นที่เจริญใจของชนเป็นอันมาก เปรียบเหมือนดอกอุบล ดอกปทุม หรือดอกบุณฑริก เป็นที่รักเป็นที่เจริญใจของชนเป็นอันมาก ฉันใด พระวิปัสสีราชกุมารทรงเป็นที่รัก เป็นที่เจริญใจของชนเป็นอันมาก ฉันนั้นเหมือนกัน นัยว่า พระวิปัสสีราชกุมารนั้นได้รับการผลัดเปลี่ยนกันอุ้มใส่สะเอวอยู่เสมอๆ ทรงเป็นผู้มีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหมไพเราะอ่อนหวานกลมกล่อมจับใจ หมู่นกการเวกที่ภูเขาหิมพานต์ เป็นสัตว์มีสำเนียงไพเราะอ่อนหวานกลมกล่อมจับใจ ฉันใด ฉันนั้น

เทวดาทรงมีทิพยจักษุอันเกิดจากวิบากกรรมที่เป็นเหตุให้มองเห็นไกลได้ตลอด ๑ โยชน์โดยรอบ ทั้งกลางวันและกลางคืน ทรงเพ่งดูไม่กะพริบพระเนตรพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์แลดูไม่กะพริบตา ฉันใด พระวิปัสสีราชกุมาร ทรงเพ่งดูไม่กะพริบพระเนตร ฉันนั้นเหมือนกัน จึงเกิดมีพระสมญาว่า ‘วิปัสสี วิปัสสี‘’

ต่อมา พระเจ้าพันธุมาประทับในศาลตัดสินคดี ทรงให้พระวิปัสสีราชกุมารประทับบนพระเพลา ขณะทรงพิจารณาคดี นัยว่า พระวิปัสสีราชกุมารประทับนั่งบนพระเพลาของพระชนกในศาลตัดสินคดีนั้น ทรงวินิจฉัยให้คดีดำเนินไปด้วยพระญาณ เพราะคำเล่าลือว่า ‘พระราชกุมารวินิจฉัยให้คดีดำเนินไปด้วยพระญาณ’ มีปริมาณมากขึ้น จึงเกิดมีพระสมญาว่า ‘วิปัสสี วิปัสสี’

ต่อมา พระเจ้าพันธุมาโปรดให้สร้างปราสาท ๓ หลัง สำหรับพระวิปัสสีราชกุมาร หลังหนึ่งสำหรับประทับในฤดูฝน หลังหนึ่งสำหรับประทับในฤดูหนาว หลังหนึ่งสำหรับประทับในฤดูร้อน โปรดให้บำรุงพระราชกุมารด้วยกามคุณ ๕ พระวิปัสสีราชกุมารทรงได้รับการบำรุงบำเรอด้วยดนตรีที่ไม่ปะปนด้วยบุรุษในปราสาทสำหรับประทับในฤดูฝน ไม่ได้เสด็จลงมาชั้นล่างปราสาทตลอด ๔ เดือน

เทวทูต ๔

เมื่อเวลาล่วงไปหลายปีหลายร้อยปีหลายพันปี พระวิปัสสีราชกุมารรับสั่งเรียกนายสารถีให้เทียมราชรถเพื่อ ไปอุทยาน ชมภูมิประเทศที่สวยงาม’ การไปประพาสครั้งแรก ได้ทอดพระเนตรเห็นชายชราผู้มีซี่โครงคดเหมือนกลอนประตู หลังงองุ้ม เดินถือไม้เท้างกๆ เงิ่นๆกระสับกระส่าย หมดความหนุ่มแน่น จึงตรัสถามนายสารถีจึงทราบว่า นายคนนี้เป็นคนชรา มีเส้นผมและร่างกายของเขาจึงไม่เหมือนของคนอื่นๆ ที่เรียกว่าคนชรา เพราะเขาจะมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน ทุกคนล้วนแต่ต้องแก่เฒ่า เป็นธรรม หนีไปไม่พ้น  พระวิปัสสีราชกุมาร เกิดความสังเวชสลดใจ ว่าจะต้องแก่เฒ่าเหมือนกัน เมื่อกลับถึงพระราชฐานแล้ว ทรงมีความทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี เห็นการเกิดเป็นเรื่องน่ารังเกียจ เพราะเมื่อมีความเกิดย่อยมีความแก่

การประพาสครั้งที่สอง ได้ทอดพระเนตรเห็นคนเจ็บทนทุกข์ ป่วยหนัก นอนทุรนทุรายจมกองอุจจาระปัสสาวะของตน คนอื่นต้องช่วยกันพยุงให้กินอาหาร จึงตรัสถามนายสารถี จึงทราบว่าเป็นคนเจ็บ การเจ็บป่วยเป็นธรรม แม้พระองค์ก็หนีไม่พ้น จึงให้ขับรถกลับเข้าเมือง ทรงมีทุกข์ ทรงไม่ยินดี มีพระราชดำริว่า ขึ้นชื่อว่าความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มีความแก่ความเจ็บ’

การประพาสครั้งที่สาม ได้ทอดพระเนตรเห็นคนเจ็บ ป่วยหนัก นอนทุรนทุรายจมกองอุจจาระปัสสาวะของตนคนอื่นต้องช่วยกันพยุงให้กินอาหาร จึงตรัสถามนายสารถีจึงทราบ และมีพระราชดำริว่า แม้พระองค์ก็ต้องเจ็บเป็นธรรมดา เพราะเมื่อเกิดก็ต้องปีเจ็บป่วย

การประพาสครั้งที่สี่ ได้ทอดพระเนตรเห็นหมู่ชนประชุมกันและกำลังประดับคานหามด้วยผ้าหลากสี จึงตรัสถามนายสารถีว่าหมู่ชนประชุมกันและประดับคานหามด้วยผ้าหลากสีไว้ทำไม จึงทราบว่ามีผู้ตาย จึงทรงให้จับราชรถไปที่ผู้ตายนั้น นายสารถีทูลว่า ที่ชื่อว่า ผู้ตาย เพราะเวลานี้มารดาบิดาหรือญาติสาโลหิตอื่นๆ จะไม่ได้พบเห็นเขาอีก พระองค์ทรงดำริว่า พระองค์ก็จะต้องตายเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น  สารถีกราบทูล พระเจ้าข้าพระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี หรือพระประยูรญาติอื่นๆ ก็จะต้องตายเป็นธรรมดา

พระเจ้าพันธุมาทรงพระดำริว่า ‘ขออย่าให้วิปัสสีกุมารไม่ยอมครองราชย์เลย อย่าได้ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตเลย คำทำนายของพราหมณ์โหราจารย์อย่าได้เป็นจริงเลย’ จึงรับสั่งให้บำรุงบำเรอพระวิปัสสีราชกุมารด้วยกามคุณ ๕ มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อว่าพระวิปัสสีราชกุมารจะอยู่ครองราชย์ จะไม่เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต และคำทำนายของพราหมณ์โหราจารย์จะผิดพลาด จึงทรงบำรุงพระวิปัสสีราชกุมารให้เต็มอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ ในพระราชฐานนั้น

เมื่อเวลาล่วงไป  พระองค์ทรงรับสั่งให้สารถีเทียบราชรถไปประพาสสวนอีก ครั้งนี้ ได้ทอดพระเนตรเห็นบุรุษศีรษะโล้นนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ จึงตรัสถามนายสารถีจึงทรงทราบว่าเป็นบรรพชิต ‘ผู้ชื่อว่าบรรพชิต เพราะการประพฤติธรรมเป็นความดี การประพฤติสม่ำเสมอเป็นความดี การทำกุศลเป็นความดี การทำบุญเป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็นความดี และการอนุเคราะห์หมู่สัตว์เป็นความดี  

พระโพธิสัตว์เสด็จออกผนวช

ลำดับนั้น พระวิปัสสีราชกุมารรับสั่งเรียกนายสารถีให้นำรถกลับเข้าเมือง จักโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตในอุทยานนี้’ นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที ส่วนพระวิปัสสีราชกุมารทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตที่อุทยานนั้นนั่นเอง

มหาชนในกรุงพันธุมดีประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ได้ทราบข่าวว่าพระวิปัสสีราชกุมารทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต จึงคิดว่าพระธรรมวินัยและการบรรพชาที่พระวิปัสสีราชกุมารได้ปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตนั้น คงจะไม่ต่ำทราม คนระดับพระวิปัสสีราชกุมาร ยังทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตได้ ทำไมพวกเราจักบวชบ้างไม่ได้เล่า’

มหาชนประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ได้พากันโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตตามเสด็จพระวิปัสสีโพธิสัตว์ พระองค์ทรงมีกลุ่มคนเหล่านั้นแวดล้อม เสด็จจาริกไปในหมู่บ้าน นิคม ชนบท และราชธานีทั้งหลาย

ต่อมา พระวิปัสสีโพธิสัตว์ประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงมีพระรำพึงอย่างนี้ว่าการที่เราอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะอย่างนี้หาเป็นการสมควรไม่ทางที่ดี เราควรหลีกออกจากหมู่อยู่เพียงลำพัง’ จึงเสด็จหลีกออกจากหมู่ประทับอยู่ผู้เดียว บรรพชิต ๘๔,๐๐๐ รูป ได้แยกไปทางหนึ่งพระวิปัสสีโพธิสัตว์ก็เสด็จไปอีกทางหนึ่ง

พระโพธิสัตว์ตรัสรู้

พระวิปัสสีโพธิสัตว์ประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงมีพระรำพึงว่า สัตว์โลกนี้ถึงความคับแค้น จึงเกิด แก่ ตาย จุติและอุบัติ ก็บุคคลผู้ไม่รู้อุบายสลัดออกจากทุกข์ คือ ชรา มรณะนี้ เมื่อไร จึงจะพ้นจากทุกข์คือชรามรณะนี้ได้’ จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี ชรามรณะจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัยแห่งชรามรณะ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า‘เมื่อชาติมี ชรามรณะจึงมี เพราะชาติเป็นเหตุปัจจัย ชรามรณะจึงมี’

‘เมื่ออะไรมี ชาติจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย ชาติจึงมี ’เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อภพคือความมีความเป็นมี ชาติจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’

‘เมื่ออะไรมี ภพจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย ภพจึงมี ’เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่ออุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นมี ภพจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี’

‘เมื่ออะไรมี อุปาทานจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัยอุปาทานจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อตัณหาคือความอยากมี อุปาทานจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี’

‘เมื่ออะไรมี ตัณหาจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัยตัณหาจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อเวทนาคือความรู้สึกมี ตัณหาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’

‘เมื่ออะไรมี เวทนาจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัยเวทนาจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อผัสสะมี เวทนาจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี’

‘เมื่ออะไรมี ผัสสะจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัยผัสสะจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่ออายตนะ ๖ มี ผัสสะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’

‘เมื่ออะไรมี สฬายตนะจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัยสฬายตนะจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อนามรูปมี สฬายตนะจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัยสฬายตนะจึงมี’

‘เมื่ออะไรมี นามรูปจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัยนามรูปจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อวิญญาณคือความรู้แจ้งอารมณ์มี นามรูปจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี’

‘เมื่ออะไรมี วิญญาณจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัยวิญญาณจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อนามรูปมี วิญญาณจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี

จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘วิญญาณนี้ย่อมหมุนกลับมาจากนามรูปเท่านั้น ไม่เลยไปกว่านั้น เพราะความหมุนกลับเพียงแค่นี้ สัตว์โลกจึงเกิดบ้างแก่บ้าง ตายบ้าง จุติบ้าง อุบัติบ้าง ความเป็นไปนั้น คือ

         เพราะนามรูปเป็นปัจจัย  วิญญาณจึงมี

             เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย  นามรูปจึงมี

             เพราะนามรูปเป็นปัจจัย  สฬายตนะจึงมี

             เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย  ผัสสะจึงมี

             เพราะผัสสะเป็นปัจจัย  เวทนาจึงมี

             เพราะเวทนาเป็นปัจจัย  ตัณหาจึงมี

             เพราะตัณหาเป็นปัจจัย  อุปาทานจึงมี

             เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย  ภพจึงมี

             เพราะภพเป็นปัจจัย  ชาติจึงมี

             เพราะชาติเป็นปัจจัย  ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสความคับแค้นใจ จึงมี        ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ ด้วยประการฉะนี้’

ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ววิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่พระโพธิสัตว์ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยสดับมาก่อนว่า ‘สมุทัย สมุทัย’

จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี ชรามรณะจึงไม่มี เพราะอะไรดับชรามรณะจึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า‘เมื่อชาติไม่มี ชรามรณะจึงไม่มี เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ’

‘เมื่ออะไรไม่มี ชาติจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ชาติจึงดับ’เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อภพไม่มีชาติ จึงไม่มี เพราะภพดับ ชาติจึงดับ’

‘เมื่ออะไรไม่มี ภพจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ภพจึงดับ’เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่ออุปาทานไม่มี ภพจึงไม่มี เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ’

‘เมื่ออะไรไม่มี อุปาทานจึงไม่มี เพราะอะไรดับอุปาทานจึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า‘เมื่อตัณหาไม่มี อุปาทานจึงไม่มี เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ’

‘เมื่ออะไรไม่มี ตัณหาจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ตัณหาจึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อเวทนาไม่มี ตัณหาจึงไม่มี เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ’

‘เมื่ออะไรไม่มี เวทนาจึงไม่มี เพราะอะไรดับ เวทนาจึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อผัสสะไม่มี เวทนาจึงไม่มี เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ’

‘เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ผัสสะจึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อสฬายตนะไม่มี ผัสสะจึงไม่มี เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ’

‘เมื่ออะไรไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี เพราะอะไรดับสฬายตนะจึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า‘เมื่อนามรูปไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ’

‘เมื่ออะไรไม่มี นามรูปจึงไม่มี เพราะอะไรดับ นามรูปจึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อวิญญาณไม่มี นามรูปจึงไม่มี เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ’

‘เมื่ออะไรไม่มี วิญญาณจึงไม่มี เพราะอะไรดับวิญญาณจึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า‘เมื่อนามรูปไม่มี วิญญาณจึงไม่มี เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ’

จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘ทางเพื่อความตรัสรู้ เราได้บรรลุแล้ว คือ

             เพราะนามรูปดับ  วิญญาณจึงดับ

             เพราะวิญญาณดับ  นามรูปจึงดับ

             เพราะนามรูปดับ  สฬายตนะจึงดับ

             เพราะสฬายตนะดับ  ผัสสะจึงดับ

             เพราะผัสสะดับ  เวทนาจึงดับ

             เพราะเวทนาดับ  ตัณหาจึงดับ

             เพราะตัณหาดับ  อุปาทานจึงดับ

             เพราะอุปาทานดับ  ภพจึงดับ

             เพราะภพดับ  ชาติจึงดับ

             เพราะชาติดับ  ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงดับ

             ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ ด้วยประการฉะนี้’

ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ววิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยสดับมาก่อนว่า ‘นิโรธ นิโรธ’

จากนั้น ทรงพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ว่า “รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ สัญญาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ความดับแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้

เมื่อทรงพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ไม่นานนัก จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น’

ท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม

ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระวิปัสสีพุทธเจ้ามีพระรำพึงดังนี้ว่า ‘ทางที่ดีเราควรแสดงธรรม’ แต่ทรงพระดำริว่า ‘ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยากรู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่ใช่วิสัยตรรกะ ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ ก็แลหมู่ประชานี้ เป็นผู้รื่นรมย์ในอาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย สำหรับหมู่ประชาผู้รื่นรมย์ในอาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย ฐานะอันนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากกล่าวคือ หลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสมุปบาทถึงแม้ฐานะอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากนัก กล่าวคือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา’

อนึ่งเล่า คำสอนอันน่าอัศจรรย์เหล่านี้ ที่ไม่ทรงสดับมาก่อนได้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่พระวิปัสสีพุทธเจ้าว่า

อนัจฉริยคาถา

               บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรม

               ที่เราได้บรรลุด้วยความลำบาก

               เพราะธรรมนี้  ไม่ใช่ธรรมที่ผู้ถูกราคะและโทสะครอบงำจะรู้ได้ง่าย        

               แต่เป็นธรรมพาทวนกระแส ละเอียด ลึกซึ้ง

               รู้เห็นได้ยาก ประณีต ผู้กำหนัดด้วยราคะ

               ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้

เมื่อทรงพิจารณาดังนี้ พระทัยก็น้อมไปเพื่อจะประทับอยู่เฉย มิได้น้อมไปเพื่อจะทรงแสดงธรรม

ครั้งนั้น ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งกำหนดรู้พระรำพึงของพระวิปัสสีพุทธเจ้าด้วยใจจึงคิดว่า “ท่านผู้เจริญ โลกจะฉิบหาย โลกจะพินาศ เพราะพระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยไปเพื่อจะประทับอยู่เฉย มิได้น้อมพระทัยไปเพื่อจะทรงแสดงธรรม จึงได้หายตัวไปจากพรหมโลก มาปรากฏเฉพาะพระพักตร์ของพระวิปัสสีพุทธเจ้า เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้นแล้วจึงห่มผ้าเฉวียงบ่า คุกเข่าเบื้องขวาลงบนแผ่นดิน ประนมมือไปทางพระวิปัสสีพุทธเจ้าแล้วได้กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรม ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมเถิด ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่พระพุทธเจ้าข้า’

เมื่อท้าวมหาพรหมกราบทูลอาราธนาอย่างนี้ พระวิปัสสีพุทธเจ้าจึงได้ตรัสกับท้าวมหาพรหมดังนี้ว่า ‘พรหม แม้เราเองก็มีความดำริว่า ‘ทางที่ดีเราควรแสดงธรรม’ แต่ก็มาคิดว่า ‘ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่ใช่วิสัยตรรกะ ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ หมู่ประชานี้ เป็นผู้รื่นรมย์ในอาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย สำหรับหมู่ประชาผู้รื่นรมย์ในอาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย ฐานะอันนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือหลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสมุปบาท ถึงแม้ฐานะอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากนักกล่าวคือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหาวิราคะ นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราพึงแสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา’

อนึ่งเล่า อนัจฉริยคาถาเหล่านี้ที่ไม่เคยสดับมาก่อนได้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่เราว่า

               บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรม

                ที่เราได้บรรลุด้วยความลำบาก เพราะธรรมนี้

                ไม่ใช่ธรรมที่ผู้ถูกราคะและโทสะครอบงำจะรู้ได้ง่าย

                แต่เป็นธรรมพาทวนกระแส ละเอียด ลึกซึ้ง

                รู้เห็นได้ยาก ประณีต ผู้กำหนัดด้วยราคะ

                ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้’

เมื่อเราพิจารณาดังนี้ ใจก็น้อมไปเพื่อจะอยู่เฉย มิได้น้อมไปเพื่อจะแสดงธรรม’

ท้าวมหาพรหมได้กราบทูลพระวิปัสสีพุทธเจ้าดังนี้ ถึง ๓ ครั้ง

พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงพิจารณาสัตว์โลก

ครั้งนั้น พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงทราบคำอาราธนาของท้าวมหาพรหมและทรงอาศัยพระกรุณาในหมู่สัตว์ ได้ทรงตรวจดูโลกด้วยพระพุทธจักษุ เมื่อทรงตรวจโลกด้วยพระพุทธจักษุได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง ผู้มีธุลีในดวงตามาก ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า  ผู้มีอินทรีย์อ่อน ผู้มีอาการดี ผู้มีอาการทรามสอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก ควรสั่งสอน ไม่ควรสั่งสอน บางพวกมักเห็นปรโลกและโทษ ว่าน่ากลัว บางพวกไม่เห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัวในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริกบางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำและน้ำหล่อเลี้ยงไว้  ดอกอุบลดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่เสมอน้ำ ดอกอุบลดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่พ้นน้ำ ไม่แตะน้ำ ฉันใดพระวิปัสสีพุทธเจ้าได้ทรงตรวจดูโลกด้วยพระพุทธจักษุ ครั้นทรงตรวจโลกด้วยพระพุทธจักษุได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง ผู้มีธุลีในดวงตามากผู้มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก ควรสั่งสอน ไม่ควรสั่งสอน บางพวกเห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัวบางพวกไม่เห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัว ฉันนั้น

ครั้งนั้น ท้าวมหาพรหมทราบพระรำพึงของพระวิปัสสีพุทธเจ้าด้วยใจจึงได้กราบทูลด้วยถ้อยคำทั้งหลายว่า

                ‘ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญาดี มีพระสมันตจักขุ

                บุรุษผู้ยืนบนยอดภูเขาศิลาล้วน

                พึงเห็นหมู่ชนได้โดยรอบ แม้ฉันใด

                พระองค์ผู้หมดความโศกแล้ว

                โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรม

                จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศก

                และถูกชาติชราครอบงำ ได้ชัดเจน ฉันนั้น

                ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร

                 ผู้ชนะสงคราม ผู้นำหมู่ ผู้ไม่มีหนี

                ขอพระองค์โปรดลุกขึ้น เสด็จจาริกไปในโลก

                ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดแสดงธรรมเถิด

                เพราะผู้รู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่

เมื่อท้าวมหาพรหมกราบทูลอย่างนี้ พระวิปัสสีพุทธเจ้าได้ตรัสกับท้าวมหาพรหมนั้นด้วยพระคาถาว่า

                “สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดจะฟัง

                จงปล่อยศรัทธามาเถิด

                เราได้เปิดประตูแห่งอมตะ

                แก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว

                ท่านพรหม เพราะเราสำคัญว่าจะลำบาก

                จึงมิได้แสดงธรรมที่ประณีตคล่องแคล่วในหมู่มนุษย์

ขณะนั้น ท้าวมหาพรหมได้ทราบว่า ‘พระวิปัสสีพุทธเจ้าได้ทรงประทานโอกาสเพื่อจะทรงแสดงธรรมแล้ว’ จึงถวายอภิวาทกระทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นเอง

คู่พระอัครสาวก

ภิกษุทั้งหลาย ต่อมา พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงพระดำริว่า ‘เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อน ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’ แล้วทรงพระดำริต่อไปว่า‘พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ อาศัยอยู่ในกรุงพันธุมดีราชธานี เป็นคนเฉลียวฉลาด หลักแหลม มีธุลีในดวงตาเบาบางมานาน ทางที่ดีเราพึงแสดงธรรมแก่เธอทั้งสองก่อน เธอทั้งสองจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’

พระวิปัสสีพุทธเจ้า ทรงหายไปจากควงต้นโพธิ์มาปรากฏที่เขมมฤคทายวันในกรุงพันธุมดีราชธานี เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ได้รับสั่งเรียกคนเฝ้าสวนมาตรัสว่า ‘มานี่เถิด นายประตู เธอจงเข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี บอกราชโอรสพระนามว่าขัณฑะ และบุตรปุโรหิตชื่อติสสะว่า‘พระวิปัสสีพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงพันธุมดีราชธานี ประทับอยู่ที่เขมมฤคทายวันมีพระประสงค์จะพบท่านทั้งสอง’

นายทวารบาลทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี กราบทูลแก่พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบอกบุตรปุโรหิตชื่อติสสะให้ทรงทราบ’

พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ สั่งให้บุรุษเทียมยานพาหนะคันงามๆ แล้วขึ้นยานพาหนะคันงามออกจากกรุงพันธุมดีราชธานี พร้อมกับยานพาหนะคันงามๆ ติดตามอีกหลายคัน ขับตรงไปยังเขมมฤคทายวันจนสุดทางที่ยานพาหนะจะเข้าไปได้ แล้วลงจากยานเดินตรงเข้าไปเฝ้าพระวิปัสสีพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร

พระวิปัสสีพุทธเจ้าตรัสอนุปุพพิกถา แก่พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะ และบุตรปุโรหิตชื่อติสสะเหล่านั้น คือ ทรงประกาศ ทานกถา คือ เรื่องทาน  สีลกถา คือ เรื่องศีล   สัคคกถา คือ เรื่องสวรรค์  กามาทีนวกถา คือ    เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม  และ เนกขัมมานิสังสกถา คือ เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม

เมื่อทรงทราบว่า พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะมีจิตควรบรรลุธรรม อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแก่พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ ณ อาสนะนั้นว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา‘เหมือนผ้าขาวสะอาด ปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะเห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว หมดความสงสัยแล้วปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น  ในคำสอนของพระศาสดาได้กราบทูลพระวิปัสสีพุทธเจ้าว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆเปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์ทั้งสองนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมเป็นสรณะ และพึงได้การบรรพชาพึงได้รับการอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค’

พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ ได้รับการบรรพชาได้การอุปสมบทในสำนักของพระวิปัสสีพุทธเจ้า พระองค์ทรงชี้แจงให้ภิกษุเหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมกถาแล้ว ทรงประกาศโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของสังขารและอานิสงส์ในนิพพาน จิตของพระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะที่พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาไม่นานนัก ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น

มหาชนออกบวช

ภิกษุทั้งหลาย มหาชนในกรุงพันธุมดีราชธานีประมาณ ๘๔,๐๐๐ คนได้ทราบข่าวว่า ‘พระวิปัสสีพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงพันธุมดี ประทับอยู่ที่เขมมฤคทายวันพระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ โกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากพระราชวังและเรือนบวชเป็นบรรพชิตในสำนักพระวิปัสสีพุทธเจ้า’ จึงคิดกันว่า ‘พระธรรมวินัยและการบรรพชาที่พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ โกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากพระราชวังและเรือนบวชเป็นบรรพชิตนั้น คงจะไม่ต่ำทราม คนระดับพระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากพระราชวังและเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้ ทำไม พวกเราจักบวชบ้างไม่ได้เล่า’ มหาชนประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน จึงชักชวนกันออกจากกรุงพันธุมดีราชธานี ไปยังเขมมฤคทายวันเข้าไปเฝ้าพระวิปัสสีพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร

พระวิปัสสีพุทธเจ้าตรัสอนุปุพพิกถาแก่ชนเหล่านั้น คือ ทรงประกาศทานกถา  สีลกถา   สัคคกถา กามาทีนวกถา  และ เนกขัมมานิสังสกถา

เมื่อทรงทราบว่าชนเหล่านั้น มีจิตควรบรรลุ อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบานผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ชน๘๔,๐๐๐ เหล่านั้น ณ ที่นั่งนั้นแลว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา’ เหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

ชนเหล่านั้นเห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรมแล้วหมดความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระวิปัสสีพุทธเจ้าดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิดบอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’พวกข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะและพึงได้การบรรพชาพึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค’

มหาชนประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ได้การบรรพชาได้การอุปสมบทในสำนักของพระวิปัสสีพุทธเจ้า พระองค์ทรงชี้แจงให้ภิกษุเหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมกถาแล้ว ทรงประกาศโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของสังขารและอานิสงส์ในนิพพาน จิตของภิกษุเหล่านั้นอันพระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ไม่นานนัก ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น

บรรพชิตรุ่นแรกที่บวชตามเสด็จบรรลุธรรม

ภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตประมาณ ๘๔,๐๐๐ รูปเหล่านั้นได้ทราบข่าวว่า ‘พระวิปัสสีพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงพันธุมดีราชธานี ประทับอยู่ที่เขมมฤคทายวัน กำลังทรงแสดงธรรม’ จึงพากันไปยังเขมมฤคทายวัน กรุงพันธุมดีเข้าไปเฝ้าพระวิปัสสีพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร

พระวิปัสสีพุทธเจ้าตรัสอนุปุพพิกถาแก่บรรพชิตเหล่านั้น คือ ทรงประกาศทานกถา  สีลกถา   สัคคกถา  กามาทีนวกถา  และเนกขัมมานิสังสกถา

เมื่อทรงทราบว่า บรรพชิตเหล่านั้นมีจิตควรบรรลุธรรม อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่บรรพชิต ๘๔,๐๐๐ รูปเหล่านั้น ณ อาสนะนั้นแลว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา’ เหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

บรรพชิตเหล่านั้นเห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรม หมดความสงสัยแล้ว ไม่มีความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้าไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระวิปัสสีพุทธเจ้าดังนี้ว่า  ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้ง โดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ พวกข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ และพึงได้การบรรพชาพึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค’

บรรพชิตประมาณ ๘๔,๐๐๐ รูปเหล่านั้น ได้การบรรพชาได้การอุปสมบทในสำนักพระวิปัสสีพุทธเจ้า พระองค์ทรงชี้แจงให้ภิกษุเหล่านั้นเห็นชัดชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมกถาแล้ว ทรงประกาศโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของสังขารและอานิสงส์ในนิพพาน จิตของภิกษุเหล่านั้นอันพระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ไม่นานนัก ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น

ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา

ภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้น มีภิกษุอยู่ประมาณ ๑๖๘,๐๐๐ รูปในกรุงพันธุมดีราชธานี ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีพุทธเจ้าประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้มีพระรำพึงอย่างนี้ว่า ‘เวลานี้ ในกรุงพันธุมดีมีภิกษุสงฆ์อยู่จำนวนมากถึง ๑๖๘,๐๐๐ รูปทางที่ดีเราควรประกาศให้ภิกษุทั้งหลายรู้ทั่วกันว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลกเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าไปทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่ แต่เมื่อเวลาล่วงไป ทุกๆ ๖ ปี เธอทั้งหลายควรกลับมายังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์’

ครั้งนั้น ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่ง ทราบพระรำพึงของพระวิปัสสีพุทธเจ้าด้วยใจได้หายตัวไปจากพรหมโลก มาปรากฏเฉพาะพระพักตร์ของพระวิปัสสีพุทธเจ้าเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น ท้าวมหาพรหมนั้น ห่มผ้าเฉวียงบ่า ประนมมือน้อมไปทางพระวิปัสสีพุทธเจ้าได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น เวลานี้ในกรุงพันธุมดีราชธานีมีภิกษุสงฆ์อยู่จำนวนมากถึง ๑๖๘,๐๐๐ รูป พระองค์โปรดทรงอนุญาตภิกษุทั้งหลายว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลเพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าไปทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่’ ข้าพระองค์จักหาวิธีให้ภิกษุทั้งหลายกลับมายังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์ เมื่อล่วงไปทุกๆ ๖ ปี พระพุทธเจ้าข้า’เมื่อท้าวมหาพรหมกราบทูลอย่างนี้แล้ว จึงถวายอภิวาทพระวิปัสสีพุทธเจ้ากระทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นเอง

ครั้นในเวลาเย็น พระวิปัสสีพุทธเจ้าเสด็จออกจากฌาน รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เราหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ณ ที่นี้ ได้มีความรำพึงอย่างนี้ว่า ‘เวลานี้ ในกรุงพันธุมดีราชธานีมีภิกษุสงฆ์อยู่จำนวนมากถึง ๑๖๘,๐๐๐ รูป ทางที่ดีเราควรประกาศให้ภิกษุทั้งหลายรู้ทั่วกันว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าไปทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลางและมีความงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่ แต่เมื่อเวลาล่วงไปทุกๆ ๖ ปี เธอทั้งหลายควรกลับมายังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์’

ครั้งนั้น เมื่อครบกำหนด ๖ ปี ภิกษุเหล่านั้น บางพวกเดินทางไปด้วยฤทธิ์ ด้วยอานุภาพของตนบางพวกเดินทางไปด้วยฤทธิ์ ด้วยอานุภาพของเทวดา เพียงวันเดียวเท่านั้น พากันเข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์

ทรงแสดงพระโอวาทปาติโมกข์

ภิกษุทั้งหลาย พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงแสดงปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์ที่กรุงพันธุมดีราชธานีนั้นดังนี้

               ‘ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง

                พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นบรมธรรม

                ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต

                ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

                การไม่ทำบาปทั้งปวง

                การทำกุศลให้ถึงพร้อม

                การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว

                นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

                การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น

                การไม่เบียดเบียนผู้อื่น

                ความสำรวมในปาติโมกข์

                ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร

                การอยู่ในเสนาสนะที่สงัด

                การประกอบความเพียรในอธิจิต

                นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย’

คำกราบทูลของเทวดา

ภิกษุทั้งหลาย สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่ควงต้นราชสาละ ป่าสุภควันกรุงอุกกัฏฐะ ขณะที่เรานั้นหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้มีความรำพึงอย่างนี้ว่า ‘เทวโลกชั้นสุทธาวาสที่เราไม่เคยอยู่มาเลยตลอดกาลนานนี้ ไม่ใช่ใครๆ จะเข้าถึงได้โดยง่ายยกเว้นเหล่าเทพชั้นสุทธาวาส ทางที่ดี เราควรไปหาเหล่าเทพชั้นสุทธาวาส’ จึงได้หายไปจากควงต้นราชสาละนั้นไปปรากฏในเหล่าเทพชั้นอวิหาอย่างรวดเร็ว เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น

ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเราอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์นับจากกัปนี้ถอยหลังไป ๙๑ กัป พระวิปัสสีพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก มีพระชาติเป็นกษัตริย์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์ มีพระโคตรว่าโกณฑัญญะ มีพระชนมายุประมาณ ๘๐,๐๐๐ ปี ตรัสรู้ที่ควงต้นแคฝอย ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่พระขัณฑะและพระติสสะ มีการประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ มีภิกษุ ๑๖๘,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๒ มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๓ มีภิกษุ ๘๐,๐๐๐ รูป พระสาวกที่เข้าประชุมทั้ง ๓ ครั้ง ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ มีภิกษุอโสกะเป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก มีพระเจ้าพันธุมาเป็นพระบิดา พระนางพันธุมดีเทวีเป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงพันธุมดีเป็นราชธานีของพระเจ้าพันธุมาการเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ของพระองค์เป็นอย่างนี้ การบรรพชาของพระองค์เป็นอย่างนี้ การบำเพ็ญเพียรของพระองค์เป็นอย่างนี้ การตรัสรู้ของพระองค์เป็นอย่างนี้ การแสดงธรรมจักรของพระองค์เป็นอย่างนี้ พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระวิปัสสีพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’

ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์นับจากกัปนี้ถอยหลังไป ๓๑ กัป พระสิขีพุทธเจ้า ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯพวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสิขีพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้ ในกัปที่ ๓๑ นั้นเอง พระเวสสภูพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระเวสสภูพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้ ในภัทรกัปนี้เอง พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้

ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ในภัทรกัปนี้เอง บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก มีพระชาติเป็นกษัตริย์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์ มีพระโคตรว่าโคตมะ มีพระชนมายุเพียงเล็กน้อย ผู้ที่มีอายุยืนก็เพียง ๑๐๐ ปี หรือเกินไปอีกเล็กน้อย ตรัสรู้ที่ควงต้นอัสสัตถะ ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่เจริญ ได้แก่พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ๑,๒๕๐ รูป พระสาวกที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ มีภิกษุอานนท์เป็นอุปัฏฐาก  มีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระบิดา พระนางมายาเทวีเป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด มีกรุงกบิลพัสดุ์เป็นราชธานี การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ของพระองค์เป็นอย่างนี้ การบรรพชาของพระองค์เป็นอย่างนี้ การบำเพ็ญเพียรของพระองค์เป็นอย่างนี้ การตรัสรู้ของพระองค์เป็นอย่างนี้ การแสดงธรรมจักรของพระองค์เป็นอย่างนี้ พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค คลายความกำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’

ครั้งนั้น เราพร้อมกับเหล่าเทพชั้นอวิหา ได้เข้าไปหาเหล่าเทพชั้นอตัปปาถึงที่อยู่  เราพร้อมกับเหล่าเทพชั้นอวิหาและชั้นอตัปปา ได้เข้าไปหาเหล่าเทพชั้นสุทัสสาถึงที่อยู่ เราพร้อมกับเหล่าเทพชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา และชั้นสุทัสสา ได้เข้าไปหาเหล่าเทพชั้นสุทัสสีถึงที่อยู่ เราพร้อมกับเหล่าเทพชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา ชั้นสุทัสสา และชั้นสุทัสสีได้เข้าไปหาเหล่าเทพชั้นอกนิฏฐาถึงที่อยู่ ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควรเทวดาเหล่านั้นได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’

ภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตมีปัญญาแทงตลอดธรรมธาตุดังกล่าวมานี้ จึงเป็นเหตุให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้ตัดทางได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้วทั้งโดยพระชาติ พระนาม พระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการประชุมพระสาวกว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ มีพระนามอย่างนี้ มีพระโคตรอย่างนี้ ทรงมีศีลอย่างนี้ ทรงมีธรรมอย่างนี้ ทรงมีปัญญาอย่างนี้ ทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้  ทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้’

แม้เหล่าเทวดาก็บอกเรื่องนั้นให้ทราบ จึงเป็นเหตุให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้ตัดทางได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ทั้งโดยพระชาติ พระนามพระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการประชุมพระสาวก

เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว

เรียบเรียงใหม่ โดย ดร.ศักดิ์ ประสานดี

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐  พระสูตร เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค เรื่องที่ ๑. มหาปทานสูตร ข้อที่ ๑ – ๙๔

หมายเลขบันทึก: 676711เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2020 17:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2020 23:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท