พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๙ (พระสูตร เล่มที่ ๑) เรื่องที่ ๑๑ เกวัฏฏสูตร เรื่องปาฏิหาริย์ในพระพุทธศาสนา


๑๑. เกวัฏฏสูตร  ว่าด้วยบุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะ

เรื่องบุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะ

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี เขตเมืองนาลันทา ครั้งนั้นบุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับกราบพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเมืองนาลันทามั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่นที่ล้วนเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาสเถิด ขอพระผู้มีพระภาคโปรดมีพระบัญชาให้ภิกษุสักรูปหนึ่งที่พอจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์โดยอุตตริมนุสสธรรม ได้ ซึ่งจะทำให้ชาวเมืองนาลันทาพากันเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคมากขึ้นสุดจะประมาณ”

เมื่อเขากราบทูลอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกวัฏฏะ เราไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุอย่างนี้ว่า มาเถิด พวกเธอจงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วยอุตตริมนุสส-ธรรมแก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาว”

บุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะก็ยังกราบทูลครั้งที่ ๒ และ ครั้งที่ ๓ ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ได้คาดคั้นพระผู้มีพระภาคเลย ฯลฯ พากันเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคมากขึ้นสุดจะประมาณ”

ปาฏิหาริย์ ๓ อย่าง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกวัฏฏะ เราทำให้แจ้งปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วจึงได้ประกาศให้รู้กัน ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างคืออะไรบ้าง คืออิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์

๑. อิทธิปาฏิหาริย์

เกวัฏฏะ ก็อิทธิปาฏิหาริย์เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง(และ)ภูเขาไปได ้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้

เพราะเหตุนั้น ผู้ใดผู้หนึ่งที่มีศรัทธาเลื่อมใสเห็นภิกษุนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้ ผู้นั้นจะบอกแก่บุคคลผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสว่า ‘น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ สมณะมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากเหลือเกิน ข้าพเจ้าเพิ่งเคยเห็นท่านนี้ที่แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้’

เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสจะพูดกับผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสว่า ‘ท่าน มีวิชาประเภทหนึ่งเรียกว่าคันธาริ ภิกษุรูปนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือคนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้เพราะมีวิชานั้น’

“เกวัฏฏะ ผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใส จะพูดกับผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างนั้นหรือไม่”

“ต้องพูดแน่ พระพุทธเจ้าข้า”

“เกวัฏฏะ เราเล็งเห็นโทษในอิทธิปาฏิหาริย์อย่างนี้จึงเหนื่อยหน่าย ระอา รังเกียจเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์

๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์

เกวัฏฏะ ก็อาเทสนาปาฏิหาริย์เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทายจิต ทายเจตสิก ทายความวิตกวิจารของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า จิตของท่านเป็นอย่างนี้ เป็นไปโดยอาการอย่างนี้ เป็นดังนี้

เพราะเหตุนั้น ผู้ใดผู้หนึ่งที่มีศรัทธาเลื่อมใสเห็นภิกษุนั้นทายจิต ทายเจตสิกทายความวิตกวิจารของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า จิตของท่านเป็นอย่างนี้ เป็นไปโดยอาการอย่างนี้ เป็นดังนี้ ผู้นั้นจะบอกแก่บุคคลผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสว่า‘น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ สมณะมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากเหลือเกิน ข้าพเจ้าเพิ่งเคยเห็นท่านนี้ที่ทายจิต ทายเจตสิก ทายความวิตกวิจารของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า จิตของท่านเป็นอย่างนี้ เป็นไปโดยอาการอย่างนี้ เป็นดังนี้’

เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสจะพูดกับผู้มีศรัทธาเลื่อมใสว่า‘ท่าน มีวิชาประเภทหนึ่งเรียกว่ามณิกา ภิกษุรูปนั้นทายจิต ทายเจตสิก ทายความวิตกวิจารของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า จิตของท่านเป็นอย่างนี้ เป็นไปโดยอาการอย่างนี้ เป็นดังนี้ เพราะมีวิชานั้น’

“เกวัฏฏะ ผู้ที่ยังไม่ศรัทธายังไม่เลื่อมใสจะพูดกับผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างนั้นหรือไม่”

“ต้องพูดแน่ พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เราเล็งเห็นโทษในอาเทสนาปาฏิหาริย์อย่างนี้ จึงเหนื่อยหน่าย ระอา รังเกียจเรื่องอาเทสนาปาฏิหาริย์

๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์

เกวัฏฏะ ก็อนุสาสนีปาฏิหาริย์เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพร่ำสอนอย่างนี้ว่า ‘ท่านจงตรึกตรองอย่างนี้ อย่าตรึกตรองอย่างนั้น จงใส่ใจอย่างนี้ อย่าใส่ใจอย่างนั้น จงละสิ่งนี้จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่เถิด’

ยังมีอีก เกวัฏฏะ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ (ความละเอียดอ่านในสามัญญผลสูตร) ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่

ฯลฯ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌานอยู่ ฯลฯ น้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ฯลฯ นี้จัดเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง ฯลฯ รู้ชัดว่า ...ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป

เกวัฏฏะ เราทำให้แจ้งปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วจึงประกาศให้รู้กัน

เรื่องภิกษุแสวงหาความดับของมหาภูตรูป

เกวัฏฏะ เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่ภิกษุเกิดความคิดคำนึงว่า มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหนหนอ ทีนั้นแล ภิกษุจึงเข้าสมาธิถึงขั้นที่จิตตั้งมั่นจนเห็นทางไปเทวโลก ครั้นแล้วเธอเข้าไปหาพวกเทพชั้นจาตุมหาราชิกา แล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ มหาภูต-รูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหน’

เมื่อเธอถามอย่างนี้ พวกเทพชั้นจาตุมหาราชิกา ให้ไปถามท้าวมหาราช ๔ องค์  ท้าวมหาราช ๔ องค์ ก็ให้ไปถามทวยเทพชั้นดาวดึงส์ ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าตน  พวกเทพชั้นดาวดึงส์ก็บอกว่าไม่ทราบ ให้ไปถาม้ท้าวสักกเทวราช   ท้าวสักกะเทวราช ก็บอกว่าไม่ทราบ ให้ไปถาม พวกเทพชั้นยามา  เทพบุตรชื่อสุยาม พวกเทพชั้นดุสิต  เทพบุตรชื่อสันดุสิต  พวกเทพชั้นนิมมานรดี เทพบุตรชื่อสุนิมมิต พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี  เทพบุตรชื่อวสวัตดีพวกเทพในหมู่พรหม ให้ไปถามมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิดซึ่งยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าพวกเราคงจะทราบ เมื่อถูกถาม ท้าวมหาพรหมตอบว่า ‘เราเป็นพรหมผู้เป็นท้าวมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาลผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิด’

ภิกษุนั้นถามท้าวมหาพรหมถึง ๓ ครั้ง มหาพรหมก็ตอบอย่างนั้น  ภิกษุนั้นกล่าวกะท้าวมหาพรหมว่า ‘ท่านผู้มีอายุ อาตมาไม่ได้ถามท่านว่า ท่านเป็นพระพรหมผู้เป็นมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิดหรือ แต่อาตมาถามท่านอย่างนี้ว่า มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหน’

ท้าวมหาพรหมนั้นจับแขนภิกษุนั้นพาไป ณ ที่สมควรแล้วกล่าวว่า ท่านอย่าถามเราต่อหน้า พวกเทพเหล่านั้น แม้เราก็ไม่ทราบเหมือนกัน ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามปัญหานี้ และพึงจำไว้ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสตอบเถิด”

ลำดับนั้น ภิกษุได้หายไปจากพรหมโลกมาปรากฏต่อหน้าเรา เปรียบเหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขนออกหรือพับแขนเข้าฉะนั้น เธอกราบเราแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร ถามเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหนหนอ’

อุปมาด้วยนกบินดูฝั่ง

เมื่อเธอถามอย่างนี้ เราได้ตอบว่า ภิกษุ เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกพ่อค้าเดินเรือทะเลนำนกตีรทัสสี ลงเรือไป เมื่อมองไม่เห็นฝั่ง พวกเขาจึงปล่อยนกตีรทัสสีไป นกนั้นบินไปยังทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศเบื้องบนและทิศเฉียง ถ้ามันยังแลเห็นชายฝั่งรอบๆ ก็จะบินเลยไป ถ้ามันแลไม่เห็นฝั่งโดยรอบก็จะบินกลับมาที่เรือนั้นอีก ภิกษุ เธอก็เช่นกัน เที่ยวเสาะหาไปจนถึงพรหมโลก ก็ยังไม่ได้คำตอบของปัญหานี้ ในที่สุดต้องกลับมาหาเรา ปัญหานี้เธอไม่ควรถามว่ามหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหนหนอแล

แต่ควรถามอย่างนี้ว่า

ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ

ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น

ละเอียด และหยาบ งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน

นามและรูปย่อมดับสนิทในที่ไหน

ในปัญหานั้น มีคำตอบดังนี้

ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ

ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในวิญญาณ  ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่มีที่สุด

แต่มีท่าข้าม โดยรอบด้าน อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น

ละเอียด และหยาบ งามและไม่งาม ก็ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้

ในวิญญาณนี้เช่นเดียวกัน นามและรูปย่อมดับสนิท

ในวิญญาณ นี้เช่นเดียวกัน เพราะวิญญาณ ดับไป

นามและรูปนั้นก็ย่อมดับสนิทในที่นั้น

เรียบเรียงใหม่ โดย ดร.ศักดิ์ ประสานดี

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙  พระสูตร เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เรื่องที่ ๑๑. เกวัฏฏสูตร บุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะ ข้อ ๔๘๑ – ๕๐๐  

หมายเลขบันทึก: 676710เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2020 17:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2020 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท