เยี่ยมบ้านแบบได้ใจของชาวดอกลำดวน


การสร้างเครือข่าย ภูมิปัญญาท้องถิ่น
เยี่ยมบ้านแบบได้ใจในชมรมผู้สูงอายุตำบลวัดขวา 

            วันนี้ก็เป็นอีกวันที่มีโอกาสได้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้สูงอายุในจังหวัดพิจิตร หลังจากไปไปที่จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานีมาแล้ว ชมรมผู้สูงอายุที่นี่เป็นอีกที่หนึ่งที่มีอะไรดีๆ โดยผู้เล่าคือคุณลุงสนั่นได้เล่าให้ฟังว่า คุณลุงเป็นประธานชมรมผู้สูงอายุตำบลวัดขวาง พื้นเพเดิมของชุมชนนี้เป็นคนอยุธยาแล้วมาแต่งงานผสมกับคนพื้นที่เดิมของพิจิตร เริ่มต้นของการตั้งชมรมก็เกิดจากทางด้านสาธารณสุขอำเภอได้เรียกไปประชุมที่อำเภอ เพื่อให้จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุของตำบลขึ้น หลังจากประชุมกลับมาแล้ว ก็มานั่งคิดว่าตำบลวัดขวางมีพื้นที่ค่อนข้างกว้าง และมีทั้งหมด 8 หมู่ จะใช้วิธีอะไรดี ตอนหลังก็มาคิดได้ว่าใช้วิธีให้ผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่หากรรมการขึ้นมาหมู่ละ 2-3 คน แล้วรวมมาเป็นคณะกรรมการชมรมผู้สูงอายุของตำบลวัดขวาง แล้วก็ร่างกติกาการเข้าชมรม ชมรมผู้สูงอายุของเราไม่มีการเก็บเงินค่าสมาชิก คณะกรรมการมีวาระครั้งละ 2ปี คนในหมู่บ้านเมื่ออายุ 60ปีเต็มก็จะถือว่าเป็นสมาชิกโดยอัตโนมัติ เอาชื่อเข้าทะเบียนทันที และก็จะประสานรายชื่อกับเจ้าหน้าที่อนามัยเพื่อเป็นข้อมูลไว้ การระดมทุนครั้งแรกใช้วิธีการจัดงาน ใช้การประกวดแข่งขันร้องเพลงของผู้สูงอายุแต่ละหมู่ แข่งขันกีฬา จัดกินเลี้ยงโต๊ะจีนโดยอบต.วัดขวางให้ทุนสนับสนุน ส่วนกำไรจากการจัดงานเป็นของชมรมผู้สูงอายุ แล้วเอาเงินนี้ไปใช้ในการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุที่ไม่สบายหรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทุกต้นปีจะตั้งเป้าหมายไว้ว่าในแต่ละปีจะมีการเยี่ยมกี่คน  เพราะถ้าเยี่ยมทั้งหมดเงินจะหมด ดิฉันเลยถามต่อว่าถ้าเงินหมดแล้วทำอย่าไร คุณลุงสนั่น(นิ่งสักครู่)บอกว่าไม่หมด เพราะชมรมจะได้รับบริจาคจากเจ้าภาพงานศพต่างๆ แต่ทางชมรมไม่เอาของเจ้าภาพอย่างเดียว งานศพแต่ละครั้งทางชมรมก็จะเป็นเจ้าภาพด้วยเช่นเราร่วมงานศพ 200 บาท แต่เจ้าภาพอาจจะบริจาคให้ชมรม เป็นหลักพันได้ส่วนใหญ่ก็จะได้จากผู้บริจาค ขณะนี้ชมรมมีสมาชิก 700 กว่าคน ดิฉันถามต่อว่า ชมรมทำอย่างไรถึงใช้วิธีเป็นสมาชิกอัติโนมัติโดยไม่มีปัญหาว่าบางคนอาจไม่อยากเป็นสมาชิก (ยิ้มก่อนตอบคำถาม)คุณลุงบอกว่าเป็นเพราะคณะกรรมการและสมาชิกมีการแบ่งสายการเยี่ยมผู้สูงอายุ เราจะแบ่งเป็นกลุ่มที่รับผิดชอบ ถึงแม้ไม่ป่วยเราก็ไปเยี่ยมพูดคุย คิดว่าจุดนี้เป็นจุดที่ชาวบ้านเห็นแล้วก็ยอมรับเรา แล้วก็ชมรมใช้วิธีการประชุมชี้แจงงานทุกอย่างให้สมาชิกได้ทราบทุกเดือน แต่จะมีการประชุมใหญ่ปีละ 1ครั้ง ในทุกเดือนจะมีการชี้แจงว่ายอดเงินเหลือเท่าไหร่ ทุกสิ้นปีจะสรุปการทำงานในปีที่ผ่านมา เป็นการโปร่งใสทุกเรื่อง แล้วก็จะแจ้งว่าในปีต่อไปจะทำอะไรจะเชิญอบต.มาร่วมรับฟังด้วย ในคำถามเรื่องการสร้างเครือข่ายทางชมรมทำอย่างไร คุณลุงบอกว่าใช้วิธีการเผยแพร่ หรือไปช่วยเรื่องวิธีการจัดตั้ง การบริหารชมรม ดิฉันได้ถามว่าที่นี่อะไรคือภูมิปัญญาชาวบ้าน คุณลุงบอกว่าดนตรีอังกะลุง ชมรมคิดว่าจะต้องสืบทอดอังกะลุงพื้นบ้านให้กับเยาวชนเพื่อไม่ให้สูญหาย ขณะนี้ได้เข้าไปสอนนักเรียนในโรงเรียนแล้วนำเด็กไปเล่นตามงานศพต่างๆ เป็นการช่วยให้เด็กนักเรียนมีรายได้ และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ตอนนี้ชมรมพยายามพัฒนาตามนโยบายเมืองไทยแข็งแรงด้วย (นิ่งสักครู่)ชมรมจะคิดหาวิธีการหรือกิจกรรมใหม่ๆมาบอกหมออนามัยแล้วให้หมอช่วยในอันที่เกินกว่าชมรมทำได้ ดิฉันให้คุณลุงยกตัวอย่างให้ฟังว่ามีอะไรบ้าง คุณลุงบอกว่า อยากได้ความรู้ในการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ก็ได้หมอช่วยเขียนโครงการแต่ไม่ใช่หมออนามัยเขียนคนเดียว พวกเราที่เป็นกรรมการจะมาช่วยคิดว่าเราต้องการแบบไหนที่เหมาะกับชุมชนของเรา แล้วให้หมอเขียนรายละเอียดเพื่อขอเงิน  ในปีนี้(ปี49) เราได้เงินของสสส.มาจัดทำความรู้ เชิญวิทยากรจากหน่วยงานอื่นๆมาสอน แต่ปีนี้เราดูแล้วว่าเราไม่ได้สำรวจผล(ประเมิน)ว่าเป็นอย่างไร ครั้งต่อไปเราคิดว่าจะต้องสำรวจผลด้วยว่าทำแล้วได้ผลอย่างไงบ้าง

            และนี่คืออีกชมรมหนึ่งที่น่าสนใจ ดิฉันเลยนำมาเสนอให้อ่าน และเท่าที่พูดคุยกับน้องที่อยู่สถานีอนามัย ชมรมนี้มีการทำแผนชัดเจน เดิมทำเป็นตารางว่ากิจกรรมมีอะไร อีกช่องจะทำเดือนอะไร เจ้าหน้าที่เลยแนะนำให้ทำตามแบบแผนการปฏิบัติงานของอนามัยและมีผู้รับผิดชอบกิจกรรมจะได้เห็นชัด จะเห็นได้ว่าชมรมนี้ค่อนข้างคิดให้มีระบบในการทำงาน เมื่อดูแผนการปฏิบัติจะเห็นว่ามีกิจกรรมต่อเนื่องทั้งกิจกรรมปกติที่ทำและกิจกรรม(โครงการ)เชิงวิชาการ  เป็นอีกชมรมหนึ่งในใจดิฉันเหมือนกัน
หมายเลขบันทึก: 67598เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2006 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • แวะมาทักทายค่ะ
  • เป็นเรื่องเล่าประสบการณ์ที่ดีมากเลยค่ะ คนที่ทำงานเกี่ยวกับชุมชน หรือผู้สูงอายุในชุมชนสามารถนำไปขยายหรือประยุกต์ใช้ต่อได้ และเป้นตัวอย่างของคุณอำนวยที่ดีในการซักหนุนเพื่อให้คุณกิจขยายความเรื่องเล่า เพื่อให้มีรายละเอียดมากขึ้น
  • ข้อความด้านขวามือที่อยู่ในกรอบเกี่ยวกับบล็อก (สมุดบันทึก) ควรเป็นข้อความที่บ่งบอกถึงลักษณะของบล็อกนี้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เช่น เป็นบันทึกเกี่ยวกับประสบการณ์ในการทำงานด้านอนามัยวัยเรียนและเยาวชน ฯลฯ เป็นต้น ส่วนที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้น่าจะเป็นเรื่องเล่ามากกว่านะคะ
ขอบคุณมากคะที่แนะนำ ตอนทำบล็อกไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร คือตอนนั้นยังไม่ค่อยมีความรู้เรื่องนี้มากเท่าไหร่ (ตอนนี้ก็ยังรู้น้อยเหมือนเดิมคะ)จะนำไปปรึกษาคุณหมอก้องเกียรตินะคะว่าจะแก้ไขอย่างไร
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท