การเผยแพร่นวัตกรรม (Diffusion of Innovation)


“ปัญหาอย่างหนึ่งของการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษาใน ประเทศไทย คือ ไม่สามารถทำให้เกิดการยอมรับหรือรับเอานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีนั้นไปใช้ได้ ทั้งนี้ปัญหาสำคัญมาจากกระบวนการและวิธีการเผยแพร่...” (รศ.ดร. กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์, 2552)

การเผยแพร่ (Diffusion)

หมายถึง กระบวนการที่ทำให้นวัตกรรมได้รับการยอมรับและถูกนำไปใช้โดยสมาชิกของชุมชน เป้าหมาย ฉะนั้นการเผยแพร่จึงเป็นกระบวนการซึ่งนวัตกรรม (Innovation) จะถูกนำไปถ่ายทอดผ่านช่องทางของการสื่อสาร (Communication Channels) ในช่วงเวลาหนึ่ง (Time) กับสมาชิกที่อยู่ในระบบสังคมหนึ่ง (Social System) ให้เกิดการยอมรับ (Adoption)

ลักษณะสำคัญของการแพร่กระจายนวัตกรรม

  1. 1. การแพร่กระจายเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Change) กระบวนการของนวัตกรรมของสังคมใดสังคมหนึ่งเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม ประกอบด้วยขั้นตอน การประดิษฐ์คิดค้น ผลของการรับนวัตกรรม และการประเมิน
  2. 2. การแพร่กระจายเป็นลักษณะเฉพาะของการสื่อสารแบบหนึ่ง
  3. 3. ความใหม่ของนวัตกรรมคือระดับของความไม่แน่ใจ

ทฤษฎีการแพร่กระจายนวัตกรรม

Rogers กล่าวว่า การแพร่กระจายเป็นกระบวนการที่นำนวัตกรรมมาดัดแปลงโดยสมาชิกของชุมชน มีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่  

1. ตัวนวัตกรรม (Innovation) ความคิดใหม่หรือสิ่งใหม่ที่บุคคลค้นพบ

2. สารสนเทศหรือข้อมูลที่นำไปใช้ในการสื่อสารในเรื่องของนวัตกรรม(Communication)การเผยแพร่นวัตกรรมให้เป็นที่รู้จักและยอมรับกันในสังคม จำเป็นต้องใช้การสื่อสารเพื่อเผยแพร่สิ่งใหม่ โดยองค์ประกอบหลักที่มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านการสื่อสารคือ ผู้ส่งสารที่เป็นบุคคลซึ่งค้นพบ หรือมีความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมนั้นๆ ตัวนวัตกรรมที่ต้องการเผยแพร่ และผู้รับสารที่ยังขาดความรู้หรือประสบการณ์เกี่ยวกับนวัตกรรม

3. ช่วงระยะเวลา (Time Frame) เมื่อบุคคลได้รับรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในสังคมจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้เวลาในการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งใหม่จากผู้นำนวัตกรรมเข้ามา โดยบุคคลจะยอมรับหรือปฏิเสธนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่นั้น ขึ้นอยู่กับการประเมินผลที่ผ่านกระบวนการรับรู้ การทำความเข้าใจ แล้วส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่จะนำไปประกอบการตัดสินใจที่ยอมรับหรือปฏิเสธนวัตกรรมนั้น

4. สมาชิกในระบบสังคม หรือชุมชนที่นวัตกรรมจะนำไปเผยแพร่ (In a Social System)คือ ประชากรซึ่งอยู่ในระบบสังคมมีองค์ประกอบที่แตกต่างกันไปตามแต่ละกลุ่ม โดยความแตกต่างนี้ ย่อมส่งผลถึงการยอมรับนวัตกรรมที่มีในสังคมด้วย (Rogers, 1983 อ้างถึงใน ปราณธีร์ รังแก้ว, 2555)


เทคโนโลยีการเรียนการสอนและทฤษฎีการแพร่กระจาย

Surry and Farquhar เสนอแนะว่า นักเทคโนโลยีการศึกษาควรต้องศึกษาทฤษฎีการแพร่กระจายเนื่องจาก

1. นักเทคโนโลยีการศึกษาไม่รู้สาเหตุของการเปลี่ยนแปลง เมื่อได้ศึกษาทฤษฎีการแพร่กระจาย นักเทคโนโลยีการศึกษาจะสามารถอธิบาย ทำนาย และหาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

2. เทคโนโลยีการศึกษาต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในการเรียนการสอนให้ทันสมัย เหมาะสมกับกาลเวลา

3. นักเทคโนโลยีการศึกษามีความสามารถในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ เพื่อค้นหารูปแบบที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนมากที่สุด

นอกจากนี้ ทฤษฎีการพัฒนาการเรียนการสอนเปรียบเสมือนหลักการที่มีการวิจัยในระดับมหภาคและจุลภาค การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาให้เหมาะสมตามความต้องการ เป็นการปรับเปลี่ยนทั้งโครงสร้างและองค์กร ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเพียงบางส่วนเท่านั้น

อ้างอิงจาก http://www.moe.go.th/moe/upload/news_research/htmlfiles/12386-1459.html

หมายเลขบันทึก: 675816เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2020 19:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2020 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีจังเลยค่ะ ได้ความรู้^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท