ทีม Independent living นครปฐม


     ณ วันจันทร์ที่่ 13 มกราคม 2563 นักศึกษากิจกรรมบำบัด ชั้นปีที่3 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีโอกาสได้ไปสังเกตเรียนรู้การทำงานของทีม Independent living นครปฐมในการทำงานด้านชุมชนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งในตอนเช้าจะเป็นการให้ความรู้ของพี่ๆในทีม ซึ่งพี่ๆจะมีการให้ทำกิจกรรมเป็น 2 ฐาน ในฐานที่1 จะเป็นการให้นักศึกษาได้จำลองเป็นผู้พิการในรูปแบบต่างๆคือ เป็นคนตาบอด,ใบ้,ขาทั้งสองข้างไม่สามารถใช้งานได้จึงต้องนั่ง wheelchairและแขนทั้งสองข้างใช้งานไม่ได้ โดยจะมีนักศึกษาอีกส่วนหนึ่งพูดบอกประโยคที่คนส่วนมากอาจจะชอบใช้พูดกับผู้พิการโดยที่ไม่รู้ตัวเช่น เสียดายจังน่าตาก็ดีไม่น่าเป็นแบบนี้เลย,ไม่ต้องทำหรอก เป็นภาระคนอื่นเค้า และอีกมากมาย โดยให้นักศึกษาพูดใส่นักศึกษาที่จำลองเป็นผู้พิการ หลังจากนั้นก็จะมีการถามความรู้สึกของผู้ที่จำลองเป็นผู้พิการว่ารู้สึกอย่างไรเมื่อมีคนพูดประโยคแบบนี้ใส่เรา และถามนักศึกษาที่เป็นคนพูดว่ารู้สึกอย่างไรเมื่อพูดประโยคแบบนั้นออกไป ต่อไปเป็นกิจกรรมของฐานที่2 จะเป็นการให้นักศึกษาจำลองเป็นผู้พิการแบบต่างๆที่กล่าวไว้ในข้างต้น แล้วมาร่วมกันทำกิจกรรมการเดาะบอลให้ครบตามจำนวนที่กำหนดโดยกติกามีอยู่ว่าทุกคนในกลุ่มจะต้องได้เดาะบอล ถ้าทำไม่ได้ก็จะต้องตัดสมาชิกออก 1 คนโดยการลงความเห็นของคนในกลุ่มว่าต้องการเลือกให้ใครออก แล้วกติกาก็จะยากขึ้นตามลำดับ หลังจากจบกิจกรรมพี่ๆจะมีการถามความรู้สึกของผู้ที่ถูกคัดออก และผู้ที่ยังอยู่ในกลุ่มว่ารู้สึกอย่างไรที่ต้องตัดเพื่อนในกลุ่มออกไป และรู้สึกอย่างไรเวลาที่ต้องทำกิจกรรมด้วยความพิการที่เราได้เป็น หลังจากการทำกิจกรรมจบทั้ง 2 ฐานจะเป็นการให้นักศึกษาจำลองเป็นนักกิจกรรมบำบัดเข้าหา และพูดคุยกับผู้พิการเพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้พิการที่ติดบ้านหรือไม่สามารถจัดการตนเองได้ โดยพี่ๆจะแสดงบทบาทสมมติเป็นผู้พิการและผู้ดูแล เพื่อเป็นการให้ความรู้เรื่องการเข้าหา การใช้คำพูดที่เหมาะสมในการพูดคุยกับผู้พิการและผู้ดูแล หลังจากนั้นจะเป็นการให้ความรู้ในกระบวนการทำงานของทีม Independent living นครปฐมและซักถามข้อสงสัย ในตอนบ่ายจะเป็นการลงไปเยี่ยมบ้านหาพี่ๆทีม Independent living คนอื่น   

    หลังจากที่ได้เข้าร่วมทำกิจกรรมรู้สึกตื่นเต้น เข้าใจ และชื่นชม ตื่นเต้นเพราะการที่เราได้จำลองเป็นผู้พิการในรูปแบบต่างๆที่กล่าวไปแล้วในข้างต้นนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่ได้ทำหรือเป็นในชีวิตของเราปกติ พอได้จำลองเป็นผู้พิการก็เลยรู้สึกเข้าใจในความรู้สึกของผู้พิการมากขึ้นว่าเขารู้สึกอย่างไรเวลาทำกิจกรรมกับผู้อื่นแล้วตัวกิจกรรมไม่ได้เอื้อต่อตัวของเขามากนัก เข้าใจมากขึ้นกับความรู้สึกที่ต้องได้ยินคำพูดที่ตัดสินตัวเราไปแล้วว่าเราทำไมได้หรือเราเป็นภาระของคนอื่น และรู้สึกชื่นชมพี่ๆทีม Independent living เป็นอย่างมากในการทำงานเพราะพี่ๆมีการทำงานที่เป็นระบบ เป้าประสงค์ของทีมชัดเจน และยังมีการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในการช่วยเหลือผู้พิการ ที่ทำได้จริงตามที่พี่ๆได้วางแผนไว้

     จากการได้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ว่า เป้าประสงค์ของทีม Independent living คือการสร้างเสริมพลังใจให้คนพิการสามารถอยู่ได้อย่างอิสระ หรือสามารถลุกขั้นมาทำกิจกรรมที่อยากทำได้ และอยากให้ผู้พิการดำรงชีวิตได้อย่างอิสระในรูปแบบของตนเอง โดยพี่ๆในทีมเชื่อว่า ทุกคนสามารถพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงได้ โดยทีม มีหน้าที่เป็นเพื่อนผู้พิการ คือ เป็นผู้รับฟังให้คำปรึกษา แนะนำ แบบเพื่อนที่เข้าใจในความพิการ โดยจะให้ผู้พิการเป็นคนเลือกรูปแบบการใช้ชีวิตของตนเองด้วยตนเอง การที่ทีมเข้าหาผู้พิการแบบเพื่อนทำให้ผู้พิการเชื่อใจและไว้ใจ ทำให้ง่ายต่อการแนะนำและส่งเสริมให้เค้าก้าวออกมาจากสิ่งที่เขาเผชิญอยู่หรือเป็นอุปสรรค ที่ทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ ถ้าผู้พิการยังไม่เชื่อใจหรือไว้ใจ ทางทีมจะมีการแนะนำผู้พิการต้นแบบ ที่มีความพิการใกล้เคียงกับตัวเขามากที่สุด ผู้พิการต้นแบบคือ ผู้พิการที่สามารถจัดการตนเองได้ การจัดการตนเองได้ ยกตัวอย่างเหตุการณ์เช่น ถ้าผู้พิการอยากที่จะอาบน้ำเขาสามารถที่จะบอกความต้องการที่จะอาบน้ำ จัดการเวลาอย่างเหมาะสมได้ ซึ่งทางทีมจะมีการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลส่วนตำบลต่างๆ เช่นโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น,โรงพยาบาลนครชัยศรีและศูนย์พัฒนาชุมชน ในการช่วยเหลือผู้พิการ และในวันนี้เราได้เรียนรู้การใช้คำพูด ภาษากายที่เหมาะสมในการเข้าหาผู้พิการอีกด้วย

     จากกิจกรรมที่ได้เข้าร่วมจะนำความรู้ที่ได้นำไปใช้ในวิชาชีพกิจกรรมบำบัด โดยนำเอาการเข้าหาผู้พิการโดยที่เราต้องเข้าหาด้วยความเป็นมิตร เป็นธรรมชาติ จำเป็นต้องพูดบอกเบื้องต้นว่าเรามาจากที่ไหน มาทำอะไร และสิ่งสำคัญถ้ามีเครือข่ายที่มีความน่าเชื่อถือ ก็จะทำให้พ่อแม่หรือผู้ดูแลผู้พิการสบายใจ เชื่อใจและไว้ใจเรามากขึ้น และเรายังต้องให้ความสำคัญกับทั้งผู้พิการและผู้ดูแลไปพร้อมกัน โดยเข้าหาผู้พิการด้วยคำถามง่ายๆ เช่น ชอบทำอะไร ชอบกินอะไร แล้วค่อยๆพูดโยงเข้าเรื่องที่เราต้องการพูด จะทำให้เราเข้าหาผู้พิการได้ง่ายขึ้นและเมื่อต้องไปหาผู้พิการควรจะนำผู้พิการต้นแบบไปพร้อมกับเราด้วย เพราะจากการที่เราได้เรียนรู้มาในข้างต้น ผู้พิการจะรู้สึกว่าเราเป็นคนที่ไม่ได้พิการคงไม่ได้รู้สึกเข้าใจอะไรมาก แต่ถ้ามีผู้พิการต้นแบบที่ลักษณะคล้ายๆกันกับเขา เขาจะรู้สึกว่าผู้พิการตนแบบเข้าใจเขาได้มากกว่าเรา ทำให้งานต่อการทำงานของเราเป็นอย่างมาก และการติดต่อประสานงานกับทางทีม Independent living ในการทำงานเพื่อผู้พิการจะทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะบางเรื่องเราก็ไม่สามารถเข้าใจได้เท่ากับผู้พิการ เช่นในการเคลื่อนย้ายตัวหรือการใช้ wheelchair ผู้พิการจะมี technique นอกเหนือจากบทเรียนของเรา เราก็สามารถขอคำแนะนำหรือประสานงานให้ทางทีมเป็นผู้สอนผู้พิการของเราได้ และจากกิจกรรมที่ได้ทำ ทำให้เราได้คำพูด การวางตัวเขาหาผู้พิการที่เหมาะสมสามารถนำเอาไปใช้ได้ในการทำงานกับผู้พิการในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 675311เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2020 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2020 20:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท