ครั้งที่ 3 โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น


วันที่ 21 มกราคม 2563

โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น เป็นโรงพยาบาลชุมชนที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากมายนัก แค่ก้าวแรกที่เข้าไปก็ได้รับการต้อนรับที่แสนอบอุ่นจากพี่บุคลากร หลักๆที่เราได้อยู่ด้วยจะมี พี่หนิงPT และพี่เรนOT ที่นี่เน้นการรักษาในเรื่องเวชศาสตร์ฟื้นฟู มีการบริการที่หลากหลายทั้งแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน มีทัวร์สุขภาพ และที่สำคัญคือมีบ้านฝึกการดำรงชีวิตอย่างอิสระ(IL)ซึ่งเราคิดว่าเป็นประโยชน์มากต่อผู้ที่ได้รับความพิการแล้วต้องการกลับออกไปใช้ชีวิตด้วยตนเอง หรือมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาตนเองได้ เช่น อยู่คนเดียว บ้านหลังนี้เป็นเหมือนบ้านต้นแบบให้ผู้พิการลองใช้ชีวิตด้วยตนเองจริงๆ โดยภายในบ้านจะมีการปรับสิ่งแวดล้อมให้ค่อนข้างเอื้อต่อการทำกิจกรรมของผู้พิการ นอกจากนี้เรายังมีโอกาสได้ไปดูห้องฝึกสมอง สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางด้านความจำ มีภาวะสมองเสื่อม ภายในห้องมีอุปกรณ์ง่ายๆที่หาได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นกล่องช้อนส้อม นาฬิกาปลุก แผ่นตัวเลข เกมจับคู่ หนังสือ ซึ่งเป็นไอเดียให้เราไปประยุกต์ใช้ต่อได้อีก เพราะทุกสิ่งรอบๆตัวสามารถนำมาใช้เป็นสื่อในการรักษาได้ มีโอกาสได้มองภาพรวมของงานกิจกรรมบำบัดแต่ละฝ่ายคร่าวๆผ่านการชวนคิดของพี่เรน ทำให้เราเห็นภาพการลงชุมชนในบทบาทของ OT มากขึ้น นอกจากทางโรงพยายบาลจะมีทางเลือกในการฟื้นฟูที่หลากหลายแล้วนั้น ทางโรงพยาบาลยังมีเครือข่ายกับโรงเรียนผู้สูงอายุอีกด้วย โดยโปรแกรมที่จะเข้าไปมีบทบาทนั้นเป็นในเรื่องของการป้องกันการล้ม เกมกระตุ้น cognitive ภายใต้แนวคิด “ไม่ล้ม ไม่ลืม” จะเห็นได้ว่าเราไม่ได้ให้ความสนใจแค่กับผู้ป่วยในหรือผู้รับบริการที่เดินทางมาโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงชาวบ้านทุกคนในชุมชน ทุกเพศ ทุกช่วงวัย

ช่วงบ่ายมีโอกาสได้ลงไปดูเคส แม้ว่าจะรู้สึกว่าเราได้ดูค่อนข้างบ่อยแต่เรารู้สึกว่า แต่ละที่ที่ไป แต่ละคนที่เราไปพบล้วนแต่แตกต่างกัน ทุกครั้งที่ไปจะมีสิ่งใหม่ๆรอให้เราได้เรียนรู้อยู่เสมอ วันนี้เราไปเจอกับน้องคนนึงอายุ 13 เอง น้องเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวอาจจะมีโรคความเสื่อมมาเกี่ยวข้องด้วย จากที่ได้ฟังพี่เรนและคุณยายของน้องเล่า เห็นว่าตอนแรกน้องติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย ต่างจากวันนี้ที่เราไปมาก น้องสามารถช่วยเลือตนเองในกิจวัตรประจำวันพื้นฐานได้เป็นอย่างดี มีปัญหาเล็กน้อยในเรื่องของการสื่อสารเพราะน้องเจาะคอทำให้เวลาพูดไม่มีเสียงออกมา ต้องอาศัยการอ่านปากและการเขียนสื่อสารเอา ครอบครัวของน้องก็อบอุ่นมากๆ ทุกคนพร้อมที่จะช่วยเหลือและฝึกน้องเพื่อให้กลับมาเป็นปกติที่สุด รู้สึกดีที่เห็นภาพบรรยากาศแบบนี้เกิดขึ้น และรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากที่ได้เข้ามาดูเคสนี้ เนื่องจากไม่ค่อยมีเคสความเจ็บป่วยแบบนี้มาให้ได้ลองดูลองศึกษาสักเท่าไร พี่เรนบอกว่าไม่ได้เข้ามาประมาณ 2-3 เดือนแล้ว ครั้งล่าสุดที่มาน้องยังไม่เก่งเท่านี้เลย ทำให้เราตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการ follow up เพราะไม่ใช่แค่ผู้รับบริการ Discharge ออกไปแล้วก็จบ เราควรมีการติดตามเผื่อว่าเขามีปัญหาอะไรในบริบทที่บ้าน จะได้ทำการช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ และปรับสิ่งแวดล้อมหรือกิจกรรมต่างๆให้ หากมีสิ่งที่ไม่เหมาะสมจะได้แก้ไขได้อย่างทันท่วงที เพื่อที่เขาจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เจ็บป่วยซ้ำหรือมีอาการแย่ลง

วันที่ 28 มกราคม 2563

ได้ไปจัดกิจกรรมให้กับโรงเรียนผู้สูงอายุบางระกำ คุณตา คุณยายที่นี่น่ารักมากให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมทุกอย่างเลย ตั้งแต่เรื่องของการยืดกล้ามเนื้อ รำวง และกิจกรรมกลุ่มประดิษฐ์ของตักเกลือ นอกจากนี้คุณตา คุณยายยังได้แสดงกิจกรรมออกกำลังกายประกอบเพลงซึ่งได้ทำกันเป็นประจำให้พวกเราได้ดู ซึ่งมีการใช้อุปกรณ์คือกะลาเจาะรูแล้วร้อยเชือก ใช่ อุปกรณ์ง่ายๆที่หาได้ทั่วไปอีกแล้วบริบทชุมชนทำให้ได้เรียนรู้ว่าทุกสิ่งรอบหัวสามารถหยิบจับมาประยุกต์ใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่แพง ทั้งยังได้ความภาคภูมิใจในผลงานอีกด้วย หลังจบกิจกรรมกลุ่มมีการแยกเพื่อทำแบบประเมินดูในเรื่องของทักษะการวางแผน และความจำความเข้าใจเป็นหลัก รวมถึงมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณยายที่เราทำการประเมิน คุณยายท่านที่มาประเมินกับเราเรียกได้ว่าเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุขดี พึงพอใจกับชีวิต คุณยายเล่าว่าหากมีเวลาว่างก็นัดเพื่อนๆในโรงเรียนไปเที่ยวกัน ไม่ก็ไปเที่ยวกับคุณตา แถมสุขภาพยังแข็งแรง ไม่มีปัญหาอะไร อาจมีแค่เรื่องความจำที่มีหลงลืมบ้างเล็กน้อยเท่านั้น จากการคุยกันทำให้เรารู้ว่าจริงๆแล้วความสุขของคนเรา อาจจะเเค่เพียงมีสุขภาพที่ดี ได้อยู่กับคนที่เรารัก และได้รับความรักจากผู้อื่นก็เท่านั้นเอง อาชีพของเราก็เป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพดังนั้นเราจะตั้งใจทำหน้าที่ของเราให้ดี เพื่อช่วยให้ผู้รับบริการทุกคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติที่สุดตามความสามารถของเขา

ช่วงบ่ายมีการกลับมาฟังการบรรยายที่โรงพยาบาล เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเครือข่ายต่างๆที่ร่วมมือกันกับโรงพยาบาล พบว่า IL ก็เข้ามามีบทบาทกับที่นี่เหมือนกัน เป็นเรื่องที่ดีนะที่เราได้มาเรียนรู้อะไรแบบนี้ เผื่อวันใดวันหนึ่งเราได้กลับมาทำงานกับชุมชน เราจะได้ให้คำแนะนำแก่บุคคลอื่นได้ว่ามีหน่วยงาน หรือองค์กรใดสามารถช่วยเหลือเขาได้ ในวันนี้เราก็ได้ข้อคิดที่รู้สึกว่าเป็นประโยชน์มากๆต่อวิชาชีพ นั่นคือหลักการทำงานแบบยึกผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง การพูดคุยและสอบถามกับผู้รับบริการว่า “เขาอยากจะทำอะไร” ไม่ใช่เราไปยัดเยียดว่า “เขาควรทำอะไร” เพื่อให้ตอบกับความต้องการและมีผลต่อกระบวนการฟื้นฟู เพราะคนเราหากทำอะไรโดยไม่มีใจรัก หรือไม่มีความอยากทำ งานนั้นๆคงจะประสบความสำเร็จได้ยาก แต่หากสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เราต้องการแล้วใจเราจะมีแรงในการขับเคลื่อนและทำให้ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

หมายเลขบันทึก: 675130เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2020 14:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2020 18:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท