กิจกรรมบำบัดในชุมชน : โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น


วันที่ 21 และ 28 มกราคม 2563 ณ โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

ในวันที่ 21 มกราคม 2563 เวลาประมาณ 8.30 น. ได้เดินทางมาที่โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่นเป็นครั้งแรก โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่นนั้นเป็นโรงพยาบาลชุมชน มีทั้งหมด 30 เตียง พี่ๆได้อธิบายเกี่ยวกับโรงพยาบาลและได้พาเดินสำรวจทั่วโรงพยาบาล จากที่ได้เดินชมมีแผนกแพทย์แผนจีน แผนกแพทย์แผนไทย มีการดูแลผู้ป่วยกึ่งวิกฤตโดยใช้การแพทย์แบบผสมผสานทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนจีน มีห้องเช่าสำหรับผู้ป่วยที่มาจากต่างจังหวัด เรียกว่า Machima building มีการทำทัวร์สุขภาพหรือ health tour เป็นการล่องเรือและมีโรงเรียนสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งโรงพยาบาลแห่งนี้มีโดดเด่นอยู่ที่หน่วยฟื้นฟู มีนักกายภาพบำบัด 4 คนและนักกิจกรรมบำบัด 1 คน โดยหน่วยฟื้นฟูของโรงพยาบาลนั้นทำงานร่วมกับศูนย์ดำรงชีวิตอิสระของคนพิการหรือทีม IL ในการรักษาผู้ป่วยติดเตียง มีการทำงานร่วมกันครั้งแรกในปี 2555 เนื่องจากทีม IL ได้มีความเห็นว่าการทำงานของทีมฟื้นฟูของโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่นนั้นมีศักยภาพ จึงได้เข้ามาติดต่อกับทางโรงพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงให้สามารถกลับมาดำรงชีวิตด้วยตัวเองได้อีกครั้ง การทำงานของหน่วยฟื้นฟูโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่นมี 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) Full recovery สามารถฟื้นฟูจนผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง 2) ผู้ป่วยที่ยังมีความพิการหลงเหลืออยู่ โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้ทางหน่วยฟื้นฟูก็จะทำการรักษาร่วมกับการทำงานของทีม IL  

สำหรับผู้ป่วยทางกายที่พบได้บ่อย คือ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) บทบาทของนักกิจกรรมบำบัดคือการฝึกกระตุ้นกลืน (Swallowing) และฝึกการทำงานของมือ (Hand function) เป็นการฝึกแบบ Intensive Rehabilitation Program คือ การฝึก 3-5 ครั้งต่อ 1 สัปดาห์ ครั้งละ 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ก็มีผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บทางสมอง (Traumatic brain injury) , ผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลัง (Spinal cord injury) , ผู้ป่วยผ่าตัดรอบสะโพก , ผู้ป่วยบาดเจ็บที่สะโพก (Hip fracture)

สำหรับผู้ป่วยเด็กก็จะมีเด็กออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) , เด็กสมาธิสั้น (ADHD) , เด็กสมองพิการ (Cerebral palsy) 

มีศูนย์การดำรงชีวิตอิสระ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้มาจากทีม IL คือเป็นการจำลองการใช้ชีวิตด้วยตัวเองสำหรับผู้ป่วยที่มีความพร้อมที่จะออกจากโรงพยาบาลเพื่อไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง โดยจะเป็นบ้าน 1 หลังที่มีห้องนอน ห้องน้ำและห้องครัวอยู่ในตัวบ้าน ผู้ป่วยจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนี้ด้วยตัวเองเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและปรับตัวที่จะใช้ชีวิตด้วยตัวเอง

จากนั้นในช่วงบ่ายจะเป็นการแบ่งกลุ่มเป็น 4 กลุ่ม เพื่อไปดูเคสตามบ้าน ร่วมกับอาจารย์และพี่ๆจากหน่วยฟื้นฟู เคสที่ได้เจอเป็น stroke อ่อนแรงข้างขวา เคยทำอาชีพทำไร่ทำนา มีการดัดแปลงอุปกรณ์ที่บ้านใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับฝึกกำลังกล้ามเนื้อและฝึกเดินได้ มีการพูดคุยและประเมินร่างกายเบื้องต้น มีการให้คำแนะนำเล็กน้อยจากนั้นจึงเดินทางกลับ

ในวันที่ 28 มกราคม 2563 ได้ไปทำกิจกรรมที่โรงเรียนผู้สูงอายุ เวลา 9.00 - 11.00 น.

มีผู้สูงอายุมาเข้าร่วมกิจกรรมด้วยประมาณ 20 คน โดยในชั่วโมงแรกจะเป็นกิจกรรมออกกำลังกายที่นักศึกษาเป็นคนจัดให้ผู้สูงอายุและกิจกรรมออกกำลังของโรงเรียนผู้สูงอายุ จากนั้นจึงเป็นกิจกรรมกลุ่มเพื่อฝึกการวางแผนร่วมกัน คือกิจกรรมประดิษฐ์สิ่งของเพื่อตักเกลือใส่ขวด โดยกิจกรรมนี้นักศึกษาจะมีสิ่งของที่แตกต่างกัน 2 ชนิดให้ในแต่ละกลุ่ม เช่น กระดาษ , ฝาขวดน้ำ , เชือกปอ ฯลฯ แล้วให้แต่ละกลุ่มใช้อุปกรณ์ที่ได้รับนำมาประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อใช้ตักเกลือ โดยจะมีเวลาให้ผู้สูงอายุช่วยกันวางแผนแล้วจึงเริ่มกิจกรรม กลุ่มไหนสามารถตักเกลือได้เต็มขวดก่อนเป็นผู้ชนะ เมื่อจบกิจกรรมแล้วมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกกันในแต่ละกลุ่ม ทำให้ได้ทราบว่าผู้สูงอายุในแต่ละกลุ่มมีความภาคภูมิใจในอุปกรณ์ที่ได้ช่วยกันประดิษฐ์มากกว่าผลแพ้ชนะ
หลังจากนั้นจึงเป็นกิจกรรมการประเมินความสามารถด้านทักษะสมองโดยนักศึกกิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 3 และการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้สูงอายุ เมื่อจบกิจกรรมแล้วจึงกล่าวขอบคุณผู้สูงอายุที่มาเข้าร่วมกิจกรรมและแยกย้ายกันไปรับประทานอาหาร

จากกิจกรรมที่โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่นทั้ง 2 วันที่ผ่านมา ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานและบทบาทหน้าที่ของหน่วยฟื้นฟู รวมไปถึงการทำงานร่วมกับทีม IL ทำให้ได้เห็นภาพการทำงานของวิชาชีพต่างๆที่ต่างกัน ซึ่งแต่วิชาชีพนั้นก็มีความถนัดและความรู้ที่แตกต่างกันไป แต่ทุกคนนั้นมีเป้าหมายเดียวกัน คือ เพื่อรักษาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้รับบริการ/ผู้ป่วยให้ดีที่สุด จึงรู้สึกประทับใจอย่างมากที่ได้มีโอกาสมาเรียนรู้การทำงานนี้ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับในวันนี้ไปปรับใช้ได้ในอนาคต เช่น ถ้ากลับไปทำงานที่ต่างจังหวัดก็หาข้อมูลเพื่อทำงานร่วมกับศูนย์ดำรงชีวิตอิสระของคนพิการของจังหวัดนั้น , ลักษณะการทำงานร่วมการนักกายภาพบำบัด พยาบาลฟื้นฟู แพทย์ฟื้นฟู , การติดต่อประสานงานกับโรงพยาบาลต่างๆ เป็นต้น



คำสำคัญ (Tags): #กิจกรรมบำบัด
หมายเลขบันทึก: 675044เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2020 23:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2020 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท