ครั้งที่2 ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการ พุทธมณฑล


วันที่ 13 มกราคม 2563

การดำรงชีวิตอิสระหมายถึง การที่คนพิการสามารถคิด กำหนด จัดการตนเอง หรือตัดสินใจเลือกแนวทางการดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเองตามระดับความสามารถที่เขามี วันนี้เราได้มีโอกาสมาเรียนรู้กับพี่ๆจากศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล ในช่วงเช้าเป็นการทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกัน ซึ่งมีกิจกรรมหลักอยู่ 2 อย่าง คือ

1.การเรียนรู้ความรู้สึกของคนพิการ ผ่านการทำกิจกรรมเดาะบอล และกิจกรรมลำโพง ; ฐานเดาะบอลซึ่งการเล่นพวกเกมกีฬาเป็นอะไรที่เราถนัด แต่เมื่อต้องมาทดลองเป็นคนพิการ(วันนี้เราทดลองเป็นคนใบ้) ปกติการสื่อสารในชีวิตประจำวันเราสามารถทำได้ง่ายมากมาก ยิ่งเราเป็นคนชอบพูดชอบคุยกับคนอื่นอยู่แล้ว พอต้องอยู่แบบเงียบๆสื่อสารได้เพียงทางสายตา หรือต้องใช้ภาษาท่าทาง เป็นความรู้สึกที่อึดอัด บางทีเราต้องการจะเสนอความคิดวิธีการเล่นให้ประสบความสำเร็จตามที่โจทย์กำหนดให้ แต่เราก็ไม่สามารถทำได้ ไม่มีใครมารับรู้ความคิดเห็นของเรา ไม่มีใครรู้ว่าเราคิดอะไร ต้องการอะไร หรืออยากช่วยแคไหน นี่คงเป็นตัวอย่างของคำที่เขาบอกว่า “ไม่เจอกับตัวไม่รู้หรอก” เข้าใจเลยว่าทำไมบางครั้งผู้รับบริการไม่ยอมเปิดใจกับเรามาก เพราะเค้าคิดว่าเราไม่มีทางเข้าใจเขาแน่นอน ทำให้รู้ว่าทุกอย่างต้องใช้เวลา ในการเข้าหาและสร้างสัมพันธภาพกับเขาซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับการทำงานในอนาคต อีกกิจกรรมหนึ่งเราได้เล่นเป็นลำโพง พูดคำที่หลายคนมองว่าก็เป็นคำพูดปกติทั่วไป บางทีเราไม่ทันได้คิดด้วยซ้ำว่ามันจะส่งผลกระทบต่อจิตใจคนอื่นมากหรือน้อยแค่ไหน เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่าคำพูดก็เหมือนดาบสองคม จะใช้ไปในทางที่ดีหรือไม่ดีมันก็ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าจะใช้ในการช่วยดึงเขาขึ้นมาหรือผลักเขากลับลงไปให้ลึกกว่าเดิม

2.การแสดงทักษะ แลกเปลี่ยนมุมมองและความเห็นเกี่ยวกับการเข้าหาผู้รับบริการรวมถึงการทำงานในระบบชุมชนกับพี่ๆ IL ซึ่งมีระบบการทำงานแบบเชิงรุกอยู่แล้ว ว่าการที่เราจะไปสร้างสัมพันธภาพต้องอาศัยให้ค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรัดจะเอาข้อมูล บอกจุดประสงค์ของการมาให้ชัดเจน นอกจากนี้อาจจะอาศัยทักษะการสังเกตเข้ามาช่วย เพื่อดึงประเด็นการสนทนาให้ตรงกับความสนใจของเขา ส่วนทางด้านของผู้ดูแลเราก็ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กับผู้รับบริการ ไม่ทำให้เขารู้สึกว่าถูกเพิกเฉยเพื่อที่เขาจะได้เปิดใจยอมรับในตัวเรา พยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เราทำ และให้ความร่วมมือกับเรา การทำงานของพี่ IL ไม่เพียงแต่ลงไปพูดคุยกับผู้รับบริการและผู้ดูแลในชุมชนอย่างเดียว แต่ยังมีการส่งเสริมในเรื่องกายอุปกรณ์ มีคนดูแลเมื่อออกมาข้างนอก มีการให้คำปรึกษาดูแลเปรียบเหมือนเพื่อน (peer conseling)เพื่อสนับสนุนให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระในแบบที่เขาต้องการได้

ตอนบ่ายมีโอกาสได้ลงไปดูเคสตัวอย่างพี่ยา(นามสมมติ)ประสบอุบัติเหตุตกจากรถมอเตอร์ไซค์ ทำให้ต้องใช้ชีวิตเป็นมนุษย์วีลแชร์ แต่เขาสามารถทำกับข้าว ซักผ้า ดูแลตัวเองได้เป็นอย่างดี เรียกรถไปโรงพยาบาลเองได้โดยไม่ต้องมีผู้ดูแลคอยช่วยเหลือ ประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยต่างๆด้วยตัวเอง เช่น ไม้เกี่ยววีลแชร์ เวลาลุกจากเตียงจะได้ดึงวีลแชร์เข้ามาเทียบได้ง่ายขึน นำสิ่งที่อยู่รอบตัวมาปรับใช้ พี่ยาเป็นคนที่เก่งมากคนนึงในสายตาเรา ถ้าเป็นเราเราก็ไม่รู้ว่าจะทำได้ขนาดเขาไหม เขาใช้คำดูถูกมาเป็นแรงผลักดันในการดำเนินชีวิต จากคนที่ท้อแท้เมื่อเห็นวีดิโอของพี่คนหนึ่งที่อยู่ในILเขาได้ลุกขึ้นสู้และคิดว่าเมื่อคนอื่นทำได้เราก็ต้องทำได้เช่นกัน นอกจากนี้พี่เขายังมีการจัดตั้งชมรมคนพิการขึ้นมาภายในชุมชนด้วย เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือ ส่งเสริม คนอื่นๆด้วยเช่นกัน การที่ได้ลงไปในชุมชนนี้ทำให้ได้เรียนรู้ถึงเครือข่ายต่างๆที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน หากเราจะให้คำแนะนำแก่ผู้รับบริการในชุมชนเราควรแนะนำหรือประสานกับหน่วยงานใดบ้าง เห็นพี่ยาแล้วต้องหันกลับมามองตัวเองเลย ว่าวันนี้เราทำเต็มที่และทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดแล้วรึยัง เราช่วยเหลือเอื้อเฟื้อต่อคนอื่นตามที่เราเคยตั้งเป้าหมายไว้ไหม ถ้ายังคงต้องลุกขึ้นมาพยายามขึ้นมากกว่านี้อีกหน่อยเนอะ เชื่อมั่นในตัวเองไว้ เพราะทุกคนสามารถพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตถ้าเจอเคสที่ยาก หรือผู้รับบริการที่ท้อใจ ก็ขอให้เชื่อแบบนี้และทำใหเขามีความเชื่อและมั่นใจขึ้นมาให้ได้นะ

หมายเลขบันทึก: 675041เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2020 23:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2020 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท