การใช้สื่อการสอนอย่างเป็นระบบ โดยใช้แบบจำลอง ASSURE Model


การใช้สื่อการสอนอย่างเป็นระบบ โดยใช้แบบจำลอง ASSURE Model


         ในการวางแผนการใช้สื่อการสอนนั้น ผู้สอนควรมีการวางแผนการใช้สื่ออย่างรัดกุมและเป็นระบบ ทั้งนี้เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติจริง ซึ่งจะทำให้ผู้สอนเกิดความมั่นใจในการใช้สื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้สูงสุดตามความสามารถของแต่ละบุคคล และตรงตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่วางไว้ การวางแผนการใช้สื่อการสอนโดยใช้แนวคิดของ “ASSURE Model” เป็นแบบจำลองที่ได้รับความนิยมในการนำไปใช้ เพื่อวางแผนการใช้สื่ออย่างมีประสิทธิภาพ (Heinich and others 1999) ซึ่งมีขั้นตอนทั้งหมด 6 ขั้นตอน ดังนี้

A nalyze Leaner Characteristics การวิเคราะห์ลักษณะผู้เรียน
S tate Objectives การกำหนดวัตถุประสงค์
S elect, Modify, of Design Materials การเลือก ดัดแปลง หรือออกแบบสื่อใหม่
U tilize Materials การใช้สื่อ
R equire Learner Response การกำหนดการตอบสนองของผู้เรียน
E valuation การประเมิน
        การวิเคราะห์ลักษณะผู้เรียน (Analyze Leaner Characteristics)       การวิเคราะห์ลักษณะผู้เรียน จะทำให้ผู้สอนได้ทราบลักษณะทั่วไปและลักษณะเฉพาะของผู้เรียน เพื่อที่ผู้สอนจะได้เลือกใช้สื่อการเรียนการสอนได้เหมาะสมกับผู้เรียนและบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอน การวิเคราะห์ผู้เรียนแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้    
1. ลักษณะทั่วไป ได้แก่ อายุ ระดับความรู้ เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ของผู้เรียนแต่ละคน ซึ่งลักษณะทั่วไปจะช่วยให้ผู้สอนสามารถเลือกระดับของบทเรียนและตัวอย่างของเนื้อหาให้เหมาะสมกับผู้เรียนได้ เป็นลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่จะสอน แต่เกี่ยวข้องกับการเลือกใช้สื่อการเรียนการสอนโดยตรง    
2. ลักษณะเฉพาะ ของผู้เรียนแต่ละคน มีส่วนสำคัญโดยตรงกับเนื้อหาบทเรียนตลอดจนสื่อการสอนและวิธีการที่จะนำมาใช้ในการสอน โดยสิ่งที่ต้องนำมาวิเคราะห์ได้แก่ พื้นฐาน ความรู้ของผู้เรียน, ดูว่าผู้เรียนมีความชำนาญในทักษะที่สอนนั้นมาก่อนหรือไม่ เพื่อจะได้สอนให้ตรงกับจุดมุ่งหมายที่วางไว้, ทักษะทางด้านภาษา การอ่านเขียน การคำนวณ เป็นต้น และทัศนคติต่อวิชาที่จะเรียน            การวิเคราะห์ลักษณะผู้เรียนสามารถนำไปใช้ในการเลือกสื่อที่เหมาะสมได้ เช่น ผู้เรียนมีทักษะในการอ่านต่ำกว่าเกณฑ์ก็สามารถช่วยได้ด้วยการใช้สื่อประเภทที่ไม่ใช่สื่อสิ่งพิมพ์ การวิเคราะห์ลักษณะผู้เรียนอาจทำได้ด้วยการสนทนากับผู้เรียนหรือผู้ร่วมชั้นอื่นๆ หรืออาจมีการทดสอบก่อนเรียนเพื่อดูพื้นฐานของผู้เรียนก็ได้
การกำหนดวัตถุประสงค์ (State Objectives)  ในการกำหนดวัตถุประสงค์ควรเป็นวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม เพื่อให้สามารถเลือกใช้วิธี
การสอนและสื่อการเรียนการสอนได้เหมาะสม การกำหนดวัตถุประสงค์เป็น "วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม" แบ่งออกเป็น          
       1. พุทธิพิสัย เป็นวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เพื่อวัดการเรียนรู้ของผู้เรียนเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจ สติปัญญา และการพัฒนา          
       2. จิตพิสัย เป็นวัตถุประสงค์ทางด้านความคิด ทัศนคติ ความรู้สึก ค่านิยมและการเสริมสร้างทางปัญญา          
       3. ทักษะพิสัย เป็นวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวกับการกระทำ การแสดงออกหรือการปฏิบัติ          การกำหนดวัตถุประสงค์ในการเรียนการสอนนั้นเพื่อผู้เรียนจะได้ทราบว่าจะสามารถเรียนรู้หรือกระทำใดได้บ้าง, เลือกสื่อและวิธีการได้ถูกต้อง, ช่วยในการประเมินผู้เรียนว่าผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่

การเลือก ดัดแปลง หรือออกแบบสื่อ (Select, Modify, of Design Materials)    การที่จะมีสื่อที่เหมาะสมในการเรียนการสอน สามารถทำได้ 3 วิธี คือ     
1. เลือกจากสื่อที่มีอยู่แล้ว
          เป็นการพิจารณาเลือกสื่อการเรียนการสอนที่มีอยู่แล้วจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอน การเลือกสื่อที่มีอยู่แล้วควรมีเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้           
              1) ลักษณะผู้เรียน                       
              2) วัตถุประสงค์การเรียนการสอน           
              3) เทคนิคหรือวิธีการเรียนการสอน  
              4) สภาพการณ์และข้อจำกัดในการใช้สื่อแต่ละชนิด      
2. ดัดแปลงสื่อที่มีอยู่แล้วให้ใช้ได้ดีและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ในกรณีที่สื่อการเรียนที่มีอยู่แล้วไม่เหมาะสมกับการใช้ในการเรียนการสอน ให้พิจารณาว่าสามารถนำมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การเรียนการสอนได้หรือไม่ ถ้าปรับปรุงได้ก็ให้ปรับปรุงก่อนนำไปใช้      
3. การออกแบบสื่อใหม่ กรณีที่สื่อการเรียนการสอนที่มีอยู่ไม่สามารถนำมาใช้ได้หรือไม่เหมาะสมที่จะนำมาปรับปรุงใช้ หรือไม่มีสื่อการเรียนการสอนที่ต้องการใช้ในแหล่งบริการสื่อการเรียนการสอนใดเลย ก็จำเป็นต้องออกแบบและสร้างสื่อการเรียนการสอนขึ้นมาใหม่          หลังจากที่เราออกแบบสื่อแล้วนำมาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน ควรมีการวัดผลของสื่อ เป็นการวัดประสิทธิภาพของสื่อ ความคุ้มค่าของสื่อต่อผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ วัดเพื่อปรับปรุงสื่อ วัดผลถึงระยะเวลาที่ในการนำเสนอสื่อว่าพอเหมาะหรือมากเกินความจำเป็น การวัดผลสื่อนี้เพื่อผลในการใช้ดัดแปลงปรับปรุงให้ดีขึ้นสำหรับการนำไปใช้ในอนาคต เราสามารถที่จะนำเอาผลการอภิปรายในชั้นเรียน การสัมภาษณ์ และการสังเกตผู้เรียนมาใช้เป็นแนวทางในการวัดผลสื่อได้

การใช้สื่อ (
Utilize Materials)  เป็นขั้นตอนของการกระทำจริง ซึ่งผู้สอนต้องดำเนินการดังนี้
        1. ดูหรืออ่านเนื้อหาในสื่อเหล่านั้นก่อนเป็นการเตรียมตัว ต้องมีการตรวจสอบเนื้อหาว่าตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่และทดลองใช้ดูว่ามีปัญหาหรือไม่ ถ้ามีจะได้แก้ไขปรับปรุงได้ทัน 
        2. เตรียมสภาพแวดล้อม / จัดเตรียมสถานที่   เพื่อความสะดวกเรียบร้อยก่อนการสอน และทดลองอุปกรณ์ที่จะใช้ก่อนว่าใช้ได้ดีหรือไม่   การที่จะใช้สื่อการเรียนการสอนจำเป็นที่ต้องมีการเตรียมสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก แสง การระบายอากาศและอื่นๆ ให้เหมาะสมกับการใช้สื่อการสอนแต่ละชนิด         
        3. เตรียมตัวผู้เรียน โดยการใช้สื่อนำเข้าสู่บทเรียน เป็นการแนะนำก่อนล่วงหน้าและเพื่อสร้างแรงจูงใจแก่ผู้เรียน ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้จากการใช้สื่อการเรียนการสอนได้ดีนั้น จะต้องมีการเตรียมผู้เรียนให้พร้อมที่จะเรียนเรื่องนั้นๆ โดยการแนะนำสิ่งที่จะนำเสนอ อาจจะเป็นเรื่องย่อ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น การเร้าความสนใจ หรือเน้นจุดที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ผู้เรียนมีเป้าหมายในการฟังหรือดูสิ่งที่ผู้สอนนำเสนออันจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ดีได้
       4. การนำเสนอ / ควบคุมชั้นเรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีความสนใจในสื่อที่นำเสนอนั้น ผู้สอนควรปฏิบัติดังนี้            
           4.1 ต้องทำตัวเป็นตัวกลางที่จะทำให้การนำเสนอครั้งนั้นประสบความสำเร็จ โดยการทำตัวให้เป็นธรรมชาติ หลีกเลี่ยงท่าทางที่ไม่เหมาะสมที่ติดเป็นนิสัย เช่น หักนิ้ว บิดข้อมือ กดปากกา พูดเสียง เอ้อ………อ้า…… เพราะจะทำให้ผู้เรียนสนใจ ท่าทางเหล่านี้แทน            
           4.2 ท่าทางการยืน ต้องยืนหันหน้าให้ผู้เรียน ถ้ายืนเฉียงก็ต้องหันหน้าหาผู้เรียนไม่ควรหันข้างหรือหันหลังให้ผู้เรียน            
           4.3 ขณะที่บรรยายนำเสนอสื่อการเรียนการสอนต้องสอดแทรกอารมณ์ขันบ้าง            
           4.4 ประเมินความสนใจของผู้เรียน โดยใช้การกวาดสายตามองผู้เรียนให้ทั่วทั้งชั้น เป็นการแสดงความสนใจผู้เรียนและวิเคราะห์สีหน้า ท่าทางของผู้เรียนไปพร้อมกัน             
           4.5 อย่าใช้เวลาเตรียมสื่อนานเกินไปจะทำให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่าย            
           4.6 นำเสนอให้ถูกวิธีตามที่ได้มีการทดลองใช้มาก่อนแล้ว
การกำหนดการตอบสนองของผู้เรียน (Require Learner Response) การตอบสนองของผู้เรียนจะมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับลักษณะของสื่อที่นำมาใช้ ว่าเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากอย่างไร นอกจากนี้ผู้เรียนสามารถมีการตอบสนองโดยเปิดเผย (overt response ) โดยการพูดหรือเขียน และการตอบสนองภายในตัวผู้เรียน (covert response) โดยการท่องจำหรือคิดในใจ และเมื่อผู้เรียนมีการตอบสนองผู้สอนควรให้การเสริมแรงทันที เพื่อให้ผู้เรียนทราบว่าตนมีความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้องหรือไม่ การเรียนการสอนโดยการให้ทำแบบฝึกหัด การตอบคำถาม การอภิปราย หรือการใช้บทเรียนแบบโปรแกรม เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีการตอบสนองและได้รับการเสริมแรงระหว่างการเรียนได้เป็นอย่างดี
การประเมิน (Evaluation)  การประเมินสามารถกระทำได้ใน 3 ลักษณะ คือ     
       1. การประเมินกระบวนการสอน เพื่อประเมินว่าบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้หรือไม่ ทั้งด้านผู้สอน สื่อการสอน และวิธีการสอน ซึ่งการประเมินจะทำได้ทั้งในระยะก่อน ระหว่าง และหลังการสอน     
       2. การประเมินความสำเร็จของผู้เรียน ขึ้นกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ว่ามีเกณฑ์เท่าใด การวัดผลอาจทำได้ด้วยการทดสอบ การสอบปากเปล่า หรือดูจากผลงานของผู้เรียน สิ่งสำคัญที่จะทราบได้ว่าผู้เรียนมีสัมฤทธิผลทางการเรียนมากน้อยเท่าใด คือ สังเกตจากการปฏิบัติและการแสดงออกของผู้เรียน  
     3. การประเมินสื่อและวิธีการสอน โดยการให้ผู้เรียนมีการอภิปรายและวิจารณ์การใช้สื่อและเทคนิควิธีการสอนว่าเหมาะสมมากน้อยเพียงใด
หมายเลขบันทึก: 674929เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2020 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2020 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท