@chokdeemeechai
วิชาชีวิตเพื่อความมั่นคงทางจิตใจ โชคชัย คงบวรเกียรติ

ขั้นพัฒนาการบุคลิกภาพ ทฤษฎีจิตสังคม ของ อีริคสัน


ขั้นพัฒนาการบุคลิกภาพ ทฤษฎีจิตสังคม ของ อีริคสัน

            ทฤษฎีจิตสังคม (Psychosocial Theory of Personality) ผู้ให้กำเนิดทฤษฎีจิตสังคม คือ Erik Homburger Erikson หรือ Erik H. Erikson (อิริค เฮช. อิริคสัน) เป็นนักจิตวิทยาชาวเยอรมัน Erikson ถือว่าเป็นศิษย์ของ Freud  ซึ่งอิริคสันได้นำแนวความคิดพื้นฐานจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ มาประยุกต์ ในขั้นพัฒนาการต่าง ๆ อิริคสัน ได้เน้นความสำคัญ ของเด็กปฐมวัยว่าเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว บุคลิกภาพจะสามารถพัฒนาได้ดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละช่วงของอายุเด็กได้รับการตอบสนองความพึงพอใจได้มากเพียงพอ และเหมาะสมหรือไม่ ตามขั้นพัฒนาการต่าง ๆ ของแต่ละวัยมากเพียงใด ถ้าเด็กได้รับการตอบสนองต่อสิ่งที่ตนพอใจในช่วงอายุนั้นได้เพียงพอ เด็กก็จะมีพัฒนาการทางบุคลิกภาพที่ดีและเหมาะสม สามารถพัฒนาต่อเนื่องสอดคล้องสัมพันธ์ไปถึงวัยผู้ใหญ่ด้วย โดยเน้นที่สิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพ (Physical) ทางสังคม (Social) วัฒนธรรม (Cultural) และทางความคิด (Ideational) เข้ามามีอิทธิพลกับพัฒนาการของชีวิตมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิดจนชรา ซึ่งส่งผลต่อความคิดริเริ่ม ความสามารถในการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมจะมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการทางจิตใจ และบุคลิกภาพ ทำให้บุคคลสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ดี ซึ่งพัฒนาการของมนุษย์มี 8 ขั้น ดังอธิบายรายละเอียดดังนี้

1. ขั้นพัฒนาการ วัยทารก: ความไว้วางใจ ก่อเกิด ความหวัง คือสร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือ ไว้วางใจได้ นำไปสู่ความหวัง ไว้วางใจผู้อื่น การมองโลกในแง่ดี มีความไว้ใจ เชื่อถือ เป็นมิตรต่อผู้คน รวมถึงการวางรากฐานทางอารมณ์จิตใจในขั้นต่อไปความไว้วางใจกับขจัด ความรู้สึกไม่ไว้วางใจ นำไปสู่ ความหวัง (วัยทารก ตั้งแต่เกิด - 18 เดือน)

2. ขั้นพัฒนาการ วัยเด็กปฐมวัย: ความอิสระ กับขจัด ความอับอายและความไม่แน่ใจ ก่อเกิด การรับรู้ในขอบเขตความอิสระที่สามารถกระทำได้เริ่มสอนว่า อะไรควร อะไรไม่ควรทำ โดยที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน และสร้างความมั่นใจในตนเอง (ปฐมวัยเด็กแรกเริ่ม ระยะ 1 ปีครึ่ง - 3 ขวบ)

3. ขั้นพัฒนาการ วัยก่อนเข้าเรียนหรือวัยเล่นซน: ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กับขจัด ความรู้สึกผิด ก่อเกิด ความตั้งใจมุ่งหมาย วัยนี้เริ่มเรียนรู้จากการเลียบแบบอย่างจากผู้ดูแล ผู้ปกครอง ด้านจริยธรรม ความรับผิดชอบ และสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบตัว เรียนรู้บทบาทหน้าที่สถานะของตนที่แสดงออกต่อคนในสังคม (วัยก่อนเข้าเรียนหรือวัยเล่น ระยะ 3 - 5 ปี)

4. ขั้นพัฒนาการ วัยเข้าเรียน:การเพียรพยายามในการจัดการกับชีวิตของตนเอง ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง กับขจัด ความรู้สึกเป็นปมด้อย นำไปสู่ การตระหนักในขอบเขตความสามารถที่ตนกระทำได้ ความมีจิตสำนึกที่ดีมีความรับผิดชอบ ความมั่นใจ ยอมรับนับถือในตนเอง (วัยเริ่มเข้าเรียน ระยะอายุ 5 - 12 ปี)

5. ขั้นพัฒนาการ. วัยรุ่น: ความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองกับขจัด ความรู้สึกสับสนในตนเองไปได้ นำไปสู่ การรับรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง สร้างอุดมคติและรับรู้ถึงความจริงที่จะกระทำได้อันเหมาะสมกับตนเองและผู้อื่นในสังคม (วัยรุ่นตอนต้น ระยะ 13 – 19 ปี)

6. ขั้นพัฒนาการวัยหนุ่มสาว ผู้ใหญ่:สร้างสัมพันธภาพเป็นมิตร ต่อ ผู้คนและเพศตรงข้าม กับขจัด ความโดดเดี่ยวอ้างว้าง นำไปสู่ ความรัก ความสัมพันธ์ใกล้ชิด การตระหนักถึงการมีคุณค่าในตนเอง การต้องการความรัก ความปรารถนาดีให้แก่กันและกัน (ช่วงวัยรุ่นตอนปลายเข้าสู่ผู้ใหญ่ อายุ 20 – 30 ปี)

7. ขั้นพัฒนาการวัยผู้ใหญ่: ผู้ให้กำเนิดรับผิดชอบ สร้างสรรค์สังคม กับ หลีกเลี่ยง ความรู้สึกที่คำนึงถึงแต่ตนเอง นำไปสู่ การดูแลเอาใจใส่เกิดขึ้น แก่ลูกหลาน เอาใจใส่ดูแล เลี้ยงดู สั่งสอน ให้ความรู้ ความเข้าใจ เติบโตเป็นคนดีของสังคม (วัยผู้ใหญ่ ช่วงอายุ 31 - 60 ปี)

8. ขั้นพัฒนาการ วัยชราผู้สูงอายุ:ความมั่นคงสมบูรณ์ในชีวิต และหลีกเลี่ยง ความรู้สึกสิ้นหวังท้อถอยในชีวิต นำไปสู่ การรู้จักใช้ชีวิตมีคุณค่าในตนเอง ไม่เสียใจภายหลัง มีความยอมรับนับถือภาคภูมิใจตนเอง และพร้อมจะเผชิญความเป็นจริง และความตาย ด้วยใจที่เป็นสุขสงบ มีความปลาบปลื้มด้วยหัวใจที่เติมเต็ม ว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ รวมถึงส่งต่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชนรุ่นหลัง(ช่วงวัยชรา อายุ 61 ปีขึ้นไป)

                ขั้นพัฒนาการทั้ง 8 ขั้น ประกอบด้วย ความรู้สึกของการประสบความสำเร็จ หรือ ความล้มเหลวในการที่จะปลูกฝังองค์ประกอบที่สำคัญของบุคลิกภาพคือ ความไว้วางใจ ความเป็นอิสระ ขอบเขตความสามารถที่กระทำได้ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า การมีเอกลักษณ์ของตนเอง การสร้างสัมพันธภาพ ความรัก การดูแลเอาใจใส่ ความเข้าใจในการดำเนินชีวิต เป็นต้น ซึ่ง ความรู้สึกเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการตัดสินว่า พัฒนาการทางด้านจิตใจของบุคคลนั้น ผ่านพ้นไปได้ตามช่วงอายุหรือไม่  ได้รับการตอบสนองความพึงพอใจมากเพียงใด ถ้าสามารถผ่านไปได้บุคคลย่อมมีบุคลิกภาพที่มั่นคงสมบูรณ์มีการพัฒนาทั้งร่างกาย และจิตใจเป็นปกติ รายละเอียดของ พัฒนาการแต่ละขั้นมีดังนี้

ขั้นที่ 1. ขั้นพัฒนาการความไว้วางใจ กับขจัด ความรู้สึกไม่ไว้วางใจ นำไปสู่ ความหวัง (วัยทารก ตั้งแต่เกิด - 18 เดือน)

                Infancy: Trust vs. Mistrust - Hope

                วัยทารก แรกเกิด ถึง หนึ่งขวบครึ่ง เป็นขั้นพัฒนาการพื้นฐานที่สำคัญสุดในชีวิต  เป็นวัยที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่ง เด็กทารกต้องการตอบสนองทางร่างกาย ต้องการอาหารการกิน การขับถ่าย และทางจิตใจ ต้องการความอบอุ่น การเอาใจใส่ การแสดงความรัก การได้รับความสนใจดูแล การตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก ในระยะเวลาที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ คือไม่ปล่อยให้เด็กอยู่คนเดียว หรือปล่อยให้เด็กร้องไห้อยู่นานเกินควร  ควรได้รับการตอบสนองแก่เด็กให้ทันท่วงที เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ไว้วางใจต่อเขา หรือมีการบอกกล่าวให้คำมั่นสัญญาว่าจะกลับมานำสิ่งที่เด็กต้องการมาให้แก่เขา และเมื่อต้องปล่อยให้อยู่คนเดียว เด็กก็ไม่ร้องไห้ เพราะเด็กมีความเชื่อมั่นเชือถือไว้วางใจในตัวคนที่เลี้ยงดูแล แม่ พ่อ หรือคนในครอบครัว

                Erik Erikson เน้นถึงความต้องการขั้นพื้นฐานของทารกที่พ่อแม่มีปฏิสัมพันธ์นำไปสู่ความไว้วางใจ หรือความไม่ไว้วางใจ ความเชื่อมั่นตามที่กำหนดของอีริคสัน คือ "ความไว้วางใจที่สำคัญของผู้อื่นเช่นเดียวกับความรู้สึกพื้นฐานของความน่าเชื่อถือของตัวเด็กเอง"  ซึ่งได้รับการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน มีความปลอดภัย มั่นคง ความเอาใจใส่ดูแล สะดวกสบาย ความสบายใจ ผ่อนคลาย การยิ้มทักทาย อารมณ์ดีได้รับความรักความอบอุ่น มีความเข้าใจ สัมพันธภาพอันดีต่อคนเลี้ยงดู แม่พ่อ ญาติหรือคนในครอบครัว ได้รับความมั่นใจจากความรัก ก็จะทำให้เด็กมีความไว้วางใจ (Trust) นำไปสู่ความหวัง (Hope) ความปรารถนา ความเชื่อมั่นและหวังดีต่อตนเองและผู้อื่น มีทัศนคติที่ดีต่อผู้คน สามารถไว้วางใจ ต่อสภาพแวดล้อมโลกภายนอกได้อย่าง มีความมั่นคงทางจิตใจ ไม่หวั่นไหว ไม่หวาดระแวง ไม่สงสัยหวาดวิตก ไว้ใจต่อผู้คน

                "ถ้าทารกมี ความมั่นคงในจิตใจก็ย่อมมี ความไว้วางใจในผู้อื่น และสามารถเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างดี Erikson ได้กล่าวถึง ความสัมพันธ์ของทารกกับแม่ไว้ดังนี้ "การที่แม่ดูแลเอาใจใส่ใน ความต้องการของเด็กอย่างสมบูรณ์ เป็นการแนะแนวทางให้เด็กเรียนรู้ ที่จะไว้วางใจแม่ ไว้วางใจตัวเอง และไว้วางใจโลกในที่สุด"

https://www.novabizz.com/NovaAce/Personality/Theory_Erikson.htm

https://www.novabizz.com/NovaAce/Personality/ทฤษฎีบุคลิกภาพ.htm

ขั้นที่ 2. ขั้นพัฒนาการความเป็นอิสระ กับขจัด ความรู้สึกไม่แน่ใจความละอายใจ นำไปสู่ การรับรู้ในความขอบเขตความสามารถที่จะกระทำได้ (ปฐมวัยเด็กแรกเริ่ม ระยะ 1 ปีครึ่ง - 3 ขวบ)

            Early Childhood: Autonomy vs. Shame/Doubt - Will

                ปฐมวัยเด็กเริ่มแรกเริ่ม ในช่วงวัยเด็กมุ่งเน้นการฝึกให้เด็กพัฒนาความรู้สึกส่วนตัวในการควบคุมตัวเองมากขึ้น Freud และ Erikson เชื่อว่าการฝึกสุขา การขับถ่ายเป็นขั้นตอนสำคัญของกระบวนการนี้ อีริคสันเชื่อว่าการเรียนรู้ที่จะควบคุมการทำงานของร่างกายทำให้เกิดความรู้สึกควบคุมและรู้สึกเป็นอิสระ( Autonomy) เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ขอบเขตความสามารถที่ตนจะกระทำได้ตามความตั้งใจ (Will) เหตุการณ์ที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ การควบคุมการเลือกรับประทานอาหาร การเลือกของเล่นและวิธีการเล่น และการเลือกเสื้อผ้า  เด็กที่ประสบความสำเร็จในขั้นตอนนี้ จะรู้สึกมั่นใจและเชื่อมั่นในตนเอง นำไปสู่การรับรู้ในขอบเขตที่ตนสามารถจะทำได้ สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สิ่งใดควรหลีกเลี่ยง ไม่กระทำสิ่งที่เป็นอันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งมาจากความที่เขาไม่รู้ ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากการเล่น การอบรม เป็นแบบอย่างจากครอบครัวจะช่วยสร้างให้เด็กได้รับรู้ถึงขอบเขตความอิสระที่ตนสามารถทำได้

                เมื่อเด็กสามารถที่จะควบคุมการทำงานของร่างกายของเขาได้ดีมากขึ้นแล้ว พวกเขาเริ่มสำรวจสภาพแวดล้อมของพวกเขา พ่อแม่ยังคงเป็นฐานที่มั่นคงในการรักษาความปลอดภัยซึ่งเด็ก ๆ จะกล้าออกไปแสดงความประสงค์ของตนได้ ผู้ปกครองและผู้ดูแลเลี้ยงดูต้องมี ความอดทนและการให้กำลังใจจะช่วยส่งเสริมความเป็นอิสระในเด็ก เด็กในวัยนี้ชอบที่จะสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา ต้องระมัดระวัง เด็ก ๆ อาจได้รับสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของตนเอง และต้องคอยสอน ว่าอะไรสามารถทำได้ อะไรไม่ควรทำ แต่อย่าห้ามไม่ให้ทำมากเกินไป หรือระมัดระวังจนเกิดเป็นความหวาดระแวงจนเด็กไม่กล้าแสดงออก หรือทำให้เกิดความรู้สึกสงสัย และไม่เต็มใจที่จะกล้าลองท้าทายทำสิ่งใหม่ ๆ หรือกลัวจนขาดความเชื่อมั่นในตนเอง

                เด็กวัยนี้ ต้องให้ความใส่ใจ ในการสอน ฝึกให้เด็กเรียนรู้ในการช่วยตนเอง การกิน การขับถ่าย การจัดการดูแลตนเอง ให้เขาได้รับรู้ถึงความสามารถของตนเองที่จะกระทำ หรือตอบสนองความต้องการของตนเองให้ได้ สามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง ถ้าผู้ดูแลคอยทำให้เขาอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่สอนฝึกเขาให้ช่วยตัวเองบ้าง จะทำให้เด็กไม่เชื่อมั่นในตนเอง ไม่กล้าแสดงออก และจะเกิดความสงสัยในความสามารถของตนเองที่ควรจะกระทำได้ แต่กลับไม่ยอมทำ ได้แต่รอผู้ดูแลมาทำให้หรือพึ่งพาคนอื่นตลอด ก็จะกลายเป็นคนไม่เชื่อมั่นในตนเอง ขี้อาย หวาดกลัว หวาดระแวง ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่รู้จักแก้ปัญหาแม้แต่เรื่องเล็กน้อย เพราะสงสัยในความสามารถของตนเอง

https://www.novabizz.com/NovaAce/Personality/Theory_Erikson.htm

ขั้นที่ 3. ขั้นพัฒนาการความคิดริเริ่ม ซึ่งทำให้ผ่านพ้น ความรู้สึกผิด นำไปสู่ การตั้งใจในความมุ่งหมาย (วัยก่อนเข้าเรียนหรือวัยเล่น ระยะ 3 - 5 ปี)

            Preschool Age or Play Age: Initiative vs. Guilt - Purpose      

                วัยก่อนเข้าเรียน เด็กจะมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย และจิตใจที่ทำงานประสานกันได้ดีมากยิ่งขึ้น เด็กเริ่มมีความคิดริเริ่ม (Initiative) อยากจะทำอะไรด้วยตนเอง เริ่มเข้าใจภาษาและสื่อความหมายได้ดีขึ้น เป็นวัยที่มีความอยากรู้อยากเห็น อยากเรียนรู้ สำรวจสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวของเขา มีความคิดสร้างสรรค์และจิตนาการ ในการเล่น การทำกิจกรรมต่าง ๆ การลองผิดลองถูก เรียนรู้ถึงขอบเขตในความสามารถที่ตนจะกระทำได้ ถ้าเด็กถูกห้ามไม่ให้ทำอะไรตามใจต้องการมากเกินไป หรือการถูกริดรอนสิทธิที่ตนคิดว่าสามารถจะกระทำได้ แต่กลับถูกห้ามไม่ให้ทำ จะเกิดเป็นความคับข้องใจ  รู้สึกผิด (Guilt) และกลัวการถูกลงโทษ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ส่งผลให้เกิดบุคลิกภาพแบบรู้สึกผิด ประเมินตนเองต่ำเกินไปจนเป็นปมด้อยในใจ  และทำให้ความตั้งใจมุ่งหมายของเขาผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง คือชอบหลีกหนีปัญหาไม่กล้าสู้ความจริง โดยการคิดฝันจินตนาการเอาเอง หรือรู้สึกต่อต้าน ก้าวร้าว อวดดี ออกนอกลู่นอกทาง  อาจกระทำความผิด หรือหลงเดินทางผิด เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา ผู้ดูแลต้องให้คำชี้แนะ เหตุผล ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร เพราะเหตุใด เพื่อให้เขาเข้าใจ ว่าความตั้งใจมุ่งหมาย (Purpose) ของเขาที่จะกระทำตามใจตนเองนั้น ต้องไม่ทำให้ตนเองและคนอื่นเดือดร้อน และอยู่ในกรอบกฎระเบียบของสังคมด้วย รวมทั้งเป็นคนที่พร้อมที่จะเป็นทั้ง ผู้รับความรัก และผู้ให้ความรัก (Giver and Taker) ต่อคนรอบตัวของเขา

ขั้นที่ 4. ขั้นพัฒนาการเพียรพยายามในการจัดการกับชีวิตของตนเอง  และขจัด ความรู้สึกเป็นปมด้อย นำไปสู่ความรู้สึกตระหนักถึงศักยภาพความสามารถของตนเอง มีคุณค่าในตนเอง  (วัยเริ่มเข้าเรียน ระยะอายุ 5 - 12 ปี)

            School Age: Industry vs. Inferiority - Competence

                วัยเข้าเรียน หรือ วัยประถมศึกษา เป็นวัยที่มีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น ทั้งคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน เพื่อนที่โรงเรียน ครู มีส่วนสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์บุคลิกภาพของเขา เด็ก ๆ ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ และได้รับการยอมรับยกย่องในความสำเร็จของพวกเขาแล้วพวกเขาก็เริ่มแสดงออกถึงด้วยการขยันหมั่นเพียร (Industry) รับผิดชอบในงานจนกว่าจะเสร็จสิ้น และจะมีความสุขที่ได้ทำ มีความภาคภูมิใจ ตระหนักถึงคุณค่าในความสามารถของตนเอง  ถ้าเด็กถูกเยาะเย้ย ตำหนิ หรือถูกลงโทษ หรือถ้าพวกเขาไม่สามารถทำให้สำเร็จอย่างที่คาดหวังของครูและพ่อแม่ได้ พวกเขาก็จะรู้สึกถึงความด้อยความสามารถของตน (Inferiority) ทำให้เกิดความน้อยใจ ต่ำต้อย มองตัวเองว่ามีความสามารถต่ำกว่าความเป็นจริง จึงต้องได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ และเรียน รู้วิธีในการจัดการกับปัญหาให้ได้ดีเพียงพอ ก็จะทำให้เขาเกิดความมั่นใจในศักยภาพของตนเอง (Competence) และเปรียบเทียบความสามารถของตนกับกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน ทำให้เกิดกำลังใจที่จะปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อแสดงความเป็นผู้ใหญ่ การแสดงออกว่าเขาโตแล้ว สังคม คนรอบข้าง ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ควรช่วยชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิต กฏระเบียบทางสังคม เพราะเด็กในวัยนี้เป็นรากฐานสำคัญในวัยผู้ใหญ่ ที่บ่งชี้ถึงบุคลิกภาพใน ความรู้ผิดชอบชั่วดี รู้จักบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง และในงานที่ได้รับมอบหมาย กระทำด้วยความวิริยะอุสาหะ ขยันหมั่นเพียร มีความอดทน คาดหวังถึงผลสำเร็จ เป็นระยะที่เด็ก เริ่มมีความคิด ความคาดหวังถึงอนาคต การที่ได้พิสูจน์ว่าตนมีความสามารถในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ในขอบเขตของเขา ทำให้เด็กในวัยนี้มีความเชื่อมั่นว่าเขาจะประสบความสำเร็จในอนาคต และมีความพยายามในการปรับปรุง แก้ไข พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น

                วัยนี้เป็นวัยที่มีความอยากรู้อยากเห็น รวมทั้งมีความพร้อมทางร่างกายและจิตใจพอสมควร การเล่นเป็นการฝึกทักษะในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น และการอยู่ร่วมในสังคมของเด็ก แต่ก็ต้องฝึกสอนเรื่องเวลา ให้แบ่งเวลาว่าช่วงเวลาใดควรไปเล่น ช่วงเวลาใดควรทำงานทำการบ้าน และต้องให้เขามีส่วนร่วมในความรับผิดชอบในงานบ้าน ฝึกทำงานบ้าน ล้างจาน กวาดบ้าน ถูบ้าน ฝึกให้ทำจนเป็นกิจวัตรประจำวันหรือประจำสัปดาห์ เพื่อให้เขาเกิดความรับผิดชอบในการงานที่ได้รับมอบหมาย มีความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยทำงานที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ยอมเสียสละเวลา ฝึกความอดทน เพียรพยายามในการทำงาน ฝึกความมีวินัย อยู่ในกรอบกฏระเบียบภายในบ้าน ตัวของเขาจะได้เรียนรู้ว่าการทำสิ่งใดให้สำเร็จนั้นต้องทุ่มเทเวลาและแรงกายและมันสมองในการคิดทำให้ดีขึ้น สะดวกรวดเร็วขึ้น ยิ่งทำบ่อย ๆ สม่ำเสมอ ทำให้มีความชำนาญ มีความรอบคอบ ยิ่งมีการพัฒนาทำให้เสร็จสำเร็จได้ดีขึ้น เพื่อเป็นการวางรากฐานในขั้นพัฒนาการสู่วัยผู้ใหญ่ ในการมีความรับผิดชอบในหน้าที่การงานและการยินยอมพร้อมใจเต็มใจที่จะทำงาน เสียสละเพื่อช่วยเหลือแก่ผู้อื่น รู้จักเป็นผู้ให้ ได้ทำอะไรดีดีเพื่อผู้อื่นบ้างโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนแล้วเกิดความภาคภูมิใจมีคุณค่าในตนเอง

ขั้นที่ 5. ขั้นพัฒนาการความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และผ่านพ้น ความรู้สึกสับสนในตนเองไปได้ นำไปสู่ การรับรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง (วัยรุ่นตอนต้น ระยะ 13 - 19 ปี)

            Adolescence: Identity vs. Role Confusion - Fidelity

                วัยรุ่น เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งต้องปรับตัวเปลี่ยนจากวัยเด็กก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ วัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังค้นหาตัวตนของตนเอง การปรับตัวให้เข้ากับสังคม ทั้งเพื่อนในวัยเดียวกัน และเพื่อนเพศตรงข้าม การแสดงบทบาทสถานะของตนต่อคนรอบข้างอย่างเหมาะสม  การค้นหาตัวตนในแบบฉบับของตน (Identity) ที่มีเอกลักษณ์ในแบบที่ตัวเองคิดหวังไว้ กับตัวตนที่สามารถปรับเข้าสังคมตามความเป็นจริงได้อย่างเหมาะสมกับสถานะ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการแสวงหาอัตลักษณ์ของบุคคล และการเสริมสร้างความรับผิดชอบถือว่าเป็นเอกลักษณ์สำคัญของวัยนี้ ซึ่งความรับผิดชอบ การรู้จักแยกแยะดีชั่วถูกผิด มีรากฐานมาจากการอบรมของพ่อแม่ ครูและคนรอบข้างที่เขานับถือก่อเกิดความรู้สึกไว้วางใจและความมั่นใจในตนเอง ตระหนักการมีคุณค่าในตนเอง ความภาคภูมิใจ ยอมรับนับถือในตนเอง รู้หน้าที่ความรับผิดชอบในงานกิจกรรมที่ทำ และทำให้สามารถผ่านพ้นความรู้สึกสับสนในตนเอง (Role Confusion) ไปได้ เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม ความเข้าใจในอัตลักษณ์ช่วยให้เด็กวัยรุ่นเกิดความเข้าใจในปัญหาต่าง ๆ และช่วยในการตัดสินใจ วางแผนเรื่องเกี่ยวกับอนาคตชีวิตของตนอย่างไรดี ในวัยนี้เด็กวัยรุ่นจะเกิดความคิดสงสัยในตัวเอง เช่น การคิดถามตนเองว่า "ฉันไม่รู้ว่าฉันควรจะทำอะไร ฉันไม่รู้ว่าฉันจะดำเนินชีวิตไปในทิศทางใด" และฉันไม่รู้ว่าฉันเป็นใคร หรือ “ฉันจะทำอาชีพอะไรดี?” เนื่องจากระยะวัยรุ่นเป็นระยะ ที่มีความรู้สึกสับสน ขาดความมั่นใจ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจเพื่อเตรียมเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ปัญหาของเด็กวัยนี้มักเป็นไปในทำนองที่ว่า อิทธิพลจากกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน และความรู้สึกได้รับการยอมรับจากสังคมสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเขา ซึ่งรวมถึงกลุ่มย่อยทางวัฒนธรรม และศาสนามีผลต่อการปรับตัวของวัยรุ่นอย่างยิ่ง เด็กวัยรุ่นจะค่อย ๆ พัฒนาความเป็นตัวของตัวเองขึ้น เขาจะแสวงหาตัวตนตามอุดมคติ (Ego – ideal) และค้นหาอัตลักษณ์เพื่อปรับตัวให้เข้ากับบทบาทใหม่ในสังคม โดยทั่วไปพบว่าเด็กวัยรุ่นตอนปลายจำนวนมากยังไม่สามารถค้นพบอัตลักษณ์ของตน เด็กวัยรุ่นที่ประสบอุปสรรคในพัฒนาการขั้นนี้จะขาดทักษะที่เหมาะสมในการแก้ไขสถานการณ์ คือ เมื่อเผชิญปัญหามักจะหลบเลี่ยงมากกว่าที่จะแก้ไข ในขณะที่สถานการณ์ หรือปัญหาหนึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อปัญหาอื่น ๆ ประดังเข้ามา ก็เกิดการสะสม และซับซ้อนของปัญหา กล่าวคือเด็กวัยรุ่นยังไม่มีทักษะที่ดีในการแก้ปัญหา อย่างไรก็ตามวัยรุ่นแต่ละคนย่อมต้องการเวลาในการเรียนรู้ และปรับตัวเพื่อการพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่และได้รับการยอมรับจากบุคคลรอบข้างในสังคม

                ตามกระบวนการทำงานของ id และ ego ยังพัฒนาต่อไปซึ่งช่วยให้เด็กวัยรุ่นสามารถเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ โดย superego จะมีส่วนช่วยอย่างมากในช่วงวัยรุ่น ถ้า superego จริยธรรม มโนธรรม มโนสำนึก ที่ได้รับการสั่งสอนมาดีจากขั้นพัฒนาการในช่วงเด็กเข้าเรียน มันจะสะสมมาอย่างเข็มแข็งและมีจิตใจที่มั่นคง ไม่คิดทำสิ่งที่ออกนอกกรอบมากเกินจนทำให้เกิดผลเสียหายต่อตนเองและบุคคลอื่น  เสมือนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้ตั้งมั่นคง ไม่หวั่นไหวได้ง่าย อันเนื่องมาจากโฮโมนต่าง ๆ ที่มีมากทำให้รู้สึกอ่อนไหว หวั่นไหว หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวนได้ง่าย ซึ่งถ้าได้วางรากฐานทางจริยธรรม มาดีพอจากในวัยเด็กแล้ว วัยรุ่นก็จะเข้าใจถึงกฏระเบียบทางสังคมได้มากขึ้น รู้จักควบคุมตนเองได้ดีขึ้น การแยกแยะสิ่งดีชั่วถูกผิดได้ ตัวของเด็กเริ่มเรียนรู้ มีความคิดเป็นของตนเอง ได้จากประสบการณ์ ลองถูกลองผิด แล้วเลือกที่จะพัฒนามาเป็นความเชื่อ อุดมคติในด้านจริยธรรม ปรับตัวเข้ากับคนในสังคมได้อย่างเหมาะสม แต่บางครั้งวัยรุ่นอาจจะสับสนไปบ้าง หรือหาวิธีในการแก้ปัญหาได้ไม่ถูกวิธี หรือไม่เหมาะสม เราที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองต้องให้คำชี้แนะ แนวทาง วิธีคิดอย่างมีเหตุผล มีระบบในการแก้ปัญหาที่เขาต้องเผชิญกับความเป็นจริง (Fidelity) แก่พวกเขาบ้างในเวลาที่สมควร เพราะวัยนี้จะมีความคิดเป็นของตนเอง ชอบคิดเข้าข้างตนเอง จึงต้องมีเหตุผลกับเขา และอดทนรับฟังความคิดเห็นจากเขา และชี้แจงเหตุผล วิธีคิด กระบวนการในการตัดสินใจในสิ่งต่าง ๆ ให้เขามีทัศนคติที่ดี เป็นกลาง เพื่อที่จะมองหาสาเหตุและผลกระทบที่จะตามมา หากปัญหานั้นไม่ได้รับการแก้ไข ให้เขาได้เลือกสิ่งที่เขาคิดว่าถูก หรือเหมาะสำหรับตัวเขา เลือกที่จะมีความมีเหตุมีผล อะไรควร อะไรไม่ควรทำ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ อีโก้ และ ซุปเปอร์อีโก้ พัฒนาให้เข้มแข็งมากขึ้นในช่วงวัยที่สูงขึ้นเป็นผู้ใหญ่ รู้จักควบคุมตนเอง ไม่ให้กระทำตามแต่ใจ id มากเกินไป  โดยคำนึงถึงผลกระทบในการกระทำที่จะตามมาภายหลัง หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดส่งผลกระทบ ในด้านลบไม่ดีที่เสียหายต่อตนเองและผู้อื่น ยอมรับในตัวตนของตนเอง อย่างที่เป็น อย่างที่ตนเองเลือกว่าเหมาะสมกับตัวของตนเอง อย่างที่เป็นจริง รู้วิถีชีวิตของตนเองว่าจะเดินต่อไปข้างหน้าในอนาคตอย่างไร

ขั้นที่ 6. ขั้นพัฒนาการสร้างสัมพันธภาพ เป็นมิตรกับบุคคลอื่นโดยเฉพาะเพื่อนต่างเพศ และหลีกเลี่ยง ความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง นำไปสู่ ความรัก (ช่วงวัยรุ่นตอนปลายเข้าสู่ผู้ใหญ่ อายุ 20 - 30 ปี)

            Young Adulthood: Intimacy vs. Isolation - Love

                วัยรุ่นตอนปลายก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เป็นวัยที่ได้สร้างอัตลักษณ์ ค่อนข้างรู้จักตัวตนของตนเองดีขึ้น ขจัดความสับสน สงสัยในตนเอง มีความมั่นใจ มีคุณค่าภาคภูมิใจในตนเอง และยอมรับตัวตนของตนเองได้ตามความเป็นจริงแล้ว ในขั้นพัฒนาการนี้พวกเขาพยายามที่จะสร้างตัวตนให้ชัดเจนมากขึ้น รู้ว่าตนเองมีความต้องการอะไรในชีวิต และกระตือรือร้นที่จะผสมผสานอัตลักษณ์ของตน รู้จักบทบาทสถานะของตนในสังคมดีขึ้น มีอิสระเสรีมีความคิดเห็นเป็นของตนเอง เขาก็จะเกิดความรู้สึกต้องการมีเพื่อนสนิทที่จะรับรู้รับฟังสิ่งต่าง ๆ ที่ตนเองมีอยู่ ต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น ความรู้สึกผูกพันกับผู้อื่นจึงพัฒนาขึ้น โดยอ้างอิงกับเพื่อน ๆ พวกเขา หรือกลุ่มคนในสังคมที่เข้าทำกิจกรรมร่วมด้วย ในวัยนี้มีการสำรวจความสัมพันธ์ส่วนตัว (Intimacy) อีริคสันเชื่อว่า การมีส่วนร่วมในการสื่อสารกับคนอื่น ๆ เป็นเรื่องสำคัญ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในขั้นตอนนี้จะพัฒนาความสัมพันธ์และรักษาเอาไว้ซึ่งภาระผูกพันระยะยาว อีริคสันเชื่อว่า ความรู้สึกนึกคิดทัศนคติที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น เป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาความสนิทสนมใกล้ชิดกับคนรอบตัวของเขา แต่ถ้าเขาไม่มีความยอมรับนับถือตนเอง มีทัศนคติไม่ดีต่อตนเองและผู้อื่น ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ก็จะทำให้เขามีปัญหาในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือมีความต้องการแข่งขันชิงดีชิงเด่น หรือชอบทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น อันนำไปสู่ ความโดดเดี่ยว (Isolation) อ้างว้างเดียวดาย แยกตัวจากสังคม

                ความสมบูรณ์ของจิตใจผู้ใหญ่ คือ การได้รับการยอมรับ มีความเจริญเติบโต มีอาชีพที่เหมาะสม มีการสมาคมกับเพศตรงข้าม เพื่อการเลือกคู่ครองต่อไป การปรับตัวของผู้ใหญ่ในวัยนี้คือการเลือกคู่ครอง และการมีหน้าที่การงานที่เหมาะสม การเข้ากันได้กับเพื่อนร่วมงาน การปรับตัวต่อสิ่งดังกล่าวทำให้เกิดความรู้สึกต่อสังคม ถ้าสังคมทำให้เกิดความรู้สึกว่างเปล่าสูญเสีย บุคคลก็จะแยกตัวออกไปจากสังคมแยกไปจากครอบครัว และมีผลกระทบไปถึงความสามารถของการเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ "งาน และ ความรัก" เป็นสิ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในการวางบุคลิกภาพหรือไม่ นอกจากนั้นในระยะนี้ยังแสวงหาความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความเห็นอกเห็นใจจากคู่ครองด้วย

                การสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนม (Love) ความรักต่อเพศตรงข้าม คนที่ตนเองรัก เขาพยายามที่จะเป็นที่ยอมรับในสายตาของผู้อื่น และของคนที่ตนรัก ว่าตนเองมีความรับผิดขอบและมีความมั่นคงในหน้าที่การงานที่ดี มีความสามารถที่จะให้ความรัก ความจริงใจ และได้รับความรักตอบสนองกลับมาอย่างที่ตัวของเขาคาดหวังไว้ เช่น มีความรัก เอาใจใส่ดูแลเป็นห่วงเป็นใยต่อคู่รัก และต้องการให้คู่รักของตนปฏิบัติอย่างเดียวกันต่อเขาด้วยเช่นกัน เป็นต้น ความรักของชายหญิงเชิงสเน่หานั้น มาพร้อมกับการรักษาคำมั่นสัญญาที่มีภาระผูกพันต่อกัน การแต่งงาน มองถึงการใช้ชีวิตร่วมกัน สร้างครอบครัวใหม่ของตนเอง มองอนาคตร่วมกัน

                ความสัมพันธ์ใกล้ชิด ไม่ได้หมายความถึง แค่ความรักกับเพศตรงข้าม มีคู่ครอง ในเชิงสัมพันธ์สวาทสเน่หาเท่านั้น แต่รวมถึงสัมพันธภาพต่อคนรอบตัว คนใกล้ชิด เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว ญาติพี่น้อง การมีความรัก เอื้ออาทรต่อคนอื่น เห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือพึ่งพากันได้ การสร้างความสัมพันธ์ มิตรภาพ ในระยะยาวต่อกันและกัน ที่สำคัญบุคคลนั้นเต็มใจที่จะ ลดตัวตน ego ความเห็นแก่ตัว และยอมเสียสละ ประนีประนอม เห็นอกเห็นใจให้แก่กัน มอบสิ่งดีดีต่อกัน ซึ่งก่อเกิดเป็นความรักความผูกพันห่วงใย ดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน

ขั้นที่ 7. ขั้นพัฒนาการ ความรู้สึกที่จะเป็นผู้ให้กำเนิด รับผิดชอบ สร้างสรรค์สังคม กับ หลีกเลี่ยง ความรู้สึกที่คำนึงถึงแต่ตนเอง นำไปสู่ การดูแลเอาใจใส่เกิดขึ้น (วัยผู้ใหญ่ ช่วงอายุ 31 - 60 ปี)

            Adulthood: Generativity vs. Stagnation - Care        

                วัยผู้ใหญ่ หรือวัยกลางคน เป็นช่วงวัยที่รู้ว่าตนเองมีเอกลักษณ์อย่างไร มีความต้องการอย่างไรในชีวิตตลอดจน สร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น และเมื่อมาถึงขั้นนี้ก็พร้อมที่จะทำประโยชน์ให้แก่สังคม เป็นวัยที่มีความรับผิดชอบในหน้าที่การงานที่มั่นคง วางรากฐานทางการเงิน เก็บเงินเพื่อสร้างครอบครัวใหม่เป็นของตนเอง พร้อมที่จะมีบุตรทายาทไว้สืบสกุล (Generativity) วัยผู้ให้กำเนิด โดยมีรากฐานมาจากความรัก ความไว้วางใจของสามีภรรยาคู่รัก ความเอาใจใส่ดูแล และให้ความรักห่วงใยผูกพันให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ซึ่งความรักเอาใจใส่ดูแลห่วงใยนี้จะส่งต่อไปยังบุตรที่กำเนิดมาเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัว มีการตระเตรียมสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นสำหรับบุตรที่จะเกิดมา รวมทั้งสามีภรรยาจะมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดู อบรม สั่งสอน เด็กให้เติบโตอย่างเหมาะสม ความรู้สึกของการให้กำเนิดจะรวมถึง ความรับผิดชอบของพ่อแม่ต่อสังคม เช่น การเลี้ยงดูบุตรให้เติบโตเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ให้การศึกษา อบรมสั่งสอน มีพัฒนาการตามวัย เตรียมความพร้อมที่จะมีความไว้วางใจต่อโลกอย่างมีจิตใจที่ดี มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีวิจารณญาณในการแยกแยะสิ่งถูกผิดชั่วดีได้ ผู้ใหญ่ในวัยนี้ต้องเป็นหลักประกัน และมีความรับผิดชอบ เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นที่ไว้วางใจของลูกหลานต่อไป เป็นคนดีของสังคมในรุ่นต่อไป

                วัยผู้ใหญ่ยังเป็นวัยที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสนใจ และทำตัวมีประโยช์ต่อสังคม มีส่วนร่วมกับคน กลุ่มคน ชุมชน ที่ตนเป็นสมาชิกในสังคมนั้น ๆ แต่ถ้าบุคคลใดไม่มีการพัฒนาความสัมพันธ์กับคนในสังคมที่ดีพอ หรือสภาพจิตใจไม่ดี จะส่งผลให้เป็นคนเห็นแก่ตัว คิดคำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน หลีกเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ท้อแท้ หมดหวัง (Stagnation) เสื่อมถอย เบื่อหน่ายในชีวิต ไม่มีความเคารพนับถือตนเอง นำไปสู่การไม่ทำประโยชน์ สร้างสรรค์ต่อสังคม ไม่ได้รับการยกย่องยอมรับจากคนในสังคม

                นอกจากนี้ บางคนที่ยังไม่มีครอบครัวใหม่ หรือคนรักและบุตร ก็ไม่ใช่ว่าเขาจะเป็นคนที่ไม่สนใจสร้างสรรค์ ไม่ทำประโยชน์ต่อสังคมไม่นั้น ไม่เกี่ยวกับการมีคู่รักหรือบุตร การเป็นคนโสดก็ทำงานเพื่อประโยชน์ต่อคนอื่นในสังคมได้ ถ้าเขามีความคิดจิตสำนึกที่ดีและจิตใจที่ดี เอื้ออาทร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตา เห็นอกเห็นใจแก่ผู้อื่น

                อีกทั้งเด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ตอนต้น ก็อาจจะก้าวผ่านขั้นพัฒนาการความสัมพันธ์ใกล้ชิด มาสู่วัยผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ให้กำเนิดก่อนวัยอันควรก็ไม่ได้ผิดแปลกอะไร ขอเพียงแต่ทำใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงและสามารถปรับตัว เอาใจใส่ดูแลให้ความรัก การเลี้ยงดู อบรม สั่งสอน เด็กที่เกิดมาให้มีความพร้อม ฝึกสอนสิ่งที่เขาควรที่จะได้รับ ตอบสนองความพอใจ มีความสุขได้เพียงพอ และให้ความรู้ วิธีการจัดการอารมณ์และการจัดการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยดี คิดอย่างมีเหตุผลและมีจริยธรรม อยู่ในกรอบของสังคม เป็นที่ยอมรับนับถือต่อตนเองและของสังคม

                โดยส่วนใหญ่ความสุขของคนวัยกลางคน คือการแสวงหาความสุขสงบในชีวิตครอบครัว มีคู่ครองและบุตรที่ดี ประสบความสำเร็จในอาชีพ โดยมีงานที่มีเกียรติ มีผู้ให้ความยอมรับเคารพนับถือ และมีการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและครอบครัว รวมถึงการทำประโยชน์เพื่อสังคม การถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ ความชำนาญ สามารถแนะนำ แนวความคิด อุดมคติ อบรม สั่งสอน ให้การดูแลเอาใจใส่ (Care) ห่วงใยเอื้ออาทร มีความหวังดี ต่อลูกหลานคนรุ่นหลังสืบต่อกันไปได้ ให้เป็นคนดีในสังคม รู้จักรับผิดชอบ ทำประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัวให้มีความสุขกาย สบายใจ วัยผู้ใหญ่นี้จึงมีความภูมิใจ เห็นคุณค่า มีความเคารพนับถือในตนเอง มีความอิ่มอกอิ่มใจ ปลาบปลี้ม ยินดีที่จะทำสิ่งต่าง ๆ เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน ความรู้ความสุข เพื่อคนในครอบครัว ผู้สืบเชื้อสายสกุล หรือแม้แต่ลูกหลานของคนอื่นในสังคมได้ด้วยความเต็มใจ

ขั้นที่ 8. ขั้นพัฒนาการ ความมั่นคงสมบูรณ์ในชีวิต และหลีกเลี่ยง ความรู้สึกสิ้นหวังท้อถอยในชีวิต นำไปสู่ การรู้จักใช้ชีวิตมีคุณค่าในตนเอง (วัยชรา ช่วงอายุ 61 ปีขึ้นไป)

            Old Age: Ego Integrity vs. Despair - Wisdom

                วัยชรา ผู้สูงอายุ ช่วงอายุ  61 ขึ้นไป ร่างกายจะค่อย ๆ เสื่อม พละกำลังในการทำกิจวัตรประจำวันเริ่มลดน้อยถอยลง สิ่งที่เคยปฏิบัติ เคยทำได้นั้น บางอย่างเริ่มที่เสื่อมสมรรถภาพทางกายลดน้อยลง จะต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นช่วยในการใช้ชีวิตในแบบของตนเองอยู่บ้าง บางคนอาจจะช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง ซึ่งนำไปสู่ความวิตกกังวล ไม่มั่นใจในความสามารถของตน ขาดความอิสระในบางคราว เนื่องจากต้องให้คนรอบข้างช่วยเหลือดูแล ต้องการให้คนอื่นมาดูแลเอาใจใส่ แสวงหาความอบอุ่น ความมั่นคง สงบสุขทางจิตใจ ความสมบรูณ์พร้อมในตนเอง (Ego Integrity) ถ้าบุคคลนั้น มีความสำเร็จในการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา ไม่ได้เสียใจกับอดีตของเขา ตนได้ทำประโยชน์แก่สังคมอย่างเต็มที่แล้ว

                 ผู้สูงอายุ เป็นช่วงวัยของการระลึกถึงความทรงจำในอดีต ถ้าในอดีตที่ผ่านมาบุคคลมีความสุข ประสบความสำเร็จในพัฒนาการ และสิ่งต่างๆ รอบตัว ก็จะมีทัศนคติที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น มีความมั่นคงทางจิตใจ แต่ถ้าเขาเป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในการปรับตัว น้อยเนื้อต่ำใจ เสียใจเสียดายวันเวลาในอดีต  เห็นว่าชีวิตของเขาไม่เป็นประโยชน์ หรือรู้สึกว่าไม่บรรลุเป้าหมายชีวิตของเขา ไม่พอใจกับชีวิต วิตกกังวลกับอดีตที่ไม่ดีงามของตนเอง ขาดกำลังใจในการต่อสู้ มักนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและความสิ้นหวัง ท้อแท้ (Despair) เบื่อหน่ายชีวิต อยู่ไปวัน ๆ ไม่ทำอะไรที่มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น และไม่สามารถพัฒนาชีวิตในวัยชราได้อย่างมีความสุข

                วัยชรา ได้ผ่านการพัฒนาการในขั้น แรก ๆ ของชีวิตมีการปรับตัวในแต่ละช่วงวัย ตอบสนองความพึงพอใจ ได้สำเร็จลุล่วง ผู้สูงอายุจะมีความภาคภูมิใจในคุณค่าของตนเอง เป็นวัยของการยอมรับความเป็นจริง ใช้คุณค่าจากประสบการณ์ ที่สะสมมา ให้เป็นประโยชน์ต่อชนรุ่นหลัง มีองค์ความรู้ (Wisdom) ความฉลาดทางปัญญา (IQ) ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ความฉลาดทางจริยธรรม (MQ) เป็นต้น สามารถถ่ายทอดส่งต่อสู่ลูกหลาน สั่งสอนให้เป็นคนดีของสังคมในรุ่นต่อไป แต่บางคนถือเป็นสถานที่พิเศษในครอบครัวและหรือชุมชนของพวกเขาที่ผู้คนชนรุ่นหลังได้มาเยี่ยมเยือน พูดคุยพบปะกัน หรือ เลือกที่จะถอนตัวออกจากสังคม เพื่อที่จะพิจารณาเลือกใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ของพวกเขา รู้จักหาความสุข ความสงบในจิตใจ พอใจกับการมีชีวิตของตนในวัยชรา ไม่รู้สึกเสียดายเวลาที่ผ่านมา สามารถยอมรับสภาพ ความจริง ยอมรับ ความเป็นอยู่ของตนในปัจจุบันได้ Erikson กล่าวว่า "เด็กที่มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งกาย และใจ จะไม่หวาดกลัวต่อชีวิต และถ้าพ่อแม่ให้ ความมั่นคงแก่เขาเพียงพอเขาก็จะไม่กลัว ความตาย"

https://www.novabizz.com/NovaAce/Personality/Theory_Erikson.htm

https://www.novabizz.com/NovaAce/Personality/ทฤษฎีบุคลิกภาพ.htm

https://en.wikipedia.org/wiki/Erikson%27s_stages_of_psychosocial_development

                ท่านผู้อ่านสามารถอ่านศึกษาเพิ่มเติม บทความเรื่อง ทฤษฏีจิตสังคม ของอิริคสัน ในเว็บไซต์novabizz.com/NovaAce/Personality/Theory_Erikson.htm  ท่านผู้เขียน บทความนี้ เขียนได้ดีเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งทำให้เข้าใจอย่างละเอียดในแต่ละขั้นพัฒนาการของคนในแต่ละช่วงวัย ว่าต้องการสิ่งใด และตอบสนองในสิ่งใดอย่างไร และหลีกเลี่ยงหรือขจัดสิ่งใดไม่ให้เกิดผลด้านลบต่อบุคลิกภาพของเขา เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่การสร้างเอกลักษณ์ในตัวตนของเขาในเรื่องนั้น ๆ อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น ที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ อบรมสั่งสอน ชี้แนะแนวทางให้รู้ถึงในขอบเขตความอิสระในความสามารถที่จะกระทำได้ โดยอยู่ในกรอบความเหมาะสมของสังคม รู้จักแยกแยะดีชั่วถูกผิด รู้กาลเทศะ เป็นที่ยอมรับในตัวตนของเด็กเอง และเป็นที่ยอมรับในกฏระเบียบ จริยธรรม ของสังคม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงดู อบรม สั่งสอน ลูกหลานของเรา ให้มีความเชื่อมั่น ในคุณค่าของตนเองและมีความมั่นคงในจิตใจ กล้าที่จะเผชิญรับมือกับปัญหาในชีวิตประจำวัน  ได้อย่างเหมาะสม มีชีวิตที่ดี มีความสุขด้วยการเตรียมพร้อมในด้านจิตใจให้กับเขาในแต่ละช่วงวัยสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมรับมือเผชิญหน้ากับปัญหาในทุกสถานการณ์

            ช่วงอายุ และช่วงขั้นพัฒนาการอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยเฉพาะ บางคน เข้าสู่การเป็นพ่อแม่ เร็วกว่าคนอื่น จึงต้องมีการปรับตัว พัฒนาการตนเอง ในด้านการดูแลเอาใจใส่บุตรที่เกิดมาใหม่ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงในหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากขึ้น อาจจะประสบปัญหาความไม่พร้อม แต่ก็ต้องพยายามทำให้ดีและเหมาะสมในเรื่องการเลี้ยงดูบุตร เพื่อสร้างรากฐานแห่งความไว้วางใจ และปัจจัยอื่นให้เขาได้รับตามสมควรแก่วัยของเด็กอย่างเพียงพอ และเหมาะกับวัยของเด็กที่เกิดมาให้เป็นคนดีของสังคม มีความสุขทั้งทางร่างกายและจิตใจ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ช่วยกันสร้างสรรค์สังคมที่ดีส่งต่อสู่ลูกหลานเยาวชนรุ่นต่อ ๆ ไป ร่วมกันพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นกว่ารุ่นที่เราอยู่ยิ่งขึ้นไป

สรุป ทฤษฏีจิตสังคม ของอิริคสัน

                อิริคสันให้ความสำคัญกับ ขั้นที่ 1ถึง ขั้นที่ 5 มากว่าอีก 3 ขั้น ที่อยู่ในช่วงท้าย เน้นความสำคัญในการเลี้ยงดู อบรม สั่งสอนในวัยเด็ก จนถึงวัยรุ่น ที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่จะมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางสังคม ได้ดีหรือไม่ สามารถพัฒนา Ego and Superego ได้เหมาะสมหรือไม่ ก็อยู่ในช่วงวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ เพราะเป็นช่วงที่ปรับตัวค้นหาเอกลักษณ์ตัวตน มีบุคลิกในแบบของตนเอง แต่ทั้งหมดในแต่ละขั้นก็มีการพัฒนาในหลายปัจจัยเข้าด้วยกัน ไม่ใช่แค่ได้รับแล้วจะละเลยละทิ้งสิ่งนั้นไปไม่ แต่ยิ่งรับมาเป็นฐานต่อยอดพัฒนาต่อขึ้นไปอีก ไปสู่ระดับขั้นที่สูงขึ้นไป

                อิริคสันให้ความสำคัญสองเรื่อง

1. เรื่องการเล่นของเด็ก เป็นการพัฒนา Ego, Superego จากการเล่น เด็กได้พัฒนาการมีส่วนร่วมในสังคมจากการเล่น มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง (ขอบเขตความสามารถที่ตัวเขาพึงกระทำได้ และไม่ควรกระทำในสิ่งที่ผิดก่อความเดือดร้อนเสียหายต่อตนเองและผู้อื่น)

2. เอกลักษณ์ความเป็นตัวของตนเอง (Self) บทบาทหน้าที่สถานะของตน การสร้างความสัมพันธ์ที่มีต่อสังคม คนรอบข้างตัวของคนนั้น (รู้จักแยกแยะดีชั่วถูกผิด มีสติสัมปะชัญญะ และมีวิจารณญาณที่ดีเหมาะสม)

            ในความคืดเห็นของกระผม เรื่องสำคัญ คือ เรื่องเห็นแก่ตน ประโยชน์ส่วนตน กับ เห็นแก่ผู้อื่น คำนึงถึงผู้อื่น มีความปรารถนาดี ไม่เบียดเบียน สิทธิของผู้อื่น รู้จักชั่งน้ำหนัก ไม่ให้คานตราชั่ง เอียงเอนหนักไปทางเห็นแก่ตัว นำพาความเดือดร้อนเสียหายต่อตนเองและผู้อื่น

                "ทฤษฎีของอีริคสัน เป็นทฤษฎีที่อธิบายพัฒนาการของชีวิตตั้งแต่วัยทารกจนถึงวัยชราผู้สูงอายุ อีริคสันเชื่อว่า วัยแรกของชีวิตเป็นวัยที่เป็นรากฐานเบื้องต้น และวัยต่อ ๆ มาก็สร้างจากรากฐานนี้ ถ้าหากในวัยทารกเด็กได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีและอบอุ่น ด้วยความรักความห่วงใย ก็จะช่วยให้เด็กมีความเชื่อถือไว้วางใจในผู้อื่น ตั้งแต่บิดามารดา คนในครอบครัว ญาติมิตร เพื่อน บุคคลต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเขา ให้เขารู้จักการวางตัวได้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม หมั่นฝึกสอนให้เด็กช่วยเหลือตนเอง มีความตั้งใจที่จะทำอะไรเอง มีความภาคภูมิใจในตนเอง มีความรับผิดชอบ รู้จักวางตนให้เหมาะสมกับบทบาทสถานะของตนเองต่อสังคม มีจริยธรรม มโนธรรม รู้จักแยกแยะดีชั่วถูกผิด (สติสัมปะชัญญะ)  รู้จักการละอายเกรงกลัวต่อบาป (หิริโอตตัปปะ) และเมื่อเขาเติบโตขึ้นก็จะเป็นผู้ที่รู้สึกว่าตนเองมีสมรรถภาพที่จะทำอะไรได้ รู้จักขอบเขตของตนในความสามารถที่จะกระทำได้ โดยไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน นอกจากนี้จะมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น สามารถที่จะยอมรับสิ่งที่ดีและไม่ดีของตนเองและของผู้อื่นได้ สามารถยอมรับความเป็นจริงได้ เป็นที่ยอมรับนับถือทั้งต่อตนเอง และได้รับการยอมรับยกย่อง เคารพนับถือจากคนในสังคม เป็นที่ชื่นชอบ สามารถสนิทสนมกับผู้อื่น ทั้งเพศเดียวกันและเพศตรงข้ามโดยสนิทใจ เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นผู้เสียสละไม่เห็นแก่ตัว มีความรับผิดชอบ ทำงานหาเงินเลี้ยงชีพดูแลครอบครัว ดูแลเอาใจใส่ เลี้ยงดูอบรมสั่งสอน ลูกหลาน หรือคนรุ่นหลังต่อไป ให้เป็นคนดี มีคุณธรรม เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติต่อไปให้กับรุ่นที่สืบสกุลสานต่อไป และเมื่ออยู่ในวัยชราก็จะมีความสุขอิ่มเอมใจ เพราะว่าได้ทำประโยชน์และหน้าที่มาอย่างเต็มความสามารถ เติมเต็มความสุขทางใจอย่างเต็มที่แล้ว อีริคสัน เชื่อว่า "ชีวิตของคนเราในแต่ละช่วงวัยจะมีปัญหาบ้าง บางคนก็สามารถแก้ปัญหาด้วยตนเอง และดำเนินชีวิตไปตามขั้น แต่บางคนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เอง จึงส่งผลไม่สามารถปรับตัวเข้ากับคนในสังคมได้ไม่เหมาะสม อาจนำพาเป็นคนผิดปกติทางบุคลิกภาพ โรคประสาท หรือโรคจิต อาจจะต้องไปพบจิตแพทย์ ช่วยเพื่อแก้ปัญหา แต่บุคลิกภาพของแต่ละบุคคลเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และคนทุกคน มีโอกาสที่จะแก้ไขพัฒนาบุคลิกภาพของตนเองได้" และผู้ใหญ่ผู้อาวุโสกว่าก็มีส่วนที่จะช่วยส่งเสริมหรือแก้ไขบุคลิกภาพของผู้เยาว์ ที่อยู่ในความดูแลให้เหมาะสม สามารถเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นคงทางจิตใจ มีความสุขพร้อม ทางกายและจิตใจ

จับใจความจาก https://sites.google.com/site/psychologybkf1/home/citwithya-phathnakar/thvsdi-cit-sangkhm-khxng-xi-rik-san

                ซึ่งถ้าเราเข้าใจขั้นพัฒนาการทางจิตสังคม ได้อย่างลึกซึ้ง จะทำให้เราเข้าใจในเรื่องความเข้าใจในตัวคน พื้นฐานความคิดทางจิตใจของคน และสามารถนำความรู้นี้ไป อบรมสั่งสอน ลูกหลานของเรา ให้ได้รับการตอบสนอง ความพอใจในความต้องการ อย่างเพียงพอและเหมาะสม รู้ว่าในช่วงวัยใดต้องการได้รับการตอบสนองอย่างไร ควรให้เน้นความสำคัญในเรื่องใด พัฒนาเรื่องใด ชี้แนะ นำแนวทางที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดีให้เขาไปเลือกปฏิบัติในสิ่งที่ควร มีคุณค่าในตนเอง ก็จะทำให้เด็กเติบโตมาเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการดำเนินชีวิต รู้จักตนเองดีพอ มีทัศนคติที่ดี มีทักษะในการแก้ปัญหา มีทักษะเข้าสังคมมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ รู้จักแยกแยะดีชั่วถูกผิด มีความรับผิดชอบรู้ขอบเขตหน้าที่และบทบาทของตนเองดี มีความมั่นคงในจิตใจ เป็นคนดี อยู่อย่างมีความสุขในสังคม เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม

https://en.wikipedia.org/wiki/Erikson%27s_stages_of_psychosocial_development

https://www.novabizz.com/NovaAce/Personality/Theory_Erikson.htm

https://sites.google.com/site/thvsdiphathnakardekpthmway/thvsdi-thi-keiywkhxng-kab-phathnakar-dek-pthmway/thvsdi-phathnakar-thang-bukhlikphaph-khx-ngxi-rikh-san-erikson

https://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/concepts_of_developmental_psychology/05_1.html

https://sites.google.com/site/psychologybkf1/home/citwithya-phathnakar/thvsdi-cit-sangkhm-khxng-xi-rik-san

https://www.oercommons.org/authoring/22859-personality-theory/7/view

https://www.psychologynoteshq.com/erikerikson/

หมายเลขบันทึก: 674657เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2020 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มกราคม 2020 11:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท