@chokdeemeechai
วิชาชีวิตเพื่อความมั่นคงทางจิตใจ โชคชัย คงบวรเกียรติ

กลไกการป้องกันตนเอง (Defense Mechanisms)


กลไกการป้องกันตนเอง (Defense Mechanisms)

Anna Freud (แอนนา ฟรอยด์) ลูกสาวของ Sigmund Freud (ซิกมุนด์ ฟรอยด์) ได้ร่วมกันศึกษาและเรียบเรียง กลไกการป้องกันตนเอง ฟรอยด์เชื่อว่า มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความวิตกกังวลได้ เพราะในชีวิตจริงมนุษย์จะไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการได้ตลอดเวลา และ ไม่มีอะไรได้ดั่งใจตามคาดหวังได้ทุกอย่าง มนุษย์จึงมีความคับข้องใจ ขัดแย้ง หรือ Ego ไม่สามารถทําหน้าที่ควบคุม Id และ Superego ได้อย่างเหมาะสม มนุษย์จึงต้องพยายามหาทางผ่อนคลาย ปรับตัว Ego จึงแสวงหาวิธีลดภาวะไม่พึงปรารถนา หรือความเครียด ความวิตกกังวล หวาดกลัว หรือความรู้สึกผิด ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากเรารู้สึกว่าถูกคุกคาม หวาดกลัว และอันตรายต่อจิตใจ สัญชาตญาณแห่งความอยู่รอดจะส่งสัญญาณให้กับ Ego ดิ้นรนที่จะมีชิวิตอยู่รอด ปลอดภัยจากสิ่งไม่พึงปรารถนา Egoจึงต้องแก้ปัญหาแบบบิดเบือนจากความเป็นจริงและไม่ชอบด้วยเหตุผล Ego จึงต้องสร้างเกราะป้องกันตนเอง โดยการใช้กลไกป้องกันตนเองในการปรับตัว เพื่อช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล ความคับข้องใจ ความขัดแย้งในใจ ณ ขณะนั้น โดยวิธีการที่เรียกว่า กลไกการป้องกันตนเอง  (Defense Mechanisms) ซึ่งเป็นกลไกที่อยู่ในจิตใต้สํานึกมากกว่าทางจิตสํานึก ซึ่งแสดงออกพฤติกรรมออกมาเพื่อลดความตึงเครียดในการปรับตัวของจิตให้รู้สึกดีขึ้น กลับมาสู่สภาวะจิตที่เป็นปกติ

“การปรับตัวของอีโก้ หรือการปรับตัวของสภาวะทางจิต โดยการใช้กลไกป้องกันตนเองยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะยกย่องตนเอง ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีและขจัดความกลัวต่าง ๆ ที่มารบกวนจิตใจให้หมดไป ดังนั้นเมื่อได้ใช้แล้วบุคคลนั้นจะรู้สึกสบายใจขึ้น ถึงแม้ว่าการปรับตัวโดยการใช้กลไกป้องกันตนเองนี้จะสามารถรักษาความสมดุลของจิตใจไว้ได้ในระดับหนึ่งก็ตาม แต่ถ้านำไปใช้กับทุกเรื่องจนเคยชินเป็นนิสัยแล้ว จะส่งผลให้เป็นผลเสียต่อบุคลิกภาพของบุคคลนั้นได้เพราะการปรับตัวโดยการใช้กลไกป้องกันตนเองเป็นการต่อสู้และป้องกันตนเองจากสถานการณ์ความเป็นจริงที่ไม่สามารถยอมรับได้ ดังนั้นถ้าใช้บ่อยอาจทำให้บุคคลมีบุคลิกภาพที่ไม่สามารถยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับตนเอง และอาจนำไปสู่อาการของโรคประสาทได้ในที่สุด (เติมศักดิ์ คทวณิช, 2547, 298) “

“การใช้กลไกป้องกันตนเองมีจุดมุ่งหมายดังนี้ (ชูทิตย์ ปานปรีชา, 2551, 504-505)

1. เพื่อคงไว้หรือเพิ่มพูนความภาคภูมิใจของตนเอง โดยกลไกป้องกันตนเองจะทำให้บุคคลรู้สึกว่าตนมีคุณค่า ไม่ผิดไม่บาป และไม่ได้เป็นผู้สร้างปัญหา

2. เพื่อลดความวิตกกังวล ซึ่งมีกลไกป้องกันตนเองหลายชนิดเมื่อใช้แล้วทำให้ความรู้สึกวิตกกังวลลดลงหรือหายไป และทำให้ชีวิตประจำวันมีความสุขมากกว่าเดิม

3. เป็นวิธีแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า โดยนำกลไกป้องกันตนเองมาใช้ เพื่อทดแทนการแก้ปัญหาโดยตรง ทำให้เกิดความรู้สึกสบายใจขึ้น หรือ ผ่อนคลายความเครียดลงได้ แม้ปัญหายังคงอยู่หรือยังแก้ไขให้หมดไปไม่ได้ก็ตาม

4. ใช้เป็นเกราะกำบังป้องกันอีโก้ จากอันตรายหรือสิ่งที่จะมาคุกคาม ซึ่งได้แก่ อิด ซูเปอร์อีโก้ และโลกภายนอก ที่จะมาทำให้อีโก้เสียความมั่นคง อ่อนแอลง หรือทำให้เกิดความทุกข์ใจ”

http://www.bu.ac.th/knowledgecenter/executive_journal/oct_dec_10/pdf/aw16.pdf

กลไกการป้องกันตนเอง  (Defense Mechanisms) ที่นิยมใช้ในชีวิตประจำวัน มีหลายรูปแบบ ดังนี้

            Anna Freud (แอนนา ฟรอยด์) ได้ให้ความสำคัญห้าประเภทหลักของ Defense Mechanisms: repression, regression, projection, reaction formation, and sublimation

                จิตแพทย์และนักจิตวิทยา George Eman Vaillant  (จอร์จ อีแมน วาแลนท์) ได้ทำการรวบรวบและแบ่งกลุ่มหมวดหมู่ของ Defense Mechanisms ออกเป็น 4 หมวด: สภาพทางร่างกาย, วัยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ, สภาวะทางจิต, วัยบรรลุนิติภาวะ  อีกทั้งได้เพิ่ม ประเภทกลไกป้องกันตัว ขยายเข้าไปอีก จากของ ฟรอยด์ 

แต่กระผมได้เพิ่มเข้าไปโดยนำมาจาก Wikipedia กระผมจะขอ แบ่งหมวดหมู่กลไกป้องกันตนเอง เป็นไปตามเจตนาจุดประสงค์ ซึ่งมีอยู่ 7 หมวดหมู่:

1. ไม่ตัดสินใจเลือกและหยุดนิ่ง (Ambivalence and Fixation)

2. เก็บกด (Repression) การเก็บเข้าไว้ในตัวเอง

3. การแสดงออก (Acting of Expression) การแสดงความรู้สึกออกมา

4. หลีกเลี่ยง ปกปิด ปฏิเสธ (Avoidance and Denial)

5. ทำตรงกันข้าม (Opposite) เปลี่ยนเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม หรือจากเรื่องหนึ่งเป็นอีกเรื่อง

6. ยอมรับ (Acceptance) ทำใจยอมรับได้

7. ปรับเปลี่ยนประยุกต์เป็นความคิดเชิงบวก (Adapted to Positive Thinking) เปลี่ยนความคิด การกระทำ เป็นด้านบวกที่ดี

1. ไม่ตัดสินใจเลือกและหยุดนิ่ง (Ambivalence and Fixation)

1.1 การไม่ตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่ง (Ambivalence) เป็นสภาวะที่ Ego ไม่ตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่งให้เด็ดขาดลงไป แต่อยู่ในสภาวะสองจิตสองใจ สับสนรวนเร เอียงไปข้างนั้นทีข้างนี้ที มีลักษณะโลเล หลายใจนั่นเอง

1.2 การหยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง (Fixation) เป็นสภาวะที่หยุดอยู่กับที่ไม่ยอมเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไป เพราะประสบการณ์อันเจ็บปวด (Trauma) เช่น เด็กที่เคยสูญเสียพ่อแม่ก็จะไม่สร้างความรักกับใครอีกเลย หากแต่ยึดเกาะอยู่กับความรักที่มีต่อพ่อแม่ ไม่ต้องการสร้างความรักอีก เพราะกลัวที่จะต้องสูญเสียคนที่ตนรักไปอีกครั้ง เหมือนที่ต้องสูญเสียพ่อแม่ไป

2. เก็บกด (Repression) การเก็บเข้าไว้ในตัวเอง

                2.1  การเก็บกด (Repression) เป็นการเก็บความรู้สึกผิด ความคับข้องใจเอาไว้ในจิตใต้สำนึกจนกระทั่งลืม หายไปจากจิตสำนึก ไปชั่วขณะ แต่ก็ยังอยู่ในส่วนจิตใต้สำนึกมีโอกาสที่จะกลับขึ้นมารบกวนจิตใจได้อีกเมื่อนึกถึงหรือพบเจอเรื่องที่ให้ความรู้สึกในแบบเดียวกันได้อีก การเก็บกดจะช่วยให้บุคคลสามารถป้องกันการกระทบกระเทือนทางจิตใจ ส่งผลให้บุคคลนั้นไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิด ความขมขื่น หรือ ความรู้สึกผิดหวัง ซึ่งการเก็บกดนี้หากต้องเก็บความรู้สึกเอาไว้มาก ๆ และนำไปใช้บ่อย ๆ ประจำ อาจทำให้เป็นคนที่ไม่ยอมรับความเป็นจริงและส่งผลกระทบให้เป็นโรคประสาทได้

                2.2 การกดระงับ (Suppression) การขจัดความรู้สึก โดยการใช้วิธีเก็บปัญหาเอาไว้ก่อน ฝากไว้ในระดับจิตสำนึก การปราบปรามความคิดและอารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีสติและเราอาจตระหนักว่าเรากำลังพยายามปราบปรามความวิตกกังวล และการพยายามที่จะไม่คิดถึงความทรงจำ หรือความรู้สึกนั้น หรืออาจพยายามคิดเรื่องอื่นเมื่อไม่สบายใจ หรืออาจทำภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องเพื่อหันเหความสนใจของตัวเองไปเรื่องอื่นแทน

                Suppression มีลักษณะคล้ายกับ Repression แต่เป็นกระบวนการขจัดความรู้สึกดังกล่าวออกไปจากความคิด และเป็นกระบวนการที่เกิดอย่างที่ผู้กระทำมีความรู้ตัวและตั้งใจ ในขณะที่ Repression นั้นไม่รู้ตัว

                2.3 การโทษตนเอง (Introjection) เกิดขึ้นเมื่อคนใช้สิ่งเร้าในสภาพแวดล้อมของพวกเขา หรือบุคคลจะนําเอาความคิด ปรัชญา ทัศนคติและคำวิจารณ์และความเชื่ออื่น ๆ ที่เขาได้รับมาจากคนอื่น และยอมรับเอามาเป็นความคิดของตนเอง แล้วกล่าวโทษตัวเองผิด ตำหนิตัวเอง ว่ามีความผิด เป็นปมด้อยในจิตใจ เช่น เลิกกับแฟน แล้วรับเอาความผิดเข้ามาไว้ในตนเอง และโทษว่าตนเองไม่ดี น้อยเนื้อต่ำใจ ไม่กินไม่นอนคิดมากโทษตัวเอง จนทําให้เกิดพฤติกรรมซึมเศร้า และ อาจบกพร่องทางจิตใจและบุคลิกภาพได้ เป็นต้น

3. การแสดงออก (Acting of Expression) การแสดงความรู้สึกออกมา

                3.1 แสดงอาการกริยาออกมา (Acting Out) การแสดงกริยาในทางลบไม่ดีออกมา เช่น สบถคำหยาบ ด่าคำหยาบ อุทาน ร้องโวยวายเสียงดัง แสดงภาษาทางกายที่เป็นลบ แสดงความไม่พอใจออกมา ถุยถ่มน้ำลาย สบัดมือ สบัดหน้า กระทืบเท้า ชกลมระบายความไม่พอใจออกมา ทำหน้ามุ่ย แบะปาก เหยียดหยาม หรือประชดใส่ผู้อื่น เป็นต้น

                3.2 การเรียกร้องความสนใจ (Attention - Getting) คนเราต้องการเป็นที่ยอมรับ เป็นที่สนใจของคนในกลุ่มสังคม จะเห็นได้ว่าความต้องการเป็นที่สนใจของผู้อื่นนี้ มีปรากฎให้เห็นได้แม้กระทั่งทารก เด็กทารกเมื่อถูกปล่อยทิ้งให้อยู่ลำพังผู้เดียวจะเริ่มเปล่งเสียง และในที่สุดจะร้องไห้เพื่อเรียกร้องความสนใจ เมื่อมีคนเข้าหาปลอบหรือเล่นด้วย ก็หยุดร้องไห้จะเปลี่ยนเป็นยิ้มทันที่เมื่อมีผู้เข้าไปยิ้มเล่นด้วย วิธีการของเด็กแสดงถึงเรียกร้องความสนใจได้เป็นอย่างดี ผู้ใหญ่ก็เช่นเดียวกันการถูกเพิกเฉยละเลย การไม่ได้รับความรักความเอาใจใส่ ความสนใจเท่าที่ควรย่อมก่อให้เกิดความคับข้องใจ ซึ่งมักจะบรรเทาโดยการแสดงพฤติกรรมที่เรียกร้องความสนใจขึ้น เช่น ทำตัวผิดปกติไปจากเดิมที่เคยเป็น แกล้งทำเสียงดังเคาะโต๊ะ แกล้งทำของหล่น แกล้งทำประชดทำเป็นไม่สนใจคนใกล้ตัว เพื่อให้อีกฝ่ายทักขึ้นมาก่อน  หรือแกล้งทำตัวไม่ดีเพื่อเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ เป็นต้น พฤติกรรมนั้นจะดี หรือร้ายก็ได้เพราะอย่างน้อยการที่ตนถูกกล่าวถึงจะในแง่ดี หรือร้ายก็ตามก็ยังเป็นการทำให้ตนเป็นจุดสนใจของคนรอบข้าง

                3.3 ร้องไห้ (Crying) ร้องไห้มีน้ำตาออกมาเพื่อระบายความกดดัน คับแค้น คับข้องใจ เสียใจออกมา เป็นการบรรเทา ผ่อน ลดความตึงเครียด ทำให้สบายใจขึ้น หรือรู้สึกผ่อนคลายกลับมาเป็นปกติ

3.4 การแสดงความก้าวร้าว (Aggression) เป็นการกระทำของบุคคลเมื่อถูกขัดขวางความคิด ความต้องการของตน ความต้องการเอาชนะ จึงแสดงอำนาจโดยการต่อต้าน ต่อสู้ ทางกาย วาจาด้วยความก้าวร้าวเพื่อทำลายผู้อื่น หรือทำร้ายผู้อื่นให้เจ็บปวด หรือทำให้คนอื่นยอมแพ้ ยอมจำนนตามความคาดหมายของเขา ต้องการเอาชนะเอาแต่ใจเท่านั้น

3.5 ดื้อเงียบ ต่อต้านแบบเงียบ ๆ (Passive Aggression) การต่อต้าน ไม่ยอมรับ แต่ไม่แสดงออกถึงความก้าวร้าว รุกราน เพราะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม จึงหลีกเลี่ยงไม่แสดงความก้าวร้าว แต่แสดงออกเป็นการต่อต้าน ก้าวร้าวอย่างเงียบ ไม่เห็นด้วย ไม่ให้ความร่วมมือในหน้าที่หรืองานนั้น โดยไม่สนใจ ไม่แยแสคนอื่นจะพูดว่ากล่าวถึงตนอย่างไร หรือจะกระทำอะไรกับตนเองอย่างไรก็ไม่แคร์

4. หลีกเลี่ยง ปกปิด ปฏิเสธ (Avoidance and Denial)

                4.1 การหลีกเลี่ยง (Avoidance) เป็นปฏิกิริยาการหลีกเลี่ยง หลบหนีจากการเผชิญหน้ากับวัตถุ ผู้คน หรือเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเจ็บปวด เนื่องจากต้องข่มความรู้สึก ที่พลังทางเพศและความก้าวร้าวอันแฝงอยู่ในจิตไร้สำนึกถูกระตุ้นให้แสดงความปรารถนาออกมา การหลบหลีกสามารถทำให้หลบหนีจากเหตุการณ์ใด ๆ ได้ แต่ก็ละเลยที่จะจัดการกับสาเหตุของความวิตกกังวล ตัวอย่างเช่น รู้ว่าตนต้องทำหน้าที่นำเสนอผลงานที่ในที่ทำงานพรุ่งนี้ แต่กลับลาป่วย หยุดงานเพื่อหลีกเลี่ยงการเสนองาน เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น ยังไงก็ต้องกลับไปทำหน้าที่ในวันอื่นอยู่ดี เป็นต้น บางคนอาจหลีกเลี่ยงการคิดถึงบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล เลือกที่จะปล่อยให้ผ่านไป โดยไม่ได้รับการแก้ไขแทนที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา

                                4.1.1 ถอยห่างรักษาระยะห่าง (Distancing) รักษาระยะห่างออกมา หรือหนีการเผชิญหน้า เพื่อไม่ต้องการเกิดความขัดแย้ง หรือทะเลาะ วิวาทต่อกัน เช่น ภรรยาโมโหดุด่า สามี เขาจึงต้องถอยออกห่างเธอผู้เป็นภรรยา เพราะกลัวถูกภรรยาทำร้าย ขยับออกมาห่างเกินกว่าที่เธอจะลงมือลงไม้ ทำร้ายเขาได้ ไม่อยากจะทะลาะ หรือเดินหนีไปทางอื่น,  อีกแบบหนึ่ง สามีถอยออกห่าง เพราะพยายามห้ามใจ ไม่คิดทำร้ายลงไม้ลงมือ ไม่ให้ทะเลาะกับภรรยา เป็นต้น

                                4.1.2 การแยกตัวออก (Isolation) คือ สันโดษโดยการแยกตนออกไปอยู่ตามลำพัง เป็นอารมณ์ที่อยาก อยู่เงียบ ๆ คนเดียว ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับใครและไม่อยากให้ใครมายุ่งด้วย เป็นการชั่วคราวเท่านั้น เมื่อสบายใจแล้วหายเป็นปกติก็จะกลับมาเข้าสังคมตามเดิม เช่น ภรรยาดุด่าว่ากล่าว ชวนสามีทะเลาะ แต่สามีแยกตัวออกไป เพราไม่อยากทะเลาะด้วย รอให้ภรรยาอารมณ์ดีขึ้นจึงจะเข้าไปคุยใหม่อีกครั้ง, ลูกถูกพ่อแม่ดุด่า จึงหนีเข้าไปในห้องของตนเองปิดประตูอยู่คนเดียว เพราะต้องการหนีจากไป เพื่อบรรเทาความคับข้องใจ หรือสำนึกผิด เป็นต้น

                                4.1.3 การถอนตัวถอยหนี (Withdrawal)เป็นการหลีกหนีไปจากสิ่งที่ทําให้ไม่สบายใจ โดยการแยกตัวออกไปอยู่ตามลําพังเงียบ ๆ  คนเดียวไม่ยุ่งเกี่ยวติดต่อหรือข้องแวะกับบุคคลหรือสถานการณ์นั้น ๆ โดยสิ้นเชิง ทำคล้ายกับว่ามีกำแพงกั้นที่ตัดบุคคลนั้นไม่ให้ต้องเผชิญสถานการณ์นั้นอีกต่อไป เช่น การขังตัวอยู่ในห้องเมื่อไม่สบายใจ, นั่งซุกตัวอยู่ตามมุมตึก เป็นต้น การใช้กลไกวิธีนี้บ่อย ๆ จะทําให้มีสัมพันธภาพกับคนอื่นลดลง ความสนใจต่อเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมรอบตัวลดลง และเริ่มถอยห่างออกจากสังคมออกไปเรื่อย ๆ ดังนั้น ถ้ายิ่งใช้บ่อย ๆ มากและนาน โอกาสจะกลับสู่สังคมยิ่งยากขึ้น โดยไม่สนใจคนหรือเหตุการณ์ สถาพแวดล้อมภายนอกเลย และนำไปสู่การเป็นโรคจิตเภท

                                การแยกตัวออก (Isolation) แตกต่างกับ การถอนตัวถอยหนี Withdrawal ตรงที่การแยกตัวออก เป็นการไปอยู่คนเดียวลำพังเมื่อไม่สบายใจแค่ชั่วคราว เมื่อดีขึ้น ก็ใช้ชีวิตเป็นปกติตามเดิม มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างเหมือนที่เคยเป็น  แต่การถอนตัวถอนหนี Withdrawal จะแยกถอนตัวหนีไปอยู่ลำพังคนเดียว เมื่อยามไม่สบายใจ และจะปิดกั้นตนเองจากการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างและสภาพแวดล้อม ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง อยู่ลำพังค่อนข้างนานกว่าการแยกตัวออก ซึ่งอาจส่งผลไปสู่อาการซึมเศร้า ปัญหาทางสภาพจิตใจได้

                4.2 การกล่าวโทษผู้อื่น (Projection) หรือการโยนความผิดให้แก่ผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่เป็นความผิดของตนเอง คือการปกป้องตนเองจากการติชม กล่าวหา วิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่นต่อตนเอง การลดความวิตกกังวล โดยการย้ายหรือโยนความผิด ความไม่ดีไม่งามของตนเอง หรือความรับผิดชอบจากผลของการกระทำของตนเอง หรือผลจากความคิดที่ไม่เหมาะสมของตนไปให้บุคคลอื่น หลีกเลี่ยงการยอมรับผิดของตัวเอง กล่าวโทษคนอื่นแทน โยนความรับผิดชอบ โทษว่าเป็นความล้มเหลวของคนอื่น ไม่ใช่ความผิดของตนเอง ซึ่งเป็นการบิดเบือนมุมมองของเราเกี่ยวกับความเป็นจริง และหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง เพื่อให้ตนเองสบายใจ หรือรอดพ้นจากความรับผิด แต่ความชอบขอรับไว้แต่เพียงผู้เดียว เราแสดงความลำเอียงเมื่อเราพูดเกินความจริง เอาความสำเร็จของคนอื่นมาเป็นของตัวเรา เช่น คนที่ไปงานเลี้ยงแล้วนั่งคนเดียว จะโทษว่าคนอื่นไม่มาพูดคุยกับเขา, ตัวเองสอบตก ก็บอกว่า ครูสอนเขาไม่ดี, ตนเองรู้สึกไม่ชอบเขา ก็บอกว่าคนนั้นไม่ชอบตน เป็นต้น ถือว่า  “รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง”  Projection การกล่าวโทษผู้อื่น ถ้าใช้บ่อย ๆ จะส่งผลไม่สามารถรับรู้สภาพความเป็นจริง จะเกิดอาการหลงผิดคิด หวาดระแหงได้

                4.3 การถดถอย (Regression) คือการหนีกลับไปอยู่กับสภาพอดีตที่ตนเคยมีความสุข คนเมื่อประสบภาวะความตึงเครียด ความเจ็บปวดในชีวิตผู้ใหญ่และความวิตกกังวล เพื่อหนีไปสู่การถดถอยของพฤติกรรมในอดีตที่ปลอดภัยและมีความสุขมากกว่าปัจจุบัน  โดยพวกเขาอาจถอยหลังกลับไปทำตัวเหมือนตอนเด็ก เช่น การกินอาหารที่พวกเขาเคยได้รับตอนเด็กเยอะมากจนอ้วน, ดูหนังเก่า ๆ หรือการ์ตูนโดยไม่คำนึงถึงเวลาจนไม่หลับไม่นอน, ทำตัวเป็นเด็กที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ต้องให้แม่ทำให้ทุกอย่าง เป็นต้น

                4.4 การปฏิเสธ ไม่ยอมรับความจริง (Denial of Reality) เป็นวิธีการที่บุคคลไม่ยอมรับรู้ ไม่ยอมเข้าใจ ไม่ยอมเผชิญหน้ากับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับตนเองรับไม่ได้ เพราะเครียด วิตกกังวล หรือเจ็บปวด ที่ทำให้ตนต้องสูญเสีย หรือไม่ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา การปฏิเสธตัวเองจากความรู้สึกหรือการกระทำ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายต่ออัตตาที่เกิดจากความวิตกกังวลหรือความผิด ไม่ยอมรับความผิดของตัวเขา มักเกิดขึ้นในกรณีที่มีเหตุการณ์ที่ทําให้ตกใจ หรือถูกคุกคาม หวาดกลัวมาก ๆ หรือสูญเสียคนที่รักไป

                                4.4.1 การสร้างวิมานในอากาศ หรือการฝันกลางวัน (Fantasy / Day Dreaming) คือ การคิดฝัน หรือสร้างวิมานขึ้นเอง สร้างจินตนาการหรือมโนภาพ เกี่ยวกับสิ่งที่ตนมีความต้องการแต่เป็นไปไม่ได้ ไม่สามารถเป็นจริงได้ เพื่อหลีกหนีความเป็นจริงที่น่าสงสารเวทนา หดหู่ และเพื่อเติมเต็มและบรรเทา ความบกพร่อง ขาดแคลน สิ่งที่ตนไม่มี การคิดฝันจิตนาการในส่งที่อยากเป็น อยากมี จึงสร้างวิมานในอากาศขึ้น เพื่อสนองความต้องการ ชั่วขณะหนึ่งแลกกับการสูญเสียการติดต่อกับความเป็นจริง  หรือเป็นการฝันกลางวันเพื่อหลอกตัวเองไม่ต้องการรับความเป็นจริง เช่น คนไม่สวยก็นึกฝันว่าตนเองสวย เก่ง มีผู้ชายมารัก มาให้เลือกมากมายเหมือนนางเอกในละคร เป็นต้น

                                4.4.2 ความคิดที่ปรารถนาที่อยู่เหนือเหตุผล (Wishful Thinking) การเลือกตัดสินใจเชื่อความปรารถนาในจิตนาการ มากกว่า จะทำตามหลักเหตุผล และจะหลีกเลี่ยงการเผชิญกับความเป็นจริงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การผลัดวันประกันพรุ่ง ไม่ทำหาข้ออ้างในความคิดความเชื่อเข้าข้างตนเองในการปฏิเสธหลีกหนีความเป็นจริง ช่วยให้คนหลีกเลี่ยงความผิดหวังและความเศร้า และไม่อยากยอมรับความจริงให้นานที่สุด, การหลอกตัวเองอย่างมีอคติมีความเอนเอียงเพื่อรับใช้ตนเอง คิดตามความต้องการปรารถนาของตนเองโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงและไม่อยู่บนพื้นฐานของการคิดอย่างมีเหตุผลเชิงตรรกะเพียงพอ เชื่อตามความต้องการของตนเองเป็นใหญ่

                                4.4.3 การรับแนวความคิดหลักมาด้วยการละเลยด้านลบ Idealization คือการเลือกที่สนใจให้ความสำคัญของความต้องการ ว่ามีคุณค่าเกินจริง โดยการละเลย มองข้ามข้อจำกัดที่ผิดพลาด จุดอ่อนด้านลบออกไป เพื่อทำให้ตัวเองประทับใจ สบายใจ รู้สึกดีขึ้นที่นึกถึง หรือที่ได้ให้ความสนใจตั้งใจกับสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้น ๆ เช่น เด็กวัยรุ่นชื่นชอบดารา นักร้อง ซุปเปอร์สตาร์ จิตนาการว่าชีวิตดารานั้นสุดยอดสมบรูณ์แบบ โดยมองข้ามเรื่องที่เขาทำไม่ดี หรือภูมิหลังที่ไม่ดีของเขาไป เป็นต้น

                                4.4.4 ทำเรื่องใหญ่เปลี่ยนเป็นเรื่องเล็ก (Trivializing) ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นราวกับไม่ใช่เรื่องสำคัญ หรือมีคุณค่าอย่างที่เป็นจริง ทำเรื่องใหญ่ ให้เป็นเรื่องเล็กน้อย ให้ความสนใจ ความสำคัญน้อยลงไป ทำให้ง่ายขึ้น

5. ทำตรงกันข้าม (Opposite) เปลี่ยนเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม หรือจากเรื่องหนึ่งเป็นอีกเรื่อง

            5.1 การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาที่แท้จริง (Reaction Formation) คือ การแสดงออกในสิ่งที่ตรงข้ามกับที่ตนรู้สึกในทางที่ไม่ดี รู้ว่าถ้าทำสิ่งไม่ดีลงไป อาจมีความผิดต่อศีลธรรม จรรยาบรรณ และผิดกฏหมาย  เพราะคิดว่าสังคมอาจยอมรับไม่ได้ โดยการแสดงพฤติกรรมตรงข้ามกับความรู้สึกของตนเอง เปลี่ยนไปกระทำในแบบที่สังคมยอมรับได้แทน เป็นกลไกที่ความต้องการและทัศนคติที่อยู่ในระดับจิตใต้สํานึกถูกกดระงับไว้ แล้วถูกแทนที่ด้วยพฤติกรรมและทัศนคติในระดับจิตสํานึกขึ้นใหม่ เนื่องจากสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สํานึกนั้น เป็นความรู้สึกหรือความอยากที่แท้จริงนั้นไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม และนํามาซึ่งความขัดแย้งทางอารมณ์ จึงทําให้เกิดการกระทําที่ตรงกันข้ามกับความรู้สึกที่แท้จริงในใจของตน เช่น หญิงสาวหลงรักชายหนุ่มคนหนึ่งแต่ไม่ได้รับความสนใจตอบ หญิงสาวอาจแสดงพฤติกรรมตรงข้ามกับใจ โดยทําเป็นไม่สนใจใยดี ทั้ง ๆ ที่จริงอยากเข้าไปอยู่ใกล้,  ผู้ชายอาจรู้สึกถึงความรักขอบต่อผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ตระหนักดีว่าตนไม่ควรกระทำตามความปรารถนาของเขาจะขัดกับบรรทัดฐานทางสังคม จึงทำเป็นไม่ขอบเธอทั้งที่จริง ๆ ชอบเธอมากซึ่งตรงข้ามกับความรู้สึกเดิม เป็นต้น

                5.2 การชดเชยหรือการทดแทน (Substitution / Compensation) การชดเชยหรือการทดแทนด้วยการหาทางออกในอันที่จะแสดง ความต้องการของตน เป็นการชดเชยในสิ่งที่สังคมยอมรับได้

                5.2.1 การทดแทน (Substitution) เกิดเมื่อต้องการสิ่งใดอย่างมากแต่ไม่สามารถมีได้ จึงใช้สิ่งอื่นมาทดแทนที่คล้ายคลึงกันมาแทน เช่น อยากได้คอมพิวเตอร์ แต่เงินไม่พอ จึงซื้อNetbookแทน, สุนัขตายไป จึงซื้อสุนัขตัวใหม่มาเลี้ยงแทน เป็นต้น

                5.2.2 การชดเชย (Compensation) เป็นกลไกการปรับตัวเพื่อข่มลักษณะด้อยของตนเองโดยการสร้างปมเด่นเพื่อแทนปมด้อยเดิม เพื่อให้ตนรู้สึกสบายใจขึ้น กลไกนึ้จะช่วยให้บุคคลเกิดความรู้สึกยอมรับนับถือตนเอง ถ้าหาสิ่งชดเชยไปในทางสร้างสรรค์และบุคคลประสบความสําเร็จ เช่น คนที่เรียนไม่เก่งก็หันไปเอาดีด้านกีฬา, คนตัวเล็กแสดงความสามารถจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้างาน เป็นต้น แต่ถ้าสิ่งชดเชยนั้นเป็นไปในทางเสียหาย เช่น ร่างกายพิการไม่ได้สัดส่วนไปเป็นโจรวางแผนก่ออาชญากรรม เป็นต้น

                                5.2.3 การชดเชยเชิงสัญลักษณ์ (Symbolization) ใช้สิ่งหนึ่งเป็นตัวแทนอีกสิ่งหนึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามหรือไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม สิ่งที่ทดแทนนี้เป็นสัญลักษณ์ที่รู้กันทั่วไป เช่น ผู้หญิงที่นับถือและรักพ่อมากแต่ไม่ได้รับความรักความอบอุ่นจากพ่อ จึงไปมีสามีที่แก่กว่ารุ่นราวคราวเดียวกับพ่อ เป็นต้น

                5.3 การย้ายที่ (Displacement) คือ การเคลื่อนย้ายอารมณ์ที่มีต่อสิ่งที่เป็นต้นตอสาเหตุที่ทําให้เกิดอารมณ์ไม่ดี ไปสู่สิ่งที่ปลอดภัยกว่าและสามารถแสดงระบายความรู้สึกอารมณ์โกรธนั้นได้ คับข้องใจต่อคนหรือสิ่งของที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของความคับข้องใจ เช่น พนักงานที่ถูกเจ้านายดุด่าหรือทำให้คับข้องใจ เมื่อกลับมาบ้านอาจจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อภรรยาและลูก, หรือนักศึกษาที่โกรธครูแต่ทำอะไรไม่ได้ อาจจะเตะโต๊ะ หรือเก้าอี้ เพื่อเป็นการระบายอารมณ์, โกรธแม่แต่ทำอะไรแม่ไม่ได้ จึงปิดประตูกระแทกอย่างแรงเ ป็นต้น

                5.4 การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) คือการหาเหตุผล หาคำอธิบาย มาอ้างอิง มาประกอบการกระทำของตนเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น เป็นการปรับตัวโดยการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง โดยให้คำอธิบายที่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนอื่น การใช้วิธีการป้องกันตนเองแบบนี้เป็นการสร้างข้อแก้ตัวแก้ต่าง สำหรับเหตุการณ์หรือการกระทำในแง่ที่มีเหตุผล ในการทำเช่นนั้นของพวกเขาสามารถหลีกเลี่ยงการยอมรับสาเหตุที่แท้จริงหรือเหตุผลที่ทำให้เกิดสถานการณ์ปัจจุบันได้ คือบุคคลจะพยายามหาเหตุผล อ้างข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนความคิดเข้าข้างตนเองดังนี้

5.4.1 แบบองุ่นเปรี้ยว (Sour Grape) เช่น นักเรียนอยากเรียนแพทย์ศาสตร์ แต่สอบเข้าไม่ได้ สอบได้วิศวกรรมศาสตร์ อาจจะบอกว่าเข้าแพทย์ไม่ได้ก็ดีแล้ว เพราะอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่เสียสละ เสี่ยงภัย เหน็ดเหนื่อย ไม่มีเวลาของตนเอง เป็นวิศวกรดีกว่า เพราะเป็นอาชีพอิสระ มีรายได้มาก (ข้าง ๆ คู ๆ แถเข้าข้างตัวเอง)

                                5.4.2 มะนาวหวาน (Sweet Lemon) เช่น นักเรียนไม่อยากเรียนกฏหมาย พ่อแม่อยากให้เรียน ก็เลยลองสอบเข้าคณะนิติศาสตร์แล้วสอบเข้าได้ พ่อแม่ดีใจ สนับสนุนจึงต้องเรียนวิชากฎหมาย เลยคิดว่าเรียนกฏหมายก็ดี มีความรู้ เป็นอาชีพมีเกียรติ มีประโยชน์ต่อสังคม มีรายได้สูง และวันหนึ่งอาจเอาดีทางการเมือง ก็ได้ ใครจะรู้ (เออออห่อหมก มันก็ดีนะ)

                5.5 การแปลงเป็นอาการทางกาย (Conversion/ somatization) โรคทางกายที่เกิดจากจิต คือการเปลี่ยนความคับข้องใจ ความขัดแย้งในจิตใจ เกิดเป็นอาการทางกาย เช่น ปวดหลัง ปวดท้อง ปวดหัว ปวดท้อง เพื่อดึงความสนใจของจิตสำนึกไปสู่อาการทาง ร่างกายแทน รวมถึงความกังวลมากเกินไปหรือกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยที่รุนแรง โรคประสาทแบบ Hypochondriasis คือ โรคประสาทที่มีอาการหมกมุ่น และย้ำคิดเกี่ยวกับสุขภาพกายและหรือสุขภาพจิตของตนมากเกินไป ทำให้เกิดมีอาการทางกายต่าง ๆ มากมาย โดยไม่สามารถหาสาเหตุได้

                5.6 การไถ่บาป (Undoing) เป็นกระบวนการที่มีความสำนึกผิด โดยกระทําพฤติกรรมที่แสดงถึงการขอขมา ขอโทษ หรือลบล้างความผิดที่ได้เคยกระทําลงไปแล้ว หรืออับอาย ละอายใจ รู้สึกสำนึกผิด นั่นคือการพยายามหาทางไถ่บาปไถ่โทษ ด้วยวิธีการต่าง ๆ  ซึ่งจะช่วยให้สบายใจขึ้นทําให้รู้สึกว่าตนพ้นผิดในวิธีที่เหมาะสม เช่น ผิดนัดกับเพื่อนแล้วพาไปเลี้ยง, เคยคดโกงแล้วนําเงินไปบริจาคการกุศล, ให้เงินพ่อแม่ หลังจากทําตัวดื้อรั้นทําให้พ่อแม่เสียใจในตอนเด็ก เป็นต้น คนเราจะใช้กลไกนี้เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีก่อให้เกิดความปรองดองกับบุคคลที่เคยมีเรื่องราวบาดหมางกันมาก่อน แต่ถ้าใช้อย่างผิดวิธีจะมีผลต่อการเป็นโรคทางจิต

6. ยอมรับ (Acceptance) ทำใจยอมรับได้

            6.1 การเลียนแบบ (Identification) คือ การปรับตัวโดยการเลียนแบบพฤติกรรม ทัศนคติ ค่านิยม ของบุคคล หรือสิ่งของที่ตนชื่นชอบ โดยการพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความรู้สึกทางจิตใจ ตามแนวคิดของฟรอยด์เรื่อง Oedipus Complex  ปมพัฒนาการทางเพศ เด็กชาย อาจรู้สึกอึดอัดกับพ่อของตนขณะที่พวกเขาแข่งขันเพื่อให้ได้รับความรักของแม่ของพวกเขา และความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจากการความกลัวที่ไม่มีเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับพ่อ อาจทำให้ตัวเด็กรู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้อง เอาใจช่วยพ่อ เพื่อปลอบประโลมบุคคลที่เขารับรู้ว่าเป็นภัยคุกคาม เขาอาจเลียนแบบลักษณะพฤติกรรมจากพ่อของเขา การใช้คำพูดหรือท่าทาง เลียนแบบบุคลิกต้นแบบจากพ่อมา เพื่อแสดงออกให้แม่เห็นว่าตัวเด็กเองนั้นเป็นผู้ใหญ่มากพอเพื่อดึงดูดความสนใจจากแม่ และให้ได้รับความรักจากแม่ แต่ยังมีความเห็นอกเห็นใจพ่อด้วย โดย Anna Freud ว่าเป็นการระบุตัวตนกับผู้รุกราน เช่น คนที่ย้ายโรงเรียนหรือย้ายที่ทำงาน เริ่มต้นงานใหม่หรือเข้าสู่สังคมใหม่ ๆ อาจใช้บรรทัดฐานทางสังคมหรือทัศนคติของเพื่อนร่วมชั้น เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงานหรือคนอื่น ๆ ที่พวกเขายอมรับ เช่น หัวหน้ากลุ่มชุมชนมาเป็นบุคคลต้นแบบ ในการทำตาม การพูดจา การแต่งตัวการวางตัว ทำตัวเหมือนแล้วยังมีความรู้สึกร่วมกับผู้ที่ตนเลียนแบบด้วย ในการเข้าสังคมใหม่ เพื่อให้ได้รับการยอมรับและ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปฏิเสธโดย เพื่อนใหม่

                6.2 ความคาดหมาย (Anticipation) คาดคะเนเหตุการณ์ล่วงหน้า ความคาดหมายของเหตุการณ์เครียดอาจเป็นวิธีหนึ่งที่บุคคลอาจเตรียมตัวสำหรับจิตใจ ความคาดหมายอาจเกี่ยวข้องกับการลองทดสอบคาดคะเนผลลัพท์ที่เป็นไปได้ในใจ หรือบอกตัวเองว่าจะไม่เลวร้ายอย่างที่พวกเขาจินตนาการ คนที่มีความหวาดกลัวต่อทันตแพทย์ อาจคาดว่าจะได้รับการจัดฟัน โดยบอกตัวเองว่าขั้นตอนจะจบลงในเพียงไม่กี่นาทีและเตือนตัวเองเตรียมพร้อมทำใจมาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาใด ๆ ให้กังวลหนักใจไปกว่านี้อีกแล้วเดี๋ยวก็ผ่านพ้นไปได้

                6.3 การยอมรับ (Acceptance) การยอมรับสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความกังวลเป็นหนึ่งในกลไกการป้องกันตนเอง ที่เราอาจใช้ในการใช้ชีวิตกับสถานการณ์ หรือความรู้สึกที่ไม่พึงปรารถนา การยอมรับในผลจากการกระทำของเรา คือยอมรับผิด ในสิ่งที่ตนได้ทำผิด  ชดใช้ความผิด ที่ได้พลาดคิดผิดทำผิดลงไป ยอมรับสภาพ เช่น เขาโมโหทำร้ายชกต่อยคนอื่นก่อน เขายอมรับผิด และยอมรับโทษตามกฏหมาย, ภรรยาฟ้องหย่าสามีเพราะนอกใจคบผู้หญิงอีกคน เขาจึงยอมรับว่าผิด และยอมหย่ากับภรรยาแต่โดยดี เป็นต้น

                การทำใจยอมรับ การยอมรับอย่างเต็มใจ ปลงตก ทำความเข้าใจ ทำใจยอมรับได้ ว่ามันเป็นข้อจำกัดของตัวเราอย่างหนึ่ง ยอมรับรู้ในความเป็นจริงและทำใจรับได้กับสิ่งนั้น เช่น เราไม่ได้เป็นคนรวย จึงต้องยอมรับและทำใจให้ได้ อีกทั้งต้องอดทน ขยันทำงาน เก็บเงิน เพื่อที่จะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ เป็นต้น

                ***ในหัวข้อการยอมรับนี้ ถัดจากนี้ไป Egoทำหน้าที่ควบคุม Id และประสานงานกับ Superego ได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสม และทำให้ตนเองยอมรับด้วยความเต็มใจ และมีความสุขอย่างภาคภูมิใจในตนเอง มีคุณค่าในตนเอง***

                6.4 ความรู้จักประมาณตน ( Moderation) การกลั่นกรอง การสงบใจ ขั้นตอนการขจัด หรือ ลดความรุนแรงและอยู่ในขอบเขตที่สมเหตุสมผล จำเป็นต้องมีการควบคุมตนเอง ซึ่งกำหนดบังคับความต้องการปรารถนาของตนให้อยู่ในขอบเขตของเหตุและผล ไม่กระทำสิ่งใดที่เกินกำลัง ความสามารถของตน คือ รู้จักประมาณตน ยอมรับในข้อจำกัดที่ตนมีและทำใจได้ ทำความเข้าใจและเต็มใจรับได้ สงบใจ ยับยั้งชั่งใจตนเองได้ ไม่ให้ทำตามความต้องการตามสัญชาตญาณมากเกินไปจนทำให้เดือดร้อนทั้งกายใจของตนเอง บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงและหลักของเหตุผล

                6.5 ความอดทน (Patience) อดทนต่อสถานการณ์ที่ยากลำบาก (อดทนการยั่วยุกระตุ้นต่อสิ่งเร้าอารมณ์ คำวิพากษ์วิจารณ์ ระงับประวิงเวลาให้ช้าลงก่อนการโจมตี หรือบันดาลโทะ) อดทนอดกลั้นเป็นเวลานานก่อนที่จะตอบสนองในทางลบ หักห้ามใจได้ไม่ให้กระทำไม่ดี และอดทนอดกลั้น รู้ว่ายังไม่ถึงเวลาอันควรที่จะได้หรือสมหวังในตอนนี้ ต้องทนรอไปก่อน เมื่อมีความพร้อมมากขึ้น ก็จะสามารถที่จะตอบสนองความต้องการของตนเองได้ในอนาคต เช่น อยากมีรถยนต์ มีบ้านของตนเอง แต่เงินยังไม่พอ จึงต้องทำงานเก็บเงินให้พอกับเงินดาวน์และมีความมั่งคงทางการเงินมากพอที่จะสามารถผ่อนรถ ผ่อนบ้านได้ เป็นต้น

                6.6 เคารพ (Respect) ความเต็มใจที่จะชื่นชม ยินดีให้ความนับถือ เคารพ ต่อคุณงามความดี มีคุณธรรมเป็นคนดีของบุคคลอื่น เคารพในสิทธิของความเป็นคน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ถ้าไม่มีความเคารพนับถือต่อกัน จะทำให้เกิดความขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้ง ต่อคนในสังคมได้ง่าย ทำลายความสัมพันธ์ต่อกันในระยะยาวได้ ถึงแม้เขาจะทำให้เรา ไม่สบายใจ คับข้องใจ แต่ฝ่ายตรงข้าม เป็นคนที่สถานะสูงกว่าเรา เช่น หัวหน้างาน นายจ้าง ครูอาจารย์ เป็นต้น เขาเหล่านั้นอาจทำให้เราไม่พอใจในบางครั้งก็ตาม แต่เนื่องจากเขาเป็นคนที่น่าชื่นชม และเป็นที่น่าเคารพนับถือ ตัวเราจึงยินดีรับฟัง และยอมรับทำใจ กับสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เราไม่พอใจ เราจึงปลงตก เพราะเรายังคงนับถือเขาอยู่ และการกระทำของเขาที่มีต่อเรา นั้นไม่ได้ทำผิดต่อเรา เพียงแต่เขาว่ากล่าวตักเตือน เพื่อหวังดีต่อเราเจตนาสั่งสอนให้เป็นคนดี เช่น ครูตักเตือนนักเรียน อย่าวิ่งเล่นในห้องเรียนเพราะเกรงว่านักเรียนจะหกล้ม ชนสิ่งของจนได้รับบาดเจ็บ อีกทั้งไปรบกวนและทำเสียงดัง ซึ่งนักเรียนก็หยุดหักห้ามใจ ทำใจยอมรับได้ เพราะความเคารพนับถือ ที่มีต่อคุณครู เป็นต้น

            6.7 ความกตัญญูกตัญญู (Gratitude) สำนึกบุญคุณ ความรู้สึกขอบคุณ หรือความชื่นชมต่อผู้คนและกิจกรรมต่าง ๆ ความกตัญญูมีแนวโน้มที่จะนำระดับความสุขที่สูงขึ้น ลดระดับความหดหู่และความเครียดลง ในบางครั้งคนที่เราเคารพนับถือหรือผู้อาวุโสกว่าเรา อาจทำไม่ดี หรือทำให้เราไม่พอใจ ไม่สบายใจ แต่เขาเป็นพ่อแม่ ผู้ใหญ่ที่เรานับถือ หรือมีศักดิ์สถานะที่อยู่เหนือเรา เราจึงยอมและทำใจ หักห้ามใจไม่ให้โกรธ หรือโมโห แสดงกิริยาไม่ดีเอาไว้ และคิดได้ว่าเขาเป็นผู้มีพระคุณ มีบุญคุณต่อเรา เราจึงยอมรับและเข้าใจในความปรารถนาดีที่เขามีต่อเรา ที่เขาดุด่า ตำหนิ ว่ากล่าว เพราะเขาหวังดี ต้องการเตือน สั่งสอนเราให้คิดได้ ทำตัวดีอยู่ในสังคมได้ เราจึงสำนึกบุญคุณและขอบคุณต่อเขาที่เลี้ยงดู อบรมสั่งสอนเรามา

                6.8 ความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจ (Mercy and  Altruism) ความเมตตา ปราณี เห็นอกเห็นใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ต่อผู้อื่น เช่น คนแก่บางคนจุกจิกจู้จี้ขี้บ่น อาจจะทำให้เราไม่พอใจ แต่เราก็เห็นอกเห็นใจ เข้าใจในพื้นฐานของคนชราว่า อาจจะเหงา หรือมีความหวังดีต่อผู้อื่นแต่วิธีการที่ใช้อาจไม่เหมาะสม ก็ทำใจยอมรับได้ ไม่เป็นไร ปล่อยแก่บ่นไปเถอะ ซึ่งเรามีความเห็นอกเห็นใจ, อยู่บนรถเมล์คนยืนกันแน่นรถ จังหวะเบรกกระทันหัน คนข้าง ๆ เซมาเหยีบเท้าของเรา เขาไม่ได้ตั้งใจ เขาขอโทษ เราจึงยอมรับได้ ซึ่งเรามีความเมตตาปราณีต่อเขา เป็นต้น

                6.9 สติชอบ (Mindfulness) สติสัมปชัญญะ (มีสติรู้ตัวรู้จักผิดชอบชั่วดี) รู้ตัวว่าอะไรควร อะไรไม่ควรกระทำและหลีกเลี่ยง ละอายเกรงกลัวต่อบาป (หิริโอตตัปปะ) รู้จักยับยั้งชั่งใจในสิ่งที่ไม่ควรกระทำ และรู้จักเลือกตัดสินใจทำในสิ่งที่สมควรทำตามความถูกต้องเหมาะสม ซึ่งสิ่งนี้ต้องได้รับการอบรมสั่งสอน เรียนรู้จากประสบการณ์ที่สะสมมาตั้งแต่เด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และคุณธรรม

7. ปรับเปลี่ยนประยุกต์เป็นความคิดเชิงบวก (Adapted to Positive Thinking) เปลี่ยนความคิด การกระทำ เป็นด้านบวกที่ดี

                7.1 การทดเทิด (Sublimation) หมายถึง การที่จะสามารถเปลี่ยนความกังวลเชิงลบให้เป็นพลังงานที่เป็นบวก หรือเปลี่ยนความรู้สึกเชิงลบที่สังคมรับไม่ได้ เปลี่ยนให้เป็นรูปแบบที่สังคมยอมรับ เช่น ชอบความรุนแรงและก้าวร้าว จึงไปเรียนชกมวย, หรือเล่นกีฬา รักบี้ ฟุตบอล เพื่อระบายความรุนแรงในทางสร้างสรรค์ เป็นต้น

ในหัวข้อที่ 7 เรื่องการปรับเปลี่ยนประยุกต์เป็นความคิดเชิงบวก นั้นมีเพียง การทดเทิด Sublimation เท่านั้นที่มาจากทฤษฏีของฟรอย์ ที่ อีโก้ทำหน้าที่ป้องกันตนเอง ที่เหลือนอกจากนั้น เป็น Superego และEgo ทำหน้าที่ควบคุม Idได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ในชีวิตมากเพียงพอที่จะมีองค์ความรู้พื้นฐานทางจริยธรรม มโนธรรม วัยวุฒิมากเพียงพอในการควบคุมตนเองได้ ซึ่งมีความคิดเห็นว่า กลไกการป้องกันตนเองนั้นก็มีทางด้านบวก สร้างสรรค์ประยุกต์ใช้ในด้านที่ดีได้เช่นกัน

                7.2 การใช้เชาวน์ปัญญา (Intellectualization) หมายถึง หันเหความสนใจไปสู่การใช้ความคิด องค์ประกอบทางปัญญา ปรัชญาต่างๆ เพื่อเลี่ยงการเผชิญกับสิ่งที่ไม่สบายใจ ความวิตกกังวล ไม่มีผลต่อพวกเขา หลีกเลี่ยงอารมณ์ที่ยอมรับไม่ได้โดยมุ่งเน้นด้านสติปัญญา คิดหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างมีเหตุผลแทนความไม่พอใจ  เช่น ทีมฟุตบอลที่แพ้ หลีกเลี่ยงความรู้สึกว่าตนเองไม่ดี ไม่สบายใจ โดยการหันมาสนใจรายละเอียดเรื่องการวางแผนและขั้นตอนที่บกพร่อง นำมาปรับปรุงแก้ไขแผนการเล่นในการแข่งขันครั้งต่อไป

                7.3 อารมณ์ขัน (Humor) หมายถึง การใช้อารมณ์ขัน การหยอกล้อเล่น สนุก ขำขัน หัวเราะ เพื่อระบายความอึดอัด ความกระวนกระวายใจ ความวิตกกังวล ไม่สบายใจ แสดงความรู้สึกหรือความคิดของตนออกมาเป็นเรื่องตลกขำขัน โดยที่ตนก็ไม่รู้สึกอึดอัด และเป็นผลดีต่อผู้อื่น เพื่อช่วยผ่อนคลายบรรยากาศจากสถานการณ์ความตึงเครียด น่าหวาดกลัว หรือสภาพความยากลำบาก และให้เราสามารถรับมือกับกับปัญหา และสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น

                7.4 การแยกเป็นส่วนออกจากกัน (Compartmentalization) โดยการแยกความคิด ความรู้สึกส่วนที่ขัดแย้งกันออกจากกัน หรือการแยกความคิดที่รบกวนจิตใจออกจากอารมณ์ความรู้สึกในขณะนั้น เช่น ถูกคนในบ้านดุด่าว่ากล่าว แต่ตัวเขากลับไปนั่งดูทีวี หรือไปนั่งทานข้าว ปล่อยให้คนอื่นบ่นโดยไม่ได้สนใจ, เขาทำงานแล้วเกิดความเครียด แต่เมื่อเขากลับบ้าน เขาก็ไม่ได้นำความเครียดกลับมาด้วย เขาแยกส่วนและทิ้งมันในที่ทำงาน เป็นต้น (แยกลิ้นชัก ตู้เก็บความคิดออกจากกัน)

                7.5 การเปรียบเทียบทางสังคม (Social Comparison)ในทางที่ดี เปรียบเทียบกับคนในสังคม คนที่สูงกว่า และกับคนที่ต่ำกว่า เพื่อทำให้ตัวเราสบายใจ ผ่อนคลายจากความกดดัน ความตึงเครียด ความขัดแย้งในใจ และเพื่อปลอบประโลมใจ มีความภาคภูมิใจเรียกขวัญกำลังใจให้ฮีดสู้ มีความหวังขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ยกตัวอย่าง เมื่อรู้สึกแย่ ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง แต่เราก็ยังดีกว่าเขา ยังมีโอกาสที่ดีกว่าเขา เมื่อเทียบกับคนอื่นที่ต่ำกว่าเรา เช่น เมื่อตัวเราปลอดภัยจากอุบัติเหตุ โชคดีนะ ที่เรารอดมาได้ ทั้งที่มีคนบาดเจ็บกันหลายคน เป็นต้น  และการเปรียบเทียบกับคนที่สูงกว่าเรา เพื่อให้ตัวเรามีความอดทน มุ่งมั่น รับผิดชอบ ตั้งใจ มีความภาคภูมิใจในตนเอง ทำงานเก็บเงินมากยิ่งขึ้น เช่น คุณลุงคนนั้น เป็นคนร่ำรวยมาจากตั้งใจการทำงานเก็บเงินตั้งแต่ยังหนุ่ม แถมมีเมียสวยด้วย เปรียบเทียบกับคนที่สูงกว่า เพื่อให้เรารู้สึกดีในขณะนี้ และมีความมุ่งมั่นตั้งใจ อดทนทำงานมากยิ่งขึ้น เป็นต้น การเปรียบเทียบทางสังคมมีทั้งด้านดีและไม่ดี ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคล (ถ้าหากเปรียบเทียบแล้วทำให้ตนเองเป็นปมด้อยหรือตำหนิตนเองก็ไม่ใช่ในทางที่ดี หรือเปรียบเทียบแล้วกลายเป็นความอิจฉาริษยาก็ไม่ใช่ในทางที่ดี) เป็นต้น

                7.6 ความนอบน้อม (Humility) การแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน เกี่ยวข้องกับการลดความคาดหวัง และมุมมองของเรา เกี่ยวกับความสำคัญของตัวเอง ยอมเสียสละความภาคภูมิใจของเราโดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญไปที่คนอื่น ๆ ความอ่อนน้อมถ่อมตนสามารถช่วยให้เราได้การยอมรับและความเกรงใจกลับมาจากอีกฝ่าย รวมถึงช่วยให้เราสามารถปลอบขวัญผู้ที่อยู่รอบตัวเราในความขัดแย้งที่ตึงเครียดและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกับคนอื่น ๆ เช่น เราเสนอตัวเข้ามาช่วยพวกเขาโดยแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนในขณะที่พยายามทำให้งานที่ยากลำบากให้สำเร็จ สิ่งนี้อาจกระตุ้นให้คนอื่นเห็นด้วยและช่วยเหลือด้วยความตั้งใจมากขึ้น เป็นต้น

                7.7 ความกล้าหาญ (Courage) ความกล้าหาญมีใจแน่วแน่ และความเต็มใจที่จะเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง ความกลัวความเจ็บปวดอันตรายและความไม่แน่นอน ความสิ้นหวัง ฟันฝ่าอุปสรรค หรือการข่มขู่ คุกคาม ได้อย่างตั้งใจมุ่งมั่น ความกล้าหาญทางกายภาพมักจะยืดอายุขัย ในขณะที่ความกล้าหาญทางจริยธรรมจะรักษาอุดมการณ์แห่งความยุติธรรมและความเป็นธรรม

                7.8 การควบคุมตนเองทางอารมณ์ (Self-Regulation)ความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการที่ต่อเนื่องของประสบการณ์กับช่วงของอารมณ์ในลักษณะที่ยอมรับได้ในสังคม การควบคุมตนเองทางอารมณ์ หมายถึง กระบวนการที่ผู้คนใช้ในการปรับเปลี่ยนประเภทความเข้มช่วงเวลาหรือการแสดงออกของอารมณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์

                7.9 การให้อภัย (Forgiveness) ยอมยกโทษ ให้อภัยในความผิดที่ฝ่ายตรงข้ามกระทำต่อเรา และแม้ว่าเขาอาจจะบอกว่าเขาไม่ได้กระทำผิดต่อเรา ตัวของเรานั้นไม่ถือโทษ กลับให้อภัยเขา ยกโทษ คิดว่าไม่เป็นไร ถือว่าบริจาคทำบุญด้วยใจแก่เขาแทน ไม่รังเกียจ ยุติความเครียดแค้นเคือง พยาบาท จองเวร โกรธ ต่อเขาได้ และรวมถึงให้อภัยต่อความผิดพลาดของตนเองได้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ กลับมานับถือตนเองอย่างภาคภูมิใจ มีคุณค่าในจิตใจตนเอง

สรุป กลไกป้องกันตนเอง

                กลไกการป้องกันตนเอง (Defense Mechanism) เป็นวืธีการปรับตัวของจิตใจ เมื่อคนเราประสบความขัดแย้ง ความคับข้องใจ จากบุคคลและสถานการณ์ที่คุกคาม เป็นอันตรายต่อตัวและจิตใจของตนเองที่มีผลต่อความอยู่รอดปลอดภัย เพื่อช่วยยืดเวลาในการแก้ปัญหา และช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด ความไม่สบายใจ คลายความวิตกกังวล ทำให้สบายใจรู้สึกดีขึ้น มีเวลาในการคิดหาเหตุผลและมีสติพิจารณาจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมในทางที่ดีที่สุดในชีวิตประจำวัน

                บุคคลที่เข้าใจถึงหลักการของการใช้กลไกป้องกันตนเอง ทำให้บุคคลนั้นมองตนเองได้ลึกซึ้ง และหยั่งเห็นถึงปัญหาที่แท้จริงของตน ทำให้สามารถหาทางแก้ไขปัญหาได้อย่างมีเหตุผล ตระหนักถึง การมีคุณค่า ความภาคภูมิใจ การนับถือตนเอง และสามารถมองอ่านคนอื่นได้เข้าใจธาตุแท้ของคนนั้น และสามารถหาวิธีการที่ดีในการจัดการความสัมพันธ์อันดีต่อกันได้ดียิ่งขึ้น

                การใช้กลไกการป้องกันตัวนั้น เป็นการช่วยบรรเทาผ่อนคลายจากความคับข้องใจได้เพียงชั่วคราว แค่บิดเบือนความเป็นจริง เปลี่ยนเรื่องไป หรือแค่หลีกเลี่ยง ชะลอเวลา ซึ่งไม่ได้รับแก้ไขปัญหาที่ต้องเผชิญให้หมดไป บุคคลที่ใช้กลไกการป้องกันตนเองไม่เหมาะสม และไม่เข้ากับสถานการณ์สภาพแวดล้อมจะทำให้มีปัญหาการปรับตัวอยู่ร่วมกับคนในสังคม ไม่เป็นที่ยอมรับของคนรอบข้างที่เราต้องติดต่อปฏิสัมพันธ์ร่วมด้วย และเป็นคนไม่ยอมรับความเป็นจริง ถ้านำมาใช้บ่อย ๆ ใช้ผิดวิธีบ่อย ๆ นาน ๆ เข้าจะติดเป็นนิสัยก่อเป็นบุคลิกภาพที่บกพร่องมีความผิดปกติ และอาจนำไปสู่ภาวะหลงผิดรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึมเศร้า รวมถึงมีปัญหาสุขภาพจิต อันนำไปสู่โรคจิตเภท

                กลไกการป้องกันตัว เป็นการใช้โดยที่เราไม่รู้ตัว หรือแสดงออกมาจากจิตใต้สำนึกซะส่วนใหญ่ แต่ถ้าเรามีสติรู้ตัว (Ego) เราจะดึงให้กลับขึ้นมาอยู่ในระดับจิตสำนึกให้ช่วยจัดการกับวิธีการในการป้องกันตนเองได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อม ด้วยการมีสติสัมปะชัญญะ และหิริโอตัปปะ คือมโนธรรม (Superego) ควบคุมความปรารถนาของ Id (สัญชาตญาณ) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแสดงออกมาในทางบวก สร้างสรรค์ ต่อการดำรงชีวิตได้ดีในชีวิตประจำวันของเรา อยู่ร่วมกับคนในสังคมอย่างมั่นคงในจิตใจ พร้อมที่จะรับมือกับทุกสถานการณ์

http://www.bu.ac.th/knowledgecenter/executive_journal/oct_dec_10/pdf/aw16.pdf

https://psychodiary.com/behavioral/psychoanalytic-theories-freud

https://sites.google.com/site/wingsswagger/3-thvsdi-thangkar-phyabal-sukhphaph-cit/3-1-thvsdi-cit-wikheraah-samphanthphaph-rahwang-bukhkhl-laea-cit-sangkhm

https://www.novabizz.com/NovaAce/Behaviorฝกลไกการป้องกันตัวเอง.htm

https://www.novabizz.com/NovaAce/Personality/Theory_Freud.htm

https://www.simplypsychology.org/defense-mechanisms.html

https://www.psychologistworld.com/freud/defence-mechanisms-list

http://changingminds.org/explanations/behaviors/coping/coping.htm

https://en.wikipedia.org/wiki/Defence_mechanisms#Theories_and_classifications

                การที่คนเราใช้กลไกลการป้องกันตัว บ่อย ๆ จนเกิดความเคยชิน แสดงพฤติกรรมซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จนติดเป็นนิสัย ก่อให้เป็นบุคลิกภาพที่มีเอกลักษณ์ในตัวตนของเขา ซึ่งได้มาจากประสบการณ์การเรียนรู้ตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน และในแต่ละช่วงอายุ แต่ละวัยวุฒิ ช่วงขั้นการพัฒนาการของบุคลิกภาพนั้นเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาจิตใจและความสามารถในการแก้ปัญหาที่ต้องประสบในชีวิตประจำวัน ถ้าเราเข้าใจการพัฒนาบุคลิกภาพของคนในแต่ละขั้นได้อย่างถ่องแท้ ก็จะมีประโยชน์ในการวิเคราะห์คน รวมถึงนำมาใช้ในการอบรม สั่งสอน ลูก หลานของเราให้เติบโตเป็นคนที่มีความพร้อม มีคุณวุฒิ วุฒิภาวะ มีความเข้าใจในตัวคนและสังคม มีทัศนคติที่ดี มีคุณธรรม เป็นคนมีพื้นฐานจิตใจดี มีความมั่นคงในจิตใจ ทำให้เขาอยู่ร่วมกับคนในสังคมอย่างมีความสุขถ้วนหน้า

หมายเลขบันทึก: 674656เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2020 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มกราคม 2020 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท