The Ripper ฆาตกรต่อเนื่องจอมชำแหละ


ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำเสนอฉายา “The Ripper” เพื่อสื่อแทนตัวของสมคิด พุ่มพวง

                      The Ripper ฆาตกรต่อเนื่องจอมชำแหละ

                                                                                                                                                       ตฤณห์ โพธิ์รักษา

           จากคดีฆาตกรรมโหด โดยการ ฆ่ารัดคอ นางรัศมี มุลิจันทร์ หรือฝ้ายแม่บ้านหญิง อายุ 51 ปี ชาวจังหวัดขอนแก่น เมื่อ 14 ธันวาคม 2562 โดยการลงมือของ สมคิด พุ่มพวง ฆาตกรต่อเนื่อง อายุ 55 ปี ที่เพิ่งพ้นโทษจากการถูกจำคุกมาเป็นเวลา 14 ปี หลังจากสังหารหญิงสาว 5 รายอย่างต่อเนื่องภายใน 6 เดือน เมื่อปี พ.ศ. 2548  คดีสะเทือนขวัญนี้ เป็นที่สนใจของประชาชนและสื่ออย่างมาก จึงนำมาสู่การจับกุมตัวได้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 โดยการแจ้งเบาะแสของพลเมืองดี ขณะที่ฆาตกร กำลังหลบหนีจากจังหวัดที่เกิดเหตุ มุ่งหน้าสู่กรุงเทพ

        จากความสนใจ และประโคมนำเสนอข่าวอย่างมากจากสื่อหลายสำนัก ทำให้สามารถจับกุมตัวฆาตกรได้ภายในเวลาเพียง 4 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตาและสนใจข่าวที่เกิดขึ้น แต่มีสื่อบางสำนัก ได้ให้ฉายาสมคิด พุ่มพวง ว่าเป็น The Ripper เมืองไทย

      ผู้เขียนในฐานะ นักอาชญาวิทยาและมีประสบการณ์ในการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมเลียนแบบในเด็ก ทั้งด้าน กายภาพ และ จิตเวช มีความเห็นว่า ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำเสนอฉายา “The Ripper” เพื่อสื่อแทนตัวของสมคิด พุ่มพวง เนื่องจากประการแรก การเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ (Imitation)

ขอเท้าความไปยังที่มาของชื่อ Jack The Ripper ว่ามีความเป็นมาอย่างไร

    ชื่อนี้ปรากฏครั้งแรกในจดหมายจากบุคคลนิรนามส่งไปยัง สำนักข่าวกลางของประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1888 มีข้อความขู่ว่าจะมีการฆาตกรรมเพิ่มขึ้น หลังจากเหตุการณ์ฆาตกรรมสยองขวัญที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1888 โดยผู้เสียชีวิตมีนามว่า Annie Chapman อายุ 47 ปีอาชีพโสเภณีโดยลักษณะศพที่พบมีสภาพถูกชำแหละอย่างทารุณ บริเวณท้องถูกฉีกเปิดออกและเครื่องในถูกดึงออกมากองไว้ข้างข้างศพ ผิวหนังที่ท้องบางส่วนถูกนำออกมาวางบนไหล่ทั้งสองข้าง ลำไส้และเครื่องในจำนวนมากพร้อมทั้งชิ้นส่วนของอวัยวะเพศและกระเพาะปัสสาวะถูกตัดเป็นรูปและหายไปจากศพ จดหมายที่ถูกส่งมาขู่ว่าจะมีการฆาตกรรมเพิ่มขึ้นเป็นการเปิดเผยชื่อ Jack The Ripper ครั้งแรก หลังจากนั้นบรรดาสื่อทุกสำนักก็ใช้ชื่อนี้ในการกล่าวถึงคดีฆาตกรรมที่มีรูปแบบการทำแหละศพที่คล้ายกัน

    ฉายา The Ripper เป็นฉายาของฆาตกรต่อเนื่องที่มีความโด่งดังมาตลอด 131 ปี และยังไม่สามารถระบุตัวฆาตกรได้ ชื่อนี้จึงเป็นสัญลักษณ์อาชญากรที่ยังลอยนวลอยู่ เด็กหรือเยาวชนที่กำลังเสพสื่อนี้ จะมีความรู้สึกว่า การเลียนแบบพฤติกรรมเช่นนี้ จะทำให้ตนมีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่รู้จักสำหรับคนทั่วไป หากเด็กนำพฤติกรรมเช่นนี้ไปเลียนแบบก็จะก่อให้เกิดพฤติกรรมการฆาตกรรมเพื่อความสนุกสนานเพียงเพื่อให้ตนได้รับฉายาและเป็นที่รู้จักสำหรับคนทั่วไป อีกหนึ่งตัวอย่างจากการวิจัยของศาสตราจารย์ Lary Siegel ส่วนหนึ่งได้ตีพิมพ์ในหนังสือ Juvenile and Delinquency (2017) ได้มีการเปิดเผยว่า วัยรุ่นอเมริกันมีการเลียนแบบพฤติกรรม ตามแบบอย่างจากเนื้อเพลงแรพ ของแร็พเปอร์ชื่อดังขวัญใจวัยรุ่น อย่าง Eminem ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับยาเสพติดและการมีเพศสัมพันธ์

            เนื้อหาสาระของทฤษฎีเลียนแบบหรือ Imitation โดย Gabriel Tarde เสนอว่า พฤติกรรมการเลียนแบบของเด็กหรือพฤติกรรมการเลียนแบบของบุคคลทั่วไปจะเกิดขึ้นจากบุคคลที่มีสถานะสูงกว่า ยกตัวอย่างเช่น ชนชั้นกลางจะเลียนแบบชนชั้นสูง วัยรุ่นจะเลียนแบบบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือไอดอลของตน โดยการเลียนแบบพฤติกรรมนั้นไม่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันซึ่งหน้า หากแต่เป็นการซึมซับจากการเฝ้ามองพฤติกรรมเพียงฝ่ายเดียวก็ได้ ทั้งนี้หมายความรวมถึงสื่อในโซเชียลมีเดีย (Social Media) ต่าง ๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นคลิปวิดีโอที่มีความรุนแรง การสอนการประกอบระเบิด คลิปวิดีโอการทะเลาะวิวาท ล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมที่สามารถถูกซึมซับ และเลียนแบบจากเพียงแค่การเฝ้าสังเกตอยู่ฝ่ายเดียวได้ กล่าวก็คือแค่นั่งดูคลิปวิดีโออยู่ที่บ้านก็จะซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว

                งานวิจัยอีกงานหนึ่งที่น่าสนใจของ Ohio State University เกี่ยวกับพฤติกรรมการเลียนแบบที่มาจากอิทธิพลของสื่อที่มีต่อเด็ก ได้ทำการทดลองให้เด็ก อายุ 6-12 ปี แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกดูภาพยนตร์ที่มีการตัดต่อ ตัดฉากที่มีอาวุธปืนออก และกลุ่มที่สองดูภาพยนตร์ต้นฉบับที่ไม่มีการตัดฉากใดใดออก ทั้งสองกลุ่มดูภาพยนตร์เป็นเวลา 20 นาที หลังจากนั้นผู้ทดลองได้ปล่อยเด็กทั้งสองกลุ่มเข้ามาในห้องที่เต็มไปด้วยของเล่น โดยในห้องมีของเล่นมากมาย แต่ที่น่าสนใจคือผู้วิจัยได้ซ่อนปืน 0.38ไว้ในลิ้นชักซึ่งในตู้เก็บของในห้องนั้นด้วย ผลปรากฏว่า เด็กที่ดูภาพยนตร์ที่ไม่ได้มีการตัดต่อเอาปืนออกมีการเล่นกับของเล่นรุนแรงกว่าเด็กกลุ่มที่ดูภาพยนตร์ที่ถูกแก้ไขตัดต่อเอาปืนออก และร้อยละ 83 ของเด็กหาปืนเจอและส่วนใหญ่นำปืนมาเล่นมีเพียงร้อยละ 27 ของเด็กเท่านั้น ที่พบปืนได้นำมาให้ผู้สังเกตการณ์ทันที ร้อยละ 42 ได้นำปืนมาเล่นหลากหลายรูปแบบและที่สำคัญที่สุดก็คือ เกือบจะไม่มีเด็กคนไหนเลยที่ดูภาพยนตร์ที่ถูกตัดต่อเอาปืนออกทดลองเหนียวไกปืน

“ตรงกันข้ามกับเด็กที่ดูภาพยนตร์ต้นฉบับเมื่อพบปืนเด็กเหล่านี้มีการทดลองเหนียวไก่ปืนโดยเฉลี่ยคนละสองถึงสามครั้งและมีการถือปืนเป็นเวลานานกว่าเด็กที่ไม่ได้ดูภาพยนตร์ต้นฉบับนานกว่าถึง 4-5 เท่า สิ่งที่น่ากังวลที่สุดก็คือเด็กที่ได้ลองเหนี่ยวไกปืน ได้ทดลองเหนี่ยวไกอยู่หลายครั้ง บางคนเหนี่ยวไกมากกว่า 20 ครั้ง เด็กคนหนึ่งเล็งปืนออกไปนอกหน้าต่างเล็งไปยังผู้คนที่เดินอยู่บนถนน ส่วนเด็กอีกคนจ่อปืนไปที่ขมับของเพื่อนและทดลองลั่นไก

ประการที่สอง วิธีการลงมือเหยื่อระหว่างสองคดี มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยคดีฆาตกรรมต่อเนื่องของ The Ripper ทุกคดี เหยื่อทุกรายจะถูกชำแหละศพด้วยของมีคม และทุกศพจะถูกเชือดคอ อย่างน้อยสองครั้ง และส่วนใหญ่บาดแผลจะลึกจนคอเกือบขาด นอกจากนี้ยังมีการควักเครื่องในออกมาจากของศพ เอาไว้ว่าบางชิ้นถูกขโมยไป ซึ่งลักษณะของศพที่ถูกฆาตกรรายนี้ทำการฆาตกรรม ถูกชำแหละออกเป็นชิ้นๆ จึงเป็นที่มาของฉายา The Ripper ซึ่งแปลว่าผู้ชำแหละเนื้อ นั่นเอง

ในขณะที่สมคิด พุ่มพวง มีวิธีปฏิบัติต่อเหยื่อของตนแตกต่างออกไป สมคิดกระทำการให้เหยื่อขาดอากาศหายใจโดยการบีบคอ กดน้ำและเอาสายไฟรัดคอ ทุกรายถูกทำให้ขาดอากาศหายใจโดยปราศจากบาดแผลจากของมีคม แม้ว่าจะมีการโจมตีเหยื่อบริเวณลำคอเหมือนกัน แต่เหยื่อของสมคิดไม่ได้มีบาดแผลที่ทำให้เลือดไหลออกมาเลย สมคิด จึงห่างไกลจากฉายา The Ripper อย่างสิ้นเชิง

ประการสุดท้าย  ไม่มีหลักฐานที่มีน้ำหนักชิ้นใดบ่งบอกว่า The Ripper เป็นผู้ชาย ผู้เชี่ยวชาญและนักสืบพร้อมทั้งตำรวจหลายคนได้สันนิษฐานว่า The Ripper เป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดย นักสืบเจ้าของคดีนี้ นามว่า Frederick Abberline เป็นคนคิดทฤษฎีผู้ต้องสงสัย Jill The Ripper สันนิษฐานว่าผู้ร้ายอาจจะเป็นพยาบาลผดุงครรภ์ เนื่องจากมีความรู้เกี่ยวกับอวัยวะภายในของผู้หญิงเป็นอย่างดี และพยานที่เห็นเหยื่อรายที่ 4 ของ The Ripper เป็นคนสุดท้าย พบเหยื่อยืนอยู่กับผู้หญิงต้องสงสัย ซึ่งอาจจะเป็นฆาตกรก็เป็นได้ สองปีหลังจากเหตุการณ์ฆาตกรรมต่อเนื่องของ The Ripper ใน ค.ศ. 1890 Mary Pearcey ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น Jill The Ripper ได้ถูกพิพากษาประหารโดยการแขวนคอ เนื่องจากลงมือฆ่าภรรยาและลูกของผู้ชายที่ตนเองเป็นชู้ด้วย โดยสภาพศพมีสภาพคล้ายกับเหยื่อทั้งหมด 5 คนของ The Ripper (บางสื่อพบว่าอาจจะมีจำนวนเหยื่อถึง 11 ราย แต่ยังไม่ได้รับการยืนยัน)

เรื่องราวสยองขวัญอันโด่งดัง จากคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่เกิดขึ้น ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในปีค.ศ. 1888 ทำให้ไม่มีใครไม่รู้จัก ฉายา The Ripper ของฆาตกรจอมชำแหละผู้นี้ แต่น้อยคนนักที่จะรู้รายละเอียดของวิธีการฆ่าอันวิปริตนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลคดี เมื่อ 131 ปีที่แล้ว จากสื่อของประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับคดี The Ripper มาเรียงลำดับเหตุการณ์ และรายละเอียดมานำเสนอดังนี้

ย้อนกลับไป 131 ปีที่แล้ว ณ ย่าน WhiteChapel กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1888 มีการพบศพของหญิงวัย 42 ปีนามว่า Mary Ann  Nicholls ลักษณะศพมีใบหน้าบวมช้ำลำคอโดนปาดลึก 2 แผลหน้าท้องโดนฟันจนเป็นแผลเปิดวงกว้างและยังมีแผลจากการถูกแทงอีก 2-3 รอย ถือได้ว่านี่คือผลงานชิ้นแรกของฆาตกรฉายา The Ripper หลังจากนั้นอีก 8 วัน เมื่อวันที่ 8 กันยายนคริสตศักราช 1888 พบศพของโสเภณีอายุ 47 ปีนามว่า Annie Chapman ลักษณะศพถูกของมีคมปาดที่คอจนเกือบขาด หน้าท้องโดนฉีกเปิดออกและเครื่องในถูกดึงออกมากองไว้ข้างศพ ผิวหนังที่ท้องบางส่วนถูกควักออกมาวางไว้บนไหล่ทั้งสองข้างของศพ ลำไส้และเครื่องในจำนวนมากพร้อมทั้งชิ้นส่วนอวัยวะเพศและกระเพาะปัสสาวะถูกตัดออกเป็นรูปและหายไปจากที่เกิดเหตุ

วันที่ 28 กันยายนคริสตศักราช 1888 ได้มีจดหมายจากบุคคลนิรนามส่งมายังสำนักข่าวกลางโดยมีข้อความว่าจะมีการฆาตกรรมเพิ่มขึ้นลงชื่อ Jack The Ripper เรียกได้ว่านี่เป็นครั้งแรกที่ชื่อของฆาตกรวิปริตรายนี้ถูกเปิดเผยจากสื่อทุกสำนัก กลายเป็นเหตุการณ์เขย่าขวัญของชาวอังกฤษ ใครที่ถือกระเป๋าสีดำจะถูกประชาชนเข้าไปโจมตีและทำร้ายเนื่องจากมีข่าวลือว่าฆาตกรจะถือกระเป๋าสีดำเพื่อบรรจุอาวุธมีดไว้สังหารเหยื่อรายต่อไป

หลังจากสำนักข่าวได้รับจดหมายเพียง 2 วัน วันที่ 30 กันยายนคริสตศักราช 1888 ฆาตกรต่อเนื่องรายนี้ได้ทำการฆาตกรรม 2 ศพห่างกันเพียงไม่กี่นาที โดยเวลา 1:00 น. ของวันที่ 30 กันยายน พบศพหญิงสาวรายหนึ่งชื่อ Elizabeth ขณะพบศพเลือดยังคงพุ่งออกจากคอของหญิงสาวโชคร้ายรายนี้ดูเหมือนฆาตกรจะถูกขัดขวางระหว่างการปฏิบัติภารกิจของตน  1:45 น. พบศพของ Catherine Eddowes อายุ 43 ปีสภาพศพโดนเฉือนและถูกเปิดออกให้เห็นอวัยวะภายใน และแน่นอนลำคอถูกเชือดเป็นแผลเหวอะหวะลึกจนเกือบขาด เปลือกตา จมูก และหูขวา ถูกตัดออก มดลูกและไตข้างซ้ายถูกนำออกไปจากศพ เครื่องในถูกลากออกจากท้องมาพาดไว้บนไหล่ขวาของศพ จากที่เกิดเหตุไม่ไกลตำรวจ ได้ตามรอยเลือดนำไปยังประตูบานหนึ่ง ในบริเวณนั้น มีข้อความถูกเขียนด้วยชอล์ก ว่า “The Jewes are not the men to be blamed for nothing” แปลว่า “คนยิวไม่สมควรถูกกล่าวหาลอย ๆ” ทำให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้น คือ Sir Charles Warren มีอารมณ์โกรธอย่างมาก เพราะถือเป็นการหยามตำรวจที่ไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ Warren จึงสั่งให้ลบข้อความนั้นออก ซึ่งเขาได้ทำลายหลักฐานเดียวที่จะสามารถสืบสาวไปถึงตัวฆาตกรทิ้ง ไปโดยปริยาย

วันที่ 9 พฤศจิกายนค.ศ 1888  เหยื่อรายสุดท้ายของฆาตกรต่อเนื่องรายนี้ถูกพบอยู่บนเตียงในหอพักแห่งหนึ่ง เหยื่อเป็นหญิงสาวอายุน้อยที่สุดในบรรดาเหยื่อทั้งหมด นามว่า Mary Jeanette Kelly อายุ 25 ปี  ศพถูกพบโดยเจ้าของหอพัก ซึ่งผู้พบศพหลังจากได้เห็นสภาพศพก็กล่าวว่า ภาพนี้คงตามหลอกหลอนเขาไปจนตาย สภาพศพบริเวณลำคอถูกเชือดเป็นแผลเหวอะหวะ จมูกและเต้านมถูกตัดและทิ้งไว้บนโต๊ะ เครื่องในถูกควักออกมาพาดไว้บนกรอบรูปประดับห้อง  ผิวหนังถูกถลกออกทั้งตัว เครื่องในและหัวใจถูกควักออกมาวางไว้บนโต๊ะเช่นกัน ท่ามกลางความกลัวและความโกลาหลของประชาชน ได้มีการเรียกร้องให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้นซึ่งก็คือ Sir Chales Warren ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากการตามล่าตัวคนร้ายนำมาสู่ผู้ต้องสงสัยจำนวน 7 ราย แต่ไม่มีหลักฐานชิ้นใดมีน้ำหนักมากพอที่จะบ่งชี้ว่าผู้ใดเป็น Jack The Rippper ตัวจริง ผู้ต้องสงสัยทั้งหลายล้วนแต่เป็นการสันนิษฐานของตำรวจ นอกเหนือจากนี้ยังมีข่าวลือว่าอาจจะเป็นช่างตัดผมชาวโปแลนด์ พยาบาลผดุงครรภ์  หรือแม้กระทั่งกษัตริย์ ชาวรัสเซีย

 2 ปีต่อมาคริสตศักราช 1890  ผู้ต้องสงสัยว่าเป็น The Ripper อีกคนหนึ่ง ที่ได้รับโทษประหารโดยการแขวนคอ เป็นผู้หญิงชื่อ Mary Pearcey ได้ฆ่าภรรยาและลูกของ ผู้ชายที่ตนแอบรัก วิธีการจัดการกับศพนั้นมีลักษณะเหมือน The Ripper

นี่คือตำนานของฆาตกรต่อเนื่อง ที่ยังไม่สามารถระบุตัวได้ ซึ่งถูกรวบรวมมาจากหลายสำนักข่าวของประเทศอังกฤษ  โดยผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของคดีฆาตกรรมต่อเนื่องอันโด่งดัง และถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในขณะนี้ และเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน ไม่มากก็น้อย



ปล. การใช้ชื่อ Jack The Ripper and Jill The Ripper เหมือนการใช้ชื่อ John Doe สำหรับบุคคลนิรนามเพศชาย และ Jane Doe สำหรับบุคคลนิรนามเพศหญิง ในชั้นการสืบสวนของอเมริกัน ในกรณีที่ไม่ทราบชื่อบุคคลนั้นๆ ไม่ใช่การตั้งฉายา โดยมีการใช้ชื่อเรียกแทนนี้ครั้งแรกในการว่าความเกี่ยวกับที่ดินในประเทศอังกฤษ และหากมีบุคคลนิรนามสองคนในคดีเดียวกัน ฝ่ายนิรนามหญิง จะถูกเรียกว่า Jane Doe

หมายเลขบันทึก: 673832เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2019 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2021 18:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท