แกงเผ็ดไก่ย่างกับไข่ลูกเขย


อาหารครัวครูแป๊ววันนี้เป็นเมนูที่อยากทำรับประทาน เป็นเมนูที่รับประทานคู่กันได้ถูกปากถูกใจ เพราะมีรสชาติที่ตัดกัน แกงเผ็ดไก่ย่างกับไข่ลูกเขย รสชาติเค็ม-หวานอมเปรี้ยวของ ไข่ลูกเขย ช่วยชูรสชาติของแกงเผ็ดให้อร่อยยิ่งขึ้น

เรามักจะคุ้นเคยกับแกงเผ็ดเป็ดย่าง ที่มีรสเปรี้ยวน้อยๆ ของมะเขือเทศทำให้รสชาติแปลกออกไปจากแกงเผ็ดชนิดอื่น ประจวบกับมีไก่ย่างที่รับประทานเหลือเก็บอยู่ในตู้เย็นจึงนำมาทำเป็นแกงเผ็ดไก่ย่าง โดยทำแบบเดียวกับแกงเผ็ดเป็ดย่างทุกอย่าง ผักที่ใส่ในแกงใช้มะเขือเทศ มะเขือพวง ใบโหระพา พริกชี้ฟ้าเขียว-แดง เหมือนกัน

มะเขือเทศมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ ได้แก่ ช่วยลดระดับไขมันในเลือด ช่วยป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด มีไลโคปีนช่วยเร่งสลายไขมันชนิดไม่ดี ( LDL) ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยบำรุงผิวพรรณให้ชุ่มชื่น สดใส ไม่แห้งกร้าน มะเขือเทศมีวิตามิน เอ มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงจากโรงมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งปอด มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดและชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัย ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดภาวะเส้นเลือดตีบ การเกิดโรคหัวใจ ในมะเขือเทศมีเบตาแคโรทีนลดความเสื่อมของเซลล์ของลูกตา ช่วยป้องกันผิวจากรังสีอัตราไวโอเลต

เพียงรับประทานมะเขือเทศวันละ 1-2 ผลเท่านั้นช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ มะเขือเทศยังอุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารหลายชนิด โดยเฉพาะวิตามินซีและวิตามินเอ มะเขือเทศมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง แก้แผลร้อนในในช่องปาก เป็นยาช่วยดับร้อนถอนพิษ และสามารถบรรเทาอาการของโรคหัวใจได้อย่างดีเยี่ยม โฟเลตในมะเขือเทศช่วยบำรุงเลือดจากภาวะเลือดจางจากสาเหตุขาดโฟเลต

ในการรับประทานผักนั้นหากต้องการให้ได้แร่ธาตุและวิตามินครบถ้วนก็มักจะต้องรับประทานสด แต่การรับประทานมะเขือเทศเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดต้องทำให้สุกเสียก่อน เนื่องจากมะเขือเทศที่ผ่านความร้อนจะทำให้ไลโคปีนกับเนื้อเยื่อของมะเขือเทศหลุดออกจากกันได้ง่าย ร่างกายจึงนำไปใช้ได้ดีกว่าการรับประทานสด อีกทั้งไลโคปีนสามารถละลายได้ดีในน้ำมัน ดังนั้นหากใช้น้ำมันในการปรุงมะเขือเทศจะยิ่งทำให้ร่างกายดูดซึมไลโคปีนได้ดียิ่งขึ้น แต่การรับประทานมะเขือเทศสดๆ ก็มีวิตามินซีสูง ช่วยบำรุงผิวพรรณและป้องกันโรคลักปิดลักเปิด


ไข่ลูกเขยใช้หอมแดงเจียวเพิ่มรสชาติ แต่สำหรับผู้สูงอายุไม่ควรรับประทานหอมเจียวมากเกินไป เพราะจะได้รับไขมันจากการเจียวหัวหอมมากเกินไป ผู้สูงวัยที่ป่วยเป็นโรคไตซึ่งมีโพแทสเซียมในร่างกายค่อนข้างสูง ไม่ควรรับประทานหัวหอมแดงในปริมาณสูง จะทำให้โพแทสเซียมคั่งและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ นอกจากนี้ยังทำให้สายตาพร่ามัวและผมหงอกมากยิ่งขึ้น จึงต้องระมัดระวังไม่รับประทานจนมากเกินไป

รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมาหลายวันแล้ว วันนี้จึงขอเป็นอาหารเพื่อสุขภาพจิต(ที่อยากรับประทาน) สักวันนะคะ

หมายเลขบันทึก: 673532เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2019 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2019 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท