โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

ในอ้อมกอดแห่งป่าสนสามใบ


โสภณ เปียสนิท

..............................

            ห้องน้ำสาธารณะในปั้มน้ำมันแห่งนั้น ตั้งอยู่ริมเส้นทางหัวหินสู่กาญจนบุรี ผมขับรถคันเก่าแบบสบายอารมณ์เข้าแวะในช่วงเวลาบ่ายแก่ๆ ผู้คนสัญจรแวะพักทำกิจกรรมส่วนตนไม่มากนัก หลายคนเข้าซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อ หลายคนแวะเข้าซื้อสินค้าที่ต้องในร้านแผงลอยเรียงรายใกล้ทางเข้าห้องน้ำ ผู้ใช้ห้องน้ำมีจำนวนน้อย ผมเหลือบตามองเห็นสมุดเก่าๆ ยับยู่ยี่ พับครึ่งเล่มนั้นว่างอยู่บนชั้นปูนเหนือที่ปัสสาวะ

            เสร็จภารกิจแล้วจึงหยิบขึ้นมาดูเห็นลายชื่อหน้าสมุดเป็นชื่อเด็กชายนิยม มารยาทดี ชั้นประถม ปีที่4 วิชาบันทึกประวัติศาสตร์มีลายเซ็นต์ของครู หลายแห่ง อยู่หลายหน้า หน้าท้ายๆ ลายมือเปลี่ยนไปเหมือนว่าเป็นคนละคน เขียนชื่อหัวข้อบันทึกไว้อย่างน่าสนใจว่า “ในอ้อมกอดแห่งป่าสนสามใบ” ผมชอบปลูกป่า ชอบเที่ยวป่า ชอบชีวิตบ้านป่า จึงรู้สึกสะดุดตาอย่างแรงว่า บันทึกนี้อาจมีของดีซุกซ่อนอยู่จึงถือติดมา โดยไม่คิดว่าจะเป็นสมบัติอันแสนแหนหวงของคนใดคนหนึ่ง เป็นแค่สมุดเรียนของเด็กชายนิยมที่ผู้ปกครองนำส่วนที่เหลือมาใช้บันทึกเรืองราวเกี่ยวกับป่าดงพงไพรเอาไว้ให้ตัวเอง หรือคนอื่นๆ อ่าน

            ผู้บันทึกลงวันที่ไว้ว่า ระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2562 เขาและเพื่อนของเขาหลายคนเดินทางไปหาประสบการณ์ชีวิตต่างเมือง แม้ว่าลายมือของเขาจะเขียนอย่างรวดเร็ว แต่ก็พออ่านออกได้ไม่ยากนัก เขาเขียนเล่าไว้ว่า มัคคุเทศก์แนะนำว่า ต้องระวังทรัพย์สินที่มีค่า หนังสือเดินทาง โทรศัพท์มือถือ กระเป๋าสตางค์ไว้ให้ดี

การเดินข้ามถนนที่เมืองดาลัท หรือทั้งประเทศเวียตนามต้องระวังให้ดี ให้เดินข้างหน้าเรื่อยๆ อย่าวิ่ง อย่าหยุด อย่าตกใจ เสียงแตรรถถือว่าเป็นการเตือนให้เดินไปเรื่อยๆ แล้วฉันจะหลบคุณเอง เอ ไม่จะใช่หรือ เขาบันทึกไว้เป็นข้อสังเกต แถมเขียนล้อเล่นไว้ว่า “ไม่วิ่งไม่ถอยไม่ตกใจ และไม่รอด” คณะของเขาจะพักที่ดาลัทสองคืนในโรงแรมเดิม การเดินถนนในประเทศเวียตนามไม่มีที่ไหนปลอดภัยร้อยละร้อย มีการฉกชิงวิ่งราวอยู่บ้าง

เงินไทยยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เงินดงใช้ตั้งแต่หลักพัน 1-2-5 หมายถึง หนึ่งพัน สองพัน ห้าพัน หนึ่งหมื่น สองหมื่น ห้าหมื่น หนึ่งแสน สองแสน ห้าแสนดง เทียบง่ายๆ คือ ห้าแสนดง (อาจเขียนว่า เงินดอง) เท่ากับราว เจ็ดร้อยบาท เข้าซื้อของในร้านต้องระวังตรวจตราสิ่งของที่เราซื้อให้ครอบ เงินทอนให้ครบก่อนออกจากร้านค้า ถ้าออกจากร้านค้าแล้วถือว่าแล้วกัน

เมื่อวันนัดหมายมาถึง คณะของเขาเดินทางถึงสนามบินแต่เช้าตรู่ทั้งที่กำหนดการบินเวลา 11.10 น. ถึงแล้วต่างกันพักผ่อนกินข้าวปลาอาหารที่สนามบินถึงเวลาจึงขึ้นเครื่องบิน ร่อนลงสู่สนามบิน “ท่าอากาศยานนานาชาติเลียนเคือง” เพื่อเข้าเมืองดาลัท เมืองที่สูงกว่าน้ำทะเล 1500 เมตร อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี กลางคืนอากาศอยู่ระหว่าง 12-25 องศา เหมือนกับมีเครื่องปรับอากาศอยู่ทั้งเมือง

มัคคุเทศก์พาแวะเยือนมหาวิทยาลัยแห่งเมืองดาลัท มหาวิทยาลัยเก่าแก่ มีการศึกษาหลายคณะ คณะเกษตรและป่าไม้ คณะชีววิทยา คณะเคมี คณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม คณะไอที คณะคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะฟิสิกซ์ คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ คณะภาษาต่างประเทศ คณะประวัติศาสตร์ คณะกฎหมาย คณะวรรณคดีและวัฒนธรรม คณะป้องกันประเทศและการศึกษาเพื่อความมั่นคง คณะตะวันออกศึกษา คณะครุศาสตร์ คณะปรัชญา คณะพลศึกษา คณะสังคมศาสตร์ การท่องเที่ยว

มหาวิทยาลัยดาลัทแห่งนี้สร้างมาหลายสิบปี นับแต่คนฝรั่งเศสเข้ามาเวียตนามตั้งแต่ปี คริสตศักราช1858 นับได้ 150 ปีกว่าแล้ว สามสิบปีต่อมาจึงเดินทางเข้ามาพักอาศัยในเมืองดาลัท สร้างสถานที่ทำงาน สร้างโบสถ์ขึ้นเป็นแห่งแรกของเวียตนามตามแนวทางของประเทศฝรั่งเศส ตอนนี้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไฟฟ้าพลังน้ำ และกำลังพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ มหาวิทยาลัยของรัฐในเวียตนามมีค่าเทอมแพงและรับจำนวนจำกัด สอบได้ลำดับดีๆ จึงเข้าเรียนได้ ค่าใช้จ่ายในเมืองใหญ่ค่อนข้างแพง เป็นที่รวมของนักศึกษาชั้นหัวกะทิ นึกศึกษาลูกหลานชาวบ้านโดยทั่วไปมีเงิน้อยจึงได้เรียนตามมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น หรือมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งปัจจุบันพัฒนาตัวเองขึ้นมาเทียบชั้นกับมหาวิทยาลัยของรัฐได้แล้วหลายแห่ง

ดาลัทอยู่ในหมู่เขาเต็มไปด้วยป่าสนสามใบ รักษารูปแบบชีวิตเก่าๆ ของฝรั่งเศสเอาไว้ ฟังไกด์เล่าเรื่องฝรั่งเศสเข้าครองแผ่นดินบนภูเขาแห่งเมืองดาลัทนี้คิดถึงคำว่า “หนีร้อนมาพึ่งเย็น” ตามภาษิตโบราณเก่าแก่ของไทย ฝรั่งเศสเป็นชาวเมืองหนาว มาถึงเวียตนามจึงพากันหาที่มีอากาศหนาวเย็นไว้พักอาศัย เมื่อเห็นว่าที่บนภูเขาป่าสนสามใบแห่งนี้มีอากาศเย็นตลอดทั้งปี เพราะอยู่เหนือระดับน้ำทะเลเกินกว่า 1500 เมตร จึงพากันมาตั้งบ้านเรื่อนอยู่อาศัยสืบต่อมา แรกๆ เป็นบ้านพักผ่อนหย่อนใจคลายร้อนในป่าสนสามใบ นานไปกลายเป็นบ้านพักอาศัยและมีที่ทำงาน ปัจจุบันกลายเป็นเมืองกลางหุบเขาสูงมีสนสามใบเป็นต้นไม้หลัก มีแปลงเกษตรเมืองหนาว ประกอบด้วยโรงเรือนเพาะปลูกพืชผักผลไม้เรียงรายติดกันมองไกลสุดสายตา

ต่อจากนั้นตามบันทึกระบุว่า พากันไปแวะชมบ้านเพี้ยน ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Crazy House เดินชมภายในแล้วเป็นบ้านเพื่อการท่องเที่ยวมากกว่าที่จะเป็นบ้านเพื่อยู่อาศัย คณะนักท่องเที่ยวจ่ายเงินค่าเข้าชมแล้วเดินวนไปตามช่องทางแคบๆ ขึ้นชั้นสอง ชั้นสาม ชั้นดาดฟ้าต่อกันไปเรื่อยๆ ด้านในสุดมองเห็นร้านกาแฟ ถือว่าเป็นธุรกิจต่อเนื่องได้อีกอย่าง ที่หน้าบ้านมีแม่ค้าพ่อค้ามาจับจองที่ค้า บางรายใช้กลยุทธแบบเดินถือภาพวาดบ้าง ขนมบ้าง ขายไปเรื่อยๆ เหมือนบ้านเรา

ทั้งคณะเดินชมบ้านจนเหนื่อยจึงขึ้นรถเดินทางสู่พระราชวังฤดูร้อนของพระมหากษัตริย์เบาได๋ กษัตริย์องค์สุดท้ายของเวียตนาม บันทึกบอกว่า เวลาจะเข้าชมพระตำหนักต้องใส่ถุงผ้าครอบรองเท้าไว้อีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันรักษาพื้นพระตำหนัก ก่อนออกจากอาคารหลังนั้นจึงค่อยถอดถุงผ้าคืนใส่ตะกร้าที่เตรียมไว้ให้ พระตำหนักสามชั้นสีโทนเหลืองอ่อน มีห้องหลากหลาย มีภาพประกอบบอกเล่าเรื่องราวเก่าแก่ยาวนานไว้มากมาย

ภายนอกอาคารมีสวนสนและทุ่งดอกไม้จัดไว้อย่างเป็นระเบียบ มองเห็นความจิตวิญญาณของผู้ที่มีความรักในสมบัติเก่าแก่ของชาติ และเป็นผู้รักในธรรมชาติ

วัดตั๊กลัม Truc Lam Temple ไกด์เล่าให้คณะฟังว่า เป็นวัดเก่า มีพระปฏิบัติดีอยู่มาก หลังการกราบไหว้พระในศาลาอันเงียบสงบ สังเกตเห็นพระรูปหนึ่งคอยยืนเคาะระฆังหงาย รูปคล้ายถ้วยเสียงกังวานระหว่างการกราบไหว้พระประธานในศาลา นัยว่า เป็นเทคนิคการช่วยให้ผู้มากราบไหว้พระใช้เสียงระฆังเป็นสื่อในการส่งจิตใจไปตามเสียงระฆัง ผู้บันทึกเขียนไว้ว่า กราบพระอธิษฐานแล้วเดินออกมานอกอาคารพบพระเดินจงกรมกลับไปกลับมาหนึ่งองค์ กวาดลานวัดหนึ่งองค์ ทำกิจของสงฆ์อยู่อีกหลายรูป การได้เห็นพระผู้ชรารูปที่เดินจงกรมอยู่ข้างศาลา ทำให้ผู้บันทึกนึกตอนกราบพระก่อนนอนเมื่อคืนที่ผ่านมาเกิดคำถามในใจขึ้นว่า “พระอริยบุคคลในพระศาสนาในเมืองดาลัทจะยังมีอยู่หรือเปล่าหนอ” จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า “ถ้ามีพระอริยเจ้าอยู่ที่เมืองนี้ ขอให้ได้มีโอกาสได้พบด้วยเถิด”

ทะเลสาบซวนเฮือง ตั้งอยู่กลางเมืองดาลัด ไกด์เล่าว่า เดิมเรียกว่า ดาหลัด ดาแปลว่าน้ำ หลัดเป็นชื่อของชนเผ่าเก่าแก่ของที่นี่ ถ้าเรียกตามลิ้นคนไทยว่าดาลัทคนเวียตนามจะไม่ค่อยรู้จัก หลายคนในคณะพากันไปเดินบ้างวิ่งบ้างรอบสระน้ำขนาดใหญ่กลางเมืองแห่งนี้ บางกลุ่มวิ่งยามเช้าราวตีห้าครึ่ง ขณะพระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าแล้ว

ยามค่ำคืนทั้งคณะพากันเข้าโรงแรมที่พักเก็บข้าวของสัมภาระไว้ในโรงแรมก่อน แล้วจึงออกไปเดินชมถนนคนเดินเมืองดาลัด ท่ามกลางสายลมหนาวพราวพรู ร้านอาหารที่ถนนคนเดินค่อนข้างจะรู้จักคนไทยภาษาไทย เพราะได้ยินเสียงเชิญชวนให้เข้าไปรับประทานอาหารในร้าน ที่เรียงรายกันแน่น ของขายหลายชนิดตั้งแต่แบบวางกะดินไปจนถึงสินค้าราคาสูงให้เลือกซื้อ บางกลุ่มแค่เดินชม บางกลุ่มพากันเดินเลือกซื้อสินค้า ผู้บันทึกเลือกจับกลุ่มนั่งดื่มน้ำเต้าหู้คนละถ้วยแล้วกลับมานอน

รุ่งขึ้นคณะพากันไปเยือนวัดมังกร Linh Phuoc หรืออาจเรียกว่าวัดเจดีย์มังกรก็ได้ มีพระประธานองค์ใหญ่ให้กราบไหว้อยู่ในศาลาด้านซ้ายมือ ระเบียงรอบๆ มีร้านขายสินค้าของวัดหลายชนิด มีรูปหล่อพระแก้วมรกตอยู่หลายองค์ มีรูปปั้นหลวงปู่วัดปากอยู่หนึ่งองค์ แต่กระสร้างยังไม่ค่อยประณีตพอจึงไม่ค่อยเหมือนองค์จริงเท่าไร มีพระแม่กวนอิมองค์ใหญ่สวยงามอยู่บนชั้นสองของศาลาเป็นที่น่าศรัทธาอย่างมาก

แล้วคณะจึงมุ่งสู่น้ำตกดาตันลา มีรถรางไฟฟ้าให้ทดลองนั่ง นั่งกันสองคนบ้าง นั่งคนเดียวบ้าง แต่ต้องฝึกทดลองการเบรคและการเร่งก่อน รถรางชนิดนี้มีคันโยก โยกไปข้างหน้าถือว่าเร่ง หากดึงกลับมาข้างหลังถือว่าเบรก ต่างซ้อมกันหน่อยถือว่าพอเข้าใจ ระหว่างการนั่งรถรางต่างตื่นเต้นหวาดเสียวไปด้วยกัน ตรงทางโค้งหลายคนดึงคันโยกกลับจนรถเกือบจะหยุดสนิท ซึ่งค่อนข้างจะไม่ถูกต้องนัก เพราะคันหลังมาเร็วจะเบรกไม่ทัน อาจเป็นสาเหตุของการอุบัติเหตุได้

คณะของเขาพากันไปชมซันนี่ฟาร์ม แปลตามสำนวนก็ว่า “สวนแดดฉาย” อยู่กลางโรงเรือนปลูกพักของเมือง มีสถานที่ให้เยี่ยมชม ถ่ายภาพเช่นบันไดสวรรค์ บันไดสูงขึ้นไปในอากาศถ่ายภาพมุมสูงขึ้นไปในอากาศดูเหมือนเดินหรือยืนอยู่บนสวรรค์ เรือนพักผ่อนนอนทุ่งแบบชนบทเตรียมไว้ให้ถ่ายภาพ มัคคุเทศก์แนะนำให้สั่งน้ำดื่มนานาชนิด คนละแก้วสองแก้วเพื่อลองชิม ลองจ่ายเงิน ซึ่งแน่นอนย่อมมีค่านายหน้าเล็กน้อยตามธรรมเนียม

สุดท้ายของวันที่สองคณะพากันชมสวนดอกไม้เมืองหนาว ขณะดวงอาทิตย์กำลังจะลับของฟ้า มีสระน้ำขนาดใหญ่ มีดอกไม้นานาชนิดเป็นหย่อมๆ มีโรงเรือนขนาดเล็กเพื่อให้ถ่ายภาพสำหรับนักท่องเที่ยว คณะของเขาถ่ายภาพกันอย่างสนุกสนาน เสร็จแล้วจึงกลับเข้าที่พัก หลายคนออกไปเดินท่องเที่ยวที่ถนนคนเดินแห่งเมืองดาลัทอีกครา ก่อนจากลาดาลัทเมืองหนาวบนภูเขาสูงในอ้อมกอดแห่งป่าสนสามในในวันรุ่งขึ้น

หมายเลขบันทึก: 673420เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2019 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2019 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท