น้ำท่วมใหญ่ภาคอีสานปี 2562 กับบทบาทหน้าที่จิตอาสา


           
         ความแตกต่างกับความเหมือนในมุมมองส่วนตัว ปัญหาอุทกภัยวิกฤติการณ์ใหญ่ของภาคอีสาน ระหว่างปี 2560 และในปี 2562 ในบทบาทหน้าที่ของเครือข่ายนิสิตจิตอาสา จะว่าปี60 คือจุดเริ่มต้นการรวมกลุ่มอย่างจริงจังจากวิกฤติพายุเซินกา ที่พัดพาเอาน้ำฝนตกหนักติดต่อกันทำให้เขื่อนหลายเขื่อนที่กักเก็บน้ำ และแม่น้ำหลายสายที่ยังหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของคนอีสาน มีปริมาณล้นเอ่อท่วมบ้านเรือน กล่าวว่าปี 60 นั้น ปริมาณน้ำท่า น้ำฝน ตกเหนือเขื่อน ใต้เขื่อนมากมายจนเกินปริมาณที่จะรองรับ แต่มาปี 62 ต้นปี แผ่นดินแห้งแล้งแตกระแหง ข้าวกล้าตามท้องไร่ท้องนาขาดน้ำ ผ่านมาสักนิดเกิดมีอิทธิพลพายุโพดุล พัดพาน้ำฝนมา ชาวบ้าน ชาวนา เกษตรกรดีใจแต่ไม่ทันเท่าไร ฝนจากฟ้าปล่อยลงมาใต้เขื่อนเกินปริมาณ ทำให้น้ำหลากพัดพาท่วมบ้านเรือน ไร่นา พื้นที่กสิกรรมเสียหายเป็นจำนวนมาก จากพื้นที่ที่ไม่เคยท่วมอย่าง เช่น อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด จนไปถึงจังหวัดยโสธร และหนักสุดสู่เมืองดอกบัวอุบลราชธานี

  แน่นอนสถานการณ์สร้างวีระบุรุษ ทำให้ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม(ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน) ได้เกิดการรวมกลุ่ม ประชุมล้อมวง พูดคุยเสวนาว่าเราจะนิ่งนอนใจในภัยพิบัติได้อย่างไรในฐานะนิสิต ในฐานะพลเมือง มีการคุยกันนอกรอบกับผู้ใหญ่ที่ร้านกาแฟมหาวิทยาลัย และการนำสารมาบอกกล่าวทีมทัพจิตอาสา ประชุมคนมีใจก่อนเริ่มงานกัน มอบหมายจัดการหน้าที่กันทั้งทางด้านเปิดรับบริจาค ประชาสัมพันธ์ การหาข้อมูล การลงพื้นที่ และการรับสมัครอาสาสมัคร แรงศรัทธาต่างไหลมาไม่ขาดสาย ระยะเวลาไม่ถึงสัปดาห์ ยอดบริจาคพุ่งเข้ามาถึงหลักหมื่นกลาง สิ่งของจากบริษัทขนส่งต่างทยอยเข้ามา ที่ห้องนิทรรศการ กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ท่วมทนบนถนนสายศรัทธา สโมสรคณะ หน่วยงานต่างๆ ให้ความร่วมมือ อาทิ เช่น สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ รวมทั้งนิสิต บุคลากร คณาจารย์อีกหลายท่านที่ไม่สามารถกล่าวนามได้ทั้งหมด คือ กำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรม รวมน้ำใจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอีสานจากอิทธิพลของพายุโพดุล มีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้

  ขั้นเตรียมการ จากการแบ่งภาระงานกับทีม 12 คน ได้แก่หน้าที่จัดเตรียมถุงยังชีพ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายรับบริจาคและประสานงาน พร้อมทั้งหน่วยบริการอาหาร ได้เปิดรับสมัครนิสิตจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือน้ำท่วม โดยเอาเวลาว่างของนิสิตที่ไม่มีภาระทางการเรียนมาช่วยในเวลาต่างๆ ทั้งการจัดเตรียมสิ่งของบริจาค การแพ็คถุงยังชีพเครื่องใช้ส่วนตัว การยกสิ่งของน้ำดื่ม การประจำจุดรับบริจาค เปิดหมวกขอรับบริจาค รวมถึงการมีการปฐมนินิเทศก่อนการเดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จากรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและพัฒนา ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต นักวิชาการ และคณาจารย์ รวมถึงนิสิตผู้นำเอง ได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ขวัญและกำลังใจ พร้อมกับหน้าที่อันยิ่งใหญ่ที่ได้เห็นความสำคัญของชาวบ้านที่ประสบภัย การเติมองค์ความรู้เรื่องน้ำและการจัดการภัยพิบัติ ทำให้อาสาสมัครเองยิ้มออกก่อนเดินทาง เพราะ มีอาวุธ คือความรู้ควบคู่กับการรับใช้สังคม

          ลงพื้นที่วันที่ 7 กันยายน 2562 ในเขตพื้นที่ อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ดได้แก่ บ้านดอนแก้ว บ้านอีโก่ม บ้านโนราษีบ้านมะแว บ้านนางาม บ้านโนนยาง บ้านคุยจั่น บ้านวังทอง บ้านคุ้งสะอาด ได้มอบถุงยังชีพประเภทเครื่องใช้ส่วนตัวจำนวน 100 ชุด และน้ำดื่มจำนวน 100 โหลประกอบโรงครัวบริการอาหารสำหรับจิตอาสาทั่วไปประชาชนผู้ประสบอุทกภัย และนิสิตที่ร่วมเดินทางมา การบริการครั้งนี้ผู้เขียนเองได้ทำหน้าที่ประกอบอาหาร และออกแบบก่อนลงพื้นที่ในด้านการจัดการขยะ เพื่อให้เกิดขยะในชุมชนที่ถูกน้ำท่วมน้อยที่สุด ได้จัดเตรียมกระดาษห่อข้าว อุปกรณ์ทำครัวที่สามารถใช้ซ้ำได้ ผลไม้ที่มีเปลือกย่อยสลายเร็ว โดยลดปริมาณพลาสติกน้อยที่สุด พื้นที่ตรงนี้เห็นภาพของชาวบ้านมารอรับนิสิตพาเข้าพื้นที่หมู่บ้านต่างๆ มาต้อนรับและนำเข้าสู่ชุมชนทั้งรถกระบะ เรือ รถอีแต๊ก คุณแม่บางส่วนมาคอยบริการด้านครัวลูกๆ ทั้งเป็นแม่ครัวและลูกมือ ได้พูดคุยถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งน้ำตาพร้อมรอยยิ้ม ที่ได้มีคนเข้ามาในพื้นที่ อันที่จริงสิ่งของนั้นมันไม่สำคัญเท่าน้ำใจที่ได้เข้ามาห่วงใยถามข่าว เพราะ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร พอน้ำท่วมชาวบ้านจะไม่มีอะไรทำกันเลย บางครั้งถึงกับจิตตกนั่งซึมเศร้าเหงาบ้าง มีนิสิตนักศึกษาเข้ามาพอได้พูดคุย บอกเล่าเรื่องราวที่พวกเขาไม่สามารถระบายให้ใครฟังได้ แต่พวกเราอาสาสมัครเข้ามาช่วยบรรเทาและทำให้ชาวบ้านไม่เหงา บางคนทำนาไม่ได้ข้าว บางคนเลี้ยงวัวไม่มีหญ้าให้วัว บางคนลูกหลานไม่มีอยู่ดูแลกันสองตายาย เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน พ่อแม่ไม่ได้ไปทำงาน ปัญหามากมายที่อยากเล่า ไม่ได้หวังว่าจะต้องเข้าใจและช่วยเหลือทั้งหมด แต่ขออยากให้ได้รับรู้ว่าความเป็นอยู่อย่างไร และต้องทนอีกหลายเดือน คำบอกเล่าเท่าที่จำได้ หลังจากกลับจากเอาสิ่งของไปมอบให้ชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ ก็กลับมาทานข้าว และสรุปบทเรียน จำได้ว่ามีเครือข่าย จากม.ราชภัฏร้อยเอ็ด ม.กาฬสินธุ์ ม.ราชภัฏมหาสารคาม มาร่วมวงเสวนาสรุปบทเรียน และคำขอบคุณจากตัวแทนชุมชน ก่อนจัดการพื้นที่ให้สะอาดเรียบร้อยที่สุดแล้วเดินทางกลับถึงมหาวิทยาลัยมหาสารคามโดยปลอดภัย ระหว่างทางดูน้ำท่วมนา ดูเด็กเล่นน้ำ ดูคนหาปลา คนพายเรือ พวกเขาเหล่านั้นก็ต้องปรับตัวและใช้ชีวิตให้เป็นไปตามความจริงที่เผชิญ หวังว่าจะดีขึ้นและผ่านไปโดยเร็ว

          
           ลงพื้นที่วันที่ 8 กันยายน 2562 ในพื้นที่ บ้านวังยาว บ้านวังเจริญ ตำบลพลับพลา อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยการมอบถุงยังชีพจำนวน 100 ชุด น้ำดื่มจำนวน 90 ชุด มีอาสาสมัคร มีชาวบ้าน มาช่วยกันลำเลียงขนย้ายสิ่งของบริจาคลงจากรถเป็นภาพที่ตรึงใจเป็นอย่างมาก พร้อมการจัดตั้งโรงครัวประกอบอาหารเลี้ยงประชาชน นิสิตนักศึกษาจิตอาสา และอาสาสมัครต่างๆ พื้นที่ตรงนี้ถึงแม้ว่าเราทำอะไรไม่ได้มากนักแต่เราก็ได้ทำในสิ่งที่ควรทำและสถานการณ์ที่เราพบเจอ ได้เห็นนิสิตอาสาสมัครช่วยคุณพ่อคุณแม่ที่ตะกร้าลุยน้ำเพื่อมาเตรียมถวายภัตตาหารเพลที่วัด ได้เห็นนิสิตเข้าพบสบตากับชาวบ้านที่มารอรับของบริจาค ได้เห็นนิสิตโอบกอดชาวบ้านด้วยความรักและให้กำลังใจ ได้เห็นเพื่อนๆน้องช่วยเหลืองาน ยกสิ่งของ เยี่ยมยามถามไถ่ เป็นอย่างไรบ้างน้อ ตอนแรกก็เขินๆบ้างบางที แต่พื้นที่ตรงนี้ทำให้รู้ว่าเราได้อะไรจากชุมชน รับประทานอาหารร่วมกันของผู้มีศรัทธา ทั้งของที่เราเตรียมไปเอง ให้จนล้นรับจนพอใจแล้วให้ต่อ แม่บางท่านเข้าไปในบ้านยกมาม่า ปลากระป๋อง ขนมจีนมาฝาก บอกให้เอากลับไปกินที่หอ5555 ด้วยความเกรงใจก็ไม่กล้าที่จะนำกลับมาแต่เอามาประกอบอาหาร (แกงส้มปลากระป๋อง,ส้มตำซั่ว) ต่างพากันยิ้มแล้วบอกแม่ว่าให้แม่เก็บไว้กินก็ได้ แม่บอกว่าแม่กินจนเบื่อแล้วลูกมาม่าปลากระป๋องคนเอามาให้จนหาที่ไว้ไม่มี 555 ก็ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาบ้างว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นสำหรับพวกเขาในโอกาสต่อไป

          ลงพื้นที่วันที่ 15 กันยายน 2562  ณ บ้านท่าเจริญ ต.แสนสุข อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด ได้มอบถุงยังชีพประเภทเครื่องใช้ส่วนตัว จำนวน 100 ชุด และน้ำดื่มจำนวน 50 โหล และมอบสิ่งของสาธารณูปโภคส่วนกลาง มีการพัฒนาพื้นที่โดยจิตอาสา เก็บขยะ พบปะพูดคุยให้กำลังใจ และให้ขวัญและกำลังใจ กับเด็กๆและเยาวชน พร้อมทั้งมีนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ เอกวิทยาศาสตร์การกีฬา นวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ แก่ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป ครั้งนี้ผู้เขียนไม่มีโอกาสได้ไปด้วยเพราะได้ไปเตรียมสร้างฝายชะลอน้ำ ที่ รร.ตชด.บ้านห้วยหมากหล่ำ อ.โนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี แต่ก็ได้สอบถามจากคำบอกเล่าน้องนิสิตผู้นำลงพื้นที่

              หลังจากนั้นก็ไหลหลั่งมาอย่างกับสายน้ำสู่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม ก็คือการสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกเครือข่ายนิสิตจิตอาสา มากถึง 56 คน ทั้งอนุกรรมการ คณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบันปี 2562 จำนวน 26 คน ทำให้เห็นได้ว่าการทำความดี การบอกกล่าวความดี การนำเสนอความดี คือ แรงบันดาลใจให้คนหลายคนอยากทำความดี เริ่มจากหนึ่งถึงจะน้อย แต่มาทำด้วยใจเต็มร้อย ค่อยๆมาเพิ่มให้คณะทำงานมีกำลังใจ ได้มาสบตาทายทัก ได้มาสรุปกิจกรรมล้อมวงเสวนา ให้ได้มาบันทึกประวัติศาสตร์ร่วมกันว่าสถานการณ์ภัยพิบัติทำให้เรามาพบกันและช่วยเหลือแบ่งปันร่วมพลัง ฐานกายของเราเริ่มต้นจากฐานใจที่หนักแน่น และเชื่อมั่นต่อผู้ที่เป็นไอดอล ครั้งนี้มีผู้ใหญ่ที่ติดตามชี้แนะอย่างใกล้ชิด(พี่พนัส ปรีวาสนา) มีผู้นำที่เคยอยากมาทำจิตอาสาตั้งนานแต่อยู่สายวิชาการ(วิวัฒน์ นาคชัย) เขาได้มารับผิดชอบหน้าที่อันยิ่งใหญ่ มีคณะทำงานที่หลายหลายคณะ สังกัด มีน้องเฟรชชี่ใสๆ มาเป็นแรงผลักดันให้ดำเนินกิจกรรม ผมขอเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่าห้องประวัติศาสตร์ วันนั้นถึงวันนี้เกิดขึ้นจากที่นี้ (ห้องนิทรรศการ มมส.) และนำไปสู่การสร้างความดีในวาระโอกาสอันสมควรต่อไป การใช้ชีวิต คือ การเข้าใจหลักความจริง ความจริงคือสิ่งที่ไม่แน่นอน ความเหมือนคือการได้ลงมือช่วยเหลือ เป็นผู้ให้และผู้รับต่อส่วนรวม ความแตกต่าง คือ สถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นแตกต่างสภาพจิตใจ และภูมิอากาศ พื้นที่ สังคม และวิถีวัฒนธรรม ผู้ได้รับผลกระทบไม่ใช่แค่คน มีทั้งสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มวลมนุษยชาติ เชื่อไหมที่ใครเขาว่า ไม่มีอะไรลากจูงเรามา ถ้าไม่มีเหตุต้นผลของการกระทำ เรื่องราวบางเรื่องราวไม่สำคัญว่าจะจบลงอย่างไร สำคัญที่ได้เคยเริ่มต้น และครั้งหนึ่งเคยมีอยู่ รอยยิ้ม และ น้ำตา สอนเราทุกวันนั่นแหละ เราจะจำได้หรือไม่จำ เราจะรู้หรือไม่รู้ เราคิดได้ หรือ คิดไม่ได้ เท่านั้นเอง

หมายเลขบันทึก: 673185เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2019 22:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2019 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท