สวนกลางดง เมื่อ “ป่า” ตอบแทนคุณคน


            หากเอ่ยถึงดินแดนแห่งผลไม้ ทุกคนคงจะนึกถึงภาคตะวันออกเป็นที่แรก แต่ถ้าเป็นเมืองแห่งผลไม้ของทางภาคเหนือ คงจะเป็นที่ไหนไปไม่ได้ นั่นคือ อุตรดิตถ์

        นอกจากลางสาด ผลไม้ชื่อดังสัญลักษณ์ของที่นี่แล้ว ยังมีทุเรียนโดยเฉพาะพันธุ์หลงลับแล หลินลับแล ที่กำลังได้รับความนิยมในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เช่นเดียวกับ ลองกอง มังคุด ลำไย เงาะ และอื่นๆ อีกสารพัด ผลผลิตเหล่านี้สร้างมูลค่า สร้างรายได้ให้กับชาวอุตรดิตถ์มหาศาลในแต่ละปี

            เอกลักษณ์ของสวนผลไม้ที่ จ.อุตรดิตถ์ ไม่เหมือนกับที่อื่น โดยสวนผลไม้ของชาวอุตรดิตถ์จะเป็นอยู่ร่วมภายในป่า โดยลักษณะการปลูก คือ ปลูกแซมไม้ป่า จึงอาจเรียกได้ว่า เป็นสวนผลไม้ในป่า

            อย่างไรก็ตามภายหลังกระแสการบริโภคทุเรียนเพิ่มสูงขึ้น ทั่วทุกภูมิภาคแห่ปลูกทุเรียนพาณิชย์ หรือการปลูกเชิงเดี่ยวมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ จ.อุตรดิตถ์ ที่ไม่อาจต้านทานกระแสนี้ได้ เมื่อเริ่มมีชาวสวนบางราย และทุนนอกปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำสวนผลไม้ในป่า มาเป็นการปลูกทุเรียนเชิงเดี่ยวมากขึ้น แน่นอนว่านอกจากผลไม้อื่นๆ ภายในสวนจะล้มหาย ยังรวมถึงไม้ป่าที่มีความสำคัญในระบบนิเวศน์ก็ถูกโค่นล้มเพื่อหลีกทางให้ทุเรียนอีกด้วย

            “ไม้ผลของเราจะปลูกเป็นแนวตามช่องร่วมกับต้นไม้ป่า ไม่มีระบบน้ำในการดูแลรักษา ไม่มีปุ๋ยเคมี ไม้ผลที่ปลูกไว้สามารถเติบโตได้ดี ต้นไม้ป่าที่อยู่เดิมก็อยู่ได้ กลายเป็นพืชชั้นบนเป็นทั้งอาหาร และให้ร่มเงา ใบไม้ที่ร่วงหล่นกลายเป็นปุ๋ยให้กับไม้ผล เป็นการอยู่ร่วมกันของระบบนิเวศน์” สุทธิรัตน์ ปาลาศ เจ้าของบุญดํารงค์กรีนฟาร์ม บอกถึงลักษณะจำเพาะของสวนผลไม้อุตรดิตถ์ โดยเฉพาะที่อำเภอลับแล

            เช่นเดียวกับการปลูกพืชชั้นล่าง อย่าง ผักกูด ตะไคร้ มะกรูด มะนาว ข่า พริก หยวกกล้วย พืชพรรณเหล่านี้คือซูเปอร์มาร์เก็ตให้ได้เก็บกิน กลายเป็นความมั่นคงทางอาหารของครอบครัวและชุมชน

            “นี่คือ ระบบที่เรียกว่า “วนเกษตร” ซึ่งเป็นการทำเกษตรในรูปแบบหนึ่งที่อยู่ร่วมกับป่า สามารถหวังผลทางรายได้จากผลผลิตร่วมด้วย เป็นการทำเกษตรในรูปแบบที่หลายคนใฝ่ฝัน” เจ้าของบุญดํารงค์กรีนฟาร์ม บอก

            ไม่เพียงแต่คุณค่าทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหารเท่านั้น แต่ “วนเกษตร” ยังมีคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์มากมายมหาศาล

            นายสุทธิรัตน์ ในฐานะเกษตรกรหัวก้าวหน้าผู้บุกเบิกการทำสวนเกษตรอินทรีย์ในอุตรดิตถ์ บอกว่า ใบไม้ที่หล่นจากต้นไม้ป่ากลายเป็นปุ๋ยชั้นดี เพิ่มธาตุอาหารให้ดิน ถ้าคำนวณแล้วใน 1 ไร่ จะได้ปุ๋ยมูลค่า 340,000 บาท นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเกษตรเชิงเดี่ยวถึงต้องใส่ปุ๋ยปริมาณมหาศาล เพราะดินแห้ง ไม่มีความชุ่มชื่น ในดินก็ไม่มีธาตุอาหารจึงต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มทุกปี ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

            ต่อมาคือ ไม้ใหญ่ช่วยรักษาสมดุลธรรมชาติ ให้น้ำ ให้โอโซน ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีมากกว่าสวนทั่วไป เช่นเดียวกับการรักษาหน้าดิน เพราะถ้ายังมีป่า มีต้นไม้อยู่หน้าดิน ปัญหาดินโคลนถล่มก็จะไม่เกินขึ้น

            ที่สำคัญพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ถือเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำน่าน และปริมาณน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาร้อยละ 40 ก็มาจากแม่น้ำน่าน นี่คือการรักษาเส้นเลือดใหญ่ให้กับชีวิตของคนไทย

            “เราไม่ปฏิเสธว่าเราทำเกษตรในพื้นที่ป่า แต่ทำอย่างไรให้ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้แบบสมดุล ไม่ใช่แบบไปขโมยตัดไม้หรือไปถางป่างเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว เมื่อคนดูแลป่า ป่าก็จะกลับมาดูแลเรา” สุทธิรัตน์ ย้ำคุณค่าการรักษาป่า

            แม้ระบบวนเกษตรจะมีความสำคัญเพียงใด แต่การทำเกษตรเชิงเดี่ยว เพื่อหวังรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นสิ่งล่อใจให้ชาวสวนหลายรายเริ่มปรับรูปแบบการทำเกษตรของตัวเอง ซึ่งหากไม่มีการยับยั้งแนวคิดนี้แล้ว นอกจากป่าไม้ที่จะหายไปแล้ว แม้แต่ชีวิตของชาวสวนก็จะไม่เหลือเลยด้วยซ้ำ

            สมหวัง เอี่ยมงิ้วงาม ผู้ใหญ่บ้านบ้านห้วยกั้ง ต.บ้านด่านนาขาม อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ กล่าวถึงวิถีการทำเกษตรดั้งเดิม ว่าทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ไม่มีใครรู้ว่าคือ “วนเกษตร” แต่เมื่อยุคสังคมเปลี่ยนไป อย่างลางสาด ซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจในพื้นที่เคยมีราคาหน้าสวนถึงกิโลกรัมละ 30 บาท แต่เดี๋ยวนี้เหลือเพียงกิโลกรัมละ 5 บาทเท่านั้น เมื่อขายไม่ได้ราคาชาวสวนก็เลิกปลูก หันมาปลูกลองกอง ผลไม้อื่นๆ เมื่อทุเรียนราคาดีก็มีคนแห่มาปลูกทุเรียน มีการปรับสวนป่ากลายเป็นสวนเชิงเดี่ยว ตัดต้นไม้ทิ้ง เพราะมุ่งหวังรายได้มากขึ้น แต่หารู้ไม่ว่าจะทำให้ทุกคนตาย

            การฟื้นฟูและการอนุรักษ์การทำ “วนเกษตร” ในอุตรดิตถ์ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ชาวสวนต้องให้ความสำคัญและรักษาไว้ เช่นเดียวกับการป้องกันนายทุนนอกพื้นที่ที่จะเข้ามาทำลายระบบวนเกษตรที่ดีอยู่แล้วแบบนี้

            สุทธิรัตน์ ย้อนกลับมาให้ความเห็นเรื่องนี้ ว่า ต้องสร้างความเข้าใจเปลี่ยนทัศนคติกับชาวสวน เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกับป่าได้ ให้ทุกคนมองถึงคุณค่ามากมายที่ซ่อนอยู่ มากกว่าที่จะคิดแค่ต้นไม้หนึ่งต้นจะตัดได้กี่ท่อนกี่แผ่น หรือตัดทิ้งไปปลูกผลไม้เชิงเดี่ยว จะคุ้มกันหรือไม่

            “เรายกตัวอย่างให้เห็นว่า สมมุติว่าถ้าปลูกทุเรียนเชิงเดี่ยวได้ปีละ 280,000 บาท แต่คุณจะไม่มีอะไรกิน ต้องไปซื้อเขากิน แต่ถ้าทำในระบบวนเกษตรจะได้เพียง 260,000 บาท แต่ภายในสวนมันยังมีอื่นๆ ที่ขายได้กินได้ รวมมูลค่าแล้วมันมากกว่า 300,000 บาทต่อปีเลยนะ” สุทธิรัตน์ บอกก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า ขณะที่การทำวนเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพนั้นจะมีใช้พื้นที่เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 10-15 ไร่ แต่ถ้าเป็นระบบเชิงเดี่ยวจะต้องใช้พื้นที่มากกว่า 50 ไร่ เพื่อเลี้ยงชีพได้ ดังนั้นมันต่างกันมาก เห็นแล้วใช่ไหมว่า วนเกษตรมันดีอย่างไร

            ทางด้าน ชนวน รัตนวราหะ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และอดีตรองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้บุกเบิกเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวถึงหัวใจของระบบวนเกษตร ว่าภายในจะมี 3 ส่วน คือ พืชชั้นบนหรือไม้ป่าให้ปุ๋ยให้ความชุ่มชื้น ร่มเงา พืชชั้นกลางคือไม้ผลให้รายได้ และพืชชั้นล่าง คือพืชผักให้อาหาร ถ้าจะให้คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ ก็ต้องไม่ไปทำลายป่าและให้มีรายได้ในป่านั้น

            ขณะเดียวกันวนเกษตรยังไม่ก่อให้เกิดโรคระบาด เพราะความหลากหลายทางชีวภาพทำให้ศัตรูทางพืชมีน้อยมาก ทุกอย่างจะเกื้อกูลกันอย่างสมดุล แต่ถ้าเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว หรือการไปเอาพืชจากแหล่งอื่นมาปลูกในพื้นที่ ทำให้เกิดโรคระบาด ทำลายสิ่งแวดล้อม และทำลายพืชชั้นดีของท้องถิ่นออกไป

            “นี่คือตัวอย่างที่เราไม่ระมัดระวังในการขายพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว” อาจารย์ชนวน ย้ำและว่า ดังนั้นเรื่องนี้ต้องส่งสัญญาณถึงภาครัฐว่าที่อยากให้มีการอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่ามากขึ้น การเลี้ยงชีพด้วยการทำเกษตรและรักษาป่าร่วมกันจึงน่าจะเป็นคำตอบ

            โดยเป้าหมายจากนี้ต่อไปของสุทธิรัตน์ และ ผู้ใหญ่สมหวัง พร้อมด้วยสมาชิกวนเกษตร มุ่งหวัง คือ การทำสวนแบบอินทรีย์ ให้ป่าเป็นแหล่งที่ทำกิน ลำน้ำกินได้ สามารถเรียกคืนชีวิตกลับได้ อยากให้คนรุ่นหลังมาสัมผัส ว่า ในอดีตที่นี่เป็นอย่างไร มีเสน่ห์แค่ไหน

            แนวทางการรักษาระบบวนเกษตรให้ยังคงอยู่ได้นั้น คือการสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่า ด้วยแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ โครงการจัดการระบบการผลิต และการตลาดเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อสร้างสุขภาพดีแก่ผู้บริโภค เกษตรกร (Eat Right – Eat ORGANIC) ซึ่งดำเนินงานโดยโครงการจัดการระบบการผลิตและการตลาดเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่คุณค่าเพื่อสร้างสุขภาพดีแก่ผู้บริโภคและเกษตรกร ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เข้ามาส่งเสริมกระบวนการพร้อมทั้งเปิดช่องทางกระจายผลผลิตของพี่น้องชาวสวน ตามแนวทาง ป่าอยู่ได้ คนมีรายได้และอยู่ได้

            สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ ผู้จัดการโครงการจัดการระบบการผลิตฯ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินโครงการในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ ว่า มี 2 แนวทาง คือ 1.วนเกษตร เพื่อฟื้นฟู รักษาวิถีชุมชนสวนเกษตร ซึ่งมีสมาชิก 25 ราย พื้นที่รวม 400 ไร่ และ 2.อินทรีย์แลกสิทธิ์ โดยทำที่ อ.น้ำปาด เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกป่า ด้วยการให้ชาวบ้านสามารถทำกินในที่ป่าของรัฐแต่ต้องทำแบบวิถีอินทรีย์เท่านั้น

            “เราสร้างความมั่นคงอาหารด้วยการให้เขารักษาป่า เพื่อให้เขาเก็บกินเป็นอาหาร เป็นภูมิปัญญาการพึ่งพาตนเอง และทำยังที่จะส่งต่อให้ลูกหลานสืบทอด ดังนั้นโมเดลการอนุรักษ์นี้จึงต้องตอบโจทย์เศรษฐกิจให้ได้ด้วยถึงจะอยู่รอด” สุวรรณา กล่าว

            วนเกษตรของชาวสวน จ.อุตรดิตถ์ ในวันนี้จึงไม่เป็นเพียงแค่การสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวสวนของบรรพบุรุษเท่านั้น หากแต่นี่ คือ แฝงด้วยกุศโลบายที่ให้คนรักษาป่า  และป่าจะให้ชีวิตกลับคืนมา

หมายเลขบันทึก: 673084เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2019 15:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2019 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท