ผุดพ.ร.บ.พันธุ์พืชฉบับประชาชน เสนอตั้งกองทุนเมล็ดพันธุ์ สกัดโจรสลัดชีวภาพ


           ภายหลังจากที่ประเทศไทยเข้าร่วมข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP เพื่อช่วยขยายผลการค้า การลงทุนและเสริมสร้างสินค้าและการบริการของไทย หลายฝ่ายโดยเฉพาะภาคประสังคม มีข้อกังวลอย่างยิ่งในการเข้าร่วมภาคีหุ้นส่วนซึ่งมีมาตรฐานสูงในครั้งนี้ โดยเฉพาะประเด็นอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อกำหนดที่ประเทศสมาชิกจะต้องเข้าร่วม

        ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญา UPOV1991 พร้อมทั้งได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเรียกเสียงฮือฮามาแล้วหลายครั้ง และเรื่องค่อยๆ เงียบไป

            ล่าสุดความเคลื่อนไหวของ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง ภายหลังมีข่าวความเคลื่อนไหวที่ไทยจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับ CPTPP รวมทั้งบรรยากาศการเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้ง  ซึ่งประเทศไทยอาจจะต้องทำตามข้อกำหนดให้เร็วที่สุด

            มาจนถึงปัจจุบันภาคประสังคมก็ยังไม่ให้การยอมรับร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เพราะเชื่อว่าเป็นการเอื้อสิทธิการผูกขาดให้กับบรรษัทมากกว่าการคุ้มครองสิทธิของเกษตรกร


            นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ซึ่งคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช มาโดยตลอด ให้ความเห็นว่า ในร่างพ.ร.บ. มี 3 ประเด็นใหญ่ที่ตนเห็นว่าไม่ได้เอื้อต่อเกษตรกรไทย คือ 1.ไม่เปิดช่องให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ไปปลูกต่อได้  ซึ่งจะกระทบต่อสิทธิเกษตรกรอย่างร้ายแรง เพราะถ้านำไปปลูกต่อถือว่าผิดกฎหมายมีโทษถึงจำคุก นั่นเท่ากับว่าไปคุ้มครองบริษัทโดยตรง

            2.มีการปรับระยะเวลาการคุ้มครองตามกลุ่มพืชจากเดิม พืชล้มลุก 12 ปี เพิ่มเป็น 20 ปี พืชไม้ผลไม้ยืนต้นจาก 17 ปีเป็น 25 ปี และพืชให้เนื้อไม้ลดลงจาก 27 ปีเหลือ 25 ปี ซึ่งเป็นการคุ้มครองด้วยระยะเวลานานเกินไป และ ประเด็นที่ 3 การขยายความคุ้มครองตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ไปจนถึงผลผลิต การเก็บผลผลิตนำไปปลูกต่อ หรือมีการนำไปแปรรูปก็ถือว่ามีความผิดด้วย

            “ร่าง พ.ร.บ. ไมได้ตอบโจทย์เลย แต่กลับไปเอื้อให้กับบริษัทมากกว่าที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทางชีวภาพ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นโจรสลัดชีวภาพก็ได้ ซึ่งส่วนทางกับข้อเสนอของภาคประชาสังคมที่ต้องการให้มีการคุ้มครองสิทธิเกษตรกรมากกว่านี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น” ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวและย้ำว่า กฎหมายนี้สร้างระบบให้สิทธิผูกขาด ไม่ก่อให้เกิดความหลากหลาย กระทบต่อเกษตรกรและระบบอาหารของโลกที่จะไม่มีความมั่นคงอีกด้วย

            สอดรับกับความเห็นของ ผศ.ดร.สมชาย รัตนซื่อสกุลคณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงศ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่ให้ความเห็นถึงความไม่ชอบมาพากล ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ได้ลิดรอนสิทธิเกษตรกรและเปิดช่องให้บริษัทอย่างมากที่สุด เช่น การตัดประเด็นที่ให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ แต่ต้องแสดงที่มาได้ออกไป หรือการจดสิทธิบัตรพืชที่ตัดต่อพันธุกรรม หรือ GMO ไม่ต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือการให้อำนาจ รมต.แต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช โดยไม่ต้องผ่านการคัดเลือก ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจในการเสนอ ครม.ให้ประกาศคุ้มครองพันธุ์พืชตัวไหนก็ได้

 ใจความสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ที่อ้างอิงมาจาก UPOV1991 นั้น คือ ต้องการคุ้มครองสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ แต่การนำมาใช้กับบ้านเราไม่เหมาะสม เพราะเกษตรกรไทยยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์ ดังนั้นหาก ร่าง พ.ร.บ. นี้ผ่าน ครม. จะกระทบต่อเกษตรกรและพันธุ์พืชทั้งหมด

            ด้วยเหตุนี้-เมื่อ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่นี้ถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้ค้า จึงต้องมีการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิของเกษตรกร แม้แรงต้านในภาคประชาสังคมที่ผ่านมาจะเป็นไปในลักษณะการคัดค้านแบบหัวชนฝา แต่กลับไม่มีการหาทางออกร่วมกัน จึงเป็นที่มาของข้อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับประชาชน

            นายวิฑูรย์ เผยถึงที่มาของ ข้อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนดังกล่าว ว่า ช่วงนี้กำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อได้รัฐบาลใหม่ แน่นอนว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช จะต้องถูกยกขึ้นมาอีกครั้งและน่าจะพยายามประกาศใช้โดยเร็วที่สุด ที่ผ่านมาเกษตรกรและภาคประชาชนคัดค้านโดยไม่เคยเสนอข้อกฎหมายร่วม มีแต่คัดค้านร่างที่ภาครัฐเสนอมาให้ แต่คราวนี้ภาคประชาสังคมจะทำงานเชิงรุกด้วยการ ทำร่างข้อเสนอ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ฉบับประชาชน ขึ้นมา เพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมจากฉบับเดิม เพิ่มทางเลือกและคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรอย่างจริงจัง

            สำหรับ ร่างข้อเสนอ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ฉบับประชาชน ประเด็นสำคัญ คือ การให้สิทธิในเมล็ดพันธุ์ สามารถปลูกต่อ หรือแจกจ่ายได้ จัดตั้งกองทุนเมล็ดพันธุ์โดยเกษตรกร เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทาวชีวภาพ และการส่งต่อภูมิปัญญาการเพาะปลูก และท้ายสุด คือ การมีกลไกป้องกันการปนเปื้อน  เช่น การจัดระบบป้องกันพื้นที่เกษตร (Buffer Zone) หรือเกษตรกรสามารถเรียกร้องความเสียหายจากการปนเปื้อนที่ไม่ได้ตั้งใจได้ เป็นต้น

            “การเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชที่มาจากการคัดเลือกของภาคเกษตรกรมากขึ้น  เอาคนที่รู้เรื่องเกษตรมาเป็นตัวแทนเป็นปากเป็นเสียงเพื่อมารักษาและคุ้มครองสิทธิให้เกษตรกรไทย เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราพยายามผลักดันกันอยู่ในขณะนี้” ผอ.มูลนิธิชีววิถี ทิ้งท้าย

            คณะกรรมการร่วมขับเคลื่อน ตั้งเป้าคลอด ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ฉบับประชาชน ให้แล้วเสร็จภายในมีนาคมนี้ คงต้องมาลุ้นกันว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปี จะขานรับกับข้อเสนอนี้หรือไม่อย่างไร

หมายเลขบันทึก: 673078เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2019 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2019 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท