ถกมาตรการขึ้นภาษีเกลือเดือด ผู้ประกอบการขอให้ “ยกเลิก”


                  ประชุมขึ้นภาษีเกลือถกเดือดจัด หลังกลุ่มผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ทราบแผนยุทธศาสตร์ต้องการลดโซเดียม 30 เปอร์เซ็นต์ในปี 2568 เผย “ไม่ปฏิเสธว่าจะไม่ทำตาม” แต่ไม่เห็นด้วยและอยากให้ยกเลิกแนวคิดการเก็บภาษีเกลือ ย้ำภาคอุตสาหกรรมพร้อมให้ความร่วมมือ แต่ควรได้พูดคุยและหาทางออกร่วมกันก่อนกำหนดกำแพงภาษีเพื่อจัดเก็บ

        จากการประชุมเพื่อหารือร่วมกันเรื่องการจัดเก็บภาษีเกลือเมื่อเร็วๆ นี้ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และ ผู้ประกอบการอาหารสำเร็จรูป ในภาคอุตสาหกรรม โดยมีนายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการ สำนักแผนภาษีกรมสรรพสามิต เป็นประธาน  มีผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม อาจารย์สาขาววิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และ พญ. ศศิธร ตั้งสวัสดิ์ ผอ.กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโลก ร่วมให้ข้อมูลในที่ประชุมก่อนที่ระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดกำแพงภาษี

            พญ.ศศิธร ตั้งสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโลก ได้ให้ข้อมูลว่า จากการเก็บข้อมูลพบว่าผู้บริโภคในประเทศไทยบริโภคเกลือและโซเดียมในอัตราสูง บริโภคเกลือสูง 10.8 กรัมต่อวัน และ บริโภคโซเดียม 4,351.7 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งการบริโภคโซเดียมนั้นเกินกว่ามาตราฐานที่ร่างกายต้องการถึง 2 เท่า จึงเกิดผู้ป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะโรคไตและโรคหัวใจ

            ดังนั้นเป้าหมายหนึ่งของการดำเนินงานในระดับโลก เพื่อลดปัญหาโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในประเทศไทย คือลดการบริโภคโซเดียมให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2568  โดยได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทยปี 2559-2568 มาแล้ว แต่ปัจจุบันตัวเลขการลดบริโภคโซเดียมก็ยังไม่คืบหน้า

            ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม อาจารย์สาขาววิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) พบว่า มีหลายมาตรการที่จะช่วยลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจ แต่มาตรการที่ได้ผลดีที่สุดคือ มาตรการสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารให้มีปริมาณเกลือ/โซเดียมลดลง เพราะมาตรการนี้สามารถลดอัตราการตายได้สูงสุด 32,000 คน และช่วยให้คนมีภาวะสุขภาพที่ดีต่อปีเพิ่มขึ้น 145,068 คน ส่วนมาตรการรองลงมาคือ มาตรการติดฉลากโภชนาการหน้าบรรจุภัณฑ์  ช่วยลดอัตราการตายได้ 31,190 คน และ ช่วยให้คนมีภาวะสุขภาพดีต่อปี เพิ่มขึ้น 130,778 คน

            ส่วนมาตรการอื่น ๆ เช่น มาตราการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมให้ประชาชนได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มาตรการรณรงค์สื่อสารมวลชน มารตราการเฝ้าระวัง เพื่อวัดและติดตามการใช้เกลือ/โซเดียมของประชาชน จะสามารถลดอัตราการตายได้ประมาณ 20,000 กว่าคน เป็นมาตรการระดับใช้ได้ แต่ไม่คุ้มทุนเท่ากับมาตรการให้ภาคอุตสาหกรรมปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารฯ

            นอกจากนั้นยังมีผลจากการสำรวจปริมาณเกลือและโซเดียมในผลิตภัณฑ์ พบว่า แหล่งของโซเดียมที่ประชากรไทยได้รับจากผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคมากที่สุด มาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูป มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,272 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และกลุ่มผลิตภัณฑ์โจ๊ก/ข้าวต้มสำเร็จรูป มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,259 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ในขณะที่ข้อแนะนำปริมาณโซเดียม ในอาหารมื้อหลัก ไม่ควรเกิน 600 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และ อาหารว่างไม่ควรเกิน 100 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

            ด้วยเหตุนี้มาตรกาปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารฯ จากภาคอุตสาหกรรม จึงถูกเลือกมาใช้ เพราะมีผลลัพธ์ทางสุขภาพดีกว่า และใช้ต้นทุนน้อยกว่า และเป็นวิธีที่ใช้แล้วได้ผลมาแล้วกับหลาย ๆ ประเทศ เพราะมาตรการปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารฯ จากภาคอุตสาหกรรมนี้ จะนำมารตราการด้านราคาและมาตรการขึ้นภาษีมาใช้ ส่งผลให้ผู้บริโภคซื้ออาหารดีต่อสุขภาพได้ในราคาถูกลง ส่วนอาหารที่เสี่ยงต่อสุขภาพราคาจะแพงกว่า ถ้ามาตราการนี้เกิดขึ้นประชาชนจะได้รู้ว่า สินค้าแพงกว่ามีความเค็มมากกว่าสินค้าราคาถูกกว่า

            ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมแห่งชาติ เลือกมาตรการด้านภาษีกับภาคอุตสาหกรรม เพราะความเค็มส่วนหนึ่งมาจากการผลิตที่ปรุงมาเรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงผู้บริโภคก็รับประทานตามที่ปรุงสำเร็จมา จึงส่งผลให้เกิดความเคยชินกับลิ้น เมื่อรับประทานเค็มในอาหารสำเร็จรูปจนเคยชินแล้วน ครั้นจะรับประทานอาหารอื่น ก็ต้องเค็มตามไปด้วย ดังนั้นการการปรับสูตรอาหารครั้งนี้ก็เหมือนกับเป็นการให้คนไทยทานเค็มลดลง เป็นการปรับลิ้นให้ทานอาหารอื่นเค็มลดลงด้วย ถือเป็นการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น

            ซึ่งในเรื่องนี้ ดร.พจนีย์ พะเนียงเวทย์รองประธานบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวยอมรับในประเด็นที่มีหลายประเทศดำเนินการเรื่องภาษีแก่ภาคอุตสาหกรรมตามที่ ผศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าว โดยเฉพาะที่ประเทศฮังการี จากข้อมูลที่มี พบว่าประเทศนี้จะใช้มาตราการปรับภาษีแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคบริโภคเกลือน้อยลง เพราะจากการสำรวจนักเรียนที่มาซื้อของเมื่อเห็นของราคาแพงขึ้นก็เปลี่ยนไปซื้ออย่างอื่นที่ถูกลง แต่ไม่ได้หมายความว่า เป็นเพราะเกลือลดลง ข้อมูลเหล่านี้ตนกล้ายืนยันได้ เพราะบริษัทได้เปิดสาขาอยู่ที่ประเทศฮังการีด้วย

            ส่วนเรื่องที่ความเค็มได้ถูกปรุงรสมาจากภาคอุตสาหกรรม และในต่างประเทศได้เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคด้วยการแยกซองเครื่องปรุงมาให้นั้น บอกได้เลยว่า เรื่องนี้ประเทศไทยนำสมัย เพราะทำมานานแล้ว ดูได้จากในซองบะหมี่สำเร็จรูป ได้มีการแยกเครื่องปรุงมานานแล้ว หรือประเทศญี่ปุ่นมีราเม็งขาย แต่มีคำแนะนำว่ากรุณากินแต่บะหมี่ อย่ากินน้ำซุป หากเทียบกับเมืองไทยซึ่งก้าวหน้ามาถึงขนาดแยกเครื่องปรุงให้ผู้บริโภคแล้ว แล้วทำไมต้องถอยหลังกลับไปจุดนั้นอีก

            ดร.พจนีย์ ย้ำว่า แม้จะลดความเค็มถึง 30 เปอร์เซ็นต์ในบะหมี่สำเร็จรูป ก็ช่วยลดการกบริโภคเกลือลงได้แค่ 1-1.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น การลดเกลือทำได้เต็มที่คือ 5-10 เปอร์เซ็นต์ แต่การที่จะลดได้มากขนาดนั้นก็ต้องใช้สารทดแทนเกลือ ซึ่งสารทดแทนเกลือมีหลายตัวและราคาค่อนข้างแพง อย่าง โปแตสเซียมคลอดไรด์ ซึ่งใช้แทนได้มากสุดคือ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีรสชาติขื่น และถ้าใส่สารตัวนี้ต้องเขียนบนแพ็คเกจด้วยว่าผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคไต ไม่ควรบริโภคจากบะหมี่ธรรมดา แต่การจะมาใส่ข้อความให้ระวังเช่นนี้ ทำเพื่ออะไร หรือ ถ้าใช้สารแทนเกลือตัวอื่นซึ่งราคาแพง จะให้ขายบะหมี่ราคาเท่าเดิมคงไม่ได้อีก จึงอยากให้ยกเลิกการใช้มาตรการขึ้นภาษีไปเลย

            “ส่วนตัวเชื่อว่า มาตรการภาษีไม่ช่วยลดโซเดียมในการบริโภค ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ทำตาม ที่ผ่านมาเราก็ทำมาตลอด ยังไม่พออีกเหรอ แล้วเราก็ไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย พอมาเจอกันครั้งแรก บอกว่าจะเก็บภาษี เป็นเรื่องที่เราเสียใจ แต่ถ้ายังยืนยันว่า จะทำ ก็ต้องมานั่งคุยกัน หาทางออกร่วมกัน ไม่ว่าจะออกทางไหนต้องมีประโยชน์ต่อประเทศชาติแน่นอน” รองประธานบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ยืนยัน

            ตลอดระยะเวลาของการประชุม ได้มีตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมหลายท่านตั้งประเด็นสอบถามและมีข้อซักถาม พร้อมกับไม่เห็นด้วยกับนโยบายการขึ้นภาษี การประชุมครั้งนี้จึงไม่สามารถก้าวผ่านไปถึงการร่วมกันกำหนดกำแพงภาษีเพื่อจัดเก็บได้ พร้อมกับมีการเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการจากทั้งภาคส่วนของรัฐและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทำงานร่วมกัน เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ ที่มีมาแลกเปลี่ยนกันและร่วมกันหาทางออกในเรื่องนี้  ซึ่งประธานในที่ประชุมก็เห็นด้วย จึงได้ให้แต่ละฝ่ายส่งรายชื่อเพื่อตั้งคณะกรรมการการทำงานขึ้นมา และกำหนดกรอบการทำงานของคณะกรรมการไว้ 3 เดือน ส่วนจะเริ่มประชุมนัดแรกเมื่อไหร่นั้น ยังไม่ได้มีการกำหนด

หมายเลขบันทึก: 673075เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2019 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2019 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท