น้อมรำลึก ๑๑๖ ปี ชาตกาล สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ ป.ธ.๘) กับ "วัดพุทธคยา" หรือ "วัดป่าพุทธมงคล"


วันที่ 8 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2562
น้อมรำลึกในโอกาสครบ 116 ปี ชาตกาล
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ ป.ธ.8)
อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
อดีตอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร

               เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) หรือเจ้าคุณพระพิมลธรรมในขณะนั้น พระคุณท่านดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีองค์การปกครองสงฆ์อยู่ ได้เดินทางมาที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ท่านได้มีปรารภกับพระเดชพระคุณพระราชพรหมจริยคุณ (สุข สุขโณ) เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ในขณะนั้น ว่าอยากจะให้มี "สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน" เป็นตัวอย่างสักแห่งหนึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์ จึงมีผู้แนะนำว่า บริเวณป่าช้าดอนบากเป็นสถานที่เหมาะแก่การจัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ เพื่อปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานดังกล่าว โดยเห็นว่าไม่ไกลจากตัวเมืองมากนักการคมนาคมสะดวก และอยู่ห่างไกลจากชุมชนพลุกพล่าน ทั้งยังเป็นบริเวณป่ามีความวิเวก สงบเงียบ และร่มรื่นด้วยแมกไม้ธรรมชาติ เหมาะแก่การทำวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้ติดต่อสอบถาม และขอความร่วมมือจากราษฎรในหมู่บ้านดังกล่าวแล้ว เห็นชอบด้วย จึงได้จัดตั้งเป็นสำนักวิปัสสนาขึ้นเรียกว่า “วัดพุทธคยา” เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2497

พระราชพรหมจริยคุณ (สุข สุขโณ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ 

               เมื่อตั้งเป็นสำนักวิปัสสนาแล้ว ได้มีภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา มาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน กันอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการแต่งตั้งเจ้าอาวาส หรือพระภิกษุผู้นำในการดูแลสำนักสงฆ์แห่งนี้อย่างเป็นทางการแน่นอนแต่อย่างไร จนเมื่อพระอาจารย์หนูอินทร์ กิตฺติสาโร ได้เริ่มเข้ามาพัฒนาวัดอย่างจริงจังหลังจากที่ท่านได้ศึกษาสำเร็จนักธรรมชั้นเอก มาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2503 ภายใต้การพัฒนาของพระอาจารย์หนูอินทร์ กิตฺติสาโร ความเป็นวัดก็ได้เจริญขึ้นเป็นลำดับ ท่านได้ก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ขึ้นมามากมาย อาทิเช่น กุฏิวิปัสสนา, กุฏิทรงไทย 2 ชั้น, ถ้ำจำลอง (เพื่อปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน), กุฏิวิปัสสนา ทรงไทยหลังเล็ก, ศาลาการเปรียญทรงไทย 2 ชั้น, อุโบสถ 3 ชั้น, ศาลาอเนกประสงค์, หอระฆัง และซุ้มประตูทางเข้าวัด เป็นต้น

พระอาจารย์หนูอินทร์ กิตฺติสาโร

               เมื่อวัดได้เจริญขึ้นเป็นลำดับ ญาติโยม พุทธศาสนิกชน อุบาสก อุบาสิกา ได้เข้ามาประกอบศาสนกิจเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก การก่อสร้างถาวรวัตถุก็มีเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงมีดำริที่จะขอจดทะเบียนที่ดิน ซึ่งแต่เดิมเป็นที่สาธารณะให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ ท่านพระครูโสภณสุตกิจ และพระอาจารย์หนูอินทร์ กิตฺติสาโร ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องกับทางราชการอันมีอำเภอและจังหวัด เพื่อจะให้ที่ดินทั้งหมดมาเป็นอาณาจักรสงฆ์ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จนในที่สุดสภาตำบลหลุบได้มีมติยกที่ดินทั้งหมดนี้ให้เป็นธรณีสงฆ์ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2522 จึงได้ขอสร้างเป็นวัดตามกฎหมายสำเร็จ โดยกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการออกประกาศให้สร้างวัดได้ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2523 และได้ตั้งชื่อวัดไว้ว่า “วัดช้างอี่ยอ”

               ทว่า ชื่อที่กรมศาสนาตั้งให้นั้น พุทธศาสนิกชน ญาติโยม อุบาสก อุบาสิกา ทั่วไปไม่ชอบชื่อวัดช้างอี่ยอ ชื่อเดิมที่เรียกว่า “วัดพุทธคยา” ก็เป็นมงคลงามดีอยู่แล้ว แต่ชื่อวัดพุทธคยานั้นขัดกับข้อบัญญัติของกระทรวง จึงได้ขอเปลี่ยนชื่อใหม่ ซึ่งต่อมากรมศาสนาได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า “วัดป่าพุทธมงคล” เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2528 ถึงจะเปลี่ยนชื่อใหม่แล้วก็ตาม ชาวบ้านทั่วไปก็นิยมที่จะเรียกชื่อ “วัดพุทธคยา” อันเป็นชื่อดั้งเดิมที่ได้ตั้งเป็นครั้งแรกอยู่นั้นเอง


               วัดป่าพุทธมงคล โดยการนำของพระอาจารย์หนูอินทร์ กิตฺติสาโร ได้พัฒนาให้มีความเจริญมาเป็นลำดับตามที่ปรากฏ กอรปทั้งมีญาติโยม อุบาสก อุบาสิกา พุทธศาสนิกชน ทั่วไปในท้องที่ใกล้เคียง และต่างจังหวัด เลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างดียิ่ง ทุกคนทุกฝ่ายได้ร่วมมือ ร่วมใจกันสานสร้างจนเป็นวัดที่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมาย และพระธรรมวินัย ด้วยแรงสนับสนุนและศรัทธาจากสาธุชนเหล่านี้นี่เอง วัดป่าพุทธมงคล จึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2529 และเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ แห่งที่ 1

หมายเลขบันทึก: 672966เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2019 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2019 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท