โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

ก้าวไปกับฤดูกาล


โสภณ เปียสนิท

..............................

            ปลายฝนปีพุทธศักราชสองพันห้าร้อยหกสิบสองฝนชุกผิดกว่าปีกลาย ผมกลับบ้านที่เมืองกาญจน์ทุกๆ เย็นวันศุกร์ เพื่อสร้างความเคยชินกับบ้านที่เตรียมไว้หลังการเกษียณอายุราชการในปีสองพันหกสิบสี่ ชีวิตกับวันเวลา ชีวิตกับการเดินทางเหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะชีวิตของผมเองเดินทางออกจากบ้านท่ามะนาว ริมฝั่งแม่น้ำแควใหญ่เมื่อราวปีพุทธศักราชสองพันห้าร้อยสิบห้า เดินหน้าหาความก้าวหน้าทางศิลปวิทยาเพื่ออาชีพ

            สมัยนั้นผมไม่รู้หรอกครับว่า ชีวิตจะไปทางไหน จะไปสิ้นสุดลงที่ตรงไหน รู้เพียงแต่ว่า ต้องก้าวไปข้างหน้า เพราะโลกยังคงหมุนไปเรื่อยๆ หากเราหยุดอยู่กับที่ถือว่า เราล้าหลัง การรับรู้ว่าโลกหมุนเวียนเปลี่ยนไป เป็นสิ่งเดียวกันกับการก้าวเดินไปข้างหน้าของสรรพชีวิตไม่ว่าคนหรือสัตว์

            เป้าหมายของการออกจากบ้านคือการศึกษา ตามความเชื่อของชาวบ้านบรรพบุรุษที่สืบต่อองค์ความรู้กันมาว่า การศึกษาสามารถพาชีวิตให้ก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายที่สูงขึ้นกว่าเดิม พ่อกับแม่พร้อมเพื่อนบ้านญาติมิตรจำนวนหนึ่งพากันขึ้นรถมาลงที่หน้าเมืองกาญจนบุรี เพื่อลงเรือที่ปากแพรก ณ ที่แม่น้ำแควใหญ่และแม่น้ำแควน้อยไหลมาบรรจบกัน แม่น้ำสองสายบรรจบกันกลายเป็นแม่น้ำแม่กลอง เดินทางต่อไปยังวัดถ้ำเขาปูน วัดเล็กๆ กลางป่าใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำแควน้อย

            เรือโดยสารหางยาวค่อยๆ พาเราแล่นตัดผิวน้ำกว้างใหญ่ มองเห็นกอพงหญ้าตรงสามเหลี่ยมเล็กยื่นย้อยคล้ายปากล่างของช้าง ชาวบ้านเรียกที่ตรงนี้ว่า “ลิ้นช้าง” ขวามือเป็นแม่น้ำแควใหญ่ ซ้ายมือเป็นแม่น้ำแควน้อยบรรจบกันตรงนี้เอง ราวครึ่งชั่วโมงถึงท่าน้ำวัดถ้ำเขาปูน ไต่บันไดยี่สิบกว่าขึ้นพักหอบเหนื่อยบนศาลาพักหลังเล็กคร่อมทางเดิน ลุงชราสายตาฝ้าฝาง (ทราบภายหลังว่าลุงตาบอด) ลุกขึ้นนั่งต้อนรับเราชวนสนทนานิดหน่อยตามมรรยาท

            หายเหนื่อยแล้ว จำได้ว่า ผมเดินหลังพ่อแม่ตนเอง และพ่อแม่ของเพื่อนที่กำลังจะไปบวชเณรเรียนหนังสือด้วยกันสามสี่ครอบครัว เส้นทางเทปูนกว้างขนาดหนึ่งเมตรทอดคดโค้งผ่านถ้ำลึก เหวชันราวหนึ่งกิโลเมตรเศษ ถึงวัดถ้ำเขาปูนแล้ว ทำบุญถวายภัตตาหารแด่ภิกษุสามเณรห้าหกองค์ รับประทานอาหารกลางวันกันที่วัด หลวงพ่อจึงเรียกเราทั้งคณะไปที่ถ้ำ ปากถ้ำสูงกว่าพื้นหินและดินภายใน แสงสว่างจากเทียนและเครื่องปั่นไฟ มองเห็นพระพุทธรูปไสยาสน์ขนาดใหญ่ ปางปราบอสุรินทราหูนอนตะแคงขวา ข้อศอกตั้งพระหัตถ์ค้ำพระเศียรไว้

            เหลียวมองซ้ายขวามีซอกหลืบลึกเร้นเลยแสงสว่างแห่งดวงไฟจะส่องถึง ค้างคาวหลายขนาดบินหนีไปอยู่ในส่วนที่ลึกเข้าไปกว่าเดิม สายลมอ่อนๆ โชยผ่านเย็นสบายกว่าอยู่ภายนอกถ้ำ ข้อดีของถ้ำก็อยู่ตรงนี้เอง ส่วนข้อเสียคือความลึกลับน่าหวาดกลัว บวชเป็นสามเณรน้อยแล้ว ยังคิดว่าจะได้กลับบ้าน แต่ว่า ผิดคาดผมต้องอยู่วัดโดยไม่รู้กำหนดเวลากลับ พ่อแม่ให้อยู่วัดก็ต้องอยู่วัด

            ยามย่ำค่ำสนธยานกดุเหว่าร่ำร้องจากยอดเขาสูงห่างไกลออกไป เณรน้อยพากันวิ่งเล่น ผมเองคิดถึงบ้านและครอบครัวจนต้องแอบร้องไห้หลายวันจนกว่าจะคุ้นเคยกับการอยู่วัด ชีวิตใหม่กับเส้นทางสายใหม่ ผมเรียนรู้บทบาทหน้าที่ของพระเณร ด้วยการเรียนนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก วิชาการเขียนกระทู้ธรรม เทียบเท่ากับการเขียนเรียงความ มุ่งเน้นการเขียนบรรยายหลักธรรมทางพระศาสนา เล่าเรียนหลักธรรมะซึ่งเป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เล่าเรียนวิชาพุทธประวัติ ประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียนเรื่องศีลของญาติโยม ศีลของเณร ศีลของแม่ชี ศีลของพระ ศีลของภิกษุณี แม้ว่า ในนิกายเถรวาทของเราจะไม่มีภิกษุณี (พระเพศหญิง) อยู่แล้วก็ตาม รวมเรียกว่าศึกษาพระวินัย

            ราวหนึ่งปีต่อมาผมย้ายสำนักไปอยู่จำพรรษาตามพระอาจารย์ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่ามะขามอีกตำแหน่ง วัดท่ามะขาม เป็นวัดเก่าแก่อายุนับร้อยปี ตั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองกาญจน์ ริมฝั่งน้ำแควใหญ่ ณ ที่แห่งนี้การศึกษาสายธรรมยังคงก้าวเดินไปทีละน้อย ตามหลักสูตรที่คณะสงฆ์สืบทอดกันมานับร้อยปี แต่การศึกษาไม่ว่าจะเป็นสายไหนแบบไหน เป็นแรงผลักดันให้ชีวิตเจริญงอกงามขึ้นเสมอ

            การศึกษาสายวัดมีกรอบขอบเขตคอยปิดกั้นให้อยู่ภายในรั้วริมระเบียงวัด จำได้ว่าผมสอบตกนักธรรมชั้นโทเนื่องจากขาดแรงบันดาลใจในการศึกษา แต่ผมเริ่มเรียนวิชาภาษาบาลี ภาษาที่จดจารบันทึกเรื่องราวของพระศาสนาในสายเถรวาททั้งหมดไว้ในพระคัมภีร์ที่เรียกว่า พระไตรปิฏก ผมสอบตกวิชาภาษาบาลีอยู่หลายปี ตกแล้วก็เริ่มใหม่ๆ จนเกิดความชำนาญในภาษาบาลีเบื้องต้น เพราะสอบหลายครั้ง ซึ่งก็ดีไปอย่างเหมือนกัน

            ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ชีวิตและสิ่งแวดล้อมย่อมเปลี่ยนไปตาม เพื่อร่วมสำนักเรียนเดียวกันตอนแรกจำนวน 32 คนต่างพากันแยกย้าย บางองค์สึกหาลาเพศไป บางองค์หาที่เรียนใหม่ บางองค์กลับภูมิลำเนา บางองค์การเรียนดี หลวงพ่อส่งเข้าไปเรียนในสำนักดังๆ ในกรุงเทพฯ กล่าวได้ว่า ผมเป็นองค์สุดท้ายของรุ่น เวลาตั้งแถวลงศาลามองไปข้างหน้าเห็นแต่หลวงพ่อกับหลวงตา มองไปข้างหลังเห็นแต่เณรน้อยรุ่นใหม่ๆ

            มองเห็นกาลเวลาก้าวเดินไปข้างหน้า พัดพาเอาสรรพสิ่งเปลี่ยนแปรไป คนแวดล้อม สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป ผมกำลังถูกฤดูกาลผลักดันให้ก้าวเดินไปข้างหน้าหนักขึ้นเรื่อย วลีหนึ่งผุดพรายขึ้นในใจ “ล้มเพราะก้าวไปข้างหน้า ดีกว่ายืนเต๊ะท่าแล้วฟุบกับที่” ไฟแห่งการเปลี่ยนแปลงรุมรนตลอดเวลาในช่วงนั้น ผมถูกผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้าหาความเปลี่ยนแปลง เพื่อนรุ่นเดียวกันหลบลี้หนีหายไปหมด น้องเณรรุ่นใหม่ต่างวัยกันมาก พระที่อยู่หัวแถวก็อาวุโสรักความสงบต่างองค์ต่างอยู่

            สุดท้ายแล้ว ผมย้ายออกจากวัดท่ามะขาม ไปขออาศัยอยู่จำพรรษาที่วัดเขาจำศีล ห้วยสะพาน พนมทวนห่างไกลตัวเมืองไปอีกหลายสิบกิโลเมตร ท่ามกลางบรรยากาศวัดป่า ผมพอทนอยู่ได้ แต่ขาดแนวทางในการดำเนินชีวิต ขาดผู้ชี้นำชีวิตเหมือนล่องลอยเคว้งคว้างไร้น้ำหนัก

            ออกพรรษาแล้วเดินทางกลับบ้านเยี่ยมเยือนญาติมิตร หลายคนนิมนต์ให้กลับมาอยู่จำพรรษาพัฒนาวัดท่ามะนาว ผมเดินทางห่างบ้านมาไกลมากแล้ว คุ้นชินกับชีวิตในถิ่นอื่นจึงยังไม่มีความรู้สึกอยากกลับ จึงทำเฉยต่อคำเชิญชวนเหล่านั้น อีกประการ ผมรู้สึกว่า ประสบการณ์กับการศึกษายังน้อยเกินไป “ครั้นบ่ออกจากบ้านบ่เห็นด่านแดนไกล” คำสวยๆ ของชาวอิสานยังอยู่ในความทรงจำ ใช้เวลาพักผ่อนอยู่ที่วัดท่ามะนาว ไปคุยกับพ่อแม่ที่บ้านตอนท่านว่าง

ครั้งหนึ่งเดินทางไปกราบนมัสการหลวงพ่อลำไย วัดลาดหญ้า พบพระอาจารย์เลขานุการหลวงพ่อที่เคยรู้จักกันมาก่อน กล่าวได้ว่า คุ้นเคยกันดี ท่านถามคำถามที่อยู่ในความทรงมาตั้งแต่วันนั้น “โสภณ ไม่อยากไปเรียนหรือ” เป็นวจนะที่รอคอยนานแสนนาน “อยากเรียนครับ แต่ไม่มีที่ไป” แปลกครับ ผมอยากไปเรียน แต่ไม่มีที่ให้เรียนในสมัยนั้น แต่ผมก็ไม่เคยที่จะออกเดินทางแสวงหาที่เรียนด้วยตนเอง เหมือนกับเพื่อนอีกหลายๆ คน

ด้วยบุญของผมเอง หรือด้วยความหวังดีของท่านพระอาจารย์มหาคมคิด อติเมโธ เลขานุการหลวงพ่อวัดลาดหญ้าก็เกินกว่าผมจะคาดเดาเอาเอง ท่านรับปากอย่างง่ายไม่มีพิธีรีตองอย่างใด “เดี๋ยวจะฝากหลวงพ่อวัดลาดหญ้าให้ท่านลงนามในหนังสือนำให้ไปอยู่วัดโพธิ ท่าเตียน” ผมยิ้มรับความหวังดีของท่านด้วยใจกล้าๆกลัวๆ

ใจหนึ่งเตือนใจตัวเองว่า “โอกาสไม่ได้มาง่ายๆ เมื่อได้มาแล้วต้องต่อสู้ฟันฝ่าไปให้ได้” จำได้ว่า เคยเห็นเด็กๆ ศิษย์วัดหลายคนเรียนโรงเรียนใกล้วัด หลายคนจบแล้วไปเรียนต่อในเมือง รู้สึกอยากได้เรียนอย่างพวกเขาบ้าง แต่เราเป็นเณรต้องอยู่วัด เรียนในวัด วิชาความรู้แบบทางวัด ความรู้สึกเหล่านี้เก็บสะสมไว้โดยเราแทบไม่รู้สึกตัว

ใจหนึ่งก็กลัวว่า ตัวเองคนเดียวไม่รู้จักกรุงเทพฯ ไม่รู้จักวัดโพธิท่าเตียน ไม่รู้จักใครที่วัดนั่น ไปแล้วจะอยู่อย่างไร จะขบฉันอย่างไร ใช้ชีวิตแบบพระเณรที่กรุงเทพฯได้อย่างไร ต่างๆนานา ความอยากเรียนทำให้ผมข่มความรู้สึกหวาดกลัวเหล่านั้นไว้ให้สงบนิ่งลงสู่ก้นบึ้งของหัวใจ เก็บไว้ให้มันดิ้นรนอยู่ในส่วนลึก

จำได้ว่าเมื่อถึงวันนัดหมาย ผมเดินทางมาถึงสถานีรถปรับอากาศเมืองกาญจน์พร้อมกับพระอาจารย์มหาคมคิด ท่านแนะนำให้ผมขึ้นรถทัวร์เป็นครั้งแรก ต่อรถแท็กซี่ถึงวัดโพธิ รอกราบนมัสการพระอาจารย์มหาถาวร ถาวโร เลขานุการเจ้าอาวาส (ยศล่าสุดก่อนท่านมรณภาพคือ พระราชคุณาธาร) ท่านก็รับปากอย่างง่ายๆ เพราะความคุ้นเคยกับหลวงพ่อวัดลาดหญ้า ท่านรับผมไว้ จัดหาที่พักให้ นำเข้าพบหลวงพ่อเจ้าอาวาสในโอกาสต่อมา

ผมต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของชีวิต จนเกิดความคุ้นเคยกับชีวิตในเมือง ดำรงอยู่เพื่อการศึกษานับได้สิบปีเต็ม มีความก้าวหน้าทางการศึกษาตามลำดับ จบปริญญาตรีพร้อมวุฒิอื่นๆ ที่ชอบเรียนประกอบกันไป

จบปริญญาตรีกับเขาแล้ว เพื่อนผู้มีความหวังดีพระอาจารย์มหาสุบิน น16 เห็นว่าอยู่ว่างๆ มาชวนให้ไปเรียนต่อระดับปริญญาโท ที่เมืองพูเณ่ รัฐมหารัชฏระ ประเทศอินเดีย “ผมยังไม่รู้จะเรียนอะไรดี” ผมตอบไปแบบคนยังไม่รู้แผนการอนาคต “เอาน่า เก่งอังกฤษก็เรียนวรรณคดีอังกฤษไปเลย ผมตกกระไดพลอยโจนไปด้วยทันที “เอาอย่างนั้นก็ได้ ลองดู”

ไปเรียนที่เมืองพูเณ่แล้วจึงได้รู้ว่า พื้นฐานภาษาอังกฤษของเรายังไม่พอ การฟังพูดอ่านเขียนยังไม่พร้อมใช้งาน ต้องเร่งความเพียรกันอย่างหนัก ฟังแขกพูดไม่เข้าใจก็ต้องพยายามฟัง เขียนยังไม่คล่องก็ต้องฝึกเขียน อ่านยังไม่ได้มากก็ต้องพยายามอ่านให้มาก พูดไม่คล่องก็ต้องพูดให้มาก เราก็พยายามไปเรื่อย กว่าจะจบมาได้ก็หืดจับ แต่การพัฒนาด้านภาษาอังกฤษถือว่าได้ผล เพราะจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารตลอดเวลาที่ออกนอกบ้านพัก

วันเวลาผันเปลี่ยนเวียนไป ผมก้าวเดินไปกับฤดูกาล จากแม่น้ำแควใหญ่มาสู่ริมฝั่งทะเลหัวหินอันกว้างใหญ่ไพศาล หลายครั้งที่ผมนั่งมองดวงอาทิตย์โผล่พ้นขอบน้ำ เกิดความคิดขึ้นว่า พระอาทิตย์ขึ้นแล้วย่อมตกลง ผมจากบ้านมานาน อีกไม่นานผมต้องกลับไปพักผ่อนยามชราที่บ้านป่าท่ามะนาวริมฝั่งแม่น้ำแควใหญ่ก่อนพระอาทิตย์จะลับขอบฟ้าที่นี่ตลอดไป

หมายเลขบันทึก: 672653เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2019 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2019 10:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท