“แทน” ความ คิดถึง : เมืองตลุงพิทยาสรรพ์ (1)


เช้า ๆ วันที่ 12 ตุลาคม 2562 ได้ทราบข่าวการจากไปของ “ครูแทน” ธีระศักดิ์  เงินประโคน ผู้อำนวยการผู้ก่อตั้งโรงเรียนเมืองตลุงพิทยาสรรพ์

ครูธีระศักดิ์ ผอ.ธีระศักดิ์  ผอ.แทน หรือคนส่วนใหญ่เรียกท่านว่า “ครูแทน” แต่ด้วยความว่าเราเป็นญาติกัน ครูแทน มีศักดิ์เป็นลุง เพราะท่านเป็นลูกพี่ลูกน้องกับแม่ ทางบ้านเราจึงเรียนลุงแทนน็นญาติ ตอนเด็ก ๆ ยายครันยังอยู่(แม่ของลุงแทน) และเริ่มสูงอายุมาก ท่านเริ่มเป็นอัลไซเมอร์ ท่านจึงมักมาที่บ้านเพื่อมาหายายลานน้องสาวคนเล็กของตระหูล (ยายของผมเอง) และท่านก็มักจะมาพักนอนและหลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้านอยู่บ่อยครั้ง อาจจะเรียกได้ว่ามากกว่าบ่อยเพราะแทบทุกวันก็มาอยู่ที่บ้านเราจนเป็นเรื่องชินตาเจนใจ หลายครั้งในวันหยุดครอบครัวของลุงแทนจากประโคนชัย จึงมักมาเยี่ยมย่าทั้งพี่น้องและพี่สา ก็มาที่บ้าน จนกระทั่งคุณยายครันจากไป

ผมกำลังจะจบชี่น ป.6 จากโรงเรียนประถมที่บ้าน จะต้องสมัครเรียนมัธยม ตอนนั้นที่บ้านไม่ค่อยจะมีเงินนักที่จะต้องลุกหลานเรียนพร้อม ๆ กันหลาย ๆ คน ตอนเรียนประถมหก ผมเป็นคนหัวกลาง ๆ ไม่ใช่แนวหน้า และต้องตัดสินใจว่าจะเรียนที่ไหน การสอบเข้าเรียนที่ประโคนชัยพิทยาคมเริ่มมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไขมากขึ้น มีระบบโควตาในรูปแบบต่าง ๆ และต้องแข่งขันกันมากขึ้น เนื่องจากที่นั่งเรียนมีจำกัด ผนวกกับช่วงนั้นมีโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งใหม่เกิดขึ้นคือเมืองตลุงพิทยาสรรพ์  เพื่อนจำนวนหนึ่งตั้งใจสอบเข้าเรียนที่ประโคนชัยพิทยาคม แต่เพื่อนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเรียนที่เมืองตลุงพิทยาสรรพ์ ด้วยเหตุผลเรื่องเพื่อนเป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจ ผนวกกับครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจครั้งนั้น คุณตาผู้เป็นผู้ปกครองโดยชอบธรรม ช่วยตัดสินใจว่าให้ไปเรียนที่เมืองตลุงพิทยาสรรพ์ ผมจึงอาจหาญเป็นคนแรกของตระกูลทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ที่เลือกเรียนเมืองตลุงพิทยาสรรพ์ คนแรงทัดทานจากพี่ ๆ ที่เรียนประโคนชัยพิทยาคมกันทั้งนั้น และคนโคกกลางในช่วงนั้นเรียกโรงเรียนนี้ว่า “โรงเรียนครูแทน”

บ้านกับโรงเรียนห่างกันสัก 2 กิโลเมตรกว่า ๆ พวกเราจึงชวนกันปั่นจักรยานไปโรงเรียน (พักหลังจึงมีรถโดยสารรับ-ส่งนักเรียน) โรงเรียนอยู่ในตัวอำเภอแต่ดูบ้านนอกมาก (ในสายตาผม) มีอาคารเรียนหลังเก่า เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น มีอาคารใหม่ที่กำลังก่อสร้างอีกหนึ่งหลัง นอกนั้นก็มีบ้านพักครูและอาคารเก่า ๆ ทรุดโทรมอยู่หลายหลัง มีสนามฟุตบอลขนาดใหญ่หน้าโรงเรียน นอกนั้นก็ไม่มีอะไรเลย แม้แต่เสาธงก็ยังเป็นแบบชั่วคราวและเล็กเตี้ยกว่าที่โรงเรียนประถม ถนนถายในโรงเรียนก็เป็นถนนลูกรัง ช่วงเปิดเทอมใหม่เป็นช่วงฤดูฝน ฝนตกคราวใด น้ำก็ท่วมถนน มีปลาแหวกว่ายให้นักเรียน มัธยมต้นในวัย 13-15 ขวบปีได้วิ่งเล่นตากฝนปนระคนกับเสียงครูตะโกนตำหนิให้หลบฝน... นักเรียนมีไม่มาก ปีนั้นมีแค่ชั้น ม.1-3 นักเรียนคงมีประมาณ 300 กว่าเท่านั้น ปีถัดมาผมขึ้นชั้นมัธยม 2 โรงเรียนจึงเปิดรับนักเรียนชั้นมัธยมปลายรุ่นแรก พร้อม ๆ กับอาคารเรียนหลังใหม่ 3 ชั้นเริ่มเปิดใช้งานได้... และโรงเรียนก็เจริญเติบโตตามลำดับ มีอาคารเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีนักเรียนจาก 300 คนตอนผมอยู่ ม. 1 เพิ่มทวีคูณเป็นพันคนเมื่อผมอยู่ ม.6... ลุง ผอ. เคยบอกว่า โรงเรียนเราเป็นโรงเรียนที่มีอัตรการเติบโตมากที่สุดในจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งในแง่จำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้น และงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลในการก่อสร้างอาคารเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการเรียนการสอน รวมถึงการมีเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนที่ทันสมัยที่สุด มีคอมพิวเตอร์ที่รองรับการเรียนการสอนได้อย่างทั่วถึง ลุง ผอ. น่าจะกล่าวในวันประชุมผู้ปกครอง หากผมจำไม่ผิด แต่กว่าโรงเรียนจะพัฒนาในด้านสถานที่และด้านวิชาการ ครูคงเหนื่อยมาก นักเรียนก็เช่นกัน พวกเราไม่ค่อยได้มีวันหยุดเหมือนโรงเรียนข้าง ๆ เท่าใดนัก วันหยุดนักขัตฤกษ์ ชาว ม.ต.พ. ต้องหิ้วจอบ แบบพร้ามาพัฒนาโรงเรียน ถางหญ้า ตัดแต่งป่าให้ดูสะอาดตา ปลุกต้นไม้ใบหญ้าในสวนหย่อมให้งาม นักเรียนรุ่นแรก ๆ คงจำเรื่องราวนั้นได้ไม่มากก็น้อย... ด้วยวสัยทัศน์ของลุง ผอ. ผู้มากบารมี นอกจากการพยายามของบประมาณจากรัฐบาลแล้ว ท่านยังมีเครือข่ายหลากหลายสาขามาช่วยพัฒนาโรงเรียน หอพระ “ศิริฉาย” หน้าโรงเรียน ก็มีผู้บริจาคจัดสร้าง ศาลาอเนกประสงค์ “เวียงสงค์” ก็มาจากการบริจาค คอมพิวเตอร์จำนวนมากส่วนหนึ่งก็มาจากการบริจาคเพื่อการศึกษา สนามกีฬาก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาปรับปรุงจนสง่างาม และงานวิชาการเราก็ไม่น้อยหน้า ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง การสอบเรียนโรงเรียนนายร้อย จปร. เป็นที่หมายปอง และเป็นการแสดงถึงมาตรฐานของการศึกษาตามค่านิยมของสังคม และนักเรียน ม.6 รุ่นแรก ก็มีคนสอบเข้าเรียนที่ จปร. ได้ 1 คน ด้วยเพราะเรามีครูที่มีคุณภาพช่วยถ่ายทอดวิชาให้พวกเรา...... แม้จะขาด แต่เราก็มี...

"แทน"  ความ  คิดถึง

ณ มอดินแดง

25 ตุลาคม 2562

ขอบคุณภาพจากเพจ โรงเรียนเมืองตลุงพิทยาสรรพ์

หมายเลขบันทึก: 671845เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2019 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2019 11:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท