แบ่งปันประสบการณ์ร่วม Camp "โครงการเขียนเป็นเล่มฯ" กับ บ.อมรินทร์


ทุกคนมีเรื่องเป็นของตัวเองที่รอการบอกเล่า เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่มีพื้นฐานจากชีวิตจริง

จากที่เคยเล่าให้ฟังเรื่องที่ได้รับคัดเลือกเข้า Camp "โครงการเขียนเป็นเล่ม นายอินทร์อะวอร์ด สู่นักเขียนมืออาชีพ ปีที่ 2/2549"  แล้วสัญญาว่าจะเก็บเกี่ยวความรู้ และประสบการณ์เรื่องราวดีๆ  มาเล่าให้ฟังนั้น  ก็ขอทำตามสัญญา  เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันนะคะ 

  • กิจกรรมแบ่งกลุ่ม Work Shop ออกเป็น 6 กลุ่ม คือ สารคดี, เรื่องสั้น , นิยาย , กวีนิพนธ์ , วรรณกรรมเยาวชน  และ หนังสือนิทานภาพสำหรับเด็ก   ซึ่งดิฉันเลือกเข้าอบรมในกลุ่มเรื่องสั้น  โดยมี คุณประชาคม  ลุนาชัย  คุณปกาศิต  แมนไทยสงค์  และ หมีฟู  เป็นวิทยากร  ซึ่งหลักการของการเขียนเรื่องสั้น  มีอยู่ 5 หลักเกณฑ์  ดังนี้
  1. มีปมปัญหา :  ถ้าขาดเงื่อนปมปัญหา  หรือความขัดแย้ง  เรื่องก็จะไม่เข้มข้น และขาดเสน่ห์ชวนติดตาม 
  2. มีสาระและเหตุผล : เรื่องราวต้องมีสาระ  มีความเป็นเหตุเป็นผล  สามารถอธิบายได้  และต้องสมจริง
  3. ค้นหาที่มาที่ไป : เรื่องแต่งที่ดีต้องกล่าวถึงที่มาที่ไปอย่างชัดเจน  ตัวละครต้องมีภูมิหลัง มีพฤติกรรมที่แสดงออก  มีมูลเหตุจูงใจต่อการแสดงพฤติกรรม
  4. ใส่ชั้นเชิงวรรณศิลป์ : คือการใช้กลวิธีการนำเสนอ  ว่าจะนำตอนไหนขึ้นก่อน  โดยอาจเล่าตั้งแต่ต้นจนจบ  หรือนำตอนจบมาเปิดเรื่อง  แต่สิ่งสำคัญต้องให้คนอ่านรับรู้ทีละน้อย  ควรขยักหรือซ่อนเอาไว้  ยั่วใจให้น่าติดตามมากขึ้น
  5. จบให้คนอ่านถวิลหา ตรึงตรา ตรึงใจ : อาจจบอย่างมีความสุขหลังจากพระเอกนางเอกฝ่าฟันอุปสรรคมาอย่างหนักหนา  หรือจบแล้วกลับให้ทั้งสองพบอุปสรรคที่ยากยิ่งกว่ารออยู่ข้างหน้า  ทั้งนี้อาจทิ้งประเด็นใหม่ไว้ให้คนอ่านได้คิดต่อ  ก็แล้วแต่ผู้เขียนจะกำหนด
  • เป็นไงคะ การเขียนเรื่องสั้นไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก  หากคุณคิดที่จะเริ่มต้น  ทุกคนมีเรื่องเป็นของตัวเองที่รอการบอกเล่า  เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่มีพื้นฐานจากชีวิตจริง  เพียงแค่อาศัยชั้นเชิงวรรณศิลป์ และการจัดวางนิดหน่อย  ลองดูนะคะ ไม่น่าจะเกินความสามารถ
  • นอกจากเรื่องสั้นแล้วก็ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น  ซึ่งก็มี นักเขียนที่มาเป็นวิทยากรหลายท่าน เช่น คุณไพรวรินทร์  ขาวงาม, คุณกีรติ  ชนา  ,คีตกาล , คุณอรสม  สุทธิสาคร ฯลฯ  แต่ดิฉันไม่ได้เรียนเรื่องเหล่านั้นอย่างละเอียด  แต่พอจะมีเอกสารอยู่บ้าง  หากท่านใดสนใจก็ยินดีแบ่งปันนะคะ

กับคุณประชาคม  ลุนาชัย เจ้าของผลงาน  ลูกแก้วสำรอง,คนข้ามฝัน,เขียนฝันด้วยชีวิต ฯลฯ

 

    คุณไพรวรินทร์  ขาวงาม มอบใบประกาศให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ

  • นอกจากนี้ยังได้ไปเยี่ยมบ้านและพูดคุยกับ คุณลุงคำสิงห์  ศรีนอก(ลาว คำหอม)  ศิลปินแห่งชาติ  เจ้าของผลงาน"ฟ้าบ่กั้น"  หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน อีกด้วย  

   คุณลุงคำสิงห์  ให้โอวาทและเล่าถึงประสบการณ์เส้นทางนักเขียน 

  • ประสบการณ์ในครั้งนี้ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างแท้จริง  เพราะทุกคนมาจากต่างสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น  คนทำหนัง ทำโฆษณา  ผู้จัดการดารา  นักข่าว  มัคคุเทศน์  พยาบาล  นิสิตแพทย์ ฯลฯ  ต่างเล่าถึงประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต การทำงาน  การเรียน  และการอ่าน-การเขียนได้อย่างออกรส  เรียกว่าต่างคนต่างเก็บเกี่ยวเรื่องราวของเพื่อนๆ ให้มากที่สุด  เพื่อใช้เป็นเข็มทิศ และย่นย่อระยะทางแห่งความสำเร็จของตัวเอง  จากการเรียนรู้ข้อผิดพลาดจากประสบการณ์ของผู้อื่นอีกด้วย 
  • ลองดูนะคะ  ถ้าหากใครสนใจเรื่องงานเขียน  ดิฉันพอมีหนังสือแนะนำ  แต่อย่างไรก็ตาม  "ศิลปะงานเขียนสอนกันไม่ได้  แต่เรียนรู้ได้"  นะคะ  ต้องลองเขียนดูแล้วจะรู้ค่ะ 

หมายเลขบันทึก: 67168เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2006 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท