BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

๗. สมภารเจ้าวัด : อำนาจ


สมภารเจ้าวัด

๗. สมภารเจ้าวัด : อำนาจ               

ในมาตรา ๓๘ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้บัญญัติว่า เจ้าอาวาสมีอำนาจดังนี้               

๑) ห้ามบรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งมิได้รับอนุญาตของเจ้าอาวาสเข้าไปอยู่อาศัยในวัด               

 ๒) สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสออกไปเสียจากวัด               

๓) สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยในวัด ทำงานภายในวัดหรือให้ทำทัณบนหรือให้ขอขมาโทษ ในเมื่อบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ในวัดนั้นประพฤติผิดคำสั่งเจ้าอาวาส ซึ่งได้สั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม                

และทั้งสามข้อนี้ พระเทพปริยัติสุธี เจ้าคณะภาค ๑๐ ได้สรุปไว้ใน หนังสือคู่มือพระสังฆาธิการ : ว่าด้วยเรื่องการคณะสงฆ์และการพระศาสนา สั้นๆ ว่า รับคนเข้า เอาคนออก และสั่งลงโทษ ซึ่งผู้เขียนจะประมวลมาอีกครั้งดังต่อไปนี้                 

อำนาจรับคนเข้า หมายถึง เจ้าอาวาสจะต้องใช้ดุลยพินิจเพื่อรับบรรพชิตคือพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์คือชาวบ้านเข้ามาอยู่ภายในวัด นั่นคือพิจารณาว่าใครสมควรที่จะให้อยู่หรือไม่ให้อยู่               

อำนาจเอาคนออก  หมายถึง ให้คนดีอยู่ในวัด ส่วนคนที่ไม่ดีและไม่กระทำตามโอวาท เจ้าอาวาสก็มีอำนาจที่จะให้ออกจากวัดได้ตามพระราชบัญญัตินี้                เฉพาะประเด็นการเอาคนออกจากวัดนี้ หนังสือเล่มเดียวกันในหน้า ๘๓-๘๔ พระเทพปริยัติสุธี ได้เตือนเจ้าอาวาสไว้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจ จึงคัดลอกมาฝากด้วย               

ถ้าโอวาทนั้นเป็นโอวาทอันชอบด้วยหน้าที่แล้ว ผู้ถูกสั่งไม่อยู่ในโอวาท เจ้าอาวาสจึงจะสั่งให้ออกไปเสียจากวัดได้ และถ้าผู้ถูกสั่งขัดขืน ย่อมเป็นความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาตามมาตรา ๔๕ แต่ถ้าโอวาทหรือคำสั่งไม่ชอบด้วยหน้าที่เจ้าอาวาส โอวาทหรือคำสั่งนั้น ย่อมไม่มีผลให้ผู้ถูกสั่งหรือผู้รับโอวาทต้องปฏิบัติตาม กลับจะเป็นการใช้อำนาจในทางมิชอบ เป็นเหตุให้เจ้าอาวาสต้องรับผิดในฐานะเจ้าพนักงานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญาได้ ข้อนี้ต้องระวัง               

ตามข้อความที่ยกมาผู้เขียนเข้าใจว่า ถ้าเจ้าอาวาสแกล้งใครแล้วสั่งให้ออกจากวัดก็อาจมีความผิดในฐานใช้อำนาจในทางมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งอาจถูกฟ้องร้องได้ในฐานเจ้าพนักงาน แต่ผู้เขียนได้เสนอไปตอนต้นว่า มีประเด็นปัญหาอย่างหนึ่งคือ เจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่ ? ดังนั้น ถ้าเจ้าอาวาสมิได้เป็นเจ้าพนักงาน แต่อำนาจของเจ้าอาวาสมีบัญญัติไว้ตามกฎหมายแน่นอน ประเด็นนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่เช่นเดิม ขอฝากผู้อ่านและผู้เกี่ยวข้องขบคิดเรื่องนี้ด้วย

อำนาจสั่งลงโทษ หมายถึง การลงโทษผู้อยู่ภายในวัดที่ประพฤติผิดคำสั่งของเจ้าอาวาสที่ชอบด้วยพระธรรมวินัยและกฎระเบียบอื่นๆ นั่นคือ เมื่อยังไม่ไล่ออกจากวัดก็สั่งลงโทษได้ ซึ่งสรุปได้ ๓ สถาน ได้แก่ ให้ทำงานภายในวัด ให้ทำทัณฑ์บน และให้ขอขมาโทษตามสมควร                

หน้าที่และอำนาจของสมภารเจ้าวัดตามที่นำเสนอมาข้างต้นนั้น เป็นเพียงหลักการหรือทฤษฎีเท่านั้น เปิดหนังสืออ่านหรือฟังใครบอกให้ฟังไม่นานก็จบ แต่ในส่วนของการปฏิบัติหรือโลกของความเป็นจริงนั้น มีรายละเอียดมากมายที่ไม่สามารถนำมาบอกกล่าวได้ครบถ้วนกระบวนความได้ ฉะนั้น ผู้เขียนจะเล่าเรื่องต่างๆ สัก ๔-๕ เรื่อง พอเป็นตัวอย่างของการใช้อำนาจและหน้าที่ของเจ้าอาวาส               

เรื่องคนเก่าคนแก่ สำหรับวัดบ้านนอกหรือวัดเล็กๆ ที่มีแต่สมภารรูปเดียวอาจไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้ แต่สำหรับวัดใหญ่ๆ หรือวัดในเมืองเช่นกรุงเทพฯ มักจะเป็นปัญหาหนึ่งของสมภารเจ้าวัด นั่นคือ ภายในวัดอาจมีพระเถระผู้ใหญ่ซึ่งอยู่วัดนั้นมาก่อนสมภารรูปปัจจุบัน บางรูปอาจอยู่มาหลายสมภารแล้วก็ได้ หรือบางรูปเคยเป็นอาจารย์สอนสมภารเจ้าวัดปัจจุบันก็มี พระเถระเหล่านี้มักจะเป็นที่เกรงอกเกรงใจของสมภารเจ้าวัด ถ้าต่างก็ใฝ่คุณธรรม กล่าวคือ มีเรื่องอะไรที่สำคัญสมภารไปปรึกษาหรือกราบเรียนให้พระเดชพระคุณทราบก่อน ฝ่ายพระเดชพระคุณก็เคารพในความเป็นสมภารเจ้าวัดของเจ้าอาวาสก็มักไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าต่างฝ่ายถือดี ก็มักจะมีปัญหาคาราคาซังภายในวัด เช่น พระเถระจะซ่อมจะรื้อกุฏิ หรือจะตัดต้นไม้ ปิดทางเดินภายในวัด ก็มักจะทำอะไรโดยพลการไม่รายงานท่านเจ้าอาวาส สมภารเจ้าวัดก็เกรงใจด้วยว่าท่านเป็นผู้ใหญ่อยู่มาก่อน . . .               

บางครั้ง คนเก่าคนแก่อาจเป็นแม่ชีหรือชาวบ้านที่อยู่ภายในวัดก็ได้ เช่น บางวัดผู้มีอำนาจที่สุดมิใช่สมภารเจ้าวัด แต่กลายเป็นแม่ชีผู้สูงอายุภายในวัด เหตุผลก็คือ แม่ชีคนนี้อยู่วัดมานาน กระทั้งสมภารปัจจุบัน ท่านก็เคยหุงข้าวทำแกงให้ฉันตั้งแต่เป็นสามเณร แม้ว่าอดีตสามเณรจะกลายมาเป็นเจ้าอาวาสปัจจุบันก็ยังคงเกรงใจแม่ชีอยู่ มิกล้าว่ากล่าวในเรื่องต่างๆ กลายเป็นว่า เรื่องราวภายในวัด ถ้าแม่ชีว่าได้ เรื่องก็ผ่าน แต่ถ้าแม่ชีคัดค้านเรื่องก็ไม่ผ่าน นั่นคือ ไม่รู้ใครมีอำนาจที่สุดภายในวัด เรื่องทำนองนี้หาได้ไม่ยากตามวัดที่มีแม่ชีอาศัยอยู่เป็นหมู่คณะใหญ่ ๆ               

เรื่องคนเก่าคนแก่ภายในวัด เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่มาลิดรอนอำนาจของเจ้าอาวาส และทำให้บางครั้งเจ้าอาวาสไม่สามารถทำหน้าที่ตามที่มุ่งหวังได้ 

เรื่องเคยมีมาแล้ว อาจเป็นเรื่องที่สมภารในอดีตเคยปฏิบัติมา เช่น บางวัด เจ้าอาวาสรูปก่อนเป็นผู้รับผิดชอบค่าไฟภายในวัด ซึ่งในสมัยก่อนนั้น ค่าไฟฟ้าก็ไม่สูงนักเพราะใช้เพียงหลอดไฟเพื่อให้เกิดความสว่างเท่านั้น แต่สมัยปัจจุบันเครื่องใช้ทั่วไปภายในวัดก็ใช้ไฟฟ้า เช่น วิทยุ โทรทัศน์ พัดลม ตู้เย็น คอมพิวเตอร์ เลื่อยไฟฟ้า กบไฟฟ้า เครื่องสูบน้ำ . . . ดังนั้น ค่าไฟฟ้าในวัดปัจจุบันจึงสูง จะเรียกเก็บจากลูกวัดก็เกรงคำครหาว่ามีบารมีธรรมไม่เท่าเทียมสมภารรูปก่อน จะพูดมากไปก็เกรงลูกวัดตั้งประเด็นตรวจสอบเรื่องรายรับรายจ่ายภายในวัด ผู้เป็นสมภารก็ต้องทนแบกภาระเรื่องค่าไฟฟ้าต่อไป เพื่อจะได้รับการยอมรับว่ามีบารมีธรรมเท่าเทียมกับสมภารรูปก่อน

บางเรื่องอาจเป็นสัญญาข้อตกลงระหว่างวัดกับเอกชน เช่น บางวัดมีสวนผลไม้ มีบางตระกูลผูกขาดและเก็บขายมานาน โดยจ่ายเป็นส่วนแบ่งให้วัดเพียงเล็กน้อย สมภารรูปใหม่เห็นว่าเป็นการเสียเปรียบจะบอกเลิกสัญญาก็เกรงใจหลายฝักหลายฝ่าย กลายเป็นว่าสวนผลไม้กลายเป็นเรื่องหวานอมขมกลืนของสมภารเจ้าวัดรูปปัจจุบัน                 

เรื่องเคยมีมาแล้วนี้ มีรูปแบบหลากหลายเกินกว่าจะยกนิทานให้ครอบคลุมถ้วนทั่วได้ บอกได้เพียงว่าเป็นปัญหาที่แก้ยาก สมภารบางรูปใช้อำนาจเกินไปก็ถูกประท้วงกลายเป็นสมภารพลัดถิ่น แต่สมภารบางรูปมีความสามารถก็อาจใช้กุศโลบายค่อยเป็นค่อยไปก็สามารถแก้ปัญหาได้ในเวลาต่อมา                                 

เรื่องกุศโลบาย วิธีการหลายสิ่งหลายอย่างที่เจ้าอาวาสใช้มักจะเป็นแนวทางที่ฉลาดเพื่อให้ได้มาถึงวัตถุประสงค์ เช่น โรงเรียนตั้งอยู่ภายในวัดมักจะต่อเติมอาคารออกไป ขณะที่แผ่นดินวัดยังคงเท่าเดิม บางวัดกลายเป็นที่ตั้งโรงเรียนสามในสี่ส่วนแล้วก็มี กุศโลบายอย่างหนึ่งที่นิยมใช้กันของสมภารเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ไปสร้างถาวรวัตถุขนาดใหญ่ เช่น โบสถ์ วิหาร หรือศาลาไว้ติดกับเขตโรงเรียนเพื่อกั้นมิให้โรงเรียนขยายอาคารเข้ามา นี้คือกุศโลบาย เพราะถ้าใช้อำนาจโดยตรงมักถูกต่อต้านและกล่าวหาว่าไม่เห็นแก่ความเจริญในท้องถิ่น เป็นต้น                อีกอย่างก็การสร้างถาวรวัตถุค้างไว้เพื่อจะได้มีเรื่องจัดงานหรือหาทุนต่อไป เคยได้ยินมาว่า สมภารรูปหนึ่งสร้างกุฎิหลังเล็กๆ ประมาณห้าหมื่น แต่สร้างไม่เสร็จค้างไว้ โดยขึ้นชื่อผู้สร้างไว้ด้วย ต่อมามีคนเล่าลือถึงเรื่องนี้ เจ้าของชื่อสงสัยจึงเข้ามาสอบถาม สมภารก็บอกว่า โยมถวายปัจจัยไว้สองหมื่นเมื่อปีก่อนตอนทำศพพ่อนะ อาตมาตั้งใจจะสร้างกุฎิเล็กๆ ไว้เป็นอนุสรณ์ แต่เงินไม่พอจึงยังคงค้างอยู่ ขึ้นไว้แต่เพียงชื่อ.... ญาติโยมแม้ว่าจะรู้ว่าเป็นกุศโลบาย เมื่อได้ยินได้ฟังก็เกิดศรัทธามีความยินดี จึงได้สร้างต่อเติมจนเสร็จเรียบร้อย เป็นต้น               

ตามที่เคยฟังมา กุศโลบายของสมภารเจ้าวัดมีมากมาย ส่วนการที่กุศโลบายนั้นๆ เป็นสิ่งที่ประกอบด้วยธรรม หรือไม่ประกอบด้วยธรรม เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรแก่การพิจารณา                

เรื่องมรดกบาป อำนาจและหน้าที่ของเจ้าอาวาสเป็นที่มาของผลประโยชน์ บางอย่างกลายเป็นมรดกบาปให้ชนรุ่นหลัง เช่น บางวัดแถวกรุงเทพฯ ด้านหน้าติดถนนใหญ่ ก็มีนายทุนมาติตต่อกับเจ้าอาวาสผู้มีอำนาจ โดยบอกว่า ต้องการที่ดินด้านหน้าเพื่อสร้างอาคารพาณิชย์ ประมาณยี่สิบเมตรถัดเข้ามา ส่วนกำแพงจะรื้อแล้วสร้างให้ใหม่ขยับเข้ามาภายในวัด ถ้าท่านตกลงทำสัญญาวัดก็จะมีรายได้สุทธิ....ต่อปีเป็นเวลา ....ปี รายได้นั้นเป็นของวัด ส่วนท่านจะได้รถยนต์ป้ายแดงยี้ห้อ....หนึ่งคัน ซึ่งเรื่องรถยนต์นี้ไม่เกี่ยวกับสัญญา ...เจ้าอาวาสบางรูปต้องการรถยนต์และเห็นว่าทำให้วัดมีรายได้ประจำส่วนหนึ่ง จึงทำการตกลงเซ็นสัญญา ผลงานของเจ้าอาวาสรูปนั้น กลายเป็นมรดกบาปของวัดบางวัดอยู่จนกระทั้งปัจจุบัน               

เจ้าอาวาสบางรูปที่เห็นแก่เล็กแก่น้อย หรือขาดความรอบคอบถี่ถ้วนทำอะไรลงไปในฐานะเป็นหน้าที่และมีอำนาจทำได้ บางสิ่งที่ท่านทำลงไปก็อาจกลายเป็นมรดกบาปแห่งวัดนั้น และเป็นเรื่องราวให้อนุชนคนรุ่นหลังกล่าวขานสืบต่อไปในอนาคต 

เรื่องครอบครัวเจ้าอาวาส พี่ท่านมหาฯ ที่เคารพรูปหนึ่งตั้งข้อสังเกตไว้ และผู้เขียนเห็นด้วยจึงนำมาเล่าต่อ ท่านตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันนี้ วัดบางวัดเป็นครอบครัวเจ้าอาวาส กล่าวคือ เกือบทั้งวัดจะเป็นวงศาคณาญาติหรือลูกหลานเจ้าอาวาสเท่านั้น เช่น บางวัดมีเมรุเผาศพและมีศาลาตั้งศพ ญาติๆ เจ้าอาวาสก็จะมาอยู่กันภายในวัด เป็นบรรพชิตบ้างคฤหัสถ์บ้าง โดยแบ่งงานกันทำ เช่น บางคนก็รับจัดดอกไม้ บางคนก็เป็นสัปเหร่อ บางคนก็เป็นพิธีกร ส่วนที่บวชอยู่เป็นพระเป็นเณรก็คอยสวดรับซองบ้าง เทศน์บ้าง ฯลฯ ของถวายที่ได้มาก็ให้ญาติที่เป็นคฤหัสถ์นำไปขายต่ออีกครั้ง นั่นคือ เครือญาติของเจ้าอาวาสจะอาศัยอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาสคุมกิจการทั้งหมด ส่วนพระ-เณรและคนอื่นๆ ถ้าอยู่ได้ก็ต้องคล้อยตาม และต้องพอใจเฉพาะสิ่งที่เค้าแบ่งปันเท่านั่น ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ไปอยู่ที่อื่น ดังนี้เป็นต้น

ตามความเห็นผู้เขียน วัดที่ดำเนินกิจการทำนองนี้ มีอยู่จริง แม้จะไม่ครอบคลุมร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม เมื่อพิจารณาตามธรรม เจ้าอาวาสทำนองนี้อาจเป็นมงคลในฐานะเกื้อกูลต่อญาติ แต่การใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาสเช่นนี้ กล่าวได้ว่าไม่เป็นมงคลต่อวัดในฐานะศูนย์รวมของพระศาสนาเลย  

ตามวัตถุประสงค์เดิม ผู้เขียนตั้งใจว่าจะเขียนเพียงแค่นี้แล้วสรุป พอดีนึกถึงแนวคิดของคนโบราณที่สอนกันมาเรื่องที่อยู่ของสมภารเจ้าวัด ผู้เขียนคิดว่า สมภารเจ้าวัคควรจะอยู่จุดไหนของวัดนับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง และเรื่องนี้ก็ไม่ค่อยแพร่หลาย โดยมากจะรู้กันเฉพาะผู้ที่อยู่วัดนานๆ เท่านั้น ดังนั้น จึงขอเสนอเรื่องที่อยู่สมภารอีกเรื่องแทรกเข้ามาในหัวข้อต่อไป 

คำสำคัญ (Tags): #สมภาร#เจ้าอาวาส
หมายเลขบันทึก: 67084เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2006 02:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ถ้า เจ้าอาวาส ทำผิด ใครจะมีอำนาจมาลงโทษเจ้าอาวาสคนนั้นได้ หาไม่เจอเลย

พระลูกวัดตัวเล็กๆตาดำๆ

เจ้าอาวาสนำเงินของวัดไปใช้ในการส่วนตัว พอถูกประนามเข้า ก็มาแก้ตัวว่าทำเรืองขอกู้ยืม

ยืมเงินที่ตัวเองคอยดูแล ยืมเอง อนุมัติตัวเอง ยืมไปเท่าไหร จะคืนวันไหน ไม่เคยบอกใคร

แล้ว ณ ปัจจุบัน คืนแล้วหรือยัง ทำตัวแบบนี้มานานแล้ว ไม่มีใครกล้าเอาเรื่อง กับ เจ้าอาวาสคนนี้ จะทำยังไงดี....

ไม่มีรูปพระลูกวัดฯ

 

โบราณว่า วัวใครก็เข้าคอกคนนั้น หมายถึง เวรกรรมของใคร คนนั้นก็ต้องรับผลกรรมเอง...

อามันตา

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท