บทบาทของพระสงฆ์กับการเมืองไทยในสองทศวรรษหน้า (๒๕๕๖-๒๕๗๖)


บทบาทของพระสงฆ์กับการเมืองไทยในสองทศวรรษหน้า (๒๕๕๖-๒๕๗๖)[1]

สามารถสรุปแนวโน้มบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองไทยในสองทศวรรษหน้า ดังนี้

๑)บทบาทในฐานะวิศวกรจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธีบทบาทในการเป็นวิศวกรจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธี ถือได้ว่าเป็นบทบาทสำคัญที่พระสงฆ์จำเป็นจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับหน่วยงาน ทั้งองค์กรภาครัฐ และเอกชน เพื่อแสวงหาแนวทางในการจัดการความขัดแย้งและความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะพระสงฆ์มีต้นทุนทางสังคม (Social Capital) สูงมากเพื่อเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นๆ ในสังคม เพราะบนฐานของพระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าได้ทรงออกแบบให้สังคมสงฆ์อยู่เหนือสภาวะการแย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจการปกครองของกลุ่มชนชั้นนำทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางสังคมของพระสงฆ์อาจจะไม่สามารถก่อให้เกิดคุณค่าต่อพระสงฆ์ในการเข้าไปช่วยจัดการความขัดแย้ง หากพระสงฆ์ขาดศักยภาพ และเครื่องมือในการเป็นวิศวกรสันติภาพ เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนกระบวนการในการสร้างสันติ (Peace-Building Process) ในสังคมไทย

๒) บทบาทพระสงฆ์กับการชี้แนะนำและชี้นำทางการเมือง พระสงฆ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นกลุ่มคนที่ถือได้ว่า ผู้นำทางการเมืองให้ความไว้วางใจ และเชื่อมั่นศรัทธาทั้งต่อวัตรปฏิบัติ และองค์ธรรมที่เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ จากฐานความเชื่อในลักษณะนี้ จึงทำให้นักการเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันหมั่นเข้าไปปรึกษาหารือแนวทางการบริหารกิจการบ้านเมืองอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวทางนี้ คือ “ปริปุจฉา” ที่ปรากฏอยู่ในหลักการของจักรพรรดิวัตร ซึ่งเน้นสอนให้ผู้นำทางการเมืองเปิดใจของตนเองในการปรึกษาหารือ สอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ที่ไม่ประมาทมัวเมา อยู่เสมอตามกาลอันควรเพื่อให้รู้ชัด และสอบถามเกี่ยวกับแนวทางในการบริหารกิจการบ้านเมือง

๓)บทบาทในการพัฒนาพลเมืองของรัฐตามระบอบประชาธิปไตยพระพุทธศาสนาในรูปแบบขององค์กรสงฆ์จะต้องนำหลักธรรมไปพัฒนาให้สอดรับกับการพัฒนาประชาธิปไตยมากขึ้นเพียงนั้น ประชาธิปไตยในยุคปัจจุบันนี้ รัฐไม่สามารถที่จะกันพื้นที่ของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ทางศีลธรรมออกจากพื้นที่ของการเมืองได้อีกต่อไป ในขณะเดียวกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้พระสงฆ์ได้เข้าไปช่วยทำหน้าที่ในพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักการเมือง และนำหลักการของพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในการสร้างการมีส่วนร่วมและพัฒนาพลเมืองไปสู่การเป็นพลเมืองที่ดีของระบอบประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ต่อไป

๔) บทบาทในการใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองและนโยบายแห่งรัฐพระสงฆ์มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองและนโยบายแห่งรัฐได้ แต่ต้องอยู่บทพื้นฐานของ “การชี้ขุมทรัพย์” ในเชิงสร้างสรรค์ ได้แก่ ประเด็น ในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐต้องชัดเจนความรู้ความเข้าใจของพระสงฆ์ หรือสถาบันสงฆ์ต่อการดำเนินนโยบายสาธารณะ รวมไปถึงผลกระทบทั้งในเชิงลบและเชิงบวก เมื่อได้ข้อมูลชัดเจนแล้ว ย่อมสามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์ผลเสียที่จะเกิดได้ ความสามารถในการที่จะสื่อสารทางการเมือง พระสงฆ์จำเป็นต้องเรียนรู้ และมีทักษะในการสื่อสารทางการเมือง และการเปิดใจ รับฟังจากรัฐ ผู้นำ หรือนักการเมืองด้วยใจที่เป็นกุศล

๕) บทบาทในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความต้องการทางการเมืองพระสงฆ์สามารถเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองได้ แต่ต้องมีเกณฑ์ชี้วัดที่ต้องประเมินทั้ง แนวคิดอันเป็นที่มาของข้อเรียกร้อง เจตนารมณ์ในการเรียกร้อง วัตถุประสงค์ในการเรียกร้อง เหตุและผลในการเรียกร้อง ที่มาของแนวคิดในการเรียกร้อง ผลประโยชน์และความต้องการ (๒) เนื้อหา เนื้อหาในการนำเสนอ ขอบเขตของเนื้อหา ความน่าจะเป็นของเนื้อหา คุณและโทษอันจะเกิดจากเนื้อหา รายละเอียดของเนื้อหา ความน่าเชื่อถือของเนื้อหา แหล่งอ้างอิงของเนื้อหา วิธีการนำเสนอของเนื้อหา และ บริบท ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา ประวัติศาสตร์ของการชุมนุม คนหรือกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม สถานที่ในการจัดการชุมนุม เวลาและจังหวะในการเข้าร่วมการชุมนุม สถานการณ์การชุมนุม สภาพการเมือง/เศรษฐกิจ และท่าทีของชุมชนและสังคม ทั้งนี้ เกณฑ์ชี้วัดทั้ง ๓ ประการนั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องสอดรับกับหลักการพระธรรมวินัย ประเพณี และกฎหมายที่เป็นกรอบในการพระพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ในสังคมไทย

      ๖) บทบาทในการใช้สิทธิเลือกตั้งนักการเมืองกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้กันพื้นที่ในการใช้สิทธิเลือกตั้งของพระสงฆ์ออกไปจากการเมือง แต่เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคตต่อบทบาทนี้ของพระสงฆ์ในสังคมไทย ข้อมูลของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยชี้ชัดไปในทิศทางเดียวกัน “ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้พระสงฆ์เรียกร้องบทบาทในการใช้สิทธิเพื่อเลือกตั้งนักการเมือง” จะเกิดขึ้นจากปัจจัยดังต่อไปนี้ (๑) การดำเนินนโยบายของรัฐต่อพระพุทธศาสนาที่ขาดความเข้าใจ และไม่สนับสนุนพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของสังคมไทยจะนับถือพระพุทธศาสนาก็ตาม (๒) การขาดการตระหนักรู้ของนักการเมืองต่อชะตากรรมของพระพุทธศาสนา ทั้งในเชิงพฤตินัยและนิตินัย (๓) การดำเนินนโยบายของศาสนิกและศาสนาอื่นๆ ที่กระทบต่อความรู้สึกของพุทธศาสนิกชน หรือการไม่สามารถที่ป้องกันมิให้ศาสนาหรือศาสนิกของศาสนาอื่นๆ ทำร้าย หรือกระทำการณ์ที่บั่นทอนพระพุทธศาสนาในลักษณะต่างๆ

[1]พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร., แนวโน้มบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองไทยในสองทศวรรษหน้า (๒๕๕๖-๒๕๗๖), (ออนไลน์) แหล่งที่มา : http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc. (๒๐ เมษายน ๒๕๖๐).

หมายเลขบันทึก: 670574เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2019 11:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2019 11:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท