โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

บันทึกพระอาจารย์


บันทึกพระอาจารย์

โสภณ เปียสนิท

..............................

            ต้นเดือนกันยายน ปีพุทธศักราช 2562 ผมยังคงสาลวนอยู่กับการปลูกต้นไม้ และการคิดค้นหาหนทางพัฒนา “บ้านสวนโสภณ” หลังจากปลูกบ้านขึ้นบนที่ดินของแม่ริมถนนน้ำตกเอราวัณ-กาญจนบุรีผมพยายามปลูกต้นไม้ใหญ่น้อยทั้งที่กินได้และกินไม่ได้ ทั้งไม้ยืนต้น และไม้ล้มลุก ให้ได้มากที่สุด แต่การปลูกต้นไม้ลงบนผืนดินที่ขาดการพัฒนามาช้านานของเกษตรกรล่วงเวลาย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

            ผมพบว่าอุปสรรคสำคัญสองประการขวางทางอยู่ ปัญหาช้างรบกวนต้นไม้พืชผัก เพราะช้างมีอยู่จำนวนมาก และเดินไปมารอบบ้าน แม้ว่าจะไม่ได้กินอะไรมาก แต่ก็เหยียบย่ำลงบนต้นไม้ที่ปลูกไว้บ้าง ขึ้นเองบ้างจนแบนราบลงกับพื้น บางต้นใจเสาะตายในทันที บางต้นพยายามจะอยู่รอดต่อไป แต่ก็ไม่ค่อยจะเติบโต บางต้นถึงกับตายลงในทันที

            อีกอย่างหนึ่ง ความแห้งแล้ง เมื่อแล้งที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าต้นไม้ยืนต้นตายไปหลายต้น ไม้อื่นๆ ต้องการน้ำมากกว่าก็ตายไม่ก่อนหน้านี้แล้ว ปัญหาที่ย่อยลงไปกว่านี้คือ ดินยังไม่อุดมสมบูรณ์ปลูกต้นไม้หลายต้นโตช้าเกินกว่าที่ควรจะเป็น ขาดปัจจัยหลักคือน้ำและแร่ธาตุสารอาหารที่ช่วยในการเจริญเติบโต

            ปัญหาเรื่องช้าง พยายามคิดหานทางแก้ไขปัญหาระยะสั้น ติดตั้งแสงสว่างเพื่อให้ช้างไม่กล้าเดินข้างมาใกล้  แต่หลังจากพิสูจน์มาระยะหนึ่ง พบว่า ไม่ค่อยจะได้ผลเท่าใด ระยะยาวต้องหาทางสร้างสรรค์ต่อไป เช่นการปลูกพืชที่ช้างไม่ชอบ ขุดหลุมเป็นลูกคลื่นเพื่อให้ช้างเดินผ่านไปมาด้วยความลำบาก ปลูกต้นไม้ยืนต้น กั้นเป็นเขตตัดสั้นบ้างยาวบ้างสลับกันขวางทางเดินของพี่ใหญ่

            ปัญหาเรื่องแล้งร้อน พยายามหาพันธุ์ไม้ที่ทนต่อความแห้งแล้ง เช่น ต้นสัก สะเดา ขี้เหล็ก คะน้าไชยา มะกรูด มะขามป้อม มะขาม ผักหวานป่า มะยม พืชเหล่านี้ทนแล้งได้ดี เจริญเติบโตได้ ช้างไม่รบกวนมากนัก เพียงแค่หักเล่นบางครั้งเท่านั้น กอไผ่กอรวกทนแล้งได้ แต่พี่ใหญ่ชอบ แก้ปัญหาด้วยการพยายามปลูกให้น้อย แอบไว้ตามซอกตามมุมหลบสายตา แต่ก็ไม่ค่อยจะพ้นสายตา พี่ใหญ่เห็นก็จะรูดกินใบโน้มกิ่งจนหักราญกระจัดกระจาย ต้องตัดแต่งจนหลายเป็นไผ่พันธุ์เตี้ยทรงพุ่ม

            ผมมีภารกิจเรื่องที่ดินที่จังหวัดอุทัยธานีในเดือนนี้อีกครั้ง ผมวางแผนเดินทางไปค้างคืนที่วัดถ้ำพุหวาย บ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานีคืนหนึ่งก่อนไปทำภารกิจ พบพระอาจารย์รูปหนึ่งที่เคยรู้จักมายาวนาน ท่านอาจารย์มีความประสงค์อยากให้ไปพบไปเที่ยววัดของท่านอีกสักครั้ง จำได้ว่า ครั้งแรกที่ไปพักที่วัดแห่งนี้ มีกุฏิอยู่เพียงสองสามหลัง ศาลาหลังเดียว พระอาจารย์อยู่เพียงรูปเดียว คราวนี้จอดรถแล้วมองเห็นว่ามีกุฏิเพิ่มขึ้นหลายหลัง ศาลาใช้งานทั่วไป กับศาลาหลวงปู่สด พระมงคลเทพมุนีอีกหนึ่งหลัง ที่ดินเพิ่มขึ้นอีกราวยี่สิบกว่าไร่ พร้อมต้นไม้ใหญ่ขุดย้ายมาจากที่อื่นเต็มพื้นที่

            พบพระหนุ่มรูปหนึ่งท่านเดินผ่านมาจึงนมัสการสอบถามว่า “พระอาจารย์อยู่ที่ไหนครับ” พระหนุ่มชี้มือไปที่กุฏิหลังเล็กทางด้านหลังวัด ผมเดินไปเรื่อยใต้ร่มไม้ใหญ่หนาแน่นทั่วพื้นที่ ถึงกุฏิมีขอบประตูเตี้ยๆ กั้นทางขึ้นไว้ มองเข้าไปเห็นพระเถราจารย์รูปหนึ่งนั่งเอนพิงหมอนสามเหลี่ยม เสียงวิทยุเผยแพร่พระธรรมดังเบาๆ ต่อเนื่องอยู่แว่วๆ จับใจความได้ว่า ท่านกำลังฟังพระเทศน์เรื่องอภิธรรม จิตเจตสิก รูป นิพพาน ผมยืนรอท่านอยู่อย่างนั้นสักครู่ ท่านลืมตาขึ้นมองมาทางผม

            ผมยกมือขึ้นนมัสการพร้อมกับเดินเข้าไปที่กุฏินั่งลงตรงหน้าท่านแล้วก้มกราบสามครั้งตามธรรมเนียมอันดีของชาวพุทธ “อ้าวมาอย่างไรกันละ” ท่านทักทายอย่างเป็นกันเอง ผมรายงานความเป็นจริง “พอดีหาเบอร์โทรศัพท์ท่านอาจารย์ไม่พบครับ เจอแต่เบอร์โทรไลน์ ลองโทรแล้วไม่ได้ผล เลยต้องเขามาเอง” “ดีแล้ว หาเบอร์ไม่เจอต้องจู่โจมแบบนี้ดี”

            หลังจากนั้นบทสนทนายาวนานจึงเริ่มขึ้น ยาวนานไปเรื่อยๆ เหมือนเวลาไม่มีขีดจำกัด ท่ามกลางบรรยากาศอันเงียบสงบ ยิ่งดึกดื่นความเงียบก็มายิ่งขึ้น เสียงแห่งธรรมชาติดั่งกังวานมากขึ้น ผมสงสัยว่า พระอาจารย์บวชเป็นสามเณรตั้งแต่เล็กเล่าเรียนศึกษาภาษาบาลี เรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จบแล้วเดินทางไปเรียนต่อระดับปริญญาโท ที่ประเทศอินเดีย จบแล้วเข้ารับการฝึกอบรมเป็นพระธรรมทูตสายต่างประเทศ สำเร็จแล้วจึงเดินไปจำพรรษาในต่างแดนหลายประเทศด้วยกัน

            ผมยกมือพนมสอบถามท่านว่า “ผมสงสัยว่าท่านอาจารย์อยู่จำพรรษาในที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา มีบ้านญาติโยมรอบวัดในรัศมี 5-10 กิโลเมตรแค่เพียงสามสี่หลังได้อย่างไรครับ” “ทำไมหรือโยม” แทนที่ท่านจะตอบ แต่ตั้งคำถามกลับมาแทน “ก็พระอาจารย์เคยสบายมาเยอะ มาอยู่อย่างนี้ลำบากวังเวงไม่น่าอยู่เลยครับ” ท่านยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ “เมื่อก่อนก็อาจจะเป็นอย่างโยมว่า แต่ตอนนี้น่าอยู่แล้ว” คราวนี้ผมถึงกับงง “แบบนี้กลายเป็นน่าอยู่แล้วหรือครับ” “ใช่โยม วันเวลาเปลี่ยนไป ประสบการณ์มากขึ้น เมื่อก่อนยังอยากไปโน่น อยากไปนี่ อยากไปพบคนโน้น อยากไปพบคนนี้ แต่ตอนนี้ ความต้องการแบบนั้นมันไม่มีแล้ว ไม่อยากไปไหน อยากอยู่วัด อยากอยู่ที่นี่ อยากนั่งฟังธรรม อยากปฏิบัติธรรมตามที่เราถนัด อยากปลูกต้นไม้ เตรียมตัวตายให้พร้อม แค่นั้น”

            ฟังท่านแล้วคิดตามไปก็ยังไม่เห็นว่า สิ่งที่ท่านอยากอยู่นั้นมันจะดีอย่างไร “ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีญาติโยม มีพระเพื่อนอยู่สี่ห้ารูปเท่านั้น จะดีอย่างไร” ผมถามเอาความรู้ “ไม่มีไฟฟ้าก็ใช้ไฟโซลาเซลล์ เปิดดวงเล็กๆ ไว้นิดเดียวพอมองเห็นทางทำโน่นนี่นั่นนิดหน่อย แค่นั้น การงานอื่นใดก็ทำกลางวัน มืดแล้วเข้าให้พักผ่อนทำกิจทางใจ”

            “พระเพื่อนๆ ก็ไม่ค่อยจะมี” ผมถามต่อไป “ก็เคยมีมาเยอะแล้วนี่ ไม่เห็นจะดีหรือยั่งยืนตรงไหน เคยมีเพื่อนเยอะแล้วก็ไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไร เราก็ยังคงแก่ เจ็บ ตายไปคนเดียวเหมือนเดิม และอาตมาก็เจอเพื่อนทำลายมาไม่น้อย ทำให้เรารู้สึกเบื่อๆ ไม่อยากมีเพิ่มแล้วเพื่อน แต่ก็ยังอยากให้เพื่อนๆ มาเที่ยวสวนธรรมแห่งนี้มากๆ อยู่ดี”

            ผมยกประเด็นใหม่มาเจรจา “เมื่อก่อนมีหมาอยู่กับพระอาจารย์ตัวหนึ่ง แต่ตอนนี้ไม่เห็น” ท่านนิ่งสักครู่ “เออใช่ ไอ้เจ้านี่มันแปลก ครั้งหนึ่งอาตมาไปต่างจังหวัดเลยฝากหมาให้โยมข้างวัดดูแล สามวันกลับมาวัด ถามโยมว่า หมาเป็นอย่างไรบ้าง โยมบอกไม่รู้ ไม่เห็นหมามากินข้าวเลย หลังจากนั้นมาสองสามวันกำลังรับแขกสองสามคน หมากลับมาให้เห็นหน้ากุฏิ มันมาหอนสามครั้ง แล้วก็เดินจากไป หลังจากนั้นไม่เห็นมันอีกเลย คิดได้ว่า มันมาหอนอย่างนั้นเหมือนมันมากล่าวลาเรา”

            ผมหาประเด็นให้ท่านเล่าอีก “ก่อนกลับมาอยู่ที่นี่ ท่านอาจารย์ไปอยู่จำพรรษาต่างประเทศกี่แห่งครับ” ท่านยังคงสนุกสนานกับการบอกเล่าเรื่องราว “เอ เดี๋ยวคิดก่อนนะ ประเทศเยอรมันนี สามเดือนเศษ อเมริกาสามปีกว่า แคนาดาสามปีกว่า เกาะกวมอีกสามเดือนกว่า คิดว่าพอแล้วต่างประเทศ ผ่านมาเยอะ แต่ละแห่งก็มีเรื่องราวมากมายให้เล่ากัน เหมือนเป็นตำนาน”

            “เล่าให้ผมฟังบ้างได้หรือเปล่าครับว่าไปต่างแดนได้อย่างไร” ผมถามท่านต่อ “หลังจากจบมาจากอินเดียแล้ว อาตมากลับไปอยู่ที่วัดเดิมใน กทม ได้ไม่นาน มีพระอาจารย์ของอาตมา ติดต่อให้ไปทำงานเผยแพร่ธรรมที่ประเทศเยอรมันนี ก่อนตอบรับพระผู้ใหญ่อาตมาจึงชักชวนเพื่อนร่วมทีมงานได้อีกสามรูป ตกลงกันว่าจะร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกัน แล้วจึงเข้าไปหาพระผู้ใหญ่ที่ติดต่อมา ท่านให้พระอาวุโสอายุ 72 ปีไปร่วมงานอีกรูป เพื่อเป็นหัวหน้าสงฆ์ เราทั้งสี่เห็นดีด้วย

ก่อนวันเดินทาง พระอาจารย์ผู้ใหญ่เรียกไปอบรมพร้อมให้คำแนะนำประเด็นสำคัญ คือ เรื่องกรรมการการเงินของวัดให้เสนอชื่อพระรูปใดรูปหนึ่งเข้าร่วมให้ได้ ข้อสอง หากกรรมการวัดเขาไม่ดำเนินเรื่องต่อวีซ่าให้ ให้เดินทางไปขอวีซ่าของประเทศใกล้เคียงแทน อาตมาฟังดูแล้ว สองเรื่องนี้ไม่น่าจะยากจนเกินไปจึงรับปากท่าน ครั้นเดินทางไปถึงวัดที่ประเทศเยอรมันนี เจอปัญหาดั่งที่ว่าจริงๆ เมื่อเข้าประชุมคณะกรรมการเงินของวัดจึงขอเสนอชื่อพระรูปใดรูปหนึ่งเข้าไปร่วมด้วย แต่คณะกรรมการเดิมไม่ยอมรับข้อเสนอ แถมไม่ยอมเดินเรื่องต่อวีซ่าให้ พอใกล้ครบวันเวลาที่ต้องต่อวีซ่า กรรมการที่ต้องลงนามในใบขอวีซ่าไม่อยู่ เดินทางไปต่างแดนหมด จนคณะสงฆ์ทั้งสี่รูปต้องเดินเรื่องขอวีซ่าเข้าประเทศเดนมาร์คแทน พระอาวุโสอายุ72 พรรษาขอเดินทางกลับเมืองไทย เพื่อรายงานข่าวแก่พระเถระผู้ปกครอง

ข่าวความขัดแย้งของวัดในประเทศเยอรมันนีกระจายออกไปในกลุ่มฆราวาสใกล้วัด และกลุ่มพระสงฆ์ในต่างแดน เลื่องลือกลับมาถึงเมืองไทย พระอาวุโสที่เดินทางกลับเมืองไทยรายงานพระปกครองอย่างไรไม่ทราบ แต่ผลลัพธ์กลับปรากฏว่า “คณะพระสงฆ์สี่รูปเป็นผู้ผิด หัวดื้อ ไม่ฟังความ ไม่ยอมตามที่ญาติโยม คณะกรรมการการเงินวัดขอมา”

ตอนทีอาตมาทั้งสี่รูปหนีภัยไปอาศัยอยู่วัดในประเทศเดนมาร์คนั้น เจ้าอาวาสกุลีกุจอต้อนรับอย่างดี แต่พออีกสองวันต่อมา ท่านพยายามหลบหน้าไม่สมาคมกับเรา พระทั้งสี่รูปที่มาพัก จึงขอโอกาสท่านขอเจรจากัน จึงได้รู้ความจริงว่า พระผู้ใหญ่ทางเมืองไทยสั่งมิให้ที่พักอาศัย ท่านหนักใจจึงอึดอัดไม่รู้จะจัดการอย่างไร ได้แต่ขอความอนุเคราะห์ขออยู่ต่อรอให้ได้วีซ่าเดนมาร์คก่อนแล้วจะเดินทางต่อไป

อีกสามเดือนต่อมาในงานประชุมใหญ่ มีพระผู้ใหญ่ มีญาติโยมใกล้วัด มีคณะสงฆ์พร้อมกัน อาตมาทั้งสี่รูปจึงขอชี้แจงในที่ประชุม โดยได้พูดในที่ประชุมว่า อยู่กันครบอย่างนี้ดีแล้วจะได้ยืนยันพร้อมกันทุกฝ่าย แต่พระเถราจารย์ไม่ยอมรับฟัง ต่างฝ่ายต่างชี้แจงจนไม่ได้ข้อสรุปอันเที่ยงธรรม อาตมาทั้งสี่รูปจึงประสานกับโยมที่รู้จักเดินทางไปพักที่เมืองฮัมบรูกส์ พักอยู่ที่นั่นหลายเดือน แล้วจึงเดินทางไปพักวัดเวียตนามนิกายมหายานในประเทศฮอแลนด์ แล้วจึงเดินทางกลับเมืองไทย

ถึงเมืองไทยแล้วกลับไปวัดต้นสังกัด หลวงพ่อพบหน้าก็สั่งห้ามเดินทางไปไหนทั้งนั้น แต่ให้อยู่ในวัดได้ก่อน จนกว่าจะได้สะสางอธิกรณ์ให้เรียบร้อย ตอนนี้เองที่อาตมาได้เห็นสัจธรรม “ยามบุญมากาไก่กลายเห็นหงส์ ยามบุญลงหงส์ไก่กลายเป็นกา” ตอนนี้เพื่อนๆ ที่เคยรักกันคุยกัน กลายเป็นคนแปลกหน้าไปหมด

แต่อาตมาก็ยังโชคดีมีบุญอยู่บ้าง เกิดเหตุการณ์อะไรจะเล่าให้ฟังตอนหน้านะ” เรื่องของท่านจบตอนลงอย่างน่าสนใจ

หมายเลขบันทึก: 669614เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2019 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2019 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท