ย่อยขยะแบบไร้อากาศ เทคโนโลยีลดขยะ-สร้างพลังงานสะอาด


ในแต่ละวันมีขยะมูลฝอย เกิดขึ้นทั่วประเทศกว่า 4 หมื่นตัน 1 ใน 4 มาจากคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล และมีเพียง 18% เท่านั้นที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ สำหรับขยะอินทรีย์ ซึ่งมีปริมาณมากกว่าครึ่ง ของขยะมูลฝอย มีแหล่งมาจาก \"ตลาดสด\" จุดนัดพบของพืชผักผลไม้ จากเกษตรกรทั่วประเทศ แต่ละวันมีอินทรียวัตถุ จากผลผลิตเหล่านี้ที่กลายเป็นขยะ ที่ต้องถูกกำจัดจำนวนมาก และวิธีการที่นิยมมากที่สุดคือ \"การขนไปทิ้งหรือฝังกลบ\" พร้อมๆกับขยะทั่วไป โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่ทิ้งไปมีประโยชน์มากกว่าการเป็นปุ๋ย

น.ส. ชีวานุช ทับทอง นักศึกษาปริญญาเอก โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) กล่าวว่า การฝังกลบทำให้ขยะทับถมกัน ไม่ได้สัมผัสอากาศ การย่อยสลายอินทรียวัตถุจึงเป็นการย่อยแบบไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งขยะเหล่านี้เป็นสารอินทรีย์ที่มีผลพลอยได้คือ \"ก๊าซมีเทน\" ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกติดไฟ และจากคุณสมบัติที่ติดไฟได้ของก๊าซมีเทนนี่เอง หากมีระบบกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพ ก็สามารถรวบรวมก๊าซที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์ได้

โดยนอกจากจะนำความ ร้อน จากก๊าซดังกล่าว ไปใช้ประโยชน์ได้แล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซอันเป็นต้นเหตุ ของภาวะโลกร้อนสู่บรรยากาศ ได้อีกทางด้วย ในต่างประเทศ เทคโนโลยีนี้ ได้มีการนำไปใช้ในหลายด้าน เช่น นำไปผลิตกระแสไฟฟ้า หรือส่งความร้อน ไปสร้างความอบอุ่น ให้บ้านเรือน ช่วงฤดูหนาว สำหรับประเทศไทย การใช้ประโยชน์จากก๊าซมีเทน จะอยู่ในฟาร์มเลี้ยงหมู (ขี้หมู) ขณะที่การจัดการกับก๊าซ มีเทนที่เกิดในกองขยะจะเน้นการ \"กำจัด\" มากกว่าการ \"นำไปใช้\" เพราะองค์ประกอบของขยะ ในแต่ละประเทศ จะแตกต่างกัน เราจึงไม่สามารถนำเทคโนโลยีการเก็บก๊าซมีเทน ของต่างประเทศมาใช้โดยตรงได้

ด้วย เหตุนี้ น.ส.ชีวานุช จึงได้ทำการศึกษา \"ระบบกำจัดขยะแบบไร้ ออกซิเจน สำหรับขยะอินทรีย์จากตลาด\" โดยมี รศ. ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อดูคุณสมบัติการย่อยสลายขยะอินทรีย์จากตลาดสดในประเทศไทย อันที่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการกำจัดขยะที่เหมาะสม รวมถึงสามารถนำก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่าง มีประสิทธิภาพเบื้องต้น ผู้วิจัยพบว่าการทำงานของจุลินทรีย์และแบคทีเรีย ในการเปลี่ยนขยะจากของแข็งไปเป็นของเหลวเกิดขึ้นเร็วมาก แต่ของเหลวเหล่านั้นเปลี่ยนไปเป็นก๊าซน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยพบว่าภายใน 7 วัน ปริมาตรขยะจะลดลงกว่า 70% แต่แทนที่จะทำให้เกิดก๊าซมีเทนมาก กลับกลายเป็นของเหลวเกิดขึ้นในปริมาณมากแทน และยังเป็นตัวไปยับยั้งมิให้ จุลินทรีย์สำคัญสร้างก๊าซมีเทนได้ เพราะความเป็นกรดที่สูงมากของของเหลวนั่นเอง

จากงานวิจัยดังกล่าว ทำให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น อันจะนำไปสู่การควบคุมกลไก หรือปฏิกิริยา ในกองขยะเหล่านี้ ให้มีสภาพเหมาะสม กับการย่อยสลาย และทำให้เกิดก๊าซมีเทน ในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้ศึกษาเทคนิค การปรับสภาพของเหลว ให้เหมาะต่อการทำงานของจุลินทรีย์ด้วย ตั้งแต่การหาสารที่มาลดค่า ความเป็นกรดของของเหลว หรือการมีระบบที่จะนำของเหลวด้านล่างกองขยะ ขึ้นมาฉีดพ่นด้านบน เพื่อลดความเข้มข้นของสารที่ก้นกองขยะ และเพิ่มปริมาณการย่อยสลายให้มากขึ้น อันนำไปสู่การพัฒนาระบบการกำจัดขยะอินทรีย์แบบไร้อากาศด้วยวิธี ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจยิ่งจากนักวิจัยทั่วโลก

สำเร็จ เมื่อไหร่ นอกจากได้วิธีกำจัดขยะที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีประโยชน์ในแง่ของพลังงานทดแทน ตลอดจนเพิ่มข้อได้เปรียบให้กับประเทศไทยในเวทีโลกได้อีกด้วย.

ดวงแก้ว ผุงเพิ่มตระกูล
หมายเลขบันทึก: 66957เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2006 14:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท