แสงสว่างท่ามกลางกลุ่มหมอก ( Every cloud has a silver lining )


     

     เวลาผ่านไปไม่รอใคร จากนาทีเป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือนและล่วงเลยไปเป็นปี ผ่านมาปีแล้วปีเล่าแต่จะมีสักกี่ครั้งที่เราได้มีเวลานั่งคิดย้อนนีกถึงช่วงเวลาในอดีต     หากย้อนกลับไปมองตัวฉันใน7ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ต่างๆได้เริ่มเลือนลาง บ้างก็จางหายไปบ้างก็พอนึกขึ้นได้ว่าเคยเกิดแต่ไม่สามารถบรรยายได้อย่างละเอียด แต่ในหมอกความทรงจำสีจางนั้น ยังมีอยู่เรื่องๆหนึ่งที่ยังคงรักษาภาพ ความรู้สึกและรายละเอียดต่างๆไว้อย่างดี ดังแสงสว่างท่ามกลางกลุ่มหมอก

     ชีวิตในวันหยุดสุดสัปดาห์ของตัวฉันใน7ปีที่แล้ว การไปบ้านอาม่า(คุณยาย) ไปหาอาม่า หาคุณป้า คุณลุง อยู่เสมอๆ เป็นกิจวัตรประจำวันหยุดสุดสัปดาห์ของพี่น้องและฉันตั้งแต่เล็กจนโต ในทุกๆเดือน อาม่าของฉันจะมีการพบแพทย์ 1 ครั้งเป็นประจำ ฉันได้มีโอกาสไปโรงพยาบาลกับอาม่าและคุณป้าอยู่บ่อยครั้ง ฉันคอยเดินไปสั่งอาหารรอระหว่างอาม่าตรวจเลือด คอยเข้าไปในห้องพบแพทย์พร้อมอาม่าเพื่อช่วยคุณป้าเก็บข้อมูล ฉันประทับใจทุกครั้งที่ได้เห็นคุณหมอทักทายพูดคุยเล่นกับอาม่า คุณหมอมักทำให้อาม่ายิ้มได้เสมอ และการไปโรงพยาบาลของอาม่าและการพบคุณหมอก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ เดือนแล้วเดือนเล่า จนเวลาผ่านไปอีก1ปี

      ในปีต่อมานั่นเอง นับเป็น6ปีที่แล้วจากปัจจุบัน การไปโรงพยาบาลของอาม่าก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะนั่นถือเป็นการไปโรงพยาบาลครั้งสุดท้ายของอาม่า วันนั้นเป็นเช้าวันอังคารแรกในเดือนสิงหาคม ฉันและแม่กำลังอยู่บนถนนพัฒนาการ รอต่อแถวเข้าโรงเรียน อยู่ๆแม่ก็ได้รับสายโทรเข้าจากคุณป้าของฉัน สีหน้าของแม่ดูไม่ดีเท่าไหร่ แม่บอกว่าอาม่าเข้าโรงพยาบาลและฉันจึงลงจากรถแล้วเดินเข้าโรงเรียนแทน เพราะโรงพยาบาลนั้นอยู่ห่างจากโรงเรียนของฉันไปแค่ประมาณ10นาที ฉันกังวลและรู้สึกใจไม่ดีเมื่อได้ยินข่าวอาม่า แต่เมื่อหน้าที่ของฉันคือการเป็นนักเรียน ฉันจึงเข้าเรียนตามปกติ แต่เมื่อถึงเวลาพักกลางวัน ฉันรีบโทรไปหาแม่ทันที แม่รับสายและพูดด้วยน้ำเสียงติดๆขัดๆปนสะอื้นเล็กน้อย ตอนนั้นฉันน้ำตาคลอแล้วได้แต่ถามว่าอาม่าเป็นอย่างไรบ้าง แม่พูดประโยคเดียวเบาๆว่า “อาม่าไม่ได้อยู่กับเราแล้วนะลูก” ฉันอึ้ง ทำอะไรไม่ถูก น้ำตาไหลพราก ทรุดและเสียการควบคุม ได้แต่ถามว่า “ทำไม” ซ้ำไปซ้ำมา ทุกอย่างที่ฉันรู้สึก แม่ พ่อ พี่น้อง คุณป้า คุณลุงทุกคนก็รู้สึกเช่นเดียวกัน ตั้งแต่เที่ยงจนคาบสุดท้ายของวัน ฉันไม่สามารถหยุดร้องไห้ได้เลย

เมื่อเลิกเรียนฉันรีบนั่งแท็กซี่ไปยังโรงพยาบาล แล้วมุ่งหน้าไปยังห้องพักที่อาม่าของฉันอยู่ ฉันเห็นสายใยโยงไปทั่วหน้าของอาม่า เขาต่อเครื่องช่วยหายใจแล้ว ฉันกอดอาม่าแล้วพูดกับเขาเหมือนคนไร้สติ ฉันร้องไห้ไปเช็ดน้ำตาไป ฉันยิ้มให้อาม่าทั้งๆที่น้ำตายังไม่หยุดไหล ฉันเพียงขอวอนให้ท่านตื่นมาตอบฉันบ้าง แต่เวลาผ่านไปนานแค่ไหนเขาก็ไม่มีการตอบรับแต่อย่างใด

ฉันเริ่มตั้งสติได้ จึงถามไถ่คุณป้าเกี่ยวกับอาการของอาม่า และเมื่อคุณหมอได้เข้ามาเช็คอาการของอาม่า ท่านก็อธิบายให้แก่ลูกหลานของอาม่าได้เข้าใจเกี่ยวกับโรคที่เป็นต้นเหตุ นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันได้รู้จักกับโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) นพ. เกษียรสม วีรานุวัตติ์ แพทย์ประจำของอาม่าฉัน เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาประสาทวิทยา ท่านคอยติดตามอาการของอาม่ามาตลอดหลายสิบปี และเมื่อถึงช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจครั้งสุดท้าย คุณหมอแนะนำให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียของแต่ละทางเลือก และสุดท้ายการตัดสินใจของครอบครัวเราก็คือปล่อยให้อาม่าจากไปอย่างสบายที่สุด อาม่าผู้เป็นที่รักกจากพวกเราไปอย่างสงบในที่สุด

      เหตุการณ์การจากไปของอาม่า นับเป็นเหตุการณ์ที่ฉันสามารถจำรายละเอียดได้ชัดเจนมากที่สุด ไม่ว่าเวลาจะล่วงเลยมานานแค่ไหนแล้วก็ตาม ความรู้สึกของช่วงเวลาการไปโรงพยาบาลครั้งสุดท้ายของอาม่ายังคงชัดเจนอยู่ในใจฉันตลอดมา

      แม้ว่าอาม่าจะจากไปแล้ว แต่ท่านยังคงเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้ฉันอยู่เสมอ หลังการเหตุการณ์นั้น ฉันมีความตั้งใจใฝ่ฝันที่จะประกอบอาชีพเป็นแพทย์ และมั่นใจว่าจะเลือกเรียนเฉพาะทางต่อทางด้านประสาทวิทยาเหมือนดั่ง นพ. เกษียรสม วีรานุวัตติ์                    ฉันพยายามตั้งใจเรียน ทำคะแนนวิชาต่างๆให้ดี รวมไปถึงได้มีการไปเยี่ยมชมคณะแพทย์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ตนเองไปเรื่อยๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชีวิตก็มีอะไรเข้ามาทดสอบเราอยู่เสมอๆ บางครั้งเราก็ทำพลาด บางอย่างก็เข้ามาเพื่อทำให้รู้ว่าอะไรที่เหมาะกับเราจริงๆ พอเรารู้จักปล่อยวางไม่เอาตัวเองไปผูกมัดฝังใจกับอดีตที่แก้ไขไม่ได้ ทำให้ฉันได้กลับมาคุยกับตัวเองอีกครั้ง ฉันถามตัวเองว่าความฝันที่จะเป็นแพทย์ เป็นอาชีพที่เราอยากอยู่ด้วยไปตลอดจริงๆหรือ ถึงตัวเราจะเป็นหมอระบบประสาท ใช่ว่าอาม่าของเราจะกลับมาได้ ฉันเข้าใจตัวเองมากขึ้นและฉันได้ยอมรับกับตัวเองว่าฉันไม่ได้อยากเป็นแพทย์ด้วยใจจริงๆแต่ตอนนั้นอาจจะเป็นเพียงเพราะเหตุการณ์บางอย่างรวมถึงสังคมสภาพแวดล้อมที่ฉันเคยอยู่ที่ส่งผลกระทบให้ฉันเคยคิดแบบนั้น เมื่อฉันได้ออกไปเจอผู้คนต่างที่ต่างถิ่น ได้ฟังได้เห็นมุมมองที่กว้างขึ้น ฉันได้รับแรงบันดาลใจมากมาย ฉันเปิดใจให้กับอาชีพต่างๆมากขึ้น ฉันแบกความหวังของผู้อื่นน้อยลง และที่สำคัญฉันรับฟังตัวเองมากขึ้น ในที่สุดฉันก็โชคดีที่ได้มาเจอกับวิชาชีพกิจกรรมบำบัด อาชีพที่มีการทำงานในแบบที่ฉันชอบ ฉันจึงตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะทำการสอบเข้ามาเรียนในสาขานี้ และฉันก็รู้สึกภูมิใจในตัวเองที่ได้บรรลุเป้าหมายนั้นและมาเป็นนักศึกษาที่วิชากิจกรรมบำบัด ชั้นปีที่1 มหาวิทยาลัยมหิดล ในขณะนี้    การได้เข้ามาเรียนในสาขากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดลแห่งนี้ถือเป็นเพียงก้าวแรกของการเติมเต็มความฝัน เพราะฉันมีอีกมากมายที่อยากจะทำไม่ใช่แค่ในฐานะนักกิจกรรมบำบัดในอนาคตเพียงเท่านั้น แต่ในฐานะประชากรคนหนึ่งบนโลกที่อยากจะมีส่วนช่วยให้สังคมน่าอยู่ขึ้น ไม่มากก็น้อยก็ตาม

   

        หากให้ฉันมองภาพไปอีก7ปีข้างหน้า ฉันอยากจะเป็นนักกิจกรรมบำบัดที่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างคล่องแคล่ว อาจจะเป็นการทำงานในต่างประเทศ เริ่มเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งและเริ่มมีการติดต่อเกี่ยวกับสถานที่ๆที่เหมาะกับการก่อตั้งมูลนิธิในต่างจังหวัด ฉันอยากให้วิชาชีพในอนาคตขอบฉันมีประโยชน์ต่อผู้อื่นไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็ตาม เหมือนกับหนึ่งในผู้สร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ให้ฉันอีกคน คือ Lars Ivar Lerin จิตรกรและนักเขียนชาวสวีเดน ผู้ที่นำศิลปะที่เขารักมาแบ่งปันความรู้ให้แก่กลุ่มเด็กพิเศษ เขาเปิดพื้นที่เรียนศิลปะ ( art space ) ให้พวกเขาได้เข้ามาพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของพวกเขา 

      อย่างไรก็ดีตลอดระยะเวลาทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคตนั้น ฉันสามารถพูดได้เต็มปากว่าคนที่คอยสร้างแรงบันดาลใจให้ฉันเป็นฉันในวันนี้นั้นไม่ใช่แค่หมอหรือนักจิตรกรชื่อดังระดับโลก แต่เป็นคนใกล้ตัวที่อยู่กับฉันมาตั้งแต่วันที่ฉันลืมตามาดูโลกนี้คือ พ่อและแม่ของฉันเอง คุณพ่อเป็นคนใจเย็นแต่จริงจัง คุณพ่อจริงใจกับทุกๆคนเสมอ ท่านไม่ใช่เพียงแค่สอนแต่ยังทำให้ดูเป็นตัวอย่าง พ่อสอนให้ฉันคิดนอกกรอบ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ สนับสนุนให้ฉันคอยตั้งคำถามและหาคำตอบอยู่เสมอ คุณพ่อมองโลกในแง่ดีบนหลักเหตุผล และมีภาวะผู้นำสูง บทเรียนมากมายที่ได้เรียนรู้ หนึ่งในนั้นที่ตราตรึงใจฉันมาตลอด คือ “ถ้าเรามีเงินอยู่1บาท มีพี่น้องอยู่4คน ก็ต้องแบ่งคนละ25สตางค์” ถึงเราจะมีน้อยแค่ไหนก็ต้องรู้จักการให้อยู่เสมอ ส่วนคุณแม่ของฉัน ท่านมีความอดทนสูงมาก ท่านใจดีและเป็นมิตรกับทุกคน คุณแม่เป็นคนละเอียดอ่อน และใส่ใจคนรอบข้าง แม่ของฉันมีจิตใจดีเมตตา เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเข้าใจผู้อื่น ฉันเล่าเรื่องราวต่างๆให้แม่ฟังอยู่เสมอ เพราะท่านเป็นบุคคลที่ฉันไว้ใจที่สุด

  

     จากเรื่องราวใน7ปีที่แล้ว จนถึงฉันในตอนนี้ รวมถึงฉันในอีก7ปีในอนาคตนั้นสามารถนำมาวิเคราะห์ผ่านแบบจำลองของวิชาชีพกิจกรรมบำบัด ชื่อ Occupational Adaptation (OA) ได้ด้วยการแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้

Person 

- ตัวฉัน

Environment 

- บ้านอาม่า โรงพยาบาล โรงเรียน ครอบครัว

Occupational challenge (ความต้องการที่เกิดจากตัวบุคคล + ความคาดหวังของสิ่งแวดล้อม)

- อยากเป็นหมอ 

- เหตุการณ์ฝังใจที่คนที่รักจากไป

- การทำความรู้จักตัวเองให้มากขึ้น 

- การเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ 

- สังคมยกย่องคนเป็นหมอ 

- การเลือกเรียนในสิ่งที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

Occupational role expectation

- นักเรียนต้องเรียนเก่งทำคะแนนให้ได้ดี (environmental)  

- คนเก่งต้องเรียนหมอ (envirommental) 

- ต้องหาสิ่งที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตและความสามารถของตัวเองให้ได้ (person)

Adaptative response 

 1) Generation (หาทางตอบสนอง) 

- ร้องไห้ฟูมฟายเมื่อเกิดอาการเสียใจ 

-  ตั้งสติ ถามถึงสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

2) Evaluation (ไตร่ตรองว่าดีหรือไม่) 

- คิดได้ว่าการผูกติดกับอดีตไม่ดีต่อตัวเอง  

- เรียนรู้การเข้าใจตนเองมากขึ้น 

-หาข้อมูลเกี่ยวกับสายวิชาชีพที่อยากเรียนจริงๆ (ตัวเองพอใจและมีประโยชน์ต่อสังคม)

3) Integrative (เรียนรู้การปรับตัวผ่านประสบการณ์) 

- เข้าใจตัวเอง / มีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่

ขอบคุณผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจทุกท่าน 

ขอบคุณวิชาหลักการกิจกรรมบำบัดที่ทำให้ฉันได้นึกย้อนถึงตัวเองในอดีตและรู้จักการมองภาพตัวเองในอนาคต

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านนะคะ

หมายเลขบันทึก: 668378เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2019 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2019 23:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท