จากงานวิจัยชินกาลมาลีปกรณ์ตอน เมืองหริภุญชัย (จังหวัดลำพูน)โดย.อาจารย์สุภัชชา.พันเลิศพาณิชย์
อาณาจักรหริภุญชัย (ประมาณพ.ศ๑๒๐๖-๑๘๓๕)ใน ตำนานจามเทวีวงศ์โบราณได้บันทึกไว้ว่า ฤๅษีวาสุเทพ เป็นผู้สร้างเมืองหริภุญชัยขึ้นในปี พ.ศ. ๑๓๑๐ แล้วต่อมาได้อัญเชิญพระนางจามเทวี ซึ่งเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์ขอมจากเมืองละโว้(ลพบุรี)ขึ้นไปครองเมืองหริภุญชัย ในครั้งนั้นพระนางจามเทวี ได้นำพระสงฆ์ นักปราชญ์และช่างศิลปะต่างๆ จากละโว้ขึ้นไปด้วยเป็นจำนวนมากราวหมื่นคน พระนางได้ทำนุบำรุงและก่อสร้างบ้านเมือง ทำให้เมืองหริภุญชัย(ลำพูน) นั้นเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ต่อมาพระนางได้สร้างเขลางค์นคร (ลำปาง) ขึ้นอีกเมืองหนึ่งให้เป็นเมืองสำคัญ
สมัยนั้นปรากฏมีการใช้ภาษามอญโบราณในศิลาจารึกของหริภุญชัย ต่อมา พ.ศ. ๑๘๒๔ พญามังรายมหาราช กษัตริย์ผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา ได้ยกกองทัพเข้ายึดเอาเมืองหริภุญชัยจากพระยายีบาได้ ต่อจากนั้นอาณาจักรหริภุญชัยจึงสิ้นสุดลงหลังจากรุ่งเรืองมา ๖๑๘ ปี มีกษัตริย์ครองเมือง ๔๙ พระองค์ เมืองหริภุญชัยเป็นเมืองสำคัญ เพราะเป็นเมืองหลวงแคว้นหริภุญชัย ซึ่งมีเนื้อที่หรืออาณาเขต ๓ จังหวัดคือ จังหวัดลำพูนทั้งหมด จังหวัดเชียงใหม่ตอนใต้ มีอำเภอสารภี และอำเภอ หางดง เป็นต้น หรือจะอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำน้ำปิงตอนบน และบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำวังในเขตอำเภอเมือง และอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง นครหริภุญชัยนี้ เป็นเมืองศูนย์กลางแห่งการค้า การเมืองและการพระศาสนา นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่มีแสนยานุภาพที่เกรียงไกร จนพระเจ้าเม็งรายมหาราชไม่กล้าโจมตีโดยตรง ต้องใช้กลยุทธกุศโลบายสั่งอ้ายฟ้า เข้ามาเป็นไส้ศึกถึง ๑๐ ปี จึงจะตีเอาเมืองลำพูนได้ ดังความว่า
“พระเจ้ามังรายได้ส่งเจ้าอ้ายให้เป็นไส้ศึกในนครหริปุญชัย ลำดับนั้นพระเจ้ามังรายซึ่งมีพระชนมายุ ๕๓ ปี ในปีมะโรง จุลศักราช ๖๕๔ (พ.ศ.๑๘๓๖) พระองค์ มีทหาร ๑๒ แสนแวดล้อมเสด็จมานครหริปุญชัย ทรงทำสงครามกับพระเจ้าญี่บาขับไล่พระเจ้าญี่บาหนีไปแล้ว ทรงได้ชัยชนะ โปรดให้ยกเศวตรฉัตรขึ้นเป็นหนึ่งอันเดียวกันในแคว้นโยน (โยนก) ทั้งสิ้นและในนครหริปุญชัย”
ไม่มีความเห็น