ความลับใน ไหปลาแดก ตอนที่ ๑ "ไห" นี้ มีสำคัญ


ความลับใน "ไห" ปลาแดก 

ตอนที่ ๑ "ไห" นี้ มีสำคัญ

             ไห ไหปลาแดก ไหซอง ไหปลาร้า ไหเหล้า สำหรับผู้เขียนเองจะกล่าวว่าเริ่มมีคุณค่ามากขึ้นก็เมื่อมันเริ่มสะดุดข้นมาในความคิด ในเวลาที่เหมาะสม และเป็นเวลาที่ดีของมันเอง ชีวิตของคนในหลายพื้นที่ของประเทศไทยรวมถึงของประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย ล้วนมีการใช้สอยประโยชน์จากไหเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนไปเจอบทความของผู้เขียนท่านหนึ่งชื่อ “พันพูมิ” โดยความบังเอิญ ซึ่งกล่าวถึงเรื่องไหได้น่าสนใจ จึงขอยกมาไว้ ณ ที่นี้ด้วย

  “ ไหที่ตั้งรายเรียงในภาพขณะนี้ได้เก็บสะสม รวมรวมมาจากพื้นที่ตำบลจระเข้สามพัน และตำบลใกล้เคียงที่ตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อของสองจังหวัดคือ สุพรรณบุรี กับ กาญจนบุรี   มีรูปร่าง รูปทรงหลายขนาด เช่น ขนาดใหญ่,  ขนาดกลาง, ขนาดเล็ก และขนาดจิ๋ว (กระปุก-กระแป้)  มีจำนวนรวมโดยประมาณ 180 – 200 ใบเศษ ๆ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงไหส่วนน้อยนิด  เมื่อเทียบกับไหที่หลงเหลือ  หลงลืม  ทิ้งกระจัดกระจายอยู่ตามซอกหลืบของชุมชนต่าง ๆ ในทุกภาคของประเทศไทย  รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือดินแดนสุวรรณภูมิอันเลื่องลือในอดีต  ไม่เว้นแม้กระทั่งภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก  เพราะไหคือเครื่องปั้นดินเผาประเภทหนึ่ง  ซึ่งเป็นภาชนะชิ้นแรก ๆ ที่มนุษย์ผลิตขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน  และในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อก่อนก้าวสู่สังคมศิวิไลซ์ในยุคต่อมา

     การเก็บสะสมไหที่ค่อยเป็นค่อยไปเช่นนี้เริ่มจากมีไหอยู่แล้วในครอบครัว 2– 3 ใบ  จากนั้นได้ซื้อหาเข้ามาเพิ่มตามโอกาสที่เหมาะสม  ขอจากญาติพี่น้องบ้าง   และเพื่อนบ้านนำมามอบให้เพื่อการศึกษาบ้างก่อนมรดกก้นครัวชิ้นสุดท้ายจะไปปรากฏตัวตามตลาดค้าของเก่า หรือถูกประทุษร้ายให้ป่นปี้  ย่อยยับไปอย่างน่าเวทนาจากร่องรอยหลักฐานที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์เหล่านี้ช่วยชี้ให้เข้าใจได้ไม่ยากถึงบทบาท  หน้าที่ของไหที่มีต่อพัฒนาการด้านสังคม  ขนบธรรมเนียม ประเพณีของมนุษย์จากอดีตถึงปัจจุบัน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียวสำหรับถ้อยคำอธิบาย บอกเล่าเรื่องราวของไหให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ อย่างไรก็ตาม  ไหเหล่านี้ไม่ใช่วัตถุโบราณยุคดึกดำบรรพ์ที่ต้องอาศัยองค์ความรู้มากมายหลายสาขามาถอดรหัส ไขอ่านความลึกลับคลุมเครือและถกเถียงหาข้อสรุป  แม้ว่าบางชิ้นที่เราเห็นอยู่อาจดูแปลกประหลาด  เร้นลับน่าเกรงขามก็ตาม ก็ยังอยู่ในขอบข่ายของจินตนาการที่จะหยังภวังค์ลงถึงได้

              ไหคือชิ้นงานที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยและใช้ในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด  การตาย  การเฉลิมฉลองในงานเทศกาลต่าง  ๆ  จากรูปแบบ  รูปทรงและสีผิวของไห  เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ไหทั้งหลายทั้งปวงคือประติมากรรมแห่งชีวิต  มันเป็นผลงานศิลปกรรมล้ำค่าอันเกิดจากความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ในรุ่นก่อน ๆ เป็นแน่แท้  ความฉลาดของมนุษย์เกิดขึ้นได้หลายวิธี  จากการสันนิษฐานของนักมานุษยวิทยาพบว่า เกิดจากการแข่งขันกันเองในสังคมมนุษย์ที่ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แย่งชิงการเป็นผู้นำ เพื่อเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดจากธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติ  เช่น ความเชื่อทางด้านไสยศาสตร์ เป็นต้น  ที่สำคัญก็คือจิตสำนึกของความเป็นมนุษย์ที่เชื่อว่าตัวเองมีสถานภาพเหนือกว่าสัตว์โลกโดยทั่วไปจากการยังชีพประจำวันในการออกเก็บของป่า  ล่าสัตว์ เพื่อนำมาเป็นอาหารแบบวันต่อวัน  ซึ่งมนุษย์ยุคแรก ๆ ใช้เวลาเกือบทั้งหมด นอกจากการพักผ่อนหลับนอนแล้วก็ใช้ในการออกหาอาหารจากแหล่งน้ำหรือป่าดงพงไพรก็ตามแต่  เพื่อดำรงชีวิต  ต่อลมหายใจให้ยืนยาว จากจิตสำนึกที่แตกต่างจากสัตว์โลกประเภทอื่นดังกล่าว  มนุษย์จึงเพียรพยายามลองผิด ลองถูก สังเกต  เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมธรรมชาติจนกระทั่งค้นพบวิธีการถนอมอาหารในรูปแบบต่าง ๆ  เช่น ทำให้สุกด้วยความร้อนจากแสงแดด และไฟ รวมทั้งการหมักดองที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบสำคัญ

          ลักษณะของไหขนาดใดก็ตามที่มีปากแคบย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหมักดองไม่ทางตรงก็ทางอ้อม มนุษย์กับการหมักดองมีความสัมพันธ์กันมาแล้วในอดีต หลักฐานที่น่าสนใจเกี่ยวกับการหมักดองคือ ไหหิน ที่เมืองเชียงขวาง  โพนสวรรค์ ประเทศลาว  เป็นรูปไหแกะสลักจากหินทรายขนาดใหญ่จำนวนหลายร้อยใบ มีอายุประมาณ 2,000 ปี  ไหหินแต่ละใบมีน้ำหนักตั้งแต่  600 กิโลกรัม ถึง 1 ตัน ใบที่ใหญ่ที่สุดหนัก 6 ตัน ใช้ในการประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์  บางท่านสันนิษฐานว่าไหเหล่านี้ใช้ในการหมักเหล้า  ชาวบ้านเรียกว่า ไหเหล้าเจืองหรือขุนเจืองซึ่งหมายถึงวีรบุรุษในตำนานของกลุ่มชนดั้งเดิมที่อยู่ตามสองฝั่งแม่น้ำโขงในอดีตโดยมีการจารึกไว้ในรูปของวรรณคดี  ในดินแดนประเทศไทยมีการขุดค้นพบแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา หม้อ ไหมากมายหลายแห่งทั้งในยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์  ซึ่งบางแห่งมีขนาดใหญ่ที่เชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตเพื่อการจำหน่ายนอกจากไหจะมีบทบาทสำคัญในการหมักดองอาหารอันเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตแล้ว  ไหยังทำหน้าที่ในการหมักดองสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคภัยต่าง ๆ  ในยุคที่วงการแพทย์ยังมิได้เจริญก้าวหน้าดังเช่นปัจจุบัน  ไหจึงเป็นเครื่องเวชภัณฑ์สำคัญอย่างหนึ่งที่ทุกครอบครัวต้องมีไว้ประจำบ้าน

            ในปัจจุบัน  มีหลายสิ่งหลายอย่างถูกค้นพบและเข้ามาทำหน้าที่แทนไห  บรรดาไหน้อย-ใหญ่ที่เคยอยู่ในตำแหน่งสำคัญจึงกระจัดพลัดพลายไปยังสถานที่อับทึบ สลัวสลางหากไม่โชคร้ายจนเกินไป  ไหก็ยังได้ทำหน้าที่ด้านความสวยงามในการประดับตกแต่งสวนหย่อม  อาคารบ้านเรือน แหล่งพักผ่อนหย่อนใจตามความเหมาะสมของแต่ละสถานที่   แม้เป็นเพียงไหที่ถูกตราหน้าว่าพ้นยุคพ้นสมัย  แต่ไหเหล่านี้คือบทหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ที่สามารถสัมผัสได้หลายมิติ  ทั้งด้วยกาย  ด้วยความรู้สึกที่พุ่งโพลงออกมาจากใจของเราเอง”

“ไหคือจารึกอีกชิ้นหนึ่งที่บันทึกเรื่องราวด้วยรูปลักษณ์และประโยชน์ใช้สอยของตนเองโดยมิต้องเหนียมอาย

ศูนย์เรียนรู้ท้องถิ่น “ไทคดีศึกษา”51 หมู่ 6 ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง  จ.สุพรรณบุรี

ภาพประกอบในเนื้อหา จาก พันภูมิ

          บทความด้านบนนี้ เป็นอีกหนึ่งแรงประกายใจให้กับผู้เขียน ในวันที่ผู้เขียนได้หลงใหลในความเป็นไหไปได้พักใหญ่ๆแล้ว จึงเกิดการค้นคว้า และศึกษาถึงเรื่องราวและรายละเอียด ทำให้มาเจอบทความบทนี้ ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกของผู้เขียน ถึงการตระหนักในเรื่องของจารึกทางวัฒนธรรมที่หลายคนเริ่มหลงลืมไป

แทนธรรม (ธ) วงศ์สุขโข

๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๒

หมายเลขบันทึก: 666526เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2019 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2019 12:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท