ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก


สำนวน "ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก" ใช้ในความหมายว่า ต่อหน้าพูดหรือทำดีด้วย แต่ลับหลังพูดหรือทำอีกอย่างหนึ่ง โคลงกระทู้สุภาษิต ได้อธิบายความหมายว่า

ต่อ เติมเสริมส่งค้ำ ทำยอ

หน้า ซื่อใจคดงอ หงิกง้อม

ม นุษย์ต่ำช้าทร-  ยศยิ่ง สัตว์นา

พลับ พลิกแพลงอ้อมค้อม ขดโค้งใจคน

ลับ เหลี่ยมทำหลอกล้อ ลานลน

หลัง กล่าวนินทาจน จับได้

ตะ หลกตลบเล่ห์กล กอบกิจ โกงนา

โก หกยกเหตุให้ เชื่อแล้วฉิบหาย

ที่มาของสำนวน มะพลับและตะโกมีผลคล้ายกัน แต่มะพลับมีรสหวานอร่อย ส่วนตะโกมีรสฝาดไม่นิยมรับประทาน

มะพลับ เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ใบเดี่ยวที่อยู่ในวงศ์ Ebenaceae ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกับต้นตะโก ต้นมะพลับนั้นมีดอกขนาดเล็กและผลที่ค่อนข้างกลม แต่ถ้าสุกแล้วสามารถรับประทานได้ มีรสชาติอร่อย ต้นมะพลับนอกจากมีผลที่กินได้แล้วยังมีคุณค่าในทางสมุนไพรสูงมากด้วย

ลูกมะพลับแปรรูปเป็นพลับแห้ง มีรสชาติหวานอร่อยนิยมรับประทานและนำมาทำขนมได้หลายชนิด เช่น ใช้ตกแต่งขนมโมจิ เป็นต้น

ตะโก เป็นต้นไม้ไทยแท้ๆ เป็นพรรณไม้ที่พบครั้งแรกในประเทศไทย ได้รับการตั้งชื่อโดย ศาสตราจารย์ Kurz ขึ้นกระจายตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ผิวเปลือกของตะโกจะแตกๆ มีสีดำ เมื่อแก่จัดรับประทานได้ แม้จะมีรสฝาดเจืออยู่บ้าง ลูกอ่อนใช้เป็นสีย้อมผ้า 

ตะโกเป็นไม้เนื้อเหนียวจึงนิยมนำมาทำไม้ดัดตกแต่งบ้านเรือนในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เปลือกต้น เปลือกผล ราก ใช้เป็นยารักษาโรคได้

เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ได้บรรยายการตกแต่งบ้านเรือนของขุนช้างด้วยไม้ดัด รวมทั้งตะโกดัด ดังนี้

โจนลงกลางชานร้านดอกไม้
ของขุนช้างปลูกไว้อยู่ดาษดื่น
รวยรสเกสรเมื่อค่อนคืน
รื่นรื่นลมชายสบายใจ
กระถางแถวแก้วเกดพิกุลแกม
ยี่สุ่นแซมมะสังดัดดูไสว
สมอรัดดัดทรงสมละไม
ตะขบข่อยคัดไว้จังหวะกัน
ตะโกนาทิ้งกิ่งประกับยอด
แทงทวยทอดอินพรหมนมสวรรค์
บ้างผลิดอกออกช่อขึ้นชูชัน
แสงพระจันทร์จับแจ่มกระจ่างตา

แม้ว่ามะพลับและตะโกจะมีความคล้ายคลึงกัน จัดเป็นพืชในวงศ์เดียวกัน แต่ความต่างที่เด่นชัดคือรสชาติของผล มะพลับมีรสหวานอร่อยนิยมรับประทาน ส่วนตะโกมีรสฝาดเจือแม้จะรับประทานได้ก็ไม่เป็นที่ชื่นชอบ จึงนำมาใช้เป็นสำนวนไทยว่า "ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก"

หมายเลขบันทึก: 665787เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2019 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2023 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท