บันทึกสามจังหวัดชายแดนใต้ปลายด้ามขวานไทย


บันทึกการเดินทาง ปล่อยวางเมืองกรุง มุ่งสู่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

โดย COP'S Magazine -21 กันยายน 2560


สถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า กระทบกระเทือนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวจำนวนมากมายมหาศาล ทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้าเดินทางไปชมความงามที่เป็นมนต์เสน่ห์ของปลายด้ามขวานประเทศสยาม

ทีมงานนิตยสาร COP’S เลยถือโอกาสจังหวะเหมาะลงสู่สมรภูมิร้อนภายใต้โปรเจกต์ “ชะตาไม่อาจกำหนดทิศ แต่ชีวิตลิขิตเส้นทางเดินได้” เริ่มต้นด้วยการลัดฟ้าไปกับสายการบินไทยแอร์เอเชียเที่ยวเช้าลงท่าอากาศยานนราธิวาส มี พ.ต.อ.สุรพงษ์ ชาติสุทธิ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรตันหยง มารอรับคณะถึงสนามบิน

เหยียบแผ่นดินทองของไทย แวะเยี่ยมอาจารย์ไพศาล ตอยิบ ผู้จัดการโรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่ใหญ่สุดกลางเมืองนราธิวาส พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่นานนับชั่วโมง เดินทางไปพักแวะรับประทานอาหารมื้อแรกปาเข้าไปบ่ายอ่อน ๆ ที่ร้านอาหาร “มังกรทอง” ปากแม่น้ำบางนรา ชิมเมนูเด็ดยำปลากุเลา ที่ปัจจุบันราคาปาเข้าไป กก.ละเกือบ 2,000 บาทท่ามกลางบรรยากาศเย็นสบาย

อิ่มหนำสำราญกันพุงกาง เดินทางต่อไปยัง “วัดเขากง” ถือเป็นใจกลางพุทธมณฑลจังหวัดนราธิวาส ศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธมากว่าพันปี ปัจจุบันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง นาม ‘พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล’ ประทับนั่งประทานพรที่สวยงาม และใหญ่ที่สุดในภาคใต้ สร้างตามแบบพุทธศิลป์สกุลช่างอินเดียใต้ (แบบขนมต้ม) หน้าตักกว้าง 17 เมตร มีความสูงจากใต้พระเพลา ถึงพระเกศบัวตูม  23 เมตร ประดับด้วยโมเสดสีทองทั้งองค์ เริ่มวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2509 แล้วเสร็จเมื่อ วันที่ 18 กันยายน 2512

 

สักการะกราบขอพรแล้ว พวกเรามุ่งหน้า “เกาะยาว” เขตอำเภอตากใบ สัมผัสริมทะเล และวิถีชาวมุสลิม เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงกลายเป็นปมขัดแย้งที่สร้างเงื่อนไขระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับชาวบ้านมุสลิมบางส่วน ทำเอาบรรยากาศความเงียบสงบพัดพาเสียงคลื่นกระทบฝั่งแบบไร้เงานักท่องเที่ยวถึงกระนั้นก็ตาม ชาวบ้านยังคงใช้ชีวิตประจำวันตามแบบฉบับคนเก่าแก่ของอำเภอ พยายามลบเรื่องราวที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจที่ผ่านมา

เดิมชมตลาดริมแม่น้ำตากใบยามเย็นพักใหญ่ แวะนั่งจิบชากาแฟ ดื่มด่ำไอเย็นยามค่ำ ก่อนดินเนอร์มื้อเล็กที่ “ร้านตากใบลากูน” หลังจากนั้นกลับที่พักเรือนรับรองของสถานีตำรวจภูธรตันหยง กระทั่งรุ่งเช้ามีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชม “พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์” ที่อยู่ติดกับโรงพัก บนเขาตันหยง ตำบลกะลุวอเหนือ ริมทะเลใกล้กับอ่าวมะนาว มีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2516 ตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด

ออกจากนราธิวาส เข้าสู่ดินแดนจังหวัดยะลา ผ่านเทือกเขาบูโด อีกตำนานประวัติศาสตร์ ผ่านอำเภอบาเจาะ อำเภอยี่งอ เข้าอำเภอรามัน จังหวัดยะลา ก่อนเข้าตัวเมืองแวะศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทักทายเหล่านักรบ และเจ้าหน้าที่ผู้เสียสละเป็นข้อมูลเก็บไว้มานำเสนอให้แฟนนิตยสาร COP’S ได้อ่านในฉบับต่อ ๆ ไป แล้วเข้าที่พักโรงแรมยะลา รามา

รุ่งขึ้นเช้าวันที่ 16 มีนาคม ครบ 2 ปีการจากไปของสุทธิวุฒิ อิทธิภราดร สหายผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสาร COP’S พวกเราเลยถือโอกาสร่วมทำบุญถวายสังฆทานอุทิศส่วนกุศลที่วัดนิโรธสังฆาราม หรือวัดหัวควน ได้สนทนาธรรมะกับพระโสภณ ธรรมมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดยะลา ก่อนนมัสการลาไปไหว้ “อนุสาวรีย์จ่าเพียร” ตำนานนักรบขาเหล็ก แห่งเทือกเขาบูโด ที่ตั้งอยู่ในวัดเมือง อารามหลวง ของยะลา รำลึกถึงวีรกรรมของนายตำรวจผู้กล้าที่พวกเราไม่เคยเลือน

หลังจากนั้นตีรถยาวเข้าพื้นที่อำเภอบันนังสตา แวะพักชม “เขื่อนบางลาง”โครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรกของภาคใต้ตามแผนพัฒนาลุ่มน้ำปัตตานี กั้นแม่น้ำปัตตานี ที่บริเวณบ้านบางลาง ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของป่าบาลา-ฮาลา ที่สมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิดของเมืองไทยอีกด้วย

เก็บภาพตามอำเภอใจ ไปต่อ “อำเภอเบตง ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน” มีความเจริญทัดเทียมกับจังหวัดยะลา  เต็มไปด้วยอาคารร้านค้า ร้านอาหาร และโรงแรมมากมาย มีถนนเชื่อมสู่เขตสหพันธรัฐมาเลเซียตรงด่านเบตงซึ่งอยู่ใต้สุดของเขตแดนไทย ตัวเมืองโอบล้อมด้วยทิวเขาสูงอากาศเย็นสบาย สามารถปลูกดอกไม้ได้ทั้งปี  มีฝูงนกนางแอ่นเป็นสัญลักษณ์ของเมืองช่วงเดือนกันยายน-มีนาคมเกาะตามสายไฟในเวลากลางคืนนับหมื่นตัว

พวกเราดั้นด้นไป “หมู่บ้านจุฬาภรณ์ 10″ หมู่บ้านอดีตพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ตำนานมีชีวิต ที่ฝังประวัติศาสตร์การต่อสู้ของพวกเขาไว้มากมายบันทึกอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของพวกเขา จากการที่พรรคคอมมิวนิสต์มาลายาได้ยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธและสลายกองทัพมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ตามข้อตกลงนามสัญญาสันติภาพ 3 ฝ่าย (รัฐบาลไทย /รัฐบาลประเทศมาเลเซีย /พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2532  ณ โรงแรมลีการ์เดนส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และสร้างอนุสาวรีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ประกาศเกียรติประวัติวีรชนจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์

 

หมู่บ้านแห่งนี้ปรับสภาพเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีอดีตค่ายของกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาอยู่กลางป่า ห้อมล้อมด้วย “ต้นไม้ใหญ่ที่สุดในภาคใต้” ที่นักท่องเที่ยวทุกคนย่อมไม่พลาดจะไปวัดขนาดอันมหึมาของโคนต้นในป่าแห่งนี้

 

กลับเข้าไปเดินชมแสงสีเมืองเบตงที่ไม่ยอมหลับใหลตอนดึก ก่อนนอนพักผ่อนไม่กี่ชั่วโมงต้องรีบตื่นออกเดินทางจากตัวอำเภอราวตี 5 เศษเพื่อชมทะเลหมอกบนยอดเขาไมโครเวฟ หรือเขากุนุงซิลิปัต สูงกว่า 2,000 ฟุต เขตอำเภออัยเยอร์เวง สวยที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ที่กำลังมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่ง สามารถชมทะเลหมอกยามเช้าปีละ 8 เดือน

เต็มอิ่มกับทะเลหมอกตอนเช้า กลับเข้าเบตงอีกครั้ง หาติ่มซำรองท้อง แล้วเก็บข้าวของสัมภาระโบกลาเบตง มุ่งหน้าจังหวัดปัตตานี ระหว่างทางแวะถ่ายรูปและ “เช็กอิน” สะพานยีลาปัน ข้ามแม่น้ำปัตตานี บนทางหลวงท้องถิ่น หลักกิโลเมตรที่ 35 บ้านยีลาปัน ตำบลตะลิ่งชัน อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา มีความกว้าง 6 เมตร ยาวประมาณ 50 เมตร พื้นสะพานเป็นเหล็กแบบรังผึ้ง ตัวโครงสร้างทั้งหมดเป็นเหล็กกล้าล้วนๆ

สร้างโดยกองทัพญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวๆ ปี 2485 หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบกแถวชายฝั่งภาคใต้และยึดครองแหลมมาลายู ปัจจุบันเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สะพานหงสกุล” เพื่อเป็นเกียรติแก่ถวัลท์ หงสกุล อดีตนายช่างเขตสงขลา

ปิดท้ายการเดินทางจังหวัดปัตตานี พ.ต.ต.ไซด์ยิดอันวา อัลอิดรุส นายกเทศมนตรีตำบลยะหริ่ง รับหน้าที่เป็นไกด์พาเยี่ยมชม “วังเก่า” ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สถาปัตยกรรมผสมผสานอิตาลี เดิมทีเป็นของเมืองปัตตานีประเทศราชของสยาม สร้างขึ้นโดยพระยาพิพิธ เสนามาตยาธิบดีศรีสุรสงคราม (นิโวะ อับดุลละบุตร) พระยาเมืองยะหริ่ง เมื่อปี 2438 ชั้นบนภายในอาคารจัดเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ด้านข้างของตัวอาคารทั้ง 2 ด้าน เป็นห้องสำหรับพักผ่อนของเจ้าเมือง และบุตรธิดาข้างละ 4 ห้อง

หลังจากที่มีการปฏิรูปการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล ทางส่วนกลางได้ส่งข้าหลวงเทศาภิบาลมาบริหารราชการแทนพระยาเมือง แต่ในวังยะหริ่งยังคงมีการสืบทอดอำนาจทางการเมืองดังในสมัยพระพิพิธภักดี บุตรคนโตของพระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสุรสงคราม ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ต่อมาได้ลาออกจากราชการแล้วเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี รวมแล้ว 4 สมัย

ศึกษาประวัติศาสตร์อันยาวนานของเมืองยะหริ่ง พวกเรายังทราบอีกว่า มีแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจอีกหลายแห่งที่นายกเทศมนตรีแนะนำ อาทิ หาดตะโละกาโปร์ แหลมตาชี ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง  และโบราณสถานที่สำคัญ คือ สุสานโต๊ะปาแย

เสียดายเวลามีน้อย ทำให้คณะของพวกเราต้องเดินทางลาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเสียก่อน

ขอขอบคุณ พ.ต.อ.สุรพงษ์ ชาติสุทธิ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรตันหยง จังหวัดนราธิวาส อำนวยความสะดวกส่ง ส.ต.อ.สุรศักดิ์ จันแดง ลูกน้องคู่ใจ มาเป็นคนขับพาทัวร์ตลอดทริป



https://www.cops-magazine.com/topic/4418/

หมายเลขบันทึก: 665148เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2019 23:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 สิงหาคม 2019 23:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท