โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

เด็กวัดคุยกัน


โสภณ เปียสนิท

..............................

            ขณะผมนั่งหลบร้อนอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ที่วัดบ้านป่าแห่งหนึ่ง ชายชราคนหนึ่งนั่งเก้าอี้กินข้าวอยู่หลังศาลาคนเดียวเงียบๆ ดูเขาสงบอย่างผิดสังเกต ภาพที่เขานั่งนิ่งหลังกินข้าวเสร็จ หลังเขาตรงดีมาก สายตาเขาจ้องมองไปข้างหน้าเหมือนมองต้นไม้บางต้นเนิ่นนาน ผมชอบไปที่วัดแห่งนี้ เพราะอย่างน้อยหลวงพ่อท่านก็เอาใจใส่ญาติโยมที่มาทำบุญอย่างเป็นกันเอง หลังจากพระฉันเสร็จแล้ว ส่วนที่เหลือมอบให้ญาติโยมที่มานำลงไปแบ่งกันกินเป็นลูกศิษย์วัดกันตามอัตภาพ

นึกถึงภาพที่มีผู้ไม่หวังดีต่อพระศาสนานำมาโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย เป็นภาพพระสงฆ์องค์เดียวนั่งอยู่ท่ามกลางอาหารเต็มรอบบริเวณที่นั่งฉัน นำภาพเด็กอดอยากยากจนจำนวนมากหน้าตามอมแมมรูปร่างผอมโซขาดสารอาหารมาวางไว้ใกล้ๆ เปรียบเทียบ เพื่อทำให้ผู้เห็นภาพคิดไปในทำนองว่า “ทำบุญกับเด็กน้อยเหล่านี้ดีกว่าทำบุญกับพระสงฆ์ ได้บุญมากกว่า” ผมมีความเชื่อในทันทีที่เห็นภาพนี้ว่า ผู้นำภาพนี้มาแสดงมิใช่ชาวพุทธ หรืออย่างน้อยก็มิใช่ชาวพุทธผู้มีการศึกษาพระศาสนาแม้แต่น้อย

เพราะภาพดั่งที่เห็นนั้น เป็นภาพที่ถ่ายขึ้นในวันพระใหญ่หรือวันสำคัญทางพระศาสนาเกิดขึ้นได้ในรอบสามเดือน เช่นวันพระ วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา และต้องเป็นวัดที่พระเหลือน้อยเต็มที เพราะในภาพนั้นเห็นพระสงฆ์รูปเดียวเท่านั้น และอาหารนับตามจำนวนถ้วยโถโอชามเหล่านั้นแล้วรู้ได้ว่ามีพุทธศาสนิกชนมาทำบุญจำนวนมาก อาจเท่าๆ กับจำนวนชามจานเหล่านั้นก็เป็นได้

ผู้นำเสนอภาพมิได้รู้ หรืออาจแกล้งมิรู้ว่า หลังจากพระท่านฉันภัตตาหารเหล่านั้นนิดหน่อยๆ แล้วจะทำพิธีคืน (มีบทสวดสำหรับทำพิธีแจกภัตตาหารตามลำดับอาวุโสตลอดไปถึงคนและสัตว์ให้อย่าได้มีโทษหลังจากบริโภคของสงฆ์) ให้ญาติโยมศรัทธาสาธุชนนำอาหารเหล่านั้นกลับไปแจกก็ได้ บริโภคเองก็ได้ ไปทำทานต่อให้แก่คนและสัตว์อื่นก็ได้ หรืออาจมีทายกทายิกาคนใดคนหนึ่งนำกลับไปแจกแก่เด็กน้อยที่อดอยากยากจนเหล่านั้นให้ได้รับประทานโดยทั่วถึงกันก็เป็นไปได้

กล่าวถึงผลบุญที่ได้รับ ถวายกับพระสงฆ์อยากได้บุญมากก็ต้องตั้งใจถวายเป็นสังฆทาน พระสงฆ์ผู้มารับเป็นตัวแทนพระศาสนา มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานมารับเอาอาหารไปขบฉันแล้วนำไปแจกจ่ายกัน บุญเกิดจากที่เราตั้งใจถวายเป็นสังฆทาน เกิดจากที่เราได้ถวายพระสงฆ์ผู้ทรงศีลเหนือกว่าเรา เกิดจากการที่เราได้สืบต่ออายุพระศาสนา

เมื่อถวายพระสงฆ์ พระสงฆ์สามารถดำรงเพศสมณะไว้ได้ สั่งสอนพระธรรมต่อไปได้ มีกุลบุตรกุลธิดาเข้ามาศึกษาธรรมสืบต่อไปได้ สอนแก่ลูกหลานของชาวพุทธต่อไปได้ พระศาสนาก็ยังคงอยู่ต่อไปได้ ความสงบร่มเย็นก็มากขึ้นรู้หนทางแห่งการดำเนินชีวิตอันถูกต้องเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น ทำชีวิตของตนให้แตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ได้อย่างสมค่าที่ได้เกิดเป็นคน

            หลังการทำบุญสาธุชนรายอื่นต่างพากันทยอยกลับบ้านกันไปทีละรายสองราย ผมมาทีหลังยังคงนั่งกินข้าวมองลุงชราอยู่เรื่อยๆ เห็นลุงยังคงนั่งนิ่งทอดตามองไปที่พระพุทธรูปขนาดเท่าคนจริงสีทอง ประดิษฐานอยู่บนแท่นใต้ร่มไม้โพธิ์กลางลานวัดร่มรื่น นกนานาชนิดจิกกินเม็ดโพธิ์เม็ดไทรอยู่บนต้นไม้บ้าง แว่วได้ยินเสียงนกกระหรอด นกเอี้ยงสาลิกา นกกระจิบ นกกาเขน นกอีแพร้ด ร้องจากบนต้นโพธิต้นไทรมุมใดมุมหนึ่ง นกเขาเปล้า นกเขาชวา นกเขาเขียวเดินหาอาหารอยู่บนพื้น อย่างสบาย ดีหน่อยที่ตรงนี้เป็นวัด เขตอภัยทานของชาวพุทธ ชาวพุทธไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ยังเกรงใจ “วัด” ซึ่งเป็นศาสนสถาน ห้ามการฆ่า และการรังแกทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน

            ผมขยับเดินถือจานข้าวเดินเข้าไปนั่งใกล้ๆ ลุงหันหน้ามามองยิ้มให้นิดหนึ่งผมถือโอกาสทักทาย “สวัสดีครับลุง เสร็จงานบุญแล้ววัดสงบเงียบดีจังครับ” ลุงมีสีหน้าราบเรียบหันกลับไปมองพระพุทธรูปดังเดิม แต่ปากยังคงพูดคุยช้าๆ ต่อไป “ครับ โชคดีนะที่วัดของเรามีหลวงพ่อและพระสงฆ์หลายรูปให้ความสนใจตามคำสอนของพระบรมศาสดา” แม้ว่าผมได้ยินเสียงของลุงชัดเจนทุกถ้อยคำ แต่ยังไม่ค่อยจะเข้าใจความหมายเท่าใด

“อย่างไรครับลุง” ลุงหันมามองผมนิดหนึ่ง แล้วจึงถาม “ประเด็นไหนหรือ” “ก็ประเด็นที่ว่า วัดของเรามีพระหลายรูปสนใจปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า” ลุงยิ้มน้อยๆ ตักข้าวคำสุดท้ายเข้าปาก แล้วเคี้ยวช้าๆ ขณะที่ผมรอคำตอบต่อไปอีกสักครู่ “ถึงยุคนี้เรียกว่ายุคหลังกึ่งพุทธกาลแล้ว มีพระสงฆ์ที่มิได้สนใจปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์มากขึ้น ดั่งที่เราได้เห็นไปทั่วประเทศแล้ว แต่พวกเราโชคดีที่วัดนี้ยังมีหลวงพ่อพระเณรที่ยังปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่”

ผมตรองตามคำของชายชราก็เห็นจริงตามที่พูด จึงพยักหน้าเห็นด้วย เห็นวัดเป็นสถานที่สงบร่มเย็นเหมาะแก่การภาวนา ด้วยอำนาจบารมีของพระผู้ประพฤติตามธรรมวินัย และแม้ยังมีพระภิกษุสงฆ์สามเณรที่เคร่งครัดปฏิบัติธรรมยังมีอยู่อีกมาก แต่ก็มีพระสงฆ์องค์เจ้าอีกมากที่มิได้ก้าวเดินตามรอยบาทพระศาสดา ขณะที่พายุกำลังโหกระหน่ำกัดเซาะทำลายพระศาสนาอยู่โครมคราม ทางหนึ่งเขาบุกเขาทางการเมือง ทางหนึ่งเขาวางแผนบุกเข้าทางข้าราชการชาวพุทธจำนวนมากนั่งดูอยู่เฉยๆ โดยยังไม่ตระหนักรู้ว่า อันตรายกำลังคืบคลานเข้ามาถึงในประตูบ้านแล้ว

ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่า วัดต่างๆ มิได้ทำหน้าที่สั่งสอนเรื่องทานศีลภาวนาให้เต็มศักยภาพ เพราะหลายวัด หรือวัดโดยส่วนมากมิได้สอนเรื่อง ทานศีลภาวนา และปัญญาให้ครบ ส่วนมากสอนกันแต่ทานสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นเพื่อบำรุงพระศาสนา ไม่เลยไปถึงเรื่องของศีล เรื่องของภาวนามากนัก ดุจดังว่า การทำหน้าที่สอนเรื่องของศีลเรื่องของภาวนาเป็นหน้าที่ของพระบางรูป วัดบางวัดเท่านั้น

แปลกที่ชาวพุทธเมื่อรับการศึกษาจากพระอาจารย์ของตนแล้ว รู้สึกแปลกแยกแตกต่างจากชาวพุทธผู้นับถืออาจารย์สายอื่น เมื่อศึกษาแล้วยกอาจารย์ของตนทับอาจารย์สายอื่น บางพวกถึงกับมองว่าสายอื่นมิใช่พุทธไปนั่นเลยก็มี บางสายมุ่งหน้าเข้าสู่การเมืองเพื่อนำแนวทางของตนให้ปรากฏเป็นที่รู้จักกว้างยิ่งขึ้น และเพื่อยืมอำนาจทางการเมืองทำลายสายอื่นให้หดหายด้อยค่าลง        

“ลุงมาวัดบ่อยหรือครับ” ผมเริ่มต้นเรื่องใหม่อีกที “ก็มาตั้งแต่หนุ่มจนแก่นั่นแหละ” ลุงว่าตัวเองแก่เสียอย่างนั้น “มาที่วัดนี้หรือวัดอื่นด้วยครับ” ผมถามไปเรื่อยด้วยประเด็นเบาๆ “แรกๆ ผมอยู่ในตัวเมือง ผมก็หาวัดที่สอนเรื่อง ทานศีลภาวนาได้ครบ มีการสอนการทำทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนาชัดเจน สิบปีก่อนผมย้ายมานี่ เจอวัดนี้ก็มาวัดนี้ทุกวันพระ วันอื่นๆ ถ้าผมว่างก็มาเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวเลี้ยงนกแถววัดนี้ เพลินๆ ไป”

“ลุงไม่ได้ทำงานหรือครับ” ผมถามเพราะยังไม่ได้ถามเรื่องหน้าที่การงานของลุง ดูแล้วเห็นว่า ลุงอาจจะเกษียณหรือใกล้เกษียณเต็มที ลุงยิ้มเนือยๆ “ชาวบ้านเขาว่ากันอย่างนั้น” ผมงงกับคำตอบของลุง จึงถามต่อ “แต่ความจริงลุงทำงานใช้เปล่าครับ” ลุงพูดช้าๆ อย่างเป็นกันเอง “แล้วแต่มุมมองนะ ชาวบ้านว่าไม่ได้ทำ ลุงก็ไม่อยากไปเถียงเขา แต่ว่าลุงก็ไม่คิดว่าตัวเองว่างดอกนะ เพราะมีงานให้ทำตลอด เอาเป็นว่า แค่ลุงลาออกจากราชการแล้วมาทำในสิ่งที่ตนเองรัก และอยู่รอดได้มาจนถึงทุกวันนี้”

ลุงพูดช้า ชัดเจน แต่ผมยังต้องการความชัดเจนต่อไปอีกนิด “ดีจังครับทำในสิ่งที่ตนเองชอบและยังเป็นงานให้ชีวิตอยู่รอดได้ด้วย แบบนี้ถือว่ามีความสุขดีนะครับ” ลุงนั่งฟังสีหน้าเรียบเฉย แล้วพูดต่อว่า “ใช่ ผมโชคดีที่ได้ทำในสิ่งที่รัก แม้ว่าจะบั้นปลายของชีวิตก็ตาม ลาออกจากราชการตอน 55 ปี ทำสิ่งที่รักมาเรื่อย ตอนนี้ 65 ปีเข้านี่แล้ว ก็ยังมีความสุขที่ได้ทำ” ผมยิงคำถามที่ตั้งใจไว้ “ลุงทำอะไรครับ” ลุงนั่งละเลียดอารมณ์ค่อนข้างนานจนผมคิดว่าลุงจะไม่ตอบ แต่ลุงก็ตอบมาจนได้ “ลุงทำสองเรื่อง ปลูกต้นไม้แล้วก็มาวัด แค่นั้น”

“ทั้งสองอย่างไม่น่าจะเป็นอาชีพได้นะครับ” ผมก็ว่าไปตามที่คิดเห็นในขณะนั้น ลุงจึงกล่าวต่อไป “นั่นซิ ไม่น่าจะเป็นอาชีพได้ แต่ลุงก็อยู่มาได้ มีคนถามกันบ่อยว่าทำอาชีพอะไร พอลุงตอบว่า ปลูกต้นไม้กับไปวัด งงกันไปเป็นแถว บางรายหนักหน่อยก็บอกว่าลุงบ้าไปเลยก็มี ลุงแค่ทำตามหลักการเท่านั้นเอง”

“หลักการอะไรครับลุง” ผมได้ทีถามต่อเนื่องกันไป อย่างน้อยก็ได้คุยกับคนที่มีประสบการณ์ชีวิตยาวนาน และผ่านวันเวลาเหล่านั้นมาได้อย่างปลอดภัยจนถึงวันที่คุยกับผมนี่ “คนเรามีหน้าที่ต้องดูแลสองส่วน ดูแลกาย ปลูกต้นไม้ให้เขากิน ดูแลใจเข้าวัดฟังธรรมปฏิบัติธรรมให้เขากิน ผมทำแค่นี้”

ผมคิดเอาเองว่า ลุงพูดง่าย แต่ว่าต้องมีรายละเอียดมากกว่านี้แน่ จึงทำทีรีรอฟัง ลุงจึงพูดต่อ “ผมทำแบบคนขี้เกียจทั้งสองด้าน เรื่องจิตใจก็เอาแบบง่ายๆ เช้าขึ้นตื่นมาก็แค่เอาหมอนรองหลังให้ตรงขึ้นหน่อย แล้วก็ดูว่าจิตมันคิดเรื่องอะไร คิดเรื่องไหนเราก็รับรู้ แค่นั้นเอง รู้ว่าคิดเรื่องนี้ เรื่องนี้ไปเรื่อย มองดูเพลินๆ ครบชั่วโมงก็เลิก นี่เอาแบบที่เป็นหลักประจำวัน ส่วนช่วงอื่นๆ ก็ทำเท่าที่เราคิดได้ คิดว่าอยากทำ”

ผมชวนลุงคุยต่อว่า “แล้วเรื่องร่างกายลุงเลี้ยงมันอย่างไร” สีหน้าของลุงเหมือนปลดปล่อยพันธนาการทั้งหลายทั้งปวงสิ้นแล้ว “แค่ดูแลเรื่องกินอย่างเดียวพอ เรื่องอื่นวางลงให้ได้มากที่สุด การปลูกทุกอย่างที่คิดจะกิน และกินทุกอย่างที่เราปลูก เหลือซื้อบ้างนิดหน่อย รายจ่ายก็ลดลงจนเกือบหมด อย่างนี้เราก็อยู่ได้”

ลุงพูดต่อไป “อีกหลักการหนึ่งก็คือ ปลูกเพื่อกิน กินแล้วค่อยแจก แจกแล้วค่อยแลกกับเพื่อนบ้านในส่วนที่เราไม่มี แลกแล้วจึงค่อยขาย เมื่อมีของขายแล้วจึงจะถือว่าเป็นกำไร วันหนึ่งก็ทำงานไม่เท่าไร เพราะไม่ได้หวังอะไรมาก แค่กิน อยากปลูกข้าวก็ปลูกแค่พอกิน เก็บนิดหน่อย ปลูกต้นไม้ก็แค่พอกิน ปลูกไปเรื่อยๆ

เออหนอ ชีวิตช่างเรียบง่ายดีจัง ผมคิดในใจก่อนจะกล่าวคำลาจากกัน วันหน้าจะมาชวนคุยใหม่นะลุง

หมายเลขบันทึก: 664376เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2019 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2019 09:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท